Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

อ.แหววเริ่มคิดงานวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านสิทธิในหนี้และทรัพย์ของคนที่มีปัญหาสถานะบุคคล โดยการอ่านเค้าโครงวิทยานิพนธ์ของคุณวันทนา ใสสะอาด


ขอต้อนรับคุณวันทนาสู่การทำงานวิจัยเพื่อคนรากหญ้าค่ะ

บันทึกนี้เขียนเพื่อให้คำปรึกษาในการทำวิทยานิพนธ์แก่คุณวันทนา ใสสะอาด ซึ่งจะเสนอวิทยานิพนธ์ระดับนิติศาสตร์มหาบัณฑิตต่อคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คุณวันทนา ใสสะอาด ซึ่งเคยเรียนกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลกับ อ.แหววมาจั้งแต่ปริญญาตรีจนถึงปริญญาโท ทาบทามจะมาทำวิทยานิพนธ์ด้วยนานแล้ว แต่ก็เงียบหายไป

แต่ในวันที่ ๓ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๒ คุณวันทนาเพิ่งส่งอีเมลล์เกี่ยวเค้าโครงมาให้ดู เสนอจะทำเรื่อง “สถาบันการเงินไทยตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน : ในมุมมองด้านกฎหมายระหว่างประเทศ” ซึ่ง อ.แหววก็ได้ตอบไปว่า ไม่ได้จับเรื่องกฎหมายการเงินในแง่มุมแบบนี้

ในช่วงนี้ จมอยู่กับเรื่องของเอกชน ซึ่งจะเป็นเรื่องตามกฎหมายเอกชนของเอกชน หรือเรื่องตามกฎหมายมหาชนของรัฐก็ได้เช่นกัน จึงคิดว่า ไม่ค่อยพร้อมที่จะดูแลวิทยานิพนธ์ที่ศึกษาพฤติกรรมของรัฐหรือองค์การระหว่างประเทศ

ในวันที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๒ จึงชวนคุณวันทนามาร่วมงาน Monday Meeting ว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินของคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติ และเสนอให้ทำวิทยานิพนธ์ในแง่มุมนี้ หากอยากร่วมงานกับ อ.แหวว

ในวันที่ ๑๓ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๒ คุณวันทนาเสนอเค้าโครงวิทยานิพนธ์มาใหม่ โดยตั้งชื่อว่า “สิทธิในทรัพย์สินของคนไร้รัฐไร้สัญชาติ : ศึกษากรณีการทำธุรกรรมทางการเงินของคนไร้รัฐไร้สัญชาติ” โดยจะมีกรณีศึกษาเกี่ยวข้องกับ ๔ ธุรกรรมทางการเงิน กล่าวคือ (๑) การใช้บริการธนาณัติผ่านระบบไปรษณีย์ไทย (๒) การทำธุรกรรมทางการเงินผ่านธนาคารพาณิชย์ (๓) การทำธุรกรรมทางการเงินผ่านโรงรับจำนำ และ (๔) การทำธุรกรรมทางการเงินผ่านบริษัทประกันภัย     

ดังนั้น ณ วันนี้ จึงสรุปได้ว่า อ.แหววจึงต้องคิด “งานวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านสิทธิในหนี้และทรัพย์ของคนที่มีปัญหาสถานะบุคคล” มากกว่าที่ให้คำปรึกษาทีมนักวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Standford และ Austin ที่มาร่วมงานกับ SWIT และ BKK-Legal-Clinic ก็น่าจะเป็นการต่อยอดองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นจากการเสวนา หรือการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์

 

ขอต้อนรับคุณวันทนาสู่การทำงานวิจัยเพื่อคนรากหญ้าค่ะ

 

นี่คือ ๑๐ ข้อแนะนำของ อ.แหววต่อคุณวันทนาดังนี้นะคะ

ในประการแรก ก็คือ ไปจองหัวข้อเสียนะคะ

ในประการที่สอง ก็คือ ควรจะคิดเรื่องของวิธีการศึกษา และเขียนตรงนี้ มาดูหน่อยค่ะ  ทำก่อนเลยนะคะ แผนการทำงานใหญ่นัก ก็จะจบงานไม่ทัน ถ้าสอบเค้าโครงได้ภายใน ๒ เดือน คุณก็จะประดิษฐประดอยงานเขียนได้ดีขึ้น ต้องคิดเป็น ๒ รอบ กล่าวคือ รอบแรก คิดเป็นเค้าโครง  แล้วไปสอบ รอบสอง ทำตามเค้าโครงที่สอบผ่าน

ในประการที่สาม เรื่องนิยามของคำอาจใส่ในบทนำได้ค่ะ ในบทต่อมา  น่าจะลงดู “สถานะแห่งสิทธิ” ภายใต้ “บ่อเกิดของกฎหมาย” เลย จะเขียนง่ายกว่า วิทยานิพนธ์ของคุณวันทนามิได้กล่าวถึงสิทธิในทรัพย์สินทั้งหมด แต่กล่าวถึงบางเรื่อง ในบทนี้ จึงทำหน้าที่แยกแยะข้อกฎหมายว่า อะไรคือ สัมพันธภาพระหว่างสถานะแห่งสิทธิและสถานะแห่งบุคคล

ในประการที่สี่ เมื่อบทก่อนกล่าวถึงข้อกฎหมาย บทนี้จึงพูดถึงข้อเท็จจริงว่า มันเป็นอย่างไร มีปัญหาไหม ปัญหามีลักษณะอย่างไร  ข้อมูลมาจากการศึกษาทางปฏิบัติ เสนอให้พาคนไร้สัญชาติไปจำนำอะไรสักอย่าง ดูซิมีปัญหาไหม ตอนจำนำและตอนไถ่ถอน จะเหมือนกันไหม ?

ในประการที่ห้า ในบทต่อมา ที่คุณเสนอมา ก็มีลักษณะของข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาอยู่แล้ว อ.แหววเห็นด้วยค่ะ ซึ่งคุณวันทนามีคำตอบอยู่ ๑ ใน ๔ ก็คือ เรื่องการบริการธนาณัติของบริษัทไปรษณีย์ไทย จากที่ประชุมเสวนาเมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๒ ที่ต้องคิดเอง หรือแสวงหาเอง ก็คือในอีก ๓ ธุรกรรมที่ยกขึ้นมาศึกษา

ในประการที่หก ขอแนะนำให้รวบรวมกฎหมายระหว่างประเทศและภายในที่เกี่ยวข้องมาก่อนนะคะ  ที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ บทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ ข้อ ๑๗ แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.๑๙๔๘ ซึ่งบัญญัติว่า () ทุกคนมีสิทธิที่จะเป็นเจ้าของทรัพย์สินโดยลำพังตนเอง เช่นเดียวกับโดยร่วมกับผู้อื่น () บุคคลใดๆจะถูกริบทรัพย์สินโดยพลการไม่ได้

ในประการที่เจ็ด ขอแนะนำให้สำรวจตำรากฎหมายทรัพย์สินหลักของประเทศไทย ไปรวบรวมมา และดูซิว่า ปฏิเสธสิทธิคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติไหมคะ

ในประการที่แปด ขอแนะนำให้รวบรวมตำราเกี่ยวกับธุรกิจที่เลือกค่ะเพื่อสำรวจเงื่อนไขเข้ารับบริการทางการเงินของเอกชนในแต่ละกรณี ซึ่งกรณีที่ขึ้นอยู่กับธนาคารชาติ เรามีคำตอบแล้ว แต่ธุรกิจประกันภัยนั้น คุณวันทนามีคำตอบแล้วยัง หรือโรงรับจำนำล่ะ มีคำตอบแล้วหรือยัง ในเรื่องข้อกฎหมายต้องอ่านกฎหมายและตำรากฎหมาย ในเรื่องข้อเท็จจริง ต้องสัมภาษณ์ค่ะ

ในประการที่เก้า การอ่านและเขียนคำนิยามของคำว่า “คนไร้รัฐ” และ “คนไร้สัญชาติ” ทำเลยนะคะ เพราะมีให้อ่านมากมาย รีบเขียนมา จะได้ตรวจให้

ในประการที่สิบ การเขียนคำนิยามของคำว่า “สิทธิในทรัพย์สิน” ก็เป็นงานพื้นฐานทางกฎหมาย จัดการได้เลยค่ะ เป็นของง่ายๆ ที่จัดการก่อน

เมื่อมีงานเขียนที่ทะยอยเสร็จ คุณก็จะมีกำลังใจ วันแรกๆ อาจจะฝืดนะคะ แต่วันต่อๆ ไป จะดีขึ้นเรื่อยๆ ค่ะ

ขอให้ส่งอะไรมาให้ดูเรื่อยๆ นะคะ สักสิบวันหน มีปัญหาอะไรก็คุยกันได้ คุณเขียนบันทึกทุกวัน หันมาเขียนเรื่องวิทยานิพนธ์ได้แล้วนะคะ รีบดำเนินการได้เลยนะคะ เวลาเหลือไม่มาก

หมายเลขบันทึก: 286986เขียนเมื่อ 13 สิงหาคม 2009 22:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 23:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณ อาจารย์แหววเป็นอย่างสูง
  • ที่รับเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาฯ และช่วยอ่านวิทยานิพนธ์ให้ ในระยะเวลาอันสั้นนี้
  • และขอขอบคุณสำหรับคำแนะนำค่ะ
  • ศิษย์จะรีบไปหาข้อมูลและทำตามที่อาจารย์แนะนำค่ะ
  • เมื่อจดหัวข้อแล้ว การขีดเขียนบันทึกเรื่องราวใน G2K น่าจะมีต่อเนื่อง
  • เพราะเริ่มเข้าสู่การเป็นมหาบัณฑิตตามที่อาจารย์กล่าวต้อนรับแล้ว
  • ยอมรับว่าแต่ก่อนเกเร และท้อถอยไปบ้าง แต่เพราะอาจารย์คอยตักเตือนเป็นระยะ ทำให้ศิษย์ต้องมีความขยันเพิ่มขึ้น
  • ด้วยเวลาและการกระตุ้นจากอาจารย์ ทำให้ศิษย์ละอายใจเพราะนี่คือผลประโยชน์ของตัวเอง
  • แต่ต้องให้อาจารย์คอยกระตุ้น ถึงจะเริ่มลงมือหาข้อมูลทำวิทยานิพนธ์
  • ศิษย์ต้องขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงสำหรับทุกอย่าง
  • ด้วยใจจริงอีกครั้งค่ะ

 

รออ่านวิทยานิพนธ์ฉบับโกทูโน

ถ้าทำเสร็จสัก ๖ ประการ ก็สอบเค้าโครงกันค่ะ

  • สวัสดีค่ะ อาจารย์
  • ศิษย์เริ่มต้นเปิดบล็อกใหม่สำหรับวิทยานิพนธ์ฉบับโกทูโนแล้ว
  • ที่นี่ค่ะ  http://gotoknow.org/blog/vayupak/toc
  • และจะขยันเขียนบันทึกตามคำแนะนำของอาจารย์
  • เพื่อให้ทันตามระยะเวลาที่กำหนดค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท