เก็บมาเล่าจากเวทีเสวนา “คุณเอื้อ” ณ บ้านผู้หว่าน 4) KM & QA ที่ มน.


ดูเหมือนเป็นการทำงานตามโครงสร้างอำนาจ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ คนที่มาร่วมงาน เป็นคนที่มาทำงานจริง

เรื่องเล่าประสบการณ์ความสำเร็จของคุณเอื้อจากของ ม.นเรศวร - ผศ.ดร.วิบูลย์ วัฒนาธร

อ.วิบูลย์มีตำแหน่งเป็นรองอธิการบดี ม.นเรศวร ดูแลด้านการวิจัยและการประกันคุณภาพ ได้รับมอบหมายให้ดูเรื่องการจัดการความรู้อีกเรื่องหนึ่ง ในท่ามกลางกระแสการจัดการความรู้ที่ถูกกำหนดโดย กพร.  แต่ อ.วิบูลย์ บอกว่า การจัดการความรู้ที่มน.ไม่ได้เริ่มจากกพร. แต่เป็นผลต่อเนื่องตั้งแต่ครั้งกระนู้น…

ครั้งที่อาจารย์รับตำแหน่งผู้ช่วยอธิการบดีเมื่อปี 41 มีหน้าที่ดูแลเรื่องการประกันคุณภาพ (QA) ซึ่งตอนนั้นนับเป็นเรื่องใหม่มาก และรู้ว่าคนทั่วไปไม่ชอบการประเมิน ก็พยายามศึกษาว่า “ทำอย่างไรให้คนชอบการประเมิน" ก็ศึกษาทั้งจากข้อมูลต่างๆ และผลการวิจัย นำมาประมวลให้เป็นเรื่องง่าย คิดว่าเป็นหนทางที่ดี แล้วก็รีบทำเลย ขณะเดียวกัน ก็เก็บข้อมูลจากผู้รับการประเมินว่าดีหรือไม่  ซึ่งก็ได้รับการ feed back ที่ดีมากๆ

เมื่อมารับดูแลเรื่องการจัดการความรู้ในปัจจุบัน ก็ไม่ได้สร้างทีมใหม่ ทำกับคนเดิมๆ และทำกับงานเดิมที่รับผิดชอบอยู่ คือ นำการจัดการความรู้มาบูรณาการกับการประกันคุณภาพ ทำให้เกิดการลปรร. ถี่ขึ้นกว่ารอบการประเมินซึ่งแต่ก่อนทำปีละ 1 ครั้ง และเมื่อมี blog ก็ยิ่งเพิ่มการลปรร.และปรับปรุงกระบวนการ QA อยู่ตลอดเวลา

อ.วิบูลย์บอกว่า โดยตำแหน่งที่ทำอยู่คือรองอธิการบดี ดูเหมือนเป็นการทำงานตามโครงสร้างอำนาจ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่  คนที่มาร่วมงาน เป็นคนที่มาทำงานจริง ไม่ได้เกิดจากโครงสร้าง แต่เห็นประโยชน์ เห็นคุณค่า และศรัทธาในการจัดการความรู้จริงๆ  อีกอย่างถึงแม้จะอยู่ส่วนกลาง ก็สั่งคณะไม่ได้ ที่ทำได้ เพียงแต่ให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ และ ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง

ตัวอย่างที่ส่วนกลาง โดยอ.วิบูลย์สนับสนุนให้เกิดขึ้นคือชุมชนนักปฏิบัติ (CoP) ซึ่งขณะนี้มี 2 ชุมชนแล้วคือ ชุมชนคนเขียน blog และชุมชนเลขานุการ และที่กำลังจะมีเพิ่มขึ้นคือชุมชนคนวิจัย และชุมชนการเรียนการสอน ตรงนี้เพื่อตอบสนองกับพันธกิจหลักที่มน.มุ่งเน้นคือ คุณภาพบัณฑิต และการวิจัย  จุดนี้ ก็เป็นจุดที่ทำให้ตนเองประทับใจกับความเป็นนักบริหารที่ยึดเป้าหมายขององค์กรไว้อย่างแน่วแน่ เป็นการจัดการความรู้ที่มีหัวปลาที่ชัดเจน

อ.วิบูลย์บอกถึงกลยุทธ์หนึ่งในการขับเคลื่อน KM คือ การลดแรงเสียดทาน โดยการจัดอบรม คุณเอื้อ, คุณอำนวย  แต่ อ.วิบูลย์ บอกว่า ไม่ใช่สิ่งที่ต้องการจริงๆ เป็นเพียงให้เขาเหล่านั้น เข้าใจการจัดการความรู้ เพื่อไม่ให้ต่อต้านคนในหน่วยงานที่ต้องการทำการจัดการความรู้จริงๆ

อ.วิบูลย์ ยังบอกถึงแผนที่จะทำต่อไปของการบูรณาการ KM กับ QA คือการนำเทคโนโลยีติดเรดาร์ (RSS) และโปรแกรม Planet matter ของอ.จันทวรรณ และ อ.ธวัชชัย ไปใช้ โดยนำข้อมูล QA ทุกคณะขึ้น web สามารถ update ข้อมูลได้ตลอด และจะมีการติด RSS ในทุกตัวบ่งชี้ของเกณฑ์ประเมิน ซึ่งแต่ละตัวบ่งชี้ จะมีการใส่ชื่อผู้รับผิดชอบ ทั้งระดับผู้บริหาร และฝ่ายสนับสนุน ทำให้ทุกคนเห็นข้อมูลของคณะอื่นได้ตลอดเวลา และเป็นข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน จะทำให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกลุ่มผู้ดูแลตัวชี้วัดแต่ละตัว ก็จะเกิดเป็น CoPs โดยปริยาย  เป็นแผนงานที่น่าทึ่งมากๆ เลยค่ะ

หมายเลขบันทึก: 28347เขียนเมื่อ 14 พฤษภาคม 2006 09:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท