พุทธทุนนิยม : การระดมทุนด้วย(วัตถุ)พุทธพาณิชย์


การหาเงินด้วยการสร้างวัตถุที่เชื่อว่าจะมีฤทธิ์ หรืออื่นใดที่ไม่สอดคล้องกับพระธรรมวินัย มีพระสงฆ์ระดับปกครองสูงสุดไปเป็นประธานจุดเทียนชัย ดับเทียนชัยให้เห็นบ่อย ๆ ก็ไม่เห็นรูปไหนบอกว่า “ผิดพระธรรมวินัย”

พุทธทุนนิยม :  การระดมทุนด้วย(วัตถุ)พุทธพาณิชย์

-โมไนย พจน์-

                เพื่อนกัลยาณมิตรให้ข้อมูลเกี่ยวกับพระเครื่องรุ่นหนึ่ง พร้อมส่งรายละเอียดให้ชม แต่ที่ผู้เขียนสนใจตรงที่ในรุ่นนี้มีคำว่า  เงินทอง ต่อเงิน ต่อทอง ประทานเงิน ประทานทอง  จะมีคำอื่นแฝงตรงไหนบ้างหรือไม่ไม่แน่ใจ เท่าที่สังเกตคงเหมือนจตุคามรุ่นก่อน ๆ ที่เน้น “ความร่ำรวย” แต่จะรวย(แก่ผู้จัดสร้าง แต่คนเช่ายังจนเหมือนเดิม) ผู้ผลิตเหมือนจตุคามหรือไม่ก็อีกเรื่องหนึ่ง ผู้เขียนเลยสัพหยอกเพื่อนกัลยาณมิตรเล่น ๆ ไปว่าจองให้สักองค์สิอยากรวยเหมือนกันนะ  ตอนจตุคามเฟื่องฟูคนไทยห้อยจตุคามกันเต็มบ้านเต็มเมือง นักสร้าง นักปลุก นักเสก ผลิตกันมาแทบจะเต็มแผ่นดินหลายพันรุ่น แต่ผลที่เห็นคนคล้องยังจนเช่นเดิม ประเทศไทยก็ยังเศรษฐกิจขาลงยังไม่ยักขึ้นสักที  จะตีความเล่น ๆ ได้ไหมว่าฤทธิ์ของจตุคามยังไม่พอ จึงทำให้คนไทยตกงาน รายได้น้อยลง ปากกัดตีนถีบมากขึ้น เศรษฐกิจในภาพรวมถดถอยอย่างแรง มองหน้ายังไม่เห็นหน้าอนาคตว่าเงินจะมาจากทางไหน ผู้เขียนก็หวังเหมือนกันว่ารุ่นนี้ หรือรุ่นใหม่ ๆ คงทำให้คนไทยรวยขึ้นมาจริง ๆ ต่อยอดฤทธิ์จตุคามอีกหน่อย

       ในรายละเอียดของพิธีมีพระระดับสมเด็จไปจุดเทียนชัย ประหนึ่งการันตี ประทับตราจากพระสงฆ์ระดับชั้นปกครองสูงสุด ว่าพฤติการณ์ระดมทุนแบบชาวพุทธด้วยวิธีการนี้เป็นสิ่งถูกต้องชอบธรรมตามหลักพระพุทธศาสนากระนั้น ? ประหนึ่งว่ารูปแบบดังกล่าวเป็นโมเดลให้กับวัดทั่วประเทศ 3 หมื่นกว่าวัด ซึ่งล้วนมี “วัตถุ” สำหรับหาเงิน ในนามของวัดตัวเองเกือบทั้งสิ้น  การเขียนบททัศนะนี้ผู้เขียนไม่ได้สนที่ตัว “วัตถุ” ที่ศิษย์สายฤทธิ์ของพระโมคคัลลานะ ? กำลังประกอบพิธีสับปะหงกหน้า สัปหงกหลังด้วยฤทธานุภาพแห่งครูบาอาจารย์เหล่านั้น หรือจะด้วยความชราภาพของสังขารของครูอาจารย์ประมาณว่า “เสก” บ่อยจนอ่อนแรง งานเข้าเยอะไม่ทราบได้ เป็นเพียงการตั้งข้อสังเกต ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียต่อท่านเหล่านั้น   คงได้แต่ถอนหายใจ พร้อมบริกรรมว่า “อนิจจัง ทุกขัง อนิตตา-เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วคงเปลี่ยนไปมั้ง”

        ถามว่าคิดอย่างไรกับวิธีการระดุมทุนแบบนี้  ก็ต้องขอบอกว่าไม่ได้คัดค้าน แต่มองว่าเรา ๆ ท่าน ๆ กำลังทำสิ่งที่เหมือนถูกให้ถูก  หรือทำให้เชื่อว่าถูกหรือไม่ ? (วิ.มหา.1/195/180-มหาโจร 5) กับวิธีการในการจัดการทุนหรือแสวงหาทุนในยุคนี้  ผู้เขียนยอมรับว่าทุนมีความจำเป็นต่อการจัดการ “องค์กร” แต่ผู้เขียนก็เชื่ออยู่ลึก ๆ ว่ามันต้องมีวิธีการอื่น ๆ  ในการแสวงหาทุนแบบองค์รวม ที่เป็นประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาแบบยั่งยืน ระยะยาวได้ เช่น  (ก) ธนาคารพุทธ วัดทั่วประเทศมีสามหมื่นวัด ถ้าเอาระเงินที่ผ่านระบบวัด 3 หมื่นวัด เฉลี่ยวัดละ 1 ล้าน เป็นระบบหุ้นของวัด (ใช้คำว่าเฉลี่ย) จะมีเงินเป็นกองถึง 3 หมื่นล้าน มาเป็นทุนรวมในระบบสถาบันการเงินในนามพระพุทธศาสนา (ธนาคารอิสลาม ?) ให้บริหารจัดการโดยมืออาชีพแล้วเอาผลได้มาบริหารองค์กรในองค์รวมอย่างชาวพุทธ ให้สอดคล้องกับพระธรรมวินัย (ข)  กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ ที่มีเครือข่ายอยู่ทั่วประเทศ เช่น กลุ่มพระอาจารย์สุบิน ปณีโต จ.ตราด ครูชบ ยอดแก้ว จ.สงขลา และที่อื่น ๆ ซึ่งมีเงินหมุนเวียนอยู่หลายร้อยล้านถึงพันล้าน ก่อให้เกิดความยั่งยืนแบบชุมชนชาวพุทธ มีให้เห็นเป็นแบบอย่างจำนวนมาก ได้ทั้งหลักศาสนา วัด และชุมชน (ค) ทรัพย์สินของศาสนาสมบัติกลาง-ที่ธรณีสงฆ์ มีผู้ให้ข้อมูลว่าทรัพย์ส่วนนี้มีมูลค่ารวมเกินกว่า 4 หมื่นล้าน  นำมาบริหารจัดการโดยมืออาชีพที่สามารถกระทำแทนองค์กรศาสนาได้ และให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ใช่ให้นายทุนมาเช่าตัดตอนไปทำประโยชน์สร้างความร่ำรวยให้นายทุนมหาศาล แต่วัด พระศาสนาได้เพียง “เศษ” เท่านั้น  และเศษนั้นเจ้าอาวาสที่มีอำนาจในการบริการจัดการวัด ตาม พรบ.สงฆ์ 2505 แต่เพียงผู้เดียว เอาไปสร้างให้เป็นผลประโยชน์เชิงซ้อนแก่ตัวท่านเองอีก ไม่ใช่พระศาสนาแต่ประการใด เป็นต้น

วิธีการที่ยกมาตัวผู้เขียนเองไม่มีความรู้เกี่ยวระบบเกี่ยวกับการจัดการทุนโดยตรง ได้แต่คิดตามท่านผู้รู้หลายท่านที่เคยให้ข้อมูลและวิธีการไว้เท่านั้นว่าน่าจะทำได้ จึงได้แต่หวังว่าจะมีคนนำที่มีวิสัยทัศน์ อยู่ในองค์กรระดับสูง ที่จริงใจต่อพระศาสนาในองค์รวมมาเป็นเจ้าภาพริเริ่ม ให้เป็นยุทธศาสตร์และยุทธวิธีต่อพระพุทธศาสนาในระยะยาวให้เป็นจริง  แต่ไม่รู้ว่าชาตินี้จะเจอไหม พร้อมทั้งอาจมีผู้แย้งว่า “ไม่ใช่กิจของสงฆ์” แต่ในทางกลับกัน “พุทธทุนนิยม-พุทธพานิชย์-พุทธไสย์” การหาเงินด้วยการสร้างวัตถุที่เชื่อว่าจะมีฤทธิ์ หรืออื่นใดที่ไม่สอดคล้องกับพระธรรมวินัย มีพระสงฆ์ระดับปกครองสูงสุดไปเป็นประธานจุดเทียนชัย ดับเทียนชัยให้เห็นบ่อย ๆ ก็ไม่เห็นรูปไหนบอกว่า “ผิดพระธรรมวินัย” แต่ที่จะทำในนามพระพุทธศาสนาองค์รวม กับมีผู้ “กระแดะ” พูดถึงความถูกความผิดในธรรมวินัยกันในหลาย ๆ คราว...ทีปั้มเหรียญ เสกดินกันจนจะเต็มแผ่นดิน หาผ้าป่า-กฐินที่มุ่งต่อเงินกันทั้งปี แจกซองจนชาวพุทธเห็นซองขาวกฐินผ้าป่าแล้วเบือนหน้าหนีตาม ๆ กัน ไม่ยักบอกผิดธรรมวินัยยังทำกันได้ (กฐิน-ผ้าป่าว่าด้วยเรื่องผ้าไม่ใช่เงิน แต่มีบางทัศนะอ้างว่าเงินเป็นบริวารผ้าป่า กฐิน  : วิ.มหา.2/495/1) อย่างนี้จะยืมคำที่ถูกนำมาเป็นชุดเหตุผลต่อความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบันเหลือง-แดง เพื่อยุติพฤติการณ์ของอีกฝ่ายหนึ่งที่ว่า  “ทุนนิยมสามานย์” หรือจะเป็น “สามานย์ในการหาทุน” ได้ไหมหนอ ?

        ย้อนกลับมาที่ตัวผู้เขียนกำลังตีกรอบให้แคบและมองเฉพาะเรื่องการทำพระผลิตวัตถุที่ถูกเชื่อว่ามีฤทธิ์  ออกมาเพื่อ”จำหน่าย” เพื่อทุน  มีร้านสะดวกซื้อ(11-7)  ธนาคารหลาย ๆ แห่ง  และไปรษณีย์ทั่วประเทศ เปิดจุดและช่องทางในการจำหน่าย  เทียบเคียงกับหลักบริหารตามแนวสมัยใหม่ เพื่อให้มองเห็นภาพว่าการบริหารจัดการในยุคปัจจุบัน  4 M” มีความสอดคล้องกับแนวของ”พุทธทุนนิยม-พุทธพานิชย์”อย่างไร ?

M-Materiel  วัตถุ ที่ถูกทำให้เชื่อว่าเป็น “มงคล” ถูกนำมาเป็นเครื่องอธิบายตัวตนต่อสาธารณะ ซึ่งจำแนกได้เป็นประเภท คือพระพุทธรูปที่เป็นต้นแบบ เช่น หลวงพ่อโสธร หลวงพ่อพุทธชินราช  หลวงพ่อหลวงปู่ที่มีอิทธิฤทธิ์และมีประสบการณ์ในอดีต เช่นหลวงปู่ทวด สมเด็จพุฒาจารย์  หลวงพ่อเงิน  รวมไปถึงคณาจารย์ที่ยังมีชีวิตอยู่อย่างกรณีหลวงพ่อคูณ  หลวงพ่อพูล เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีสิ่งอื่น ๆ หรือสัญลักษณ์ เช่น จตุคามรามเทพ   พระพิฆเนศ  ปลัดขิก นางกวัก กุมารทอง  หรืออื่นใด ซึ่งจัดว่าเป็นวัตถุ ที่ถูกผลิตออกมาเพื่อตอบสนองความพึงพอใจในรูปแบบต่าง ๆ

M-Monk, Magic   “พระ” คือผู้ที่เข้าไปจัดการ ร่วมกับนายทุนเพื่อให้ได้ทุน บางแห่งมีทุนจึงไปจัดทำ บางแห่งจัดทำเพราะนายทุนเข้าไปเสนอให้จัดทำ โดยออกทุนให้ก่อน อย่างมีวัดหนึ่งเถ้าแก่โรงงานปั้มเหรียญแห่งหนึ่ง ไปทำให้ได้มาเมื่อไหร่ก็จ่าย จนกระทั่งเจ้าอาวาสมรณภาพไปก็ยังใช้หนี้ไม่หมด เพราะกว่าจะจำหน่ายได้และหมดและได้ทุนคืนมา   ซึ่งผู้เขียนก็เชื่อว่าวัดส่วนใหญ่ในต่างจังหวัดก็เป็นแบบนี้ไม่แตกต่างกัน อาจแตกต่างกรณีทุนและนายเงินเท่านั้นเอง นอกจาก “เจ้ากู” จะเข้าไปจัดการเองแล้ว ยังเป็นเจ้าพิธี นั่งทำวัตถุให้มีฤทธิ์ โยก คลอน สั่นไหว มีดกรีด ฟันแทง หรือฝนตก เมฆบัง ฟ้าสว่าง ส่วนจะจริง เป็นมายา  ลวงหลอก คงต้องใช้คำว่า “โปรดใช้วิจารณญาณ”

M-Management,Method คนที่เข้าไปจัดการอาจเป็นนายทุน พระ กรรมการวัด ใส่ฤทธิ์ใส่เดช มวลสารสุดแต่จะกล่าวอ้างทั้งสิ้น  วีธีการและการจัดการมุ่งมองหรือเล็งผลเลิศไปที่ “เงิน” เพื่อสร้าง เพื่อซ่อม บูรณะ หรืออื่นใดที่เป็นไปเพื่อเน้นการสร้างเสียเป็นหลัก และบ่อยครั้งผู้เขียนก็อดคิดไม่ได้ว่าทำไมไม่เห็นมีวัตถุประสงค์ในการจัดสร้างเป็นไปเพื่อส่งเสริมให้คน “มีคุณธรรม” ส่งเสริมความเข้าใจพระพุทธศาสนาอย่างถูกต้อง  อาจมีผู้เห็นแย้งว่าเอาไปสร้างโรงเรียน สร้างมหาวิทยาลัยถวายพระเณร ก็น่าจะหมายความว่าป็นการสร้างการเรียนรู้ในพระพุทธศาสนาและเข้าใจที่ถูกต้อง ตรงนั้นก็อาจเป็นเหตุเป็นผลที่ฟังได้แต่ผู้เขียนก็ไม่เห็นดีกับการนำเหตุผลนี้มาอธิบายอย่างที่ปรากฏ เพราะถ้าอย่างนั้นคุณส่งเสริมให้คนงมงายเป็นล้านคนเพื่อสร้างคนให้ฉลาด 10-100 คน คงเป็นสัดส่วนที่แตกต่างกันเกินไปหรือไม่ ?

M-Money  เงิน การลงทุนในเบื้องต้น โดยจุดประสงค์ต่อทุนที่มากขึ้น  ค่าทำบล็อก ค่าโรงงานผลิต  ค่าขนส่ง ค่าพิธีปลุกเสก  ค่าวางจัดจำหน่ายสายส่ง เป็นต้น ส่วนเงินเมื่อได้มาแล้วจะไปทางไหนตามคำกล่างอ้าง สร้าง ซ่อม บำรุง ส่งเสริม ส่วนเท็จจริง อย่างไรก็ไม่เห็นมีการพิสูจน์ตรวจสอบแต่อย่างใด ถามว่าถูก ผิดอย่างไร อันนั้นก็สุดแท้แต่จะมอง ถือว่าเป็นทัศนะส่วนตัวอันเกิดจากมุมมองเละการรับข้อมูลข่าวสาร  ดังมีข่าวกรณีสมเด็จเหนือหัว หรือเหรียญนามสกุลหลวงพ่อโสธร เป็นต้น

M-Moral ศีลธรรม  ในการแสวงหาทุนหาทุนด้วยวีการที่กล่าวมา ไม่เห็นมีพฤติการใดที่มีปลายทางเพื่อส่งเสริมให้เกิดจริยธรรมในสังคมแต่ประการใด ไม่ยักจะบอกว่าบูชารุ่นนี้ต้องเลิกเหล้า เลิกการพนัน บูชารุ่นนี้ต้องถือศีล 5 อย่างเคร่งครัด หรือต้องกตัญญู  รวมทั้งไม่เห็นพฤติการใดที่ก่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องต่อหลักการ อุดมการณ์ของพระพุทธศาสนาแต่ประการใด หนำซ้ำยังเสริมอิทธิฤทธิ์ที่ไม่สามารถพิสูจน์ถึงข้อเท็จจริงได้ และผลผลิตที่ต้นทุนต่ำแต่ค้ากำไรเกินควรที่มีข้อมูลว่ากำไร 100 % (ศูนย์วิจัยกรสิกร : 21 มิ.ย.50) ชนิดที่สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) ได้แต่นั่งมองตา กลัวบาปเดียวตกนรก ไม่ได้ขึ้นสวรรค์ และเจอข้อหาจ้องทำลายพระพุทธศาสนา แล้ววิธีการหาทุนแบบนี้ไม่รู้ควรจะถูกเรียกว่า “ทุนนิยมสามานย์” ด้วยหรือไม่  ส่วนใครเป็นผู้ทำก็ช่วยกันคิดด้วยแล้วกัน....?

        ศูนย์วิจัยกสิกรให้ข้อมูลเกี่ยวว่าตลอดพระเครื่องปี 2550 เฉพาะจตุคามรามเทพเม็ดเงินสะพัดถึง 4 หมื่นล้านบาท (ศูนย์วิจัยกรสิกร : 21 มิ.ย.50) พอมาปี 2551เม็ดเงินในวงการพระเครื่องยอด 4 หมื่นล้านบาท (ศูนย์วิจัยกรสิกร : 7 มี.ค.51) ก็หมายความว่าตัวเลขที่สูงขนาดนี้เงินเหล่านี้กระจายไปยังโรงงานผลิต ค่าขนส่ง ค่าประชาสัมพันธ์ เกจิเจ้าพิธี  ฯ หมายความว่า “วัตถุ” นั้นออกในนามวัด พระพุทธศาสนา แต่ให้ประโยชน์กับพระศาสนาน้อยกว่าที่ควรจะเป็นหรือไม่ถ้ามองจากผลประโยชน์ต่อองค์กรในภาพรวม นอกจากนี้ในทัศนะของผู้เขียน ต้องข้อย้ำ ว่าทัศนะของผู้เขียน “พุทธทุนนิยม” อันเกิดจากการสร้าง “วัตถุ” ที่ถูกทำให้เชื่อว่ามี “ฤทธิ์” ไม่เห็นตรงไหนส่งเสริมความดีงามในสังคม ไม่เห็นตรงไหนส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจพระพุทธศาสนาที่ถูกต้องแต่ประการใด  อาจมีผู้เห็นแย้งว่าเอาไปทำประโยชน์สร้างโรงเรียน มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล ..สารพัดสร้าง...อันนั้นอาจจริงตามข้อกล่าวอ้าง แต่ผู้เขียนก็ยังไม่เห็นพ้องตามทัศนะที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด   

แนวคิดของ ชาร์ล แฮนดี้  ในหนังสือเรื่อง Rethinking the Future ที่อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยเคยแนะนำให้อ่าน คำว่า  Compassionate Capitalism หรือ "ทุนนิยมแบบมีเมตตาธรรม"  ที่เขาให้แนวคิดว่าในผลกำไรให้มีการคืนกลับสู่สังคม และชุมชนสัก 1 %  ไม่รู้จะเข้ากับแนวคิดของพวก “พุทธทุนนิยม” แบบไทยได้ไหมหนอ เท่าที่สังเกตว่าในการสร้างแต่ละรุ่นจะมีคำว่าเพื่อสร้าง..เพื่อ..และเพื่อ...ฟังดูเหมือนคืนกลับสังคมทั้งหมด ก็คงพอกล้อมแกล้มไปได้กระมัง...แต่นั่นคือเหตุผลของการสร้างไม่เกี่ยวกับข้อเท็จจริง ผู้เขียนยังยืนยันตลอดระยะเวลาว่างานการปลูกหลักการณ์ตามแนวพุทธ จึงจะมีประโยชน์ต่อการรักษาพระพุทธศาสนาระยะยาวได้  การสร้างอะไรก็ตามเนื้อแท้เป็นแค่วัตถุที่ถูกสร้าง จะมาผลิตคำ ตีสำนวนใด จีบปากจีบคอถึงประโยชน์จากการสร้าง  ผู้เขียนก็ยังไม่เชื่อว่าจะมีผลต่อการรักษาเนื้อแท้ของพระพุทธศาสนาไว้ได้ ถ้าเทียบกับเจดีย์บุโรพุทโธที่สร้างไว้ใหญ่โต  มหาปราสาทนครวัตที่ใครไปเห็นก็บอกสร้างไว้ยิ่งใหญ่อลังการ หรือกำแพงเมืองจีนที่บ่งบอกถึงความมั่งคั่งแห่งยุคสมัยใครก็อยากไปปีนป่าย พระพุทธรูปที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งบามิยัน  สิ่งที่สร้างอาจบอกได้เพียงแค่ว่าอดีตเคยเป็นอย่างไรเท่านั้น  แต่ไม่สามารถที่จะสืบทอดรักษาความคิดแนวคิด หรืออุดมการณ์อันใดไว้ได้เลย 

ผู้เขียนพยายามคิดตามเหตุผลของผู้สร้าง “วัตถุ” ที่ถูกทำให้เชื่อว่ามี“ฤทธิ์” ของนักสร้าง ทั้งพระ ทั้งวัด และบุคคลต่าง ๆ ด้วยเจตนาแห่งทุน คิดเท่าไหร่ คิดอย่างไรก็นึกไม่ออก อาจจะด้วยภูมิปัญญา  วุฒิภาวะ และสติปัญญาที่ไม่ถึงแก่นแห่งคณาจารย์สายฤทธิ์ นักผลิต นักปั้ หรือยังพัฒนาสมองไปไม่ถึง “ทุน” ที่ “นิยม” ทำกันอย่างชาวพุทธ...ถ้าอย่างนั้นก็คงต้องขออภัย......ที่เข้าไม่ถึงสัจจะแห่งทุนในระบบที่ปรากฎอยู่ ไม่ว่าจะเป็น “พุทธทุนนิยม” นิยมหาทุนด้วยการทำ “พุทธพานิชย์” ผ่าน ”วัตถุ” ที่ถูกทำให้เชื่อว่ามีฤทธิ์

      

 

หมายเลขบันทึก: 285900เขียนเมื่อ 10 สิงหาคม 2009 20:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 12:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ณ คืนอันเงียบสงัดคืนหนึ่ง มีผี 3 ตัวมานั่งคุยกันอยู่ข้างวัด

ผีตัวแรก : ถามตัวที่สามว่า..แกเป็นอะไรตายว่ะ

ผีตัวสาม : เลยตอบกลับไปว่า..ข้าโดนรถชนตาย

ผีตัวสามย้อนถามผีตัวแรก : แล้วแกล่ะเป็นอะไรตาย

ผีตัวแรก : ข้าโดนแทงตายว่ะ

ผีตัวกลางเอาแต่นั่ งร้องไห้ ฮือ ฮือ ฮือ ฮือ !!!!!

ผีตัวแรกกะตัวที่สามเลยถามผีตัวกลางว่า:

แกร้องไห้ทำไมว่ะ... แล้วแกเป็นอะไรตาย...

ผีตัวกลาง : กูยังไม่ตาย กูมา...ขี้ …

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท