บ้านเพลงอีแซวในโรงเรียน ตอนที่ 5 ที่พักพิงเมื่อยามเหนื่อยใจ


ห้องนี้เป็นแหล่งกำเนิดนักแสดงเพลงพื้นบ้าน เป็นเครื่องเตือนใจให้นึกถึงเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ทรัพย์สินทางปัญญาที่บรรพชนสร้างสรรค์เอาไว้ ตั้งแต่รุ่นก่อน ปู่ ย่า ตาทวด

บ้านเพลงอีแซวในโรงเรียน

ตอนที่ 5  ที่พักพิงเมื่อยามเหนื่อยใจ

โดย ชำเลือง มณีวงษ์

 

          บ้านเพลงอีแซวในโรงเรียน ของโรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1 จึงกลายเป็นสถานที่ที่ใช้ประโยชน์เพื่อการเรียนรู้ การศึกษาและเผยแพร่วัฒนธรรมไทยด้านเพลงพื้นบ้านโดยแท้ และเป็นที่รวมพลังของคนรักเพลงพื้นบ้าน ได้มาเยี่ยมชม มาเรียนรู้ มาฝึกหัดเพลงอีแซว เพลงฉ่อย ลำตัด เพลงแหล่ และเรียนรู้พิธีทำขวัญนาคของคนรุ่นใหม่อย่างไม่ขาดสาย

          เวลาที่มีเด็ก ๆ ในวงเพลงเขามาฝึกหัดเพลงอีแซว เพลงฉ่อย ด้นกลอนสด ที่ประตูห้องทั้ง 2 ด้านจะมีเด็ก ๆ ที่สนใจมายืนดูเพื่อน ๆ เขาร้องและแสดงความสามารถกัน เสียงเพลงที่ดังออกมาจากปากของเยาวชนรุ่นใหม่ จึงมีให้ได้ยินอย่างต่อเนื่องเกือบจะทั้งวัน ส่วนในตอนเย็นเมื่อเลิกเรียนแล้ว เด็ก ๆ เขาจะใช้เครื่องขยายเสียงช่วยให้ได้ยินเสียงตัวเองชัดเจนมากยิ่งขึ้นด้วย

         

         

         

         

         

นอกจากนั้นแล้ว ที่บ้านเพลงอีแซวในโรงเรียน ยังได้เป็นที่พักพิงเมื่อยามที่เด็ก ๆ เขาอ่อนเพลีย ปวดหัว ตัวร้อน ไม่สบาย เป็นเรื่องปกติของมนุษย์ ร่างกายที่ถูกใช้งานไปในแต่ละวันย่อมที่จะมีการสึกหรอ เหนื่อยแรงอ่อนล้าลงไปบ้าง เด็กบางคนมีโรคประจำตัวอยู่แล้ว  เด็กบางคนไม่สบายตามระบบของร่างกายที่เปลี่ยนแปลง ผมจึงต้องจัดเตรียมยาสามัญประจำบ้านเอาไว้หลายอย่าง เก็บไว้ในกระเป๋าถือส่วนตัว มียาแก้ปวด ลดไข้ (พาราเซตตามอล) ยาหม่องถ้วยทอง ยามดมแก้หวัด ยาธาตุน้ำแดง ยาแก้อาการเมารถ พลาสเตอร์ปิดแผล ยาใส่แผล และสำลี

สำหรับเด็ก ๆ ในวงเพลงอีแซว สายเลือดสุพรรณฯ แล้ว  ห้องนี้เป็นที่พักของพวกเขา นาน ๆ ที ผมต้องคอยให้คำแนะนำว่า ข้าวของที่ขยับที่ไปหนูจัดเข้าที่เดิมด้วยเพื่อรักษาความเรียบร้อย แต่ก็ไม่ได้จ้ำจี้จนเด็ก ๆ เขาเกิดความรำคาญ เพราะคิดเสียว่า มีนักเรียนเข้ามาใช้บริการดีกว่าปล่อยห้องให้ว่างไว้เฉย ๆ โดยไม่เกิดประโยชน์  ในยามที่คณะเพลงอีแซวต้องเดินทางไปแสดงไกล ๆ เด็ก ๆ ในวงทั้ง 15 คน (ครูอยู่ด้วย) พักค้างที่ห้อง 512 เพื่อเตรียมออกเดินทางในเวลา 02.00 น. (มาจากบ้านไปไม่ทันเวลา) ในทำนองเดียวกันบางงานคณะนักแสดงเดินทางกลับมาถึงห้อง 512 เวลาก็ล่วงเลยไปถึง 03.45 น. (ใกล้สว่างแล้ว) ก็นอนพักกันที่ห้อง 512 โดยมีผมนั่งเฝ้าหลับ ๆ ตื่น ๆ คอยเป็นเพื่อนเด็ก ๆ จนรุ่งเช้าจึงโทรบอกให้ผู้ปกครองมารับนักแสดงกลับบ้าน  มีสภาพเป็นอย่างนี้โดยเฉพาะงานแสดงที่มีตรงกับวันหยุดเท่านั้น ถ้าเป็นวันธรรมดาก็รับงานไม่ได้ เพราะว่าจะมีผลกระทบต่อการเรียนของรักเรียน

ในทุกครั้งที่มีงานแสดงไกล ๆ จากอำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานที่จะต้องทำการแสดงในเวลา 09.00 น. หรือ 10.00 น. ทีมงานจะต้องออกเดินทางก่อนสว่าง บางครั้ง 04.00 น. ผมนำเด็กเดินทางออกจากโรงเรียนแล้ว ช่วงเวลากลางคืนตั้งแต่ 18.30-22.30 น. (4-5 ชั่วโมง) มีประโยชน์มาก เป็นเวลาที่เด็ก ๆ เขาได้ทบทวนบทบาทการแสดง ได้ฝึกซ้อมคิวการแสดง ได้ทบทวนบทเจรจา ที่จะต้องมีการสนทนากันระหว่างผู้แสดงให้ลื่นไหลไปตามธรรมชาติ

บ้านเพลงอีแซวในโรงเรียน ใช้เป็นสถานที่ฝึกซ้อม ปฏิบัติการแสดงเพลงพื้นบ้านในวันหยุด วันเสาร์หรือวันอาทิตย์ ตามที่หัวหน้าวง (น.ส.ขวัญธนา นรการ) นัดหมาย ผมจะมีหนังสือจากโรงเรียนแจ้งผู้ปกครองเพื่อขอให้นักเรียนมาโรงเรียนในวันหยุด ถ้าการฝึกซ้อมล่วงเลยเวลาไปจนถึง 14.00 น. ก็จะมีเวลาพักรับประทานอาหารกลางวัน (เวลา 12.00 น.) กันก่อน ห้องนี้จึงเป็นที่รับประทานอาหารกลางวันของนักแสดง ยิ่งเมื่อมีคิวการแสดงเข้ามาแบบเร่งด่วน นัดหมายนักแสดงซ้อมคิวการแสดงกันตลอดทั้งวัน (เวลา 08.30-16.30 น.) หยุดพักกลางวันโดยมีอาหาร มีน้ำจากตู้เย็น จากเครื่องทำน้ำเย็นดื่ม มีน้ำแข็งใสกระติก มีน้ำอัดลมที่เด็ก ๆ เขาหุ้นกันซื้อและโดยมากผมจะซื้อหามาดูแลพวกเขาเอง มีช้อนและช้อนส้อมที่ผมจัดบริการให้นักเรียน (บางครั้งเด็ก ๆ เขาก็จัดซื้อกันมาเอง)

ที่ห้อง 4 เหลี่ยม ขนาด 8X8 เมตร ถูกปรับเปลี่ยนไปเป็นห้องเอนกประสงค์ในการใช้งานที่หลากหลาย แต่ยังคงสภาพที่เป็นแหล่งเรียนรู้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนปฏิบัติวาดภาพ ระบายสี เพ้นท์สดบนผลิตภัณฑ์ สืบค้นข้อมูลด้วยระบบเครือข่าย (อินเทอร์เน็ท) ฟังเสียงและดูวีซีดีบันทึกการแสดงสดเพลงพื้นบ้านหลายชนิด ฝึกหัดการแสดงเพลงพื้นบ้าน เพลงอีแซว เพลงฉ่อย ลำตัด เพลงแหล่ เพลงลูกทุ่ง เสภา ทำขวัญนาค ทอล์กโชว์ ละครโรงเล็ก ฯลฯ

บ้านเพลงอีแซวในโรงเรียน ห้องนี้ยังเป็นสถานที่พักใจของนักแสดงเพลงอีแซวของโรงเรียนไปจนถึงนักเรียนทุกคนที่มีความสนใจในศิลปะการแสดงของท้องถิ่น  และที่สำคัญที่สุด คือ ห้องนี้เป็นแหล่งกำเนิดนักแสดงเพลงพื้นบ้าน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 ถึงปัจจุบัน ได้สร้างชื่อเสียงให้กับตนเอง ให้กับครอบครัว ให้กับสถานศึกษาในระดับประเทศ มาแล้วเป็นจำนวนมาก เป็นเครื่องเตือนใจให้เยาวชนรุ่นหลังได้นึกถึงเอกลักษณ์ของท้องถิ่นบ้านเกิดเมืองนอนของเราว่า บ้านเรามีอะไรเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่บรรพชนสร้างสรรค์เอาไว้ ตั้งแต่รุ่นก่อน ปู่ ย่า ตาทวด

 

พบกับการแสดงศิลปะพื้นบ้านบนเวที

          วันที่ 30 กรกฎาคม 2552 เวทีในหอประชุมเทศบาลเมือง อ.เมือง จ.กาญจนบุรี

          วันที่ 31 กรกฎาคม 2552 เพลงพื้นบ้านบูรณาการศิลปะการต่อสู้ (ภาคเช้า)

                                            ที่ หอประชุมอำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี

          วันที่ 31 กรกฎาคม 2552 พิธีทำขวัญนาคโดยครูเพลงและนักเรียนผู้รักษ์

                                                       วัฒนธรรมไทยที่บ้านวัดเกาะ อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี

                                            (ภาคบ่าย) ทั้ง 2 รายการ บันทึกเทปโทรทัศน์เท็นทีวี.

          วันที่  1  สิงหาคม  2552  เวลา 16.00 น. รายการชิงช้าสวรรค์ ช่วงเสียงดีมีค่าเทอม

                                            ทางโมเดิร์นไนน์ 9  โดย น้องท็อป-ธีระพงษ์  พูลเกิด

 

นายชำเลือง มณีวงษ์ ครูผู้สืบสานศิลปะการแสดงเพลงพื้นบ้านมานานกว่า 40 ปี

                             รางวัลชนะเลิศประกวดเพลงอีแซว จังหวัดสุพรรณบุรี ปี 2525

                             รางวัลศิลปินดีเด่นด้านเพลงพื้นบ้าน ราชมงคลสรรเสริญ ปี 2547

                             โล่รางวัล ความดีคูแผ่นดิน จากสถานีโทรทัศน์ ช่อง 5 ปี 2549

                             เกียรติบัตร การเผยแพร่ผลงานเพลงพื้นบ้านช่องเท็นทีวี,ช่องโชว์

หมายเลขบันทึก: 280762เขียนเมื่อ 27 กรกฎาคม 2009 18:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท