การวางแผนส่งออก


Questionnaires for preparing yourself for being an exporter

แบบทดสอบการเป็นผู้ส่งออกและการวางแผนส่งออก

 

ขั้นที่ 1 : การวิเคราะห์ตนเอง ทีมงาน และกิจการ (Internal Review)

ผู้ประกอบการควรพิจารณาถึงจุดแข็งและจุดอ่อนในประเด็นของความพร้อมด้านการส่งออก  เพื่อที่จะสามารถนำจุดแข็งไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและนำจุดอ่อนมาปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้สามารถส่งออกได้อย่างมีเสถียรภาพต่อไป

ผู้ประกอบการสามารถเริ่มต้นการวิเคราะห์กิจการตามการตอบคำถามต่อไปนี้

o   คุณเอง ทีมงาน และกิจการของคุณมีประสบการณ์ทางธุรกิจอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะธุรกิจส่งออก

o   จุดแข็งของคุณ ทีมงาน และกิจการที่คิดว่าจะทำให้สามารถทำธุรกิจส่งออกได้คืออะไร และแตกต่างจากคู่แข่งอย่างไร

o   ทำไมคุณ ทีมงาน และกิจการจึงอยากทำธุรกิจส่งออก

o   กิจการของคุณจะส่งออกสินค้าอะไร หากคุณตอบคำถามข้อนี้ได้ คุณเข้าสู่ขั้นที่ 2ได้

 

ขั้นที่ 2 : การเลือกตลาดและการกำหนดลูกค้าเป้าหมาย (Market Selection)

เมื่อคุณมีสินค้าเป้าหมายที่คุณจะส่งออกแล้ว คุณควรตอบคำถามต่อไปนี้

o   ประเทศใดใช้สินค้าของคุณหรือมีความน่าจะเป็นที่จะใช้สินค้าของคุณบ้าง เพราะเหตุใด (คำตอบจะได้จากการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค  วิถีชีวิต วัฒนธรรม รวมถึงสภาพเศรษฐกิจ ของประเทศต่างๆ)

o   มีข้อจำกัด กีดกัน สิทธิประโยชน์สำหรับสินค้าของคุณในประเทศที่ศึกษาหรือไม่ 

สิ่งที่ควรศึกษาจาก

Ø กฎระเบียบการนำเข้าสินค้า  มาตรฐานสินค้า  กฎระเบียบเกี่ยวกับการติดฉลากและบรรจุภัณฑ์และ อัตราภาษีการนำเข้า การโอนเงินออกนอกประเทศผู้ซื้อ

Ø นโยบายการค้าระหว่างประเทศของประเทศผู้ซื้อ

Ø สถานการณ์ทางการเมือง

Ø ระบบธนาคาร และอัตราแลกเปลี่ยน

หลังจากนั้นนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อเลือกประเทศเป้าหมายที่เหมาะสม ในแง่ที่ทำให้ส่งออกได้สะดวก  ต้นทุนลดลง  มีความเป็นไปได้ในการทำธุรกิจ และเอื้อประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจส่งออกของคุณมากที่สุด คุณสามารถกำหนดประเทศเป้าหมายได้หลายประเทศ แต่คุณควรจัดลำดับความสำคัญไว้ด้วย

เมื่อคุณมีประเทศเป้าหมายแล้ว คุณควรกำหนดกลุ่มลูกค้าเป้าหมายให้ชัดเจน

o   ใครคือผู้ซื้อหลักของสินค้าคุณในประเทศเป้าหมาย

o   ผู้ซื้อหลักของคุณอยู่ในช่วงอายุใด  อาชีพอะไร  รายได้เป็นอย่างไร  วิถีชีวิตเป็นอย่างไร ระดับการศึกษาอยู่ในระดับไหน

o   คู่แข่งของคุณมีหรือไม่ หากมีใครคือคู่แข่ง  สินค้าของคู่แข่งเป็นอย่างไร ทั้งในด้านรูปลักษณ์ภายนอก คุณภาพ ราคา  ฯลฯ

ข้อมูลในการศึกษาพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมาย เช่น

Ø เหตุผลของการซื้อ

Ø สถานที่ซื้อ

Ø ความถี่ของการซื้อ

Ø ปริมาณที่ซื้อต่อครั้ง  

 

ขั้นที่ 3  SWOT Analysis

เพื่อให้ง่ายต่อการมองกิจการของคุณในการส่งออกไปยังตลาดเป้าหมาย จึงควรจัดทำ SWOT Analysis โดยนำข้อมูลจากการทำขั้นตอนที่ 1 และ 2 มาใช้

·        S (Strength)  จุดแข็งหรือข้อได้เปรียบของกิจการ

พิจารณาดูว่าภายในกิจการมีปัจจัยใดหรือคุณสมบัติความสามารถใดที่โดดเด่นที่เหนือกว่าคู่แข่งหรือเหมาะสมที่จะเป็นส่งออกไปยังตลาดเป้าหมายบ้าง โดยอาจจะประเมินจากปัจจัยด้านสินค้า ราคา การผลิต การเงิน ทีมงาน ประสบการณ์ ช่องทางการจัดจำหน่าย

·        W  (Weakness)จุดด้อยของกิจการ

พิจารณาดูว่าภายในกิจการมีปัจจัยหรือลักษณะใดที่เป็นข้อด้อยของกิจการ จนนำมาซึ่งการเสียเปรียบคู่แข่งหรือทำให้ไม่สามารถแข่งขันในตลาดเป้าหมายได้

·        O  (Opportunity) โอกาสของกิจการ

พิจารณาดูว่าสภาพแวดล้อมภายนอกหรือปัจจัยแวดล้อมตัวใด เช่น ปัจจัยด้านเศรษฐกิจในประเทศที่กิจการตั้งอยู่ หรือประเทศที่เป็นตลาดเป้าหมาย หรือประเทศอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ปัจจัยด้านการเมือง ปัจจัยด้านสังคม ด้านเทคโนโลยี ที่เอื้อประโยชน์หรือสามารถส่งเสริมและสนับสนุนให้สามารถส่งออกสินค้าไปยังตลาดเป้าหมายได้สำเร็จ

·        T (Treat) อุปสรรคของกิจการ

พิจารณาว่าสภาพแวดล้อมภายนอกหรือปัจจัยแวดล้อมตัวใด ที่เป็นอุปสรรคหรือทำให้การดำเนินธุรกิจส่งออกไปประเทศเป้าหมายประสบปัญหาได้

 

ขั้นที่ 4 การตั้งเป้าหมายสำหรับการส่งออก (Export Objective)

คุณตั้งใจที่จะมีรายได้จากการส่งออกไปยังตลาดเป้าหมายจำนวนเท่าไรในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เช่น ยอดขายไปต่างประเทศ 5 ล้านบาทใน 1 ปี

 

ขั้นที่ 5 การวางกลยุทธ์เพื่อการส่งออก (Export Strategy)

กลยุทธ์เพื่อการส่งออกสำหรับผู้ส่งออกมือใหม่ ที่ควรคำนึงถึงมีทั้งหมด 3 ด้าน ดังนี้

o   กลยุทธ์ด้านตลาด

o   กลยุทธ์ด้านการบริหารการผลิต และส่งมอบสินค้า

o   กลยุทธ์ด้านการเงิน

ขั้นที่ 5.1 กลยุทธ์ด้านตลาด

 ในขั้นนี้คุณสามารถที่จะวางกลยุทธ์ด้านการตลาดจากสินค้าเป้าหมายของคุณ โดยเริ่มจาก

o   กลยุทธ์ด้านสินค้า

ควรพิจารณาว่า สินค้าของคุณจะสามารถส่งออก ตามลักษณะ รูปลักษณ์ทั้งภายในและภายนอกที่เป็นอยู่ หรือไม่ หรือต้องปรับปรุงแก้ไขลักษณะ รูปลักษณ์สินค้า ในด้านต่างๆ เช่น คุณภาพตามมาตรฐานส่งออกและนำเข้า ระยะเวลาที่สินค้ายังคงสภาพเดิม บรรจุภัณฑ์  หรือต้องพัฒนาสินค้าตัวใหม่เลย หากสินค้าของคุณต้องการบริการติดตั้งและบริการหลังการขาย ควรคำนึงถึงแนวทางในการดำเนินการไว้ด้วย

o   กลยุทธ์ด้านราคา

คำถามต่อไปนี้จะช่วยให้คุณมีข้อมูลเพียงพอที่จะกำหนดกลยุทธ์ด้านราคาได้  

Ø สินค้าชนิดเดียวกับคุณในตลาดประเทศเป้าหมายขายในราคาเท่าไร

Ø เงื่อนไขและเทอมการชำระเงินปกติที่ใช้ในตลาดเป้าหมายสำหรับสินค้าชนิดเดียวกันคืออะไร  นอกจากนี้ควรพิจารณาถึงเงื่อนไขการส่งมอบสินค้าตาม Incoterms ที่จะดำหนดด้วย

o   กลยุทธ์ด้านการเข้าสู่ตลาด ผู้ส่งออกมือใหม่การเข้าถึงตลาดเป้าหมายด้วยตนเองเช่น การไปลงทุนเปิดร้านเพื่อจำหน่ายสินค้าในประเทศเป้าหมาย อาจจะยังไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ดังนั้น แนวทางที่จะเข้าสู่ตลาดอาจดำเนินการผ่าน

-          ผู้นำเข้า (Importer) คือ ผู้ซื้อในประเทศเป้าหมายซึ่งเป็นผู้นำเข้าสินค้าเพื่อขายให้กับผู้ค้าส่งและผู้ค้าปลีก

-          ผู้ค้าส่ง (Wholesaler) คือ ผู้ซื้อในต่างประเทศที่ซื้อสินค้าจากท่าน แล้วขายส่งให้กับผู้ค้าปลีกอีกทอดหนึ่ง (ผู้ค้าส่งบางรายเป็นผู้นำเข้าด้วย)

-          ผู้ค้าปลีก (Retailer) คือ ผู้ซื้อในต่างประเทศที่ซื้อสินค้าจากผู้ค้าส่งหรือผู้นำเข้าหรือนำเข้าเองแล้วขายสินค้าให้กับผู้บริโภคโดยตรง

-          ตัวแทน (Agent) คือ บริษัทในต่างประเทศที่ท่านเลือกให้เป็นตัวแทนในการจัดจำหน่ายสินค้าให้ (การเลือกตัวแทนควรพิจารณาแนวทางและเป้าหมายในการดำเนินงานของตัวแทน รวมทั้งตกลงเงื่อนไขต่างๆ อาทิ บทบาทหน้าที่ของตัวแทน  ผลตอบแทน ยอดขาย ระยะเวลาการเป็นตัวแทน การยกเลิก ) 

หากคุณตอบคำถามข้างต้นแล้วคำถามต่อมา คือ คุณจะพบผู้นำเข้า  ผู้ค้าส่ง ฯลฯ ได้อย่างไร

ในการเริ่มต้นทางเลือกที่มีค่าใช้จ่ายไม่สูง คือ การหารายชื่อจาก  

1.       หน่วยงานราชการและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เช่น  สถานกงสุลไทยในประเทศเป้าหมาย, สำนักงานที่ปรึกษาการพาณิชย์ของประเทศเป้าหมายที่อยู่ในประเทศไทย(อยู่ในสถานทูตประเทศเป้าหมาย)

2.       นิตยสารหรือวารสารที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก เช่น www.exim.go.th  Trade Directory ของประเทศเป้าหมาย

3.       Web site ต่างๆ เช่น  www.depthai.go.th, www.mfa.go.th/business

หากคุณมีงบประมาณเพียงพอ การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าทั้งในและต่างประเทศก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ทั้งนี้ คุณควรศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าก่อน เพราะการเข้าร่วมงานแสดงสินค้ามีค่าใช้จ่ายที่สูง และหากไปงานที่ไม่เหมาะสมจะไม่เกิดประโยชน์นัก

o   กลยุทธ์ด้านการส่งเสริมการตลาดและการขาย

คุณควรตอบคำถามเหล่านี้

-          กิจกรรมส่งเสริมการตลาดและการขายของสินค้าชนิดเดียวกับคุณในประเทศเป้าหมายมีอะไรบ้าง และกลุ่มลูกค้าเป้าหมายตอบรับดีหรือไม่อย่างไร

-          คุณจะส่งเสริมการตลาดและการขายสินค้าของคุณในประเทศเป้าหมายอย่างไร

-          ใครเป็นผู้รับผิดชอบกิจกรรมและค่าใช้จ่ายนี้

ขั้นที่ 5.2 กลยุทธ์ด้านการควบคุมคุณภาพ และส่งมอบสินค้า

o   การขนส่งสินค้าไปที่สถานที่ส่งมอบสินค้าใช้เวลากี่วัน และขนส่งอย่างไร

o   คุณควบคุมดูแลสินค้าให้มีคุณภาพมาตรฐานตามที่ผู้ซื้อต้องการอย่างไรบ้าง รวมถึงมีการป้องกันความเสี่ยงจากการที่ผู้ซื้อจะไม่รับสินค้าเนื่องจากคุณภาพไม่ได้มาตรฐานตามที่ตกลงอย่างไรบ้าง (เช่น กำหนดให้มีการใช้ Third Party ในการตรวจสอบคุณภาพสินค้าก่อนการส่งออก)

o   คุณทำอย่างไรเพื่อให้สินค้าอยู่ในสภาพที่ผู้ซื้อต้องการ (พิจารณาเรื่องบรรจุภัณฑ์  การขนส่ง อื่นๆ)

ขั้นที่ 5.3 กลยุทธ์ด้านการเงิน

เพื่อให้เห็นภาพการทำธุรกิจส่งออกที่ชัดเจน รวมทั้งสามารถกำหนดกลยุทธ์ทางการเงินที่เหมาะสมเพื่อประโยชน์ในการทำกำไรของกิจการ  ตัวเลขทางการเงินจึงเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็น ตัวเลขทางการเงินที่ควรจัดทำประกอบด้วย   ประมาณการยอดขาย และประมาณการค่าใช้จ่าย

การประมาณการยอดขาย (Sales Projection)

  •  ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เช่น 1 เดือน หรือ 1 ปี คุณจะสามารถขายสินค้าในตลาดเป้าหมายแต่ละแห่งได้เท่าไร ปัจจัยอะไรที่มีผลต่อการขายสินค้าของคุณบ้าง  (ราคาขาย  ความเชี่ยวชาญของบริษัทตัวแทน กำลังการผลิต ฤดูกาลของวัตถุดิบ ฤดูกาลของการขาย จำนวนประชากรที่เป็นผู้ซื้อเป้าหมาย) 
  •  ราคาขายต่อหน่วยของสินค้าเท่ากับเท่าไร ทั้งนี้ ต้องมีความสอดคล้องกับเรื่องกลยุทธ์ด้านราคาด้วย
  •  ในอนาคตคุณคิดว่าแนวโน้มการขายสินค้าของคุณและราคาต่อหน่วยจะเป็นอย่างไร เพิ่มขึ้นหรือลดลงหรือเท่าเดิม หากเพิ่มหรือลดเป็นสัดส่วนเท่าไร

การประมาณการค่าใช้จ่าย

-         ต้นทุนสินค้าขายเท่ากับเท่าไร (ต้นทุนสินค้าขาย (Cost of Goods Sold) หมายถึง ค่าวัตถุดิบและแรงงาน

-         ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารสำหรับการส่งออกเท่ากับเท่าไร และประกอบไปด้วยอะไรบ้าง ค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับกระบวนการผลิตสินค้าเช่น ค่าขนส่งสินค้าจากโรงงานไปยังสถานที่ส่งมอบสินค้า  ค่าบรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์ ค่าบรรจุภัณฑ์ส่งออก  ค่าดำเนินพิธีการศุลกากร  ค่ารับรองเอกสาร  ค่าตรวจเอกสารส่งออก ฯลฯ

     ถึงตอนนี้จากข้อมูลการทำประมาณการยอดขายและค่าใช้จ่าย เมื่อมารวมกันคุณจะทราบว่าธุรกิจส่งออกของคุณทำกำไรหรือขาดทุน  

นอกจากนี้คุณควรจะตอบคำถามต่อไปนี้

 Ø ปัจจัยอะไรบ้างที่จะทำให้กำไรที่เกิดขึ้นจริงกับกำไรที่คุณประมาณการไว้แตกต่างกัน (อาจจะเป็นค่าใช้จ่ายที่คาดไม่ถึง  ยอดขายที่เป็นตัวเงินในสกุลท้องถิ่นที่ลดลงจากค่าเงินที่แข็งขึ้น  ผู้ซื้อเบี้ยว  ไม่มีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอที่จะผลิตสินค้าตามคำสั่งซื้อฯลฯ)

Ø คุณจะทำอย่างไรเพื่อป้องกันไม่ให้กำไรที่เกิดขั้นจริงต่ำกว่าที่ประมาณการไว้  

     จากข้อมูลที่คุณได้รับจากคำถามทั้งสองข้อข้างต้น คุณจะสามารถนำมาใช้ในการกำหนดกลยุทธ์ทางการเงินที่เหมาะสมกับกิจการของคุณต่อไป (หากกิจการของคุณมีเงินทุนหมุนเวียนจำกัด  การให้เครดิตยาวๆ จะทำให้คุณขาดสภาพคล่อง  ดังนั้นการส่งเสริมให้ผู้ซื้อชำระเงินล่วงหน้า โดยให้ส่วนลดพิเศษ อาจจะเป็นข้อเลือกหนึ่ง)

 

     เมื่อคุณมีการกำหนดกลยุทธ์ในทุกๆด้านพร้อมแล้ว ก่อนจะลงมือดำเนินการต่อไป สิ่งที่ควรเตรียมคือ แผนฉุกเฉิน สำหรับกรณีที่ทุกสิ่งทุกอย่างไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ คุณจะแก้ไขอย่างไร

หมายเลขบันทึก: 286379เขียนเมื่อ 12 สิงหาคม 2009 00:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 14:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

  • คุณกุลกัลยา ลองยกตัวอย่างบทเรียน ประสบการณ์ในการทำงานด้วยได้มั้ยครับ 
  • จะได้นำมาปรับใช้บ้าง 
  • น่าจะดี และเป็นประโยชน์กับคนไม่ค่อยรู้เรื่องธุรกิจแบบผมน่ะครับ 

คุณตาเหลิม อยากได้ตัวอย่างหรือบทเรียนในด้านไหนค่ะ ในการดำเนินธุรกิจส่งออกจริงๆ หรือในแง่ของการทำธุรกิจทั่วไป หรือในการทำงานค่ะ หากคุณตาเหลิมให้ข้อมูลที่ต้องการอย่างชัดเจน ดิฉันจะได้ลองหาดูกรณีตัวอย่างที่เกี่ยวข้องให้ดูค่ะ

อยากได้ข้อมูลการส่งออกสินค้าค่ะ

ภัทรานิษฐ์ มนัสนันต์สิน

กำลังจะส่งออกนำ้มันมะพร้าวสกัดเย็นค่ะ สินค้าพร้อมแล้วจะเริ่มทำการวางแผนการส่งออกแถบประเทศอเมริกา ญี่ปุ่น และยุโรป ใครพอมีคำแนะนำได้บ้างคะ ว่าต้องเริ่มอย่างไร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท