ทำงานด้วยกัน ต้องหัด “เจ๊าะแจ๊ะ” กัน...!


 

เวลาที่เราทำงาน คุมงาน ต้องสัมผัสอยู่ “หน้างาน” เราต้องหัด “เจ๊าะแจ๊ะ” กับบุคคลรอบข้าง
เพื่อนร่วมงานของเรามีทั้ง “ขาประจำ” และ “ขาจร”

ขาประจำ ก็ได้แก่ ผู้ที่ทำงานรายวัน รายเดือน รับเหมาช่วง
ขาจร ก็ได้แก่ คนส่งของ ที่มา ๆ ลง ๆ แล้วก็ไป

ต้องหัดพูดกัน หัดคุยกัน พูดดี คุยดี แล้วเราก็จะเพื่อนพ้อง น้อง พี่ เป็น “เพื่อนร่วมงาน”

คนมาส่งของก็ยิ้มให้เขาบ้าง มีอะไรก็หยิบยื่นให้เขาบ้าง
ใครมาส่งของที่นี่เราก็มีนมให้ มีน้ำอัดลมให้
ตอนแรก ๆ เขามาก็ “หน้าบึ้ง” หน้าตึง เพราะไปที่อื่น เขาพวกคนส่งของนี้เป็น “กรรมกร” ผู้ใช้แรงงาน
พวกนายจ้าง พวกผู้ดีก็ไม่มีใครอยากคุยด้วย

แต่ถ้ามาส่งของให้เรา เราคุยด้วย เราเจ๊าะแจ๊ะด้วย
พี่ ๆ เหล่านี้คุยสนุก มี “ความรู้” เก่งกว่าวิศวกรหรือผู้ที่มีใบปริญญาเสียอีก

เราเรียนรู้จากพวกพี่ ๆ ที่ส่งของนี้เยอะมาก
เพราะความรู้ของเขาเป็น “ความรู้ฝังลึก (Tacit Knowledge)”
เขาแบกอยู่ทุกวัน เขาทำอยู่ทุกวัน ความรู้ของเขานั้น “บริสุทธิ์ (Pure Knowledge)”

บริสุทธิ์ในที่นี้ หมายถึง ไม่ใช่ความรู้ของบริษัท ของธุรกิจ ของ “สื่อ” ที่บอกมา
นายจ้าง เจ้าของธุรกิจ วิศวกร ดูทีวีเยอะ เจอเซลล์แมนเยอะ ความรู้จึงปนเปื้อนด้วย “ธุรกิจ”

ธุรกิจคือแหล่งรวมของ “ผลประโยชน์ (Gain)”
ความรู้ใด บอกแล้ว รู้แล้ว นำมาซึ่งผลประโยชน์เราก็จะบอกกัน
ความรู้ใด บอกแล้ว รู้แล้ว ขัดผลประโยชน์เราก็จะไม่บอกกัน

การทำงานในที่นี้เราจึงเน้นความรู้ที่ “บริสุทธิ์ (Pure Knowledge)”
การที่จะได้มาซึ่งความรู้ที่ฝึงลึกอันบริสุทธิ์นี้จึงต้องหัด “เจ๊าะแจ๊ะ”

พูดให้ดี พูดจา “ประสาคน”
การพูดจาประกันคนก็คือพูดแบบ “คนกับคน”

คนเราเดี๋ยวนี้มองคนอื่นเป็น “สัตว์”
มองผู้ใช้แรงงานเป็นผู้ต่ำต้อยในสังคม พูดด้วยเงิน พูดด้วยอำนาจ ชอบวางมาด วางกล้ามใส่กันและกัน

ต้องหัดเห็นใจกัน...
เขามาร้อน ๆ ก็มีน้ำให้เขาสักหน่อย มีรอยยิ้มให้เขาสักนิด แล้วถามเขา พูดกับเขา “เรียนรู้” จากเขา แล้วเราก็จะได้ “ความรู้”

คนเราเดี๋ยวนี้ขาดความรู้ฝังลึก (Non-Tacit Knowledge Syndrome)
เพราะเราชอบเรียนรู้แต่กับผู้ที่มี “ปริญญา”
คนมีปริญญาเขาอ่านหนังสือมา เขาทำวิจัยมา
ถ้าหากมีปัญญาต้องเรียนรู้คู่กับผู้ปฏิบัติ

ผู้ปฏิบัตินั้นเป็นเพื่อนที่ช่วยเพื่อน (Peer Assists)
มีอะไรเขาก็บอกเราตรง ๆ เพราะเขาไม่มีผลประโยชน์อะไรกับเรา

ดังนั้นคนทำงานที่จะเป็น “นักจัดการความรู้” จะต้อง “เจ๊าะแจ๊ะ” ให้เป็น
ไม่ถือตัว ถือตน ถือเขา ถือเรา
ลดตัว ลดตนลงจาก “หอคอยงาช้าง”
วางปริญญา วางกระดาษแห่งการ “สมมติ” แล้วลมาคลุกกับ “ความรู้”
ต้องรู้ว่าทุก ๆ คนเป็น “ผู้รู้”
ต้องเชื่อมั่นในความเป็น “ปราชญ์” ที่มีอยู่ในทุกผู้ ทุกตัวคน

การเจ๊าะแจ๊ะกันนั้นจึงเป็น “การเปิดปาก” การเปิด “ประตู” การเปิดใจเพื่อสื่อสารอันว่าด้วย “ความรู้” ซึ่งกันและกัน
หัดลดตัวลงไปเจ๊าะแจ๊ะกับบุคคลรอบข้างบ้าง ชีวิตนั้นจะไม่อ้างว้างซึ่ง “ความรู้...”


คำสำคัญ (Tags): #tacit knowledge
หมายเลขบันทึก: 286859เขียนเมื่อ 13 สิงหาคม 2009 16:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท