สถานะทางกฎหมายของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด


ความชัดเจนของสถานะย่อมนำไปสู่การกำหนดสิทธิได้อย่างถูกต้อง...

สถานะทางกฎหมายของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด

 

บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด หรือที่เราเรียกกันจนติดปากว่า ไปรษณีย์นั้น เดิมทีคือ กรมไปรษณีย์ มีหน้าที่เปิดรับฝาก ส่งจดหมายหรือหนังสือ ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2426 โดยเป็นการเปิดให้บริการเป็นการทดลองในเขตพระนครและธนบุรี ตั้งอยู่บริเวณตึกใหญ่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาตอนปากคลองโอ่งอ่าง ด้านทิศเหนือ (ปัจจุบันถูกรื้อเพื่อใช้ที่สร้าง สะพานคู่ขนานกับสะพานพุทธ) ที่ทำการแห่งแรกนี้ใช้เป็น ที่ทำการไปรษณีย์สำหรับจังหวัดพระนคร ด้วยเรียกกันว่า "ไปรษณียาคาร" แต่ด้วยงานบริการไปรษณีย์นั้นเป็นงานทางด้านสื่อสาร อันมีลักษณะคล้ายคลึงกับงานโทรเลขซึ่งดำเนินการมาก่อนอยู่แล้ว ดังนั้นเพื่อความสะดวกแก่การดำเนินงาน ในปีพ.ศ. 2441พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็น เป็นสมควรจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมหน่วยงานทั้งสองเข้าด้วยกันเรียกว่า "กรมไปรษณีย์โทรเลข" ซึ่งต่อมาได้ย้ายไปใช้อาคารและที่ดินริมถนน เจริญกรุงเป็นที่ทำการและเรียกกันโดยทั่วไปว่า "ที่ทำการไปรษณีย์กลาง"  การไปรษณีย์ เป็นบริการสาธารณะจำเป็นต้องมีระเบียบข้อบังคับเพื่อให้ประชาชนผู้ใช้บริการและ เจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินบริการทราบและถือปฏิบัติ ดังนั้นต่อมารัฐบาลจึงได้ตรากฏหมายขึ้นใน ปี พ.ศ. 2428 เรียกว่า "พระราชบัญญัติการไปรษณีย์ไทย จุลศักราช 1248" และ ในปี พ.ศ. 2440 ได้ออกพระราชกำหนดไปรษณีย์ ร.ศ.116 ยกเลิก พระราชบัญญัติฉบับแรกและใช้พระราชกำหนดนี้ตลอดมา จนกระทั่งปีพ.ศ. 2477 ได้ทำการปรับเปลี่ยนกฎหมายที่ใช้บังคับกับการไปรษณีย์ โดยอาศัย "พระราชบัญญัติไปรษณีย์ พ.ศ. 2477"[1]

          พระราชบัญญัติไปรษณีย์ พ.ศ. 2477 ดังกล่าวมีผลบังคับใช้กับกรมไปรษณีย์โทรเลขเรื่อยมา กระทั่งเมื่อปีพ.ศ. 2519 ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519 แต่ก็หามีผลทำให้พระราชบัญญัติไปรษณีย์ พ.ศ. 2477 ตกไปไม่ พระราชบัญญัติดังกล่าวยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519

ผลของการบังคับใช้พระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519 นี้ มีผลให้เกิดการจัดตั้ง การสื่อสารแห่งประเทศไทยตามมา โดยผลของมาตรา 7 และให้กรมไปรษณีย์โทรเลข นั้นเปลี่ยนเป็นการสื่อสารแห่งประเทศไทย โดยอาศัยอำนาจตามความแห่งบทบัญญัติในมาตรา 4 (1)  ดังนั้นการสื่อสารแห่งประเทศไทยจึงเป็นนิติบุคคล ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการและนำมาซึ่งความเจริญของกิจการไปรษณีย์และโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์แห่งรัฐและประชาชน และดำเนินธุรกิจอันเกี่ยวกับกิจการไปรษณีย์และโทรคมนาคมและธุรกิจอื่นที่ต่อเนื่องใกล้เคียงกัน หรือซึ่งเป็นประโยชน์แก่กิจการไปรษณีย์และโทรคมนาคม ทั้งนี้ เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของนิติบุคคลอื่นโดยเฉพาะ และการสื่อสารแห่งประเทศไทยนั้น ดำเนินการต่างๆโดยอาศัยอำนาจตามความแห่งพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519 และพระราชบัญญัติไปรษณีย์ พ.ศ. 2477 และนอกจากการสื่อสารแห่งประเทศไทย จะมีฐานะเป็นนิติบุคคลแล้วยังมีฐานะ เป็นรัฐวิสาหกิจตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติ วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2506 อีกด้วย

ต่อมาเมื่อรัฐเมื่อมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนสถานะของรัฐวิสาหกิจ จากรูปแบบเดิมที่เป็นรัฐวิสาหกิจประเภทองค์การของรัฐตามที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้น ให้เปลี่ยนเป็นรูปแบบบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด แต่ยังคงมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจประเภทหนึ่ง โดยมีการเปลี่ยนทุนจากรัฐวิสาหกิจเดิมเป็นทุนของบริษัทที่รัฐถือหุ้นทั้งหมด และยังคงให้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดิม รวมทั้งให้พนักงานมีฐานะเป็นเช่นเดียวกับที่เคยเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจเดิม และเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินกิจการและเป็นพื้นฐานเบื้องต้นที่จะแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นองค์กรธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบให้กระทำได้โดยสะดวก[2] จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542  นี้ขึ้น

ดังนั้นเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2546 คณะรัฐมนตรีมีมติ เรื่อง การแปลงสภาพการสื่อสารแห่งประเทศไทยเป็นบริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด อันมีผลทำให้พระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519 ในฐานะกฎหมายจัดตั้งนั้นมีผลยกเลิก ตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม 2546 ตามความในมาตรา 3 แห่ง พระราชกฤษฎีกา กำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2546 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 221 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 และมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 และโดยผลของมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว จึงมีผลทำให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จดทะเบียนบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2546 อันมีผลเป็นการจดทะเบียนก่อตั้งสภาพบุคคลของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อีกทั้งการดำเนินกิจการของบริษัท ก็เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อันปรากฏตามหลักการในมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 

แม้ว่า บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด จะได้จดทะเบียนก่อตั้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อันมีผลทำให้การดำเนินการต่างๆของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เป็นไปตามกฎหมายดังกล่าว เช่นเดียวกันกับนิติบุคคลอื่นๆที่ได้จดทะเบียนก่อตั้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เป็นบริษัทที่ได้แปลงสภาพจากทุนมาเป็นหุ้น ซึ่งแต่เดิมมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ อันอาจส่งผลให้บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ยังคงมีอำนาจหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดตามกฎหมายต่างๆที่ยังคงมีผลบังคับใช้

เมื่อพิจารณาในทางข้อกฎหมายแล้วพบว่ากฎหมายที่ยังคงมีผลให้อำนาจและสิทธิประโยชน์ต่างๆแก่บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัดนั้น ปรากฏอยู่ในพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519 และพระราชบัญญัติไปรษณีย์ พ.ศ. 2477

ในส่วนของพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519 นั้นพบว่า การสื่อสารแห่งประเทศไทย ซึ่งได้จัดตั้งตามพระราชบัญญัติการสื่อสารฯนั้น จริงอยู่ที่ การสื่อสารแห่งประเทศไทย ภายหลังจะได้ถูกแปรสภาพเป็นบริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ตามหลักการแห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 แต่ก็หาทำให้ อำนาจและสิทธิประโยชน์ของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ที่มีอยู่ตามพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519 หายไปไม่ โดยผลของ มาตรา 26 วรรคต้น แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 ในฐานะที่พระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519 เป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติให้อำนาจและสิทธิประโยชน์ต่างการสื่อสารแห่งประเทศไทยในขณะนั้นนั่นเอง

จริงอยู่ที่พระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519 จะถูกยกเลิกโดยอาศัยความตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกา กำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2546 ก็ตาม แต่เนื่องจากว่าเดิมนั้นการสื่อสารแห่งประเทศไทย มีอำนาจ ได้รับยกเว้น มีสิทธิพิเศษรวมทั้งได้รับความคุ้มครองตาม พระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519ในฐานะกฎหมายจัดตั้ง ดังนั้นแล้วโดยผลของมาตรา 28 วรรค 2 แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542  พระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519 จึงยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ใน พระราชกฤษฎีกา กำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด พ.ศ. 2546 แม้ว่าพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519 จะถูกยกเลิกโดยเงือนเวลาที่กำหนดไว้ใน มาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกา กำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2546 ซึ่งออกตามความในมาตรา 28 วรรคต้นแห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 ก็ตาม

ดังนั้นแล้ว อำนาจ หรือการได้รับยกเว้น หรือการมีสิทธิพิเศษหรือได้รับความคุ้มครองใดๆ ที่มีอยู่ตามพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519 ของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัดจึงยังคงมีอยู่ต่อไป จนกว่าจะมีกฎหมายฉบับใหม่ออกมากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกหรือจำกัด การใช้อำนาจและสิทธิประโยชน์อื่นใดของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ตามพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519

         ต่อมาในส่วนของพระราชบัญญัติไปรษณีย์ พ.ศ. 2477 นั้นยังคงมีผลใช้บังคับเรื่อยมา แม้กระทั่งเมื่อมีการตราพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519 ก็หาทำให้พระราชบัญญัติไปรษณีย์ พ.ศ. 2477นั้นสิ้นผลไปไม่ จริงอยู่แม้ว่าต่อมาจะได้มีการแปรสภาพของรัฐวิสาหกิจ โดยเปลี่ยนทุนของการสื่อสารแห่งประเทศไทยเป็นหุ้นตามกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจ และโอนกิจการในส่วนที่เกี่ยวกับกิจการไปรษณีย์ของการสื่อสารแห่งประเทศไทยไปให้แก่บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ทั้งหมด ซึ่งส่งผลต่อพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519 อันมีผลให้ต้องยกเลิกพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยผลของมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกา กำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2546 แต่ก็หามีบทบัญญัติใดๆกำหนดไว้ชัดแจ้งถึงการให้มีผลเป็นการยกเลิกพระราชบัญญัติไปรษณีย์ พ.ศ. 2477 ตามพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519 ไปไม่ ดังนั้นอำนาจ หรือการได้รับยกเว้น หรือการมีสิทธิพิเศษหรือได้รับความคุ้มครองใดๆ ของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ที่เคยมีอยู่เดิมในฐานะการสื่อสารแห่งประเทศไทย ซึ่งปรากฏอยู่ในพระราชบัญญัติไปรษณีย์ พ.ศ. 2477 อำนาจและสิทธิดังกล่าวก็ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปโดยผลแห่งมาตรา 4 ของพระราชกฤษฎีกา กำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด พ.ศ. 2546 ซึ่งออกตามความแห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 ในมาตรา 26  เช่น ประกาศบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เรื่องตั้งที่ทำการไปรษณีย์สินธร เป็นต้น

(หมายเหตุ : สำหรับกฎหมายที่ใช้ สามารถดาวน์โหลดได้นะครับ)



[1] http://www.thailandpost.com/about_history.asp

[2] หมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 

หมายเลขบันทึก: 286133เขียนเมื่อ 11 สิงหาคม 2009 12:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 18:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ดีค่ะ เริ่มลุกมาบริหารสมอง

สองสามวันนี้ จะเคลียร์งานให้ถึงตั้ม

ปัญหาของตั้มนั้น ก็คือ การต้องคิดโจทย์วิจัยให้ได้อย่างหนักแน่นและกินได้ คงต้องคุยกันนะ อ.เองก็ต้องคิด แต่ตั้มต้องคิดมากกว่า อ.

ถ้างานน้ำหนักเบา วิทยานิพนธ์ก็จะออกมาไม่ดี

การสลับกันทำงาน คนที่ช่วยกันคิด ก็จะไม่มีเพียงแต่ อ.กับตั้ม จะมีประชาคมวิจัยที่มีคนหลากหลายที่เสียสละเพื่อกันนะคะ

อ.หวังจะเห็นภาพของการร่วมคิด อ.ว่า พลังของงานมันอยู่ตรงนั้น ไม่อ่าน ไม่คิด ไม่เขียน ไม่พูด ...คือจุดจบของชีวิตวิชาการล่ะ

นายพิเชษฐ์ ดีเสมอทำงานบริษัท สีชังฟลายอิ้ง มีภรรยาจดทะเบียนชื่อนางนิตยา ดีเสมอ มีลูกด้วย2 คน ชื่อน้องมาย กับน้องมิ๊กซ์ ภรรยาผมทำงานเป็นครูสอนอยู่ที่โรงเรียนวัดสีชมพู

นายสังสิทธิ์ นิ่มนวล

การคำนวณบำเหน็จของ บ.ไปรษณีย์ไทย ได้กี่เท่าของเงินเดือน

ร.ร.ไปรษณีย์ อยู่ที่ไหน รับสมัครเมื่อไร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท