ท.ณเมืองกาฬ
นาย ทรงศักดิ์ พิราบขาว ภูเก้าแก้ว

วรรณกรรมย่าสอนหลาน


วรรณกรรมอีสาน

    ภาคอีสานของเรานั้นอุดมไปด้วยสมบัติทางภูมิปัญญาจนไม่อาจประเมินค่าได้ โดยเฉพาะสมบัติทางด้านศิลปวัฒนธรรมนั้นเป็นที่ประจักษ์มานานแล้วว่า มีมากมายเป็นอัตปือ วรรณกรรมก็เป็นหนึ่งในมวลมรดกด้านศิลปวัฒนธรรม และวรรณกรรมอีสานบ้านเฮานั้นมีหลายหลากมากแท้

    คนรุ่นอายุสัก 40 ปีขึ้นไปย่อมคุ้นเคยกับวรรณกรรมพื้นบ้านที่ได้รับการบอกเล่าจากปากต่อปาก เรื่องที่ได้รับการบอกเล่ามากที่สุด ถือเป็นเรื่องยอดนอยมก็เห็นจะเป็นเซียงเมี่ยง รองลงมาก็ ขูลูนางอั้ว พญาแถน ท้าวก่ำกาดำ ฯลฯ และนิทานก้อมที่เน้นตลกเสียดสีสนุกสนานและโป๊หน่อยๆเฉียดๆเรตเอ็กซ์ก็มีไม่น้อย ฟังทีไรก็สร้างความครื้นเครงทั้งผู้พูดและผู้ฟัง

   ส่วนที่เป็นเรื่องราวที่เน้นแก่นความคิดเรื่องความดีความงาม วิธีปฏิบัติตามกฎระเบียบของสังคม ศีลธรรมและจริยธรรมโดยตรงก็มี อย่างเช่น วรรณกรรมเรื่อง ย่าสอนหลาน ซึ่งเป็นเพชรเม็ดหนึ่งของปรั๙ญาอีสานว่าด้วยดำรงชีวิตอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคม ซึ่งพ่อใหญ่ปรีชา พิณทอง ปราชญ์ใหญ่อีสานได้กล่าวถึงที่มาไว้ว่ามาจากการแบ่งหน้าที่ของคนสมัยโบราณซึ่ง “…การอบรมสั่งสอนลูกหลานในสมัยโบราณ เป็นหน้าที่ของย่า เพราะย่านั้นทำงานหนักไม่ได้ งานที่ย่าถนัดคืองานอบรมสั่งสอนลูกหลาน ปกติลูกหลานมีความเคารพยำเกรงย่าอยู่แล้ว เมื่อย่าอบรมสั่งสอนอะไรก็มักเชื่อถือ แล้วนำไปปฏิบัติตาม ดังนั้น ลูกหลานในสมัยโบราณจึงเป็นคนสุภาพ เรียบร้อย มีศีลสัตย์วัฒนธรรม เป็นคนขยันหมั่นเพียร…” ซึ่งข้อวิเคราะห์ของ พ่อใหญ่ปรีชา พิณทอง นี้ได้สะท้อนความเป็นจริงของสังคมในสมัยก่อน ที่ลูกหลานเคารพนบนอบบุรพากรี เชื่อฟังผู้ใหญ่ ทำให้คงความเป็นระเบียบเรียบร้อยเอาไว้ได้

   ในสมัยปัจจุบันนี้ดอก ที่ผู้น้อยไม่เคารพผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ไม่เอ็นดูผู้น้อย เด็กเมื่อวานซืนถอนหงอกผู้เฒ่า ผู้เฒ่าก็ชำเราเด็ก สังคมจึงวิปริตไปหมด

   ผมอ่านหนังสือเรื่อง ย่าสอนหลาน หลายรอบ ยิ่งอ่านยิ่งชอบ ยิ่งชอบก็ยิ่งพิเคราะห์ แล้วเห็นจริงตามที่พ่อใหญ่ ปรีชา พิณทองได้บอกไว้ว่า มีคุณค่าหาคำสอนใดมาเปรียบเทียบได้ยาก เพราะเป็นคำสอนที่อ่านง่าย แต่เนื้อหาลึกซึ้งมาก หากคนสักครึ่งหนึ่งปฏิบัติตามคำสั่งสอนนี้แล้ว ความสงบสุขย่อมเกิดแก่สังคมเป็นแน่

  สิ่งที่ผมชอบเป็นอย่างมากก็คือ นิทานนี้เขียนเป็นร้อยกรอง เป็นผญาที่สละสลวย แต่ด้วยเหตุที่วรรณกรรมสมัยโบราณนั้นไม่ได้บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เป็นวรรณกรรมมุขปาฐะที่ได้แต่เล่าสืบต่อกันมาหลายชั้น ฉะนั้น เนื้อความในแต่ละท้องถิ่นอาจผิดเพี้ยนไปบ้าง เป็นการดีเหลือเกินที่พ่อใหญ่ปรีชา พิณทอง ได้รวบรวมชำระไว้ แล้วจัดพิมพ์เป็นเล่มเผยแพร่ ซึ่งต้นฉบับที่ผมได้อ่านนั้น ก็เป็นฉบับที่พ่อใหญ่ปรีชา พิณทอง ได้ชำระไว้นั่นเอง

   พ่อใหญ่ปรีชา พิณทอง นับเป็นปราชญ์ใหญ่ของอีสานที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน ที่ทำคุณประโยชน์อย่างใหญ่หลวงต่อสังคมอีสานเรา วรรณกรรมเรื่องย่าสอนหลานที่ผมใช้อ้างอิงในการเล่าเรื่องในครั้งนี้ พ่อใหญ่ปรีชา พิณทอง ได้อธิบายคำศัพท์อีสานโบราณไว้อย่างละเอียด ทำให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจและตีความ

   ย่าสอนหลาน ได้เสนอแนวทางในการปฏิบัติตนในการอยู่ร่วมกันในสังคมไว้เป็นข้อๆ เรียกได้ว่าเป็น HOW TO ฉบับโบราณอีสานก็ย่อมได้ โดยแบ่งไว้ชัดเจนดังนี้

แนวทางที่ 1. ว่าด้วยการสอนให้ศึกษาเล่าเรียน
แนวทางที่ 2. ว่าด้วยการสอนคนให้เป็นคน
แนวทางที่ 3. ว่าด้วยการสอนให้รู้จักทำบุญ
แนวทางที่ 4. สอนให้รู้จักกินอยู่
แนวทางที่ 5. สอนให้รู้จักบาป บุญ คุณ โทษ
แนวทางที่ 6. สอนไม่ให้ลืมตัว
แนวทางที่ 7. สอนให้รู้จักการทำงาน
แนวทางที่ 8. สอนเกี่ยวกับการพูดจา
แนวทางที่ 9. สอนให้ละบาปสร้างบุญ

   นี่เป็นประเด็นที่ย่าสอนหลานให้ประพฤติปฏิบัติเพื่อให้อยู่ในสังคมอย่างมีความสุข เป็นการสอนที่มุ่งการเปลี่ยนแปลงจากภายใน อันเป็นวิถีคิดแบบตะวันออก หากพูดกันตามภาษาสมัยใหม่ก็คงเรียกได้ว่า เป็น “9 กลยุทธ์ในการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข” หรือ “How to make yourself to be a good Man …” หรืออะไรสักอย่างทำนองนี้

    เพียงเก้าข้อเท่านี้แหละครับ ก็สามารถบันดาลให้มนุษย์ทั้งหลายสงบสุขได้ ถ้ายึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด จะว่าไปแล้ว 9 แนวทางนี้ก็ล้วนแต่อยู่ภายใต้บทบัญญัติศีลห้า และพรหมวิหารสี่ อันเป็นหลักพื้นฐานของพระพุทธศาสนา โดยนำมาอธิบายให้ง่ายขึ้น มีแนวทางปฏิบัติชัดเจน

   แนวทางที่ 1 ก็คือ ว่าด้วยการสอนให้ศึกษาเล่าเรียน ซึ่งเป็นสิ่งแรกสุดในวรรณคดีเรื่องย่าสอนหลาน โดยย่าได้ย้ำให้ลูกหลานทั้งหญิงชายเข้าเรียนเขียนอ่าน เพื่อจะได้มีความรู้ใส่ตัว เพราะความรู้นั้นทำให้สามารถประกอบกิจใดๆได้ก้าวหน้ารุ่งเรือง

   ถ้าเป็นสมัยนี้ก็อาจเรียกได้ว่า อันวิชาความรู้นั้นเป็นสินทรัพย์เอาไปแปลงเป็นทุนได้ทันที มีปัญญาความรู้ก็เป็นเสมือนมีทุนก้อนใหญ่ที่ใช้ไม่หมด เอามาใช้ได้ทันที ไม่ต้องไปพึ่งธนาคาร

ย่าได้สอนบรรดาบักหำน้อยอีนางน้อยลูกหลานเป็นที่รักว่า

“…ฝูงปวงเจ้ายังเยาว์ บ่ทันใหญ่
อย่าได้ประมาทม้าง มัวเหล้นบ่ดีฯ
ให้ฮีบพากันเข้า โรงเรียนเขียนอ่าน หลานเอยฯ
อย่าได้คึดขี้คร้าน ความฮู้ให้หมั่นหาฯ
ให้พากันศึกษาฮู้ วิชาการกิจชอบ
ฮีบประกอบไว้ ไปหน้าสิฮุ่งเฮืองฯ…”

   แปลเป็นภาษาปัจจุบันก็ได้ว่า ลูกหลานที่ยังเยาว์วัยอยู่ อย่าได้เอาแต่เที่ยวเล่น ให้พากันหมั่นศึกษาเล่าเรียนให้จงหนัก อย่าได้เกียจคร้านตัวเป็นขน เพราะหากรีบหาวิชาความรู้ไว้ในตัวแล้ว จะทำอะไรในภายหน้าก็จะมีแต่ความรุ่งเรืองก้าวหน้า นั่นแลฯ
อันวิชาการความรู้ที่ว่านี้ ต้องเป็นความรู้ในทางที่ดีด้วย เป็นวิชาการกิจชอบ ฉะนั้น ความรู้แบบไม่ชอบ เช่นการงัดแงะบ้านเรือนผู้คนเพื่อจะยกโทรทัศน์พัดลมเขาไปขาย หรือวิชางัดตู้โทรศัพท์สาธารณะเอาเงินไปใช้ หรือวิชาในทางโจรนั้น ย่าห้ามเด็ดขาด เอาแต่ความรู้ในกิจที่ชอบเท่านั้น

ความรู้นั้น คนโบราณให้ความสำคัญมาก ทำให้มีทั้งยศมีทั้งทรัพย์ อย่างที่ย่าสอนไว้ว่า

“…ยามเมื่อเจ้าหนุ่มน้อย ให้ฮีบฮ่ำเฮียนคุณ
ยามเมื่อบุญเฮามี สิใหญ่สูงเพียงฟ้า
ไปภายหน้า สิหาเงินได้ง่าย
ใผผู้ความฮู้ตื้น เงินล้านบ่แกว่นถง…”

   ความรู้จึงเป็นของแท้แน่นอน ทำให้ ใหญ่สูงเพียงฟ้า ได้ และทำให้หาเงินทองได้ง่ายด้วย คนที่ไม่มีความรู้นั่นสิจะลำบาก เพราะจะตกอยู่ในภาวะแบบ ใผผู้ความฮู้ตื้น เงินล้านบ่แกว่นถง เอาได้ง่ายๆ

  บางคนอาจจะสงสัยว่า ทำไม ดูเหมือนย่าจะเน้นเรื่องหาเงินทองจัง ราวกับว่าเงินทองเป็นคำตอบเดียวในชีวิต

  ที่เป็นเช่นนี้มิได้หมายความว่าย่าเป็นคนเห็นแก่เงินหรอก แต่เพราะสามารถยกให้เห็นได้อย่างชัดเจน เป็นรูปธรรม และโดยธรรมชาติแล้ว คนน่ะมีไหมที่ไม่ชอบเงิน เมื่อยกเอาสิ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมและเป็นสิ่งที่คนชอบขึ้นมาแล้วไซร้ ก็ย่อมจะสามารถดึงดูความสนใจของผู้คนได้

  นี่ก็นับเป็นกลวิธีหนึ่งในการสอนของคนโบราณ อย่างที่ท่านสุนทรภู่ได้รจนาไว้ว่า “มีวิชาเหมือนมีทรัพย์อยู่นับแสน” นั่นแหละ

  มีใครบ้างที่พูดถึงทรัพย์แล้วไม่ตาโต เมื่ออยากได้ทรัพย์ก็ต้องแสวงหาความรู้ เมื่อมีความรู้ก็ย่อมจะหาทรัพย์มาเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้ ไม่ต้องเดือดร้อนคนอื่น ไม่เป็นเพลี้ยคอยเกาะคอยดูดกินน้ำชีวิตของผู้อื่น เมื่อมีทรัพย์จนเหลือใช้แล้วก็ยังจะมีแบ่งปันให้แก่คนที่ไม่มีได้

  ทั้งนี้ทั้งนั้น การมีทรัพย์มากและสละให้คนอื่นได้ นอกจากมีวิชาความรู้แล้ว ก็ย่อมจะเป็นคนที่มีคุณธรรมอีกด้วย การที่จะมีคุณธรรมใดๆได้ก็ย่อมเป็นเพราะได้รับคำสั่งสอนที่ดี และคนที่สั่งสอนสิ่งดีๆให้ก็คือย่านั่นเอง

   ที่จริงแล้วย่าก็ไม่ได้เน้นที่เงินเพียงอย่างเดียว แต่ย่าชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของความรู้ในทางอื่นด้วย โดยเฉพาะเป็นบันใดยกระดับคุณภาพชีวิต หรือฐานะทางสังคมของคนได้อีกด้วย ว่า คนมีความรู้นั้น…

“…สิได้เป็นขุนขึ้น ครองเมืองตุ้มไพร่
สิได้เป็นใหญ่ชั้น แนวเชื้อชาตินาย แท้ดายฯ”

   ความของย่าข้อนี้ในปัจจุบันนั้นตรงเผง ก็แหม! ดูสิ นายกรัฐมนตรีก็ เรียนสูงถึงดอกเตอร์ รองนายกฯก็ดอกเตอร์ รัฐมนตรีหลายคนก็ดอกเตอร์ ไม่นับบรรดาท่านผู้ช่วยฯ ท่านเลขาฯ ท่าน สส। ท่าน สว. ท่าน ที่ปรึกษาฯ ก็มีดอกเตอร์กันเต็มไปหมด ท่านพวกนี้ได้ดิบได้ดีอย่างที่ย่าว่าไว้เปี๊ยบเลย ตำแหน่งแห่งที่ของพวกท่านก็ระดับ ‘ขุน’ หรือผู้นำที่ ครองเมืองตุ้มไพร่ – ปกครองไพร่ฟ้ากันทั้งนั้นแหละ และ ‘เป็นใหญ่ชั้น แนวเชื้อชาตินาย’ -เป็นใหญ่เป็นโตระดับนายคนกันทั้งสิ้น

  เห็นไหมล่ะว่าย่าโบราณของคนอีสานบ้านเฮาท่านมีวิสัยทัศน์ขนาดไหน ท่านสอนไว้ตั้งนมนานกาเลแล้ว แต่ก็แม่นเหมือนตาเห็นเลย.

หมายเลขบันทึก: 283742เขียนเมื่อ 6 สิงหาคม 2009 11:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤษภาคม 2012 20:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีครับอาจารย์วรชัย หลักคำ

  •  ขอบคุณมากๆที่แวะมาทักทาย เพื่อรู้จักกัน
  •  มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ วรรณกรรมอีสานที่มีคุณค่า
  • โชคดีมีสุขนะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท