การเขียนบทวิทยุและโทรทัศน์เพื่อการประชาสัมพันธ์


วิทยุกระจายเสียงเป็นสื่อเสียง การเขียนสำหรับสื่อวิทยุกระจายเสียงจึงเป็นการเขียนเพื่อการรับฟังสารต่าง ๆ ซึ่งเป็นถ้อยคำและลีลาของเสียงที่จะก่อให้เกิดภาพในความนึกคิดของผู้ฟัง ส่วนวิทยุโทรทัศน์เป็นสื่อที่ให้ทั้งภาพและเสียง จึงสร้างความน่าสนใจสำหรับผู้รับสารได้ดี ดังนั้น การเขียนบทสำหรับวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์จะต้องเขียนให้ทั้งดูและฟัง ไม่เขียนในรูปแบบเพื่ออ่าน นักประชาสัมพันธ์จึงควรให้ความสำคัญและศึกษาการเขียนเพื่อการประชาสัมพันธ์ทั้งทางวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ตามลำดับ

การเขียนบทวิทยุกระจายเสียงเพื่อการประชาสัมพันธ์

ก่อนไปสู่ขั้นของการเขียนบทวิทยุกระจายเสียง นักประชาสัมพันธ์ควรมีความรู้เรื่องกระบวนการผลิตรายการวิทยุกระจายเสียง เพื่อจะได้เข้าใจว่า การเขียนบทอยู่ในขั้นตอนใดของกระบวนการผลิต ดังนี้

1.      กระบวนการผลิตรายการวิทยุกระจายเสียง

กระบวนการผลิตรายการวิทยุกระจายเสียง แบ่งออกเป็น  4  ขั้นตอน (นรินทร์ เนาวประทีป, 2535, หน้า 36)  คือ

       1. 1 ขั้นเตรียมการ  (preparation) ซึ่งแบ่งออกเป็นขั้นตอนย่อย ๆ  3  ขั้นตอน ได้แก่

1.1.1  วางแผน  (planning)  กำหนดหัวข้อว่า  จะจัดรายการเรื่องอะไร  เนื้อหาอย่างไร  เสนอรายการในรูปแบบไหน  ผู้ฟังคือใคร  ออกอากาศเวลาไหน  วัตถุประสงค์ของรายการเพื่อสิ่งใด เช่น ให้ข่าวสาร  (inform) ให้ความบันเทิง  (entertain) กระตุ้นความสนใจ  (stimulate) ย้ำให้เกิดความมั่นใจและก่อให้เกิดการกระทำ  (convince) หรือสร้างและปรับปรุงทัศนคติ  (form  or  modify) เป็นต้น

1.1.2 การเขียนบท  (writing script)  เป็นการนำเอาความคิด  ในขั้นการวางแผนมาขยายและเขียนรายละเอียด  โดยอาศัยจินตนาการของผู้เขียนเอง  ประกอบกับการค้นคว้าหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ  มาเขียนในรูปแบบของบทวิทยุกระจายเสียง

1.1.3 การเตรียมวัสดุอุปกรณ์และเสียงประกอบต่าง ๆ ตามบทเป็นขั้นที่ต้องเตรียมจัดหาแผ่นเสียง เพลงประกอบรายการ  เสียงประกอบต่าง ๆ  เตรียมจัดหาบุคลากรให้พร้อมตามบทที่เขียนเองไว้ว่า  ใครจะเป็นผู้ประกาศ  มีใครร่วมรายการบ้าง  และใครควบคุมเสียง

      1.2 ขั้นซักซ้อมก่อนออกอากาศ  (rehearsal) เป็นการนำสิ่งต่าง ๆ  มารวมกันและจัดลำดับตามบทที่ได้เขียนไว้ แล้วทำการซ้อมจัดรายการพร้อมกันหมด ปรับปรุงแก้ไขสิ่งต่าง ๆ  เช่น เนื้อหา วิธีเสนอ ผู้ประกาศ หรือผู้ร่วมรายการมีข้อบกพร่องอย่างไร ย่อมแก้ไขได้และสามารถซักซ้อมความเข้าใจกันให้เรียบร้อยก่อนออกอากาศจริง

     1.3 ขั้นออกอากาศ (on air) เป็นขั้นที่ทุกสิ่งทุกอย่างกระทำไปตามบทที่ได้ผ่านการแก้ไขเรียบร้อยแล้ว โดยวิธีการในขั้นนี้อาจจะออกอากาศจริง หรือบันทึกเทปเอาไว้ เพื่อนำไปออกอากาศจริงก็ได้

     1.4 ขั้นประเมินผล (evaluation) หลังจากออกอากาศแล้ว ควรมีการติดตามผลว่ารายการที่ผลิตไปนั้นประสบปัญหาอะไรบ้างจะต้องแก้ไขอย่างไร อาจจะต้องแก้ไขเฉพาะจุดใดจุดหนึ่ง หรือทั้งหมดก็ได้เพื่อให้รายการประสบความสำเร็จสมบูรณ์ที่สุด

2. องค์ประกอบของบทวิทยุกระจายเสียงเพื่อการประชาสัมพันธ์

 บทวิทยุกระจายเสียง หมายถึง ข้อความที่บอกกล่าว เล่าเรื่อง เหตุการณ์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นรายละเอียดของรายการวิทยุกระจายเสียงตั้งแต่ต้นจนจบรายการอย่างมีลำดับขั้นตอน เพื่อใช้ถ่ายทอดด้วยเสียงให้ผู้ฟังจินตนาการเป็นภาพตรงตามวัตถุประสงค์ผู้บอกกล่าว ตลอดจนทำให้รายการดำเนินไปอย่างมีทิศทางตามขอบเขตเนื้อหา รูปแบบรายการที่กำหนดไว้ ส่วนบทวิทยุกระจายเสียงเพื่อการประชาสัมพันธ์ จะหมายถึง บทรายการวิทยุกระจายเสียงที่ใช้ในการเผยแพร่ข่าวสารข้อมูลต่าง ๆ ของหน่วยงาน องค์กร และสถาบัน โดยมุ่งผลในด้านการประชาสัมพันธ์หน่วยงาน องค์กร และสถาบัน

 องค์ประกอบของบทวิทยุกระจายเสียง ไม่ว่าจะเป็นบทวิทยุกระจายเสียงทางด้านการประชาสัมพันธ์ หรือเพื่อวัตถุประสงค์อื่น ๆ นั้น ประกอบด้วยส่วนที่สำคัญ 3 ส่วน คือ

2.1 ส่วนหัว (heading) ส่วนหัวของบทวิทยุกระจายเสียงจะบอกชื่อรายการ ชื่อเรื่อง  ตอน สถานีที่ออกอากาศ ความถี่ วัน เวลาที่ออกอากาศ

2.2 ส่วนเนื้อหา (body) ส่วนเนื้อหาเป็นรายละเอียดของเนื้อหา เรื่องราว ตามลำดับ เป็นส่วนที่บอกถึง ผู้เกี่ยวข้องในรายการว่าจะต้องทำอะไร แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่

  2.2.1 คำพูด หมายถึง การใช้ภาษา ถ้อยคำสำนวนออกมาเป็นคำพูดของใครก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นพิธีกร ผู้สนทนา ผู้แสดง ผู้ให้สัมภาษณ์ ฯลฯ คำพูดเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการถ่ายทอดความคิดหรือสื่อสารข้อความให้แก่ผู้ฟังได้ทราบ ในบทวิทยุกระจายเสียงอาจมีวิธีนำเสนอคำพูดเพื่อถ่ายทอดข่าวสารหรือความคิดได้โดยผ่านทางผู้พูดที่เรากำหนดขึ้น เช่น อาจกำหนดให้พิธีกรเป็นผู้พูดหรือกำหนดให้คู่สนทนาพูดคุยกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเทคนิคการนำเสนอรายการ รวมทั้งวัตถุประสงค์ของรายการนั้น

2.2.2 เสียงประกอบ หมายถึง เสียงดนตรี เสียงเพลง และเสียงอื่น ๆ ที่ทำขึ้นเพื่อเลียนแบบเสียงจริง เสียงประกอบมีหน้าที่หลายประการ เช่น บอกเวลา บอกสถานที่ บอกการกระทำหรือช่วยสร้างบรรยากาศ เป็นต้น เสียงประกอบที่เป็นเสียงดนตรีและเสียงเพลงนั้นจะนิยมใช้เปิดและปิดรายการ เพื่อสร้างอารมณ์และความรู้สึกของผู้ฟัง นอกจากนั้น เสียงเพลงและเสียงดนตรียังสร้างสัญลักษณ์ หรือสร้างความเป็นเอกลักษณ์ในรายการให้ผู้ฟังจดจำได้อีกด้วย

  2.3 ส่วนปิดท้าย (closing or conclusion) ส่วนปิดท้ายจะเป็นส่วนสรุปเนื้อหา หรือกล่าวขอบคุณผู้ร่วมรายการ หรือสรุปด้วยการประกาศชื่อเรื่อง  และชื่อผู้เขียนซ้ำอีกครั้งหนึ่ง

3. ขั้นตอนการเขียนบทวิทยุกระจายเสียง

                             การเขียนบทรายการวิทยุกระจายเสียงเพื่อการประชาสัมพันธ์ต้องอาศัยจินตนาการและการคิดสร้างสรรค์ในการสื่อความหมายไปยังผู้ฟัง เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการเขียนจึงควรพิจารณาดำเนินการเขียนบทตามขั้นตอน (Hilliard, 2000, p. 118) ดังนี้

3.1 พิจารณาวัตถุประสงค์ในการเขียน ผู้เขียนต้องศึกษาดูว่าบทวิทยุกระจายเสียงที่จะเขียนขึ้นนั้น ต้องการให้บรรลุวัตถุประสงค์ใดในการประชาสัมพันธ์ เช่น เพื่อบอกกล่าวให้ทราบ ให้ความรู้ความเข้าใจ หรือเพื่อโน้มน้าวใจให้ยอมรับเชื่อถือ หรือต้องการปลูกฝังในเรื่องอะไร เนื่องจากลีลาการนำเสนอข้อมูลในแต่ละวัตถุประสงค์มีความแตกต่างกัน

3.2 วิเคราะห์กลุ่มผู้ฟัง  หมายถึง วิเคราะห์กลุ่มผู้ฟังที่เป็นเป้าหมายของการจัดรายการ  (target  audience) เพราะผู้ฟังจะเป็นผู้ตัดสินว่า  รายการที่จัดจะประสบผลสำเร็จหรือไม่  ผู้จัดรายการจะต้องรู้ว่า  กลุ่มผู้ฟังรายการเป็นใคร  นอกจากจะรู้ว่าเป็นกลุ่มใดแล้ว  ควรจะรู้ให้ลึกซึ้งลงไปถึงประวัติ  พฤติกรรม และทัศนคติของคนในกลุ่มนั้นด้วย จึงต้องศึกษาดูว่ากลุ่มเป้าหมายเป็นใคร โดยพิจารณาองค์ประกอบในเรื่องสถานภาพ เช่น อายุ เพศ อาชีพ เป็นต้น และองค์ประกอบด้านจิตวิทยา เช่น ความสนใจ ทัศนคติ เป็นต้น เพื่อสามารถเลือกใช้ภาษาให้เหมาะกับคุณลักษณะของผู้ฟัง

3.3 กำหนดแนวคิดรายการ แนวคิดรายการจะเป็นแนวทางให้ผู้เขียนไปสู่เป้าหมายว่าจะทำอะไร จะนำเสนออะไร ทั้งนี้ก่อนการเขียนบทผู้เขียนบทต้องทราบวัตถุประสงค์รายการ ข้อมูลพื้นฐานของรายการ เพื่อกำหนดแนวคิดรายการ แนวคิดรายการเกิดจากแนวคิดของผู้เขียนบทเองหรือจากแนวคิดที่อื่นแล้วนำมาดัดแปลงขยายเป็นแนวคิดรายการ การกำหนดแนวคิดต้องคำนึงถึงผู้ฟังเป้าหมายของรายการว่ามีความเหมาะสม มีประโยชน์หรืออยู่ในความสนใจของผู้ฟังหรือไม่ แนวคิดรายการจะสามารถนำเสนอในรูปแบบรายการอย่างไรที่เหมาะสมกับผู้ฟังเป้าหมาย เวลาและความยาวของรายการ

3.4 กำหนดรูปแบบรายการ โดยปกติแล้วการนำเสนอเนื้อหาสาระไปยังผู้ฟังทางวิทยุกระจายเสียงนั้นมีวิธีการนำเสนอได้หลายวิธี ผู้เขียนบทจะต้องเลือกรูปแบบรายการให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของการประชาสัมพันธ์ เช่น สปอต (spot) จิงเกิล (jingle) ข่าว บทความ สารคดี หรือสัมภาษณ์ เป็นต้น

3.5 กำหนดเนื้อหาของรายการ ไม่ว่าจะเป็นการเขียนบท เพื่อวัตถุประสงค์ใดในการประชาสัมพันธ์ จำเป็นต้องกำหนดเนื้อหาให้ชัดเจน ไม่สับสนคลุมเครือ เช่น ถ้าเป็นเรื่องของการเสนอนโยบาย เนื้อหาต้องแสดงให้เห็นประโยชน์ของการปฏิบัติตามและโทษของการไม่ปฏิบัติตาม ถ้าเป็นเรื่องแก้ไขปัญหาความเข้าใจผิด เนื้อหาต้องชี้ให้เห็นเหตุและผลของปัญหา รวมทั้งวิธีการแก้ไขปัญหา ถ้าเป็นเรื่องที่ต้องการเปลี่ยนแปลงทัศนคติหรือพฤติกรรม เนื้อหาต้องทำให้ผู้ฟังเห็นประโยชน์และแนวทางปฏิบัติที่เกิดขึ้นได้ตามสภาพความเป็นจริง

3.6 การค้นคว้า การค้นคว้าเป็นงานที่สำคัญของผู้เขียนบท การค้นคว้าข้อมูลจะได้จากแหล่งต่าง ๆ ได้แก่ ห้องสมุด หนังสือประเภทต่าง ๆ การสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้อง ผู้เขียนบทมักเป็นผู้ที่ต้องค้นคว้าหาข้อมูลเอง บางหน่วยงาน องค์กร และสถาบันที่มีขนาดใหญ่อาจมีทีมข้อมูลเพื่อหาข้อมูลแล้วส่งให้ผู้เขียนบทอีกต่อหนึ่ง

3.7 กำหนดโครงเรื่องและเรียบเรียงเนื้อหาเพื่อเขียนบท เมื่อได้ข้อมูล ควรกำหนดใจความย่อ หรือเค้าโครงเรื่องก่อน จากนั้นจึงมากำหนดโครงสร้างรายการ โดยยึดหลักว่าขึ้นต้นรายการให้น่าสนใจดำเนินเนื้อหาให้เข้าใจง่าย น่าสนใจ สรุปเนื้อหาและปิดรายการอย่างประทับใจ

3.8  ตรวจทานบท เมื่อเขียนเสร็จควรตรวจทานบทอีกครั้งหนึ่ง เพื่อดูว่าการใช้ภาษาชัดเจน เหมาะสม ถูกต้องหรือไม่ สะดวกในการอ่านออกเสียงหรือไม่ ฟังเป็นธรรมชาติ ไม่ขัดหูหรือไม่ ความน่าสนใจ ความครบถ้วนของเนื้อหา การลำดับเนื้อหาเป็นอย่างไร เวลาของรายการได้ตามกำหนดหรือไม่ ทั้งนี้ เวลาของรายการต้องนับรวมดนตรีและเสียงประกอบในรายการด้วย และเมื่อปรับปรุงบทเรียบร้อยแล้วจึงแจกจ่ายบทให้ทีมงาน เพื่อดำเนินการผลิตรายการต่อไป

 4. การใช้ภาษาในการเขียนบทวิทยุกระจายเสียง

  ทุกรายการที่ออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียง  ควรเขียนด้วยภาษาเดียว  คือ  ภาษาวิทยุกระจายเสียง ไม่ว่าจะเป็นภาษาไทย  จีน  ฝรั่ง  แขก  ภาษากระจายเสียงย่อมเหมือนกันทั้งสิ้น  คือ  เป็นภาษาหนังสือผสมกับภาษาพูดออกมาเป็นภาษาวิทยุกระจายเสียง

ดังได้กล่าวแล้วว่า  ภาษาวิทยุกระจายเสียงคือ  ภาษาหนังสือที่นำมาทำให้ง่ายและผสมกับภาษาสนทนา  เพราะฉะนั้นก็เท่ากับ  นำภาษาหนังสือที่อาจยาวและเขียนไว้สำหรับอ่าน  มาทอนให้สั้นแต่ได้ความคงเดิม เพื่อการรับฟังอย่างง่าย  ๆ

ผู้เขียนบทวิทยุกระจายเสียงต้องจำไว้เสมอว่ากำลังเขียนเพื่อนำอ่าน  เสียงนั้นจะผ่านหูผู้ฟังเพียงครั้งเดียว  ผู้ฟังไม่มีโอกาสได้ทบทวนเหมือนอ่านหนังสือ  เข้าใจหรือไม่ก็ครั้งเดียวแล้วผ่านไปเลย ถ้าพูดไปแล้ว  ผู้ฟังไม่เข้าใจ  ก็เท่ากับเสียเวลา  เสียแรง  เสียความพยายาม  และเสียประโยชน์ในการสื่อสารประชาสัมพันธ์ของหน่วยงาน องค์กร และสถาบัน รวมทั้งเสียชื่อเสียงของนักประชาสัมพันธ์อีกด้วย

การเขียนภาษาวิทยุกระจายเสียง จึงต้องคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้ (นภาภรณ์ อัจฉริยะกุล, 2539, หน้า 178 - 179) เช่น การใช้ประโยคสั้น  แต่ให้ได้ความสมบูรณ์  กะทัดรัด  ไม่เยิ่นเย้อ

การเขียนให้เขียนออกมาในรูปของภาษาพูด  ไม่ใช่ภาษาหนังสือ  และเขียนทุกคำที่ต้องการอ่านลงบนกระดาษ  อย่าคิดว่าจะไปต่อเติมเอาทีหลังขณะที่อ่าน  จะทำให้สะดุด  หรือตะกุกตะกัก ไม่รื่นหูได้

ภาษาไทยของเราไม่มีเครื่องหมายวรรคตอน  เพราะฉะนั้น บทที่เขียนต้องจัดวรรคตอนเองให้ดี  เช่น ใช้เว้นวรรค  ใช้เครื่องหมายขีดคั่น  ขีดเส้นใต้ประโยคที่จะต้องเน้นหนักในการออกเสียง  ใช้ย่อหน้าย่อย  ๆ เข้าช่วย เป็นต้น

หลีกเลี่ยงการใช้ประโยคยาว ๆ ที่เต็มไปด้วยคุณศัพท์มาก ๆ ที่ประกอบคำนามคำเดียว หลีกเลี่ยงประโยคซึ่งเชื่อมด้วยคำว่า....ซึ่ง.....ที่.......หรือ.......กับ......แต่......ต่อ......ฯลฯ  บางครั้งทำให้เยิ่นเย้อมาก  จนกระทั่งฟังแล้วไม่ทราบว่าความสำคัญของประโยคอยู่ตรงไหน  ถ้านำมาใช้ต้องพิจารณาให้เหมาะสมจึงจะน่าฟัง

คำเล็ก ๆ น้อยเป็นกันเองบางคำที่ใช้ในภาษาพูดทั่วไป  อาจใช้แทรกลงในคำเขียน เพื่อให้อ่านออกเสียงแล้วทำให้บทวิทยุนั้นสละสลวย  เป็นกันเอง  รื่นหู ชวนฟังขึ้นได้มาก

ถ้าต้องกล่าวถึงตัวเลขให้ใช้ตัวเลขโดยประมาณ เช่น 995 บาท ใช้ว่าประมาณ 1,000 บาทหรือ 1,968,590 บาทใช้ว่าประมาณ 2 ล้านบาท ถ้าตัวเลขมีความสำคัญและมีจำนวนมาก ควรวงเล็บคำอ่านไว้ด้วย เช่น หนึ่ง - ล้าน -เก้า - แสน - หก - หมื่น - แปด - พัน - ห้า - ร้อย - เก้า - สิบ - บาท

อย่าใช้คำย่อ ให้ใช้คำเต็ม ยกเว้นคำย่อที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป เพื่อมิให้เกิดปัญหาในการอ่าน การฟังที่จะทำให้เกิดความผิดพลาดได้ สำหรับชื่อย่อหน่วยงานราชการไทย แนะนำให้ใช้คำเต็ม แม้จะเป็นคำที่รู้จัก กันดีแล้วก็ตาม

คำที่อ่านยาก ชื่อเฉพาะ ต้องวงเล็บคำอ่านไว้ให้ชัดเจน เช่น มณีชลขัณฑ์ (มะ - นี - ชน - ละ - ขัน ) แม่แปรก (แม่ - ปะ - แหรก) เป็นต้น

การยกข้อความหรือคำพูดของผู้อื่นมา ควรเขียนให้ชัดเจนว่า คำพูดที่ยกมานั้นเป็นคำพูดของใคร พูดอะไร โดยเปลี่ยนสรรพนามจากบุรุษที่ 1 เป็นบุรุษที่ 3 แล้วเรียบเรียงประโยคใหม่

การเขียนบทวิทยุกระจายเสียง  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร  ผู้เขียนต้องนึกถึงผู้ฟังเป็นใหญ่  ไว้ก่อนเสมอ  ให้นึกไว้ว่าผู้ฟังอาจไม่ได้เปิดฟังตั้งแต่ต้น  อาจเปิดวิทยุกระจายเสียงขึ้นมากลางคัน หรือตอนไหนก็ได้  เพราะฉะนั้นหัวใจของการเขียนบทวิทยุกระจายเสียงจึงอยู่ที่การซ้ำ  ซ้ำให้มีจังหวะ  เพื่อว่าไม่ว่าจะเปิดฟังตอนไหน  ก็สามารถเข้าใจและติดตามเรื่องได้

กล่าวโดยสรุป การใช้ภาษาในการเขียนบทวิทยุกระจายเสียงจึงต้องใช้ภาษาสามัญที่ง่าย  ชัดเจน  ไม่ยอกย้อน  ไม่วกวน  ไม่มีคำยาก  หรือยุ่งจนเกินไป  ไม่มีตัวเลขมาก ๆ ชวนให้สับสน ไม่มีคำแสลง  ต้องเป็นภาษาที่เรียบร้อยสุภาพ  ประโยคสั้นกะทัดรัดได้ความสมบูรณ์  ไม่ยาวเยิ่นเย้อเต็มไปด้วย  ซึ่ง  และ  แต่  ต่อ  ฯลฯ  หรือสันธานทั้งหลายที่ทำให้ประโยคยืดเยื้อ  วกวนไม่รู้จักจบ  ฟังแล้วไม่เข้าใจและน่าเบื่อหน่าย

5. การใช้เสียงประกอบในบทวิทยุกระจายเสียง

 เนื่องจากสื่อวิทยุกระจายเสียงมีลักษณะเด่นอยู่ที่การสื่อสารด้วยเสียง ในที่นี้จึงจะอธิบายถึงการใช้เสียงประกอบในบทวิทยุกระจายเสียง เพื่อผู้เขียนบทจะได้นำไปใช้ประกอบการเขียนบทวิทยุกระจายเสียงเพื่อการประชาสัมพันธ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

                             เสียงประกอบ  เป็นส่วนสำคัญในการผลิตรายการวิทยุกระจายเสียง กล่าวคือ  เสียงพูด  เสียงดนตรี และเสียงประกอบอื่น ๆ  จะช่วยกันชดเชยสิ่งที่ขาดไปของสื่อวิทยุกระจายเสียง ซึ่งก็คือ  รูปภาพ  ส่วนประกอบทั้งเสียงพูด เสียงดนตรี และเสียงประกอบอื่น ๆ ทั้งสามประการนี้จะไปจุดจินตนาการของผู้ฟังขึ้นมา  จนผู้ฟังสามารถจะติดตามผู้ผลิตรายการไปเห็นภาพตามที่วิทยุโทรทัศน์หรือภาพยนตร์ทำ (Stuart, 1983, p. 18)

 5.1 หน้าที่ของเสียงประกอบ    เสียงประกอบ มีหน้าที่หลายประการ คือ

5.1.1  บอกเวลา     มีเสียงประกอบหลายเสียงที่ผู้เขียนบทสามารถนำมา เพื่อใช้บอกเวลาได้  เช่น  เสียงไก่ขัน  นกร้อง  บอกลักษณะรุ่งเช้าของท้องถิ่นชนบท  เสียงจักจั่น  เสียงนกฮูก  ช่วยบอกเวลาในยามราตรี  เสียงนาฬิกาตี  ก็เป็นสิ่งที่ช่วยแนะคนฟังให้รู้ถึงเวลาได้เช่นกัน  ส่วนเวลาด้านฤดูกาลนั้น  เสียงลม  พัดอู้  เสียงฝนตก  จะช่วยบอกเวลาได้ 

 5.1.2 บอกทั้งสถานที่และช่วงเวลา  บางครั้งเรื่องของสถานที่และช่วงเวลาอาจจะต้องพิจารณาไปด้วยกัน  เช่น เสียงยวดยาดบนท้องถนน  สมัยเมื่อ 50  ปีที่แล้ว  ย่อมแตกต่างจากสมัยปัจจุบัน  เสียง ณ สถานีรถไฟในเวลากลางวัน กับเวลากลางคืนก็มีความแตกต่างกัน เนื่องจากเวลากลางวัน ผู้คนอาจจะมีจำนวนมากกว่า  เสียงที่แสดงสถานที่ ณ สถานีรถไฟ อาจใช้เสียงหวูดรถไฟ แต่เวลากลางวันกับกลางคืน อาจแยกด้วยการใช้เสียงคนจอแจที่แตกต่างกัน เป็นต้น

  5.1.3 เสียงบอกการกระทำหรือบอกผลของการกระทำ  ได้แก่ เสียงของอากัปกริยาบางอย่าง  เช่น  พิมพ์ดีด  เดิน  หัวเราะ  ร้องไห้  เป็นต้น  จะเป็นเสียงที่อธิบายอยู่ในตัวเองไม่จำเป็นต้องใช้บทบรรยายมาเสริมเลย แต่สิ่งที่สำคัญของการทำเสียงประกอบด้านนี้  คือ  ช่วงจังหวะเวลาการใช้เสียงต้องพอดีเหมาะเจาะ

  5.1.4 เสียงประกอบช่วยสร้างบรรยากาศ  สร้างอารมณ์ให้กับฉาก  บรรยากาศชนิดต่าง ๆ  เช่น  สนุกสนาน  รื่นเริง  โรแมนติก  วังเวง  ลึกลับน่ากลัว  สามารถสร้างขึ้นได้จากเสียงธรรมดา ๆ  เช่น  เสียงฝีเท้าย่ำ  ใกล้เข้า  ๆ  เสียงกริ่งโทรศัพท์กระชั้น  เสียงจักจั่นเรไร  ตลอดไปจนถึงเสียงแปลก  ๆ  ที่จะคิดประดิษฐ์ขึ้นมา  การใช้เสียงเพื่อวัตถุประสงค์นี้ต้องทำด้วยความระมัดระวัง  เพราะถ้าทำไม่ดีอาจได้ผลในทางตรงข้าม

  5.1.5 เสียงประกอบแสดงสัญลักษณ์ถึงสิ่งหนึ่งสิ่งใด เสียงประกอบชนิดนี้  ใช้แสดงถึงบางสิ่งบางอย่างที่ไม่มีเสียงอันแท้จริงมาบอกได้  จึงต้องใช้เสียงบางอย่างแทนเป็นสัญลักษณ์  เช่น  สัญลักษณ์แสดงถึงอารมณ์ของคนบางคน  สมมติว่ามีคน ๆ หนึ่งในสมัยเด็กเคยเห็นภาพการฆ่ากันตาย  โดยบุคคลที่ฆ่าใช้มีดเคาะกับเก้าอี้โลหะเป็นจังหวะเสียก่อน  ภาพเหตุการณ์ตอนนั้นกระทบกระเทือนจิตใจคน  ๆ  นั้นมาก  และเสียงมีดเคาะเก้าอี้โลหะจะก้องขึ้นในหัวสมองเป็นครั้งคราวที่นึกถึงเหตุการณ์  ถ้าเขาจะทำเสียงที่เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงสิ่งหนึ่งสิ่งใดของอารมณ์ชายผู้นั้นขณะเริ่มรู้สึกปั่นป่วน  เราอาจใช้เสียงประกอบคล้าย  ๆ  มีดกระทบเหล็กเป็นจังหวะแสดงถึงอารมณ์ของคนนั้น เป็นต้น

  5.1.6 เสียงประกอบสร้างมิติแปลก  ๆ  ที่ไม่เป็นความจริงขึ้น  ในการเขียนบทบางเรื่องเกี่ยวกับห้วงอวกาศ  หรือในนิทานของเด็กประเภทต่าง ๆ  เป็นโอกาสที่จะใช้เสียงประกอบสร้างมิติแปลก  ๆ  ซึ่งไม่มีในความจริงขึ้นได้  ซึ่งการจะทำได้ดีสักเพียงไร  ขึ้นอยู่กับจินตนาการและความคิดริเริ่มของผู้นั้น  ตัวอย่างของการทำเสียงแสดงมิติแปลก  ๆ เช่น  เสียงนครใต้บาดาลในนิทานเรื่องเงือกน้อย  เสียงประกอบที่จะทำอาจใช้หลอดกาแฟพ่นน้ำในแก้วประกอบกับเสียงดนตรี เป็นต้น เสียงที่ผสมกันอาจเป็นเครื่องนำจินตนาการของผู้ฟังให้นึกเห็นภาพนครใต้น้ำได้

 

5.2 ข้อควรระวังในการใช้เสียงประกอบ  ในการใช้เสียงประกอบการเขียนบทวิทยุเพื่อการประชาสัมพันธ์ ควรใช้อย่างเหมาะสม หากใช้ฟุ่มเฟือยเกินไป โดยไม่จำเป็นจะทำให้ผู้ฟังพลาดการรับสาระสำคัญในข้อความต่าง ๆ ได้ ดังนั้น จึงควรระมัดระวังการใช้เสียงประกอบ ดังนี้

5.2.1 อย่าใช้นานเกินไป ปกติการใช้เสียงประกอบนั้น ใช้เพื่อเป็นส่วนประกอบในการที่จะทำให้ผู้ฟังเกิดความรู้สึกคล้อยตามไปอย่างไม่ขัดหูเท่านั้น  การใช้เสียงประกอบใส่ไว้มากเกินไปนอกจากจะเป็นการเพิ่มงานตัวเองแล้ว  ยังเป็นการก่อความสับสนแก่ผู้ฟังด้วย  กฎที่ดีสำหรับการใช้เสียงประกอบ  คือ  ใช้เมื่อคิดว่าเสียงนั้นจำเป็น  ถ้าสงสัย ไม่แน่ใจหรือได้เสียงที่ไม่เหมาะสมแล้ว ตัดทิ้งออกไปเสียดีกว่า

5.2.2 นึกถึงหลักของความเป็นจริง  ความพอดี  จังหวะเวลาและรายละเอียดเล็ก  ๆ น้อย  ๆ  ในการใช้เสียงประกอบ  เช่น เสียงมีอารมณ์ที่ต่างกัน  เช่น  เสียงเคาะประตู  เสียงหัวเราะของคนจะเข้าไปของานทำ  เสียงเคาะประตูของตำรวจเพื่อจับผู้ร้ายย่อมจะแสดงอารมณ์ที่ต่างกัน  เป็นต้น

5.2.3 เสียงบางเสียงไม่ได้บอกผู้ฟังอย่างชัดเจนว่าคืออะไร  เช่น  เสียงน้ำตกอาจฟังเหมือนรถแทรกเตอร์  ดังนั้น  ถ้าผู้เขียนสร้างฉากหนุ่มสาวคู่หนึ่งไปฮันนีมูนที่น้ำตกสาลิกา  โดยไม่บอกเล่าถึงสถานที่นั้นเลย  คนฟังอาจจะนึกว่าทั้งคู่ยืนคุยอยู่ข้างโรงงานเครื่องจักร เป็นต้น  ดังนั้น  หากสงสัยว่าเสียงใดจะทำให้คนฟังเข้าใจผิด ให้ช่วยผู้ฟังด้วยการระบุไว้ในบทสนทนาด้วย  เช่น                                                                   "เสียงคนค้นของกุกกัก

ชาย  :  เอ  เราเก็บกระเป๋าสตางค์ไว้ที่ไหนนะ"

เสียงเปิดลิ้นชัก

ชาย  :  อ้อ  อยู่ที่นี่เอง"

 

  ตัวอย่างข้างต้นนี้  ถ้านำไปใช้อาจก่อให้เกิดความสงสัยจากผู้ฟังว่า  ที่นี้เอง  นั้นคือที่ใด  ดังนั้นถ้าเปลี่ยนบทในบรรทัดสุดท้ายเป็น ดังนี้

"เสียงเปิดลิ้นชัก

ชาย  :  อ้อ  อยู่ในลิ้นชักนี่เอง

6. คำสั่งการใช้เสียงประกอบ

   ในการเขียนบทวิทยุกระจายเสียงเพื่อการประชาสัมพันธ์ นักประชาสัมพันธ์หรือผู้เขียนบทควรรู้จักคำสั่งการใช้เสียงดนตรี เสียงเพลง และเสียงประกอบอื่น ๆ เพื่อนำไปใช้ประกอบในการเขียนบท  (รุ่งรัตน์ ชัยสำเร็จ, 2546, หน้า 170) ซึ่งคำสั่งการใช้ดนตรี เสียงเพลง และเสียงประกอบอื่น ๆ ที่ใช้กันมากมีดังนี้

 fade in  คือ การนำเสียงจากไม่มีเสียงเข้ามาด้วยวิธีค่อย ๆ เพิ่มทีละน้อย จนดังเป็นเสียงระดับปกติ

                         fade out คือ การค่อย ๆ ลดความดังของเสียงลง จนกระทั่งไม่ได้ยินเสียงอีกต่อไป

 fade under คือ การหรี่คลอเสียงใดเสียงหนึ่งให้ค่อย ๆ ลดลงกว่าระดับปกติจนกลายเป็นพื้นหลัง (background)

     fade up คือ การเพิ่มระดับความดังของเสียงที่มีอยู่ให้ดังขึ้น
     fade down คือ การลดระดับความดังของเสียงที่มีอยู่ให้เบาลงกว่าปกติ
     cross fade คือ การลดระดับเสียงต่าง ๆ ได้แก่ เสียงดนตรีหรือเสียงพูด (เสียงที่ 1)

ค่อยจางหายไป ขณะที่เสียงที่ 2 ค่อย ๆ ดังขึ้นมา

     seque (อ่านว่า seg-way) คือ การเปลี่ยนหรือต่อเสียงดนตรีหรือเสียงประกอบจาก

อารมณ์หนึ่ง

 การเขียนสปอต (Spot) วิทยุกระจายเสียงเพื่อการประชาสัมพันธ์

  บทสปอตวิทยุกระจายเสียงเพื่อการประชาสัมพันธ์ คือ การนำสาระที่ต้องการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์มาเรียบเรียงข้อความให้กะทัดรัด ให้แนวคิดที่ต้องการจะสื่อสารถึงผู้ฟังได้อย่างสมบูรณ์ โดยจัดทำเป็นบทวิทยุขนาดสั้นใช้ความยาวทั้งสิ้นระหว่าง 30-60 วินาที นำเสนอได้ในหลายรูปแบบ เช่น บทสนทนา ประกาศ บรรยาย หรือละคร โดยใช้เสียงดนตรีและเสียงประกอบอื่นๆ มาปรุงแต่งให้เกิดความน่าสนใจ เข้าใจได้ง่าย และเหมาะสมกับเนื้อหา ระยะเวลา โดยผู้เขียนบทต้องคิดหาวิธีการนำเสนอด้วยเทคนิคและถ้อยคำ สำนวนที่ดึงดูดความสนใจ  ให้คนฟังแล้วเข้าใจ สนใจในเนื้อหานั้นให้ได้ จากนั้นจึงนำบทวิทยุไปจัดทำแล้วส่งเทปไปเผยแพร่ออกอากาศตามสถานีวิทยุกระจายเสียงต่าง ๆ (อุบลวรรณ  ปิติพัฒนะโฆษิต, 2545, หน้า 116)

  การทำสปอตวิทยุออกอากาศมีวิธีการทำได้ 2 กรณี ได้แก่ กรณีที่เป็นงานประชาสัมพันธ์เชิงธุรกิจ จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการออกอากาศ ต้องติดต่อกับสถานีโดยตรงหรือเอกชนผู้เช่าเวลาจัดทำรายการของสถานีนั้น และกรณีที่เป็นงานสาธารณประโยชน์หรือราชการ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ แต่ต้องติดต่อกับต้นสังกัดที่มีอำนาจสั่งการในการให้ความร่วมมือ หรือ ขอความอนุเคราะห์จากสถานีวิทยุต่าง ๆ ออกอากาศแทรกให้ในช่วงที่มีการรณรงค์ เช่น เรื่องรณรงค์การเลือกตั้ง ความสะอาด หรือเรื่องยาเสพติด ฯลฯ ดังตัวอย่าง

 

สปอตเลือกตั้ง

 

เพลง                      เพลงเชิญชวนเลือกตั้ง ช่วงคำร้องว่า "ขอเชิญพี่น้องไทยทั้งชาติ"...

 

ประกาศชาย         วันอาทิตย์ที่ 27 กรกฎาคมนี้ ขอเชิญพี่น้องประชาชนร่วมกันเสริมสร้างพลัง

ประชาธิปไตย ด้วยการพร้อมใจไปใช้สิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน

ราษฎร ระหว่างเวลา 08.00-15.00 น

 

ประกาศหญิง       ไม่มีชื่อ  ไม่มีสิทธิ์เลือกตั้งโปรดสละเวลาไปตรวจบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่

อำเภอ เขต..........................หรือที่หน่วยเลือกตั้ง ภายในวันที่ 19 กรกฎาคมนี้

 

ประกาศชาย         ...ไปเลือกตั้งทั้งที เลือกคนดีเป็นผู้แทน...

 

เพลง                      เพลงเห่เลือกตั้ง ช่วงคำร้องว่า "เลือกคนดี ๆ สามัคคีกันเถิดไทยเอย"... (ศรีพิไล ทองพรม, 2531, หน้า 886-887)

 

จากตัวอย่าง จะเห็นได้ว่าสปอตเลือกตั้งมีวัตถุประสงค์ เพื่อเชิญชวนประชาชนไปใช้สิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งผู้แทนราษฎร และขอความร่วมมือประชาชนผู้มีสิทธิ์ไปตรวจบัญชีรายชื่อ ดังนั้น จึงมี 2 กิจกรรมที่ต้องการประชาสัมพันธ์ ซึ่งกิจกรรมหลัก คือไปลงคะแนนเสียงใช้เสียงผู้ประกาศชาย ส่วนกิจกรรมสอง คือไปตรวจบัญชีรายชื่อ ใช้เสียงผู้ประกาศหญิง

                          การเขียนบท ใช้เพลงช่วงคำเชิญชวนให้ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง โดยระบุเหตุผลคือเพิ่มเสริมสร้างระบอบการปกครองหลัก พร้อมด้วยคำเชิญชวนให้ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง โดยระบุเหตุผลคือเพื่อเสริมสร้างระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง กล่าวเน้นช่วงเวลา หลังจากนั้นเปลี่ยนเสียงเพื่อชี้แจงกิจกรรมรองและช่วงเวลาที่กำหนดไว้สำหรับกิจกรรมนี้ สุดท้ายใช้เสียงประกาศชายกล่าวคำขวัญ เพื่อย้ำเตือนและแนะให้เลือกคนดีเป็นผู้แทน ตามด้วยเพลงที่มีคำร้องเสริมรับกัน

                           กลุ่มผู้ฟังเป้าหมายของสปอตนี้ คือ ประชาชนทุกคนมีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งตามกฎหมาย

คำสำคัญ (Tags): #วิทยุ
หมายเลขบันทึก: 283031เขียนเมื่อ 4 สิงหาคม 2009 16:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 17:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอเอาข้อมูลไปใช้ทำค่ายรักการอ่านหน่อยนะครับ ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท