การตรวจพิเศษทางรังสีของข้อต่อ


          การถ่ายภาพเอกซเรย์ทั่วไปของข้อต่อ (joint) มีข้อจำกัดคือ  ไม่สามารถแสดงความผิดปกติบริเวณกระดูกอ่อนผิวข้อ (articular cartilage)   เยื่อหุ้มข้อ (synovial membrane)   และเนื้อเยื่ออ่อนอื่นๆได้   รวมทั้งให้ผลการวินิจฉัยแยกโรคที่เกิดจากความผิดปกติของไขกระดูกบางอย่าง  เช่น การติดเชื้อของกระดูกทางกระแสโลหิตในระยะเริ่มแรก การบาดเจ็บของไขกระดูก หรือมะเร็งบางชนิด ได้ไม่ชัดเจน

          Arthrograghy  เป็นการตรวจพิเศษทางรังสีของข้อต่อของกระดูก  และส่วนประกอบต่างๆ เพื่อช่วยวินิจฉัยการฉีกขาดของ meniscus และ ligamentfibrocartilage articular cartilage และ loose bodies เป็นต้น 

 

          หลักการ คือ ฉีดสารทึบรังสี (contrast agents) เข้าข้อกระดูก (capsular space) ประมาณ  4-5  ซีซี. ถ้าฉีดอากาศเข้าไปเรียกว่า pneumoarthrography ถ้าฉีดสารทึบรังสี (ประเภท water-soluble iodinated contrast medium) เรียก opaque arthrography แต่ถ้าฉีดทั้งสองอย่างร่วมกันเรียกว่า double-contrast arthrography  รังสีแพทย์จะตรวจดูทางจอภาพ (X-ray fluoroscopy) และถ่ายภาพเอกซเรย์ของข้อกระดูกส่วนที่สงสัยหรือผิดปกติในท่าต่างๆ  สามารถตรวจได้ทั้ง ข้อสะโพก(hip) ข้อศอก (elbow) หัวไหล่ (shoulder)  ข้อมือ (wrist) ข้อเข่า (knee joint) และข้อต่อเทมเพอโรแมนดิบูล่า (temperomandibular joints)

          ก่อนที่จะทำการตรวจ ต้องฉีดยาชาเฉพาะที่ให้แก่ผู้ป่วย ซึ่งจะทำในห้องตรวจเอ็กซเรย์ ที่สามารถทำ fluoroscopy ได้

ข้อบ่งชี้ในการตรวจ

  1. เพื่อดูรูปร่าง ลักษณะของข้อกระดูก
  2. เพื่อหาความผิดปกติของข้อกระดูก เช่น การอักเสบ การฉีกขาดของข้อหรือเอ็น และเนื้อเยื่อ เป็นต้น


ข้อบ่งห้ามในการตรวจ

  1. แพ้สารทึบรังสี
  2. แพ้ยาชาเฉพาะที่
  3. มีการติดเชื้อในข้อ หรือ รอบๆข้อ

การเตรียมตัวก่อนตรวจ

  1. ผู้ป่วยรับประทานอาหารได้ตามปกติ
  2. ผู้ป่วยควรสวมเสื้อผ้าที่ไม่มีโลหะ และสะดวกต่อการตรวจ เช่น สวมกางเกงขาสั้นในรายที่ตรวจข้อกระดูกเข่า เสื้อยืดแขนสั้นในรายที่ตรวจข้อหัวไหล่ เป็นต้น

คำแนะนำแก่ผู้ป่วย

  1. รังสีแพทย์จะฉีดสารทึบรังสี และตามด้วยการฉีดลมเข้าข้อกระดูก  ถ้าเป็นข้อเข่า ก็คือบริเวณใต้ลูกสะบ้า  ถ้าเป็นข้อไหล่ ก็คือบริเวณระหว่างข้อหัวไหล่ ผู้ป่วยจะรู้สึกตึงและแน่นอึดอัดบริเวณข้อกระดูกที่รังสีแพทย์ฉีดสารทึบรังสี
  2. รังสีแพทย์จะถอนเข็มออกและปิดแผลด้วยผ้าก๊อส
  3. ผู้ป่วยจำเป็นต้องงอและยืดข้อกระดูกที่ตรวจสลับกัน ประมาณ 20-30 ครั้ง จากนั้นรังสีแพทย์ จะตรวจหาความผิดปกติของข้อจากจอภาพเครื่องเอกซเรย์ฟลูออโรสโคปี   ผู้ป่วยควรเปลี่ยนท่าตามคำแนะนำของรังสีแพทย์ เช่น นอนหงาย นอนคว่ำ นอนตะแคงซ้าย - ขวา เป็นต้น


เครื่องมือที่ใช้ในการตรวจ

  1. เครื่องเอกซเรย์ฟลูออโรสโคปี
  2. ผ้า sterile สี่เหลี่ยมเจาะรูตรงกลาง
  3. เข็มเบอร์ 18, 20, 21 และ 25 สำหรับฉีดยาชา, ฉีดสารทึบรังสี
  4. three way 
  5. syringe ขนาด 10 ml และ 50 ml
  6. ผ้าก๊อส ซับโลหิต

วิธีทำ (กรณีตรวจเข่า)

  1. ให้ผู้ป่วยนั่งงอเข่าปลายเตียงเอกซเรย์ ทำความสะอาดบริเวณหัวเข่าข้างที่จะทำด้วยการโกนขน และเช็ดด้วยน้ำยา antiseptic แล้วคลุมด้วยผ้า sterile สี่เหลี่ยมเจาะรูตรงกลาง
  2. คลำหา patella จะเห็นส่วนบุ๋มอยู่ 2 ข้างใช้ syringe ขนาด 10 ml ดูดยาชาเฉพาะที่ เช่น Xylocaine 2-5 ml ฉีดเข้าทางด้านที่ไม่เจ็บตรงรอยบุ๋มดังกล่าว   
  3. ใช้เข็มเบอร์ 20 แทงเข้าไปตรงรอยบุ๋มข้างที่ฉีดยาชา ดันเข็มเข้าทางด้านหลังของ pattella ให้ทิศทางของปลายเข็มหันไปทาง medial และ upward ต่อ patella เล็กน้อย เพื่อให้ปลายเข็มเข้าไปอยู่ใน capsule แล้วดูดเอา synovial fluid ออกมาให้ได้มากที่สุด ด้วย syringe ขนาด 10 ml
  4. หลังจากนั้น ใช้ syringe ขนาด 50 ml Blow air เข้าไป 25-30 cc. แล้วฉีด water soluble contrast medium ตามเข้าไปอีก 2-3 cc แล้วแต่ขนาดของหัวเข่า เราจะไม่ใช้ oil contrast medium   เพราะ oil จะเข้าไปอยู่ได้นาน absorb ช้า อาจทำให้เกิด granuloma ได้ แล้วดึงเข็มออก ระวังอย่าให้ air leak ออกมา
  5. ให้ผู้ป่วยลุกเดินไปรอบๆ ห้องสักพัก เพื่อให้ contrast medium กระจายทั่วๆ ข้อเข่า   ต่อจากนั้นให้ตรวจผู้ป่วยโดยใช้ เครื่องเอกซเรย์ fluoroscopy
  6. ให้ผู้ป่วยนอนคว่ำบนเตียง ขณะที่รังสีแพทย์ flu ดูข้อเข่า ต้องมีผู้ช่วย 1 คนยืนอยู่ปลายเตียง คอยดึงขาผู้ป่วย ให้ยืดลงทางด้านล่างตลอดเวลา
  7. ถ้าต้องการดู medial meniscus ก็ให้ผู้ช่วยดันเข่าทาง lateral เข้าไปทาง medial ให้มากๆ ขณะเดียวกันรังสีแพทย์จะหมุนขาผู้ป่วยไปเรื่อยๆ เพื่อดู meniscus ทางด้าน medial นิยมหมุนจากข้างหลังไปข้างหน้า ทีละประมาณ 10 องศา ก็จะ spot ได้ด้านละ 8-9 รูป

     
  8. ถ้าต้องการดู lateral meniscus ก็ให้ผู้ช่วยดันเข่าทาง medial ออกไปทาง lateral เพื่อให้ joint ด้านที่ต้องการจะดูเปิดกว้างขึ้น ขณะเดียวกันรังสีแพทย์จะหมุนขาผู้ป่วยไปเรื่อยๆ ทีละประมาณ 10 องศา เพื่อดู meniscus ทาง lateral

     
  9. ดังนั้นเราจะเห็น meniscus เต็มทั้งวง ทั้งmedial และ lateral meniscus
  10. หลังจาก spot film แล้ว ต้องถ่าย Plain film knee joint   ท่า AP และ lateral ด้วย 

        การที่เราใช้เทคนิคนี้ในการดู meniscus โดยเฉพาะ ก็เพราะ lesion ที่เกิดมักเกิดที่ meniscus  contrast media  ที่ฉีดเข้าไปจะถูกดูดซึมไปจนหมดภายใน 1/2 ชม. ส่วน air ก็จะถูกดูดซึมหมดภายใน 3วัน และ synovial  fluid ก็จะหลั่งออกมาเองภายหลัง

  ภาพเอกซเรย์ Artrogram ของข้อสะโพก

   ภาพฟลูออโรสโคปีของหัวไหล่

   ภาพฟลูออโรสโคปีของข้อมือ

ข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น    คือ   อาจเกิดการติดเชื้อจากเครื่องมือที่ทำที่ไม่สะอาด 

คำแนะนำแก่ผู้ป่วยภายหลังการตรวจ

  1. รับประทานอาหารได้ตามปกติ
  2.  สารทึบรังสีและลม ที่รังสีแพทย์ฉีดเข้าข้อ (เช่น กระดูกเข่า/ข้อหัวไหล่) จะถูกดูดซึมและสลายไปเองอย่างรวดเร็ว ไม่สะสมในร่างกาย
  3. ถ้ามีอาการปวดข้อกระดูก จากการตรวจ สามารถรับประทานยาแก้ปวด ตามคำสั่งแพทย์ได้
  4.  ประคบน้ำอุ่นบริเวณข้อกระดูก ที่รังสีแพทย์ฉีดสารทึบรังสี เพื่อลดอาการปวด และบวม
  5. ถ้ามีอาการปวด บวมหรือแดง บริเวณข้อกระดูกเพิ่มมากขึ้น หรือมีเลือดออก ให้รีบมาพบแพทย์ทันที


โรคและอาการผิดปกติของ meniscus ที่พบบ่อย

  1. Tear meniscus  มักเกิดจากอุบัติเหตุ เป็นอาการที่พบมากที่สุด ภาพรังสีจะเห็นเป็นรอยแตก ทำให้ contrast media หรือ air เข้าไป fill ให้เห็น รักษาโดยการผ่าตัด

  2. Discoid meniscus  มักเป็น congenital disease ผู้ป่วยมีอาการเดินไม่ถนัด ภาพรังสีจะเห็น meniscus ยืดยาวออก ถ้ามองด้านตัดขวางแทนที่จะเห็น   meniscus เป็นรูปตัว C จะเห็นเป็นรูปตัว O

  3. Pigmented villonodular synovitis   เป็นโรคชนิดหนึ่งของ meniscus แต่พบน้อยมาก

          ข้อด้อยของ arthrography คือเป็นการตรวจแบบรุกราน (invasive)  ทำให้ผู้ป่วยเจ็บปวด เนื่องจากต้องแทงเข็มเข้าไปในข้อเพื่อฉีดสารทึบรังสีและอากาศเข้าไป  ในปัจจุบันจึงไม่ค่อยนิยมทำกัน


          ในปัจจุบันเรานิยมใช้  MRI (Magnetic Resonance Imaging)ในตรวจแทน Arthrography เพราะว่าคนที่แพ้สารทึบรังสี แพ้ยาชา เฉพาะที่หรือ มีการติดเชื้อในข้อ และรอบๆ ข้อ สามารถตรวจได้  อีกทั้งในการตรวจ MRI ยังเป็นการตรวจพิเศษที่ไม่ทำให้ผู้ป่วยเจ็บปวดอันเนื่องมาจากการฉีดยาชาหรือ การแทงเข็ม และขั้นตอนการตรวจไม่ยุ่งยาก

          MRI  เป็นวิธีการตรวจวินิจฉัยโรคโดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ให้ภาพที่มีรายละเอียดชัดเจน  ช่วยแยกเนื้อเยื่อกับกระดูกได้ดี สามารถตรวจได้หลายระนาบ ทั้งระนาบตัดขวางลำตัว (axial plane) ระนาบตัดหน้า-หลังลำตัว (coronal plane) และระนาบตัดซึกซ้าย-ขวาลำตัว (sagitial plane)
 
บทบาทของ MRI ที่นำมาใช้ช่วยในการวินิจฉัยเรื่องกระดูกหักข้อเคลื่อน มีดังนี้

  1. กรณีสงสัยว่ากระดูกหัก แต่ตรวจไม่พบจากภาพเอกซเรย์ทั่วไป (plain film) เช่นกรณีของ stress fracture
  2. ตรวจหาความผิดปกติของ ligaments and tendons กรณีบาดเจ็บบริเวณข้อ โดยเฉพาะข้อเข่า ภาพรังสีธรรมดาตรวจไม่พบความผิดปกติแต่ผู้ป่วยมีอาการเจ็บ และแพทย์สงสัยว่าจะมีการฉีกขาดของ ligaments  การตรวจด้วย MRI ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันแล้วว่าสามารถวินิจฉัยพยาธิสภาพของข้อต่อ ได้ถูกต้องแม่นยำมาก สามารถแสดงให้เห็นภาพฉีกขาดของ meniscus    aniterior และ postesior cruciate ligament  ได้ชัดเจน และสามารถบอกถึงลักษณะ / ปริมาณของน้ำในข้อเข่าได้อีกด้วย
              นอกจากนี้บริเวณหัวไหล่ กรณีที่สงสัย Rotator cuff tear   ปัจจุบันก็สามารถตรวจพบได้จากภาพ MRI
  3. โรคแทรกซ้อนจากกระดูกหัก ข้อเคลื่อน ทำให้มีเลือดคั่งในเนื้อเยื่อก็สามารถวินิจฉัยได้จากการตรวจ MRI
  4. กรณี Battered-child syndrome ซึ่งมีปัญหาจากการถ่ายภาพรังสีธรรมดาการตรวจพิเศษด้วย MRI จะช่วยวินิจฉัยโรคได้

ข้อบ่งชี้ในการส่งตรวจ MRI ของข้อต่อและกล้ามเนื้อ
          โดยมากแพทย์จะส่งตรวจ MRI ของข้อต่อและกล้ามเนื้อในกรณีที่สงสัยโรคที่เกี่ยวกับข้อในผู้สูงอายุเช่น

  • ข้ออักเสบ(Arthritis)
  • หมอนรองข้อเข่าฉีกขาด(Meniscus tears)
  • กระดูกแตกหรือหักในข้อต่อที่มีความซับซ้อน เช่นข้อมือ (Wrist joints)ข้อเท้า(Ankle joints)
  • ความผิดปกติของข้อต่อที่มีสาเหตุมาจากการได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรง เช่นการฉีกขาดของเอ็น(Tendon) ที่เป็นส่วนประกอบของข้อต่อนั้นๆ
  • การบาดเจ็บของข้อต่อที่มาจากการเล่นกีฬา และการบาดเจ็บของข้อต่อที่มาจากการทำงานหนัก  
  • มีการติดเชื้อหรืออักเสบบริเวณข้อต่อ(Osteomyelitis)
  • มีก้อนมะเร็งซึ่งทำลายกระดูกที่เป็นส่วนประกอบของข้อต่อนั้นๆ
  • มีอาการปวด บวม หรือมีเลือดออกบริเวณข้อต่อ

          อย่างไรก็ตามการส่งตรวจเอ็กซเรย์ทั่วไปมีค่าใช้จ่ายไม่สูงนัก ส่วนการทำ MRI มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง การพิจารณาส่งตรวจแบบใดจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้ตรวจรักษา โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการส่งตรวจเป็นสำคัญ

          เนื่องจากภายในห้องตรวจ MRI มีสนามแม่เหล็กเปิดตลอดเวลา ดังนั้นจึงไม่ปลอดภัยสำหรับผู้ป่วยที่มีอุปกรณ์บางประเภทอยู่ในร่างกาย เพราะจะทำให้ภาพบิดเบี้ยว ผิดรูป ไม่ตรงกับลักษณะจริง  (Distortion) ได้   ผู้ป่วยที่มีอุปกรณ์ต้องห้ามเหล่านี้ได้แก่

  • ผู้ป่วยที่มีเครื่องกระตุ้นหัวใจ(Cardiac pacemaker)
  • ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดใส่ลวดหนีบหลอดเลือด(Vascular clip,Aneurysm clip)
  • ผู้ป่วยที่มีการผ่าตัดใส่เครื่องช่วยการได้ยินในรูหูชั้นใน(Inner ear implant)
  • ผู้ป่วยที่ใส่ลิ้นหัวใจเทียม(Heart valve prosthesis)
  • ผู้ป่วยที่ใส่ขดลวดภายในหลอดเลือด(Vascular stent,filter or coil)
  • ผู้ป่วยที่ใส่เครื่องกระตุ้นประสาท(Neurostimulation system)
  • ผู้ป่วยที่สงสัยว่าจะตั้งครรภ์หรืออยู่ในระหว่างตั้งครรภ์
  • ผู้ป่วยที่มีเหล็กจัดฟัน
  • ผู้ป่วยที่มีกระสุนฝังอยู่ในร่างกาย
  • ผู้ป่วยที่เขียนขอบตาถาวร
  • ผู้ป่วยที่เป็นโรคไตวายเรื้อรัง(Chronic Renal Failure) ต้องพิจารณาเป็นพิเศษ ในกรณีที่จะต้องมีการฉีดสารทึบรังสี (Contrast media)
  • ผู้ป่วยกลัวที่กลัวการอยู่ในที่แคบ(Claustrophobia)

เครื่องประดับและของใช้ประจำตัวที่ต้องถอดหรือเก็บ ก่อนเข้าห้องตรวจ MRI ได้แก่

  • กิ๊ปหนีบผม
  • นาฬิกาแบบเข็ม
  • บัตรเครดิต
  • บัตรเอทีเอ็ม
  • โทรศัพท์มือถือ
  • เครื่องช่วยฟัง
  • เหรียญสตางค์ต่างๆ
  • กุญแจ
  • คลิปหนีบกระดาษ
  • ปากกา
  • แว่นตา
  • ของมีคม
  • ถังออกซิเจน
  • เครื่องให้น้ำเกลืออัตโนมัติ (Infusion pump)
  • เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ  (Holter monitor)

ลักษณะของเครื่อง MRI
           เครื่อง MRI มีลักษณะเป็นอุโมงค์ยาวเปิดด้านหัวและด้านท้าย โดยให้ผู้ป่วยนอนลงบนเตียงตรวจและใช้อุปกรณ์เฉพาะสำหรับการตรวจข้อต่อหรือกล้ามเนื้อ (Coil) ครอบหรือห่อหุ้มบริเวณข้อต่อหรือกล้ามเนื้อส่วนที่ต้องการตรวจเอาไว้ จากนั้นผู้ป่วยจะถูกเลื่อนเข้าไปในอุโมงค์ ซึ่งภายในอุโมงค์จะมีไฟให้แสงสว่างและพัดลมให้ความเย็น เนื่องจากเมื่อผู้ป่วยต้องนอนอยู่ในเครื่อง MRI เป็นเวลานาน ทำให้รู้สึกร้อนขึ้น และทำให้ผู้ป่วยมีเหงื่อออก

  

 

 

  

 

ข้อควรปฏิบัติก่อนการตรวจ MRI 

  1. ให้ผู้ป่วยเปลี่ยนเสื้อผ้าและถอดชุดชั้นในออก โดยใส่ชุดที่โรงพยาบาลจัดให้
  2. ให้ผู้ป่วยเช็ดเครื่องสำอางออกให้หมด เนื่องจากเครื่องสำอางมีส่วนผสมของโลหะ จะมีผลต่อคุณภาพของภาพ
  3. ถอดฟันปลอมของผู้ป่วยออก ถ้าเป็นแบบที่สามารถถอดออกได้
  4. ถอดเครื่องช่วยฟังของผู้ป่วยออก เพราะถ้านำเข้าห้อง MRI เครื่องช่วยฟังจะเสียหายได้
  5. ในกรณีที่ผู้ป่วยเด็กหรือ ผู้ป่วยที่กลัวที่แคบ หรือผู้ป่วยไม่สามารถให้ร่วมมือในการตรวจได้ แพทย์อาจจำเป็นต้องให้ยานอนหลับ ดังนั้นจึงให้ผู้ป่วยงดอาหารและน้ำก่อนตรวจ 4 - 6 ชั่วโมง
  6. ในกรณีที่ต้องฉีดสารทึบรังสี (Contrast media) พยาบาลควรจะแทงเข็มบริเวณหลังมือหรือข้อพับก่อนเข้าตรวจ 
             

คำแนะนำแก่ผู้ป่วยเพื่อให้ทราบถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นและการปฏิบัติตัวขณะตรวจ MRI ของข้อต่อและกล้ามเนื้อ

  1. นักรังสีเทคนิคจะจัดให้ผู้ป่วยนอนหงายลงบนตียงตรวจ MRI  และจัดวางอุปกรณ์เฉพาะสำหรับตรวจข้อต่อหรือกล้ามเนื้อ(Coil) ครอบไว้ระหว่างทำการตรวจ
  2. พยาบาลจะใส่ที่อุดหู (Ear plugs) ให้กับผู้ป่วยก่อนทำการตรวจ เนื่องจากขณะที่เครื่อง MRI ทำงานจะมีเสียงดัง
  3. ในระหว่างการถ่ายภาพ (Scan) นักรังสีเทคนิคจะคอยเฝ้าระวังให้ผู้ป่วยอยู่นิ่ง เพราะจะต้องถ่ายภาพหลายเทคนิค  และการถ่ายภาพแต่ละเทคนิค กินเวลาประมาณ 3-5 นาที ซึ่งเป็นระหว่างเวลาที่อวัยวะต้องนิ่ง มิฉะนั้นภาพที่ได้จะไม่คมชัด
  4. ระหว่างถ่ายภาพ  ผู้ป่วยอาจจะรู้สึกว่า  บางช่วงเตียงที่นอนอยู่สั่นและเลื่อนเข้าออก ซึ่งเป็นการดำเนินการตามปกติของเทคนิคการถ่ายภาพ ไม่ต้องวิตกกังวลใดใด 
  5. หากผู้ป่วยมีปัญหาระหว่างการตรวจ  สามารถติดต่อนักรังสีเทคนิคที่ควบคุมเครื่องได้ตลอดเวลาโดยการบีบลูกบอลที่เจ้าหน้าที่ให้ถือไว้ในมือ
  6. สำหรับผู้ป่วยบางคน รังสีแพทย์อาจพิจารณาให้ฉีดสารทึบรังสี (Contrast media) ร่วมด้วย เพื่อประโยชน์ในการวินิจฉัยให้แน่ชัดยิ่งขึ้น
  7. ผู้ป่วยสามารถร้องขอต่อเจ้าหน้าที่  ให้อนุญาตนำญาติของผู้ป่วย เข้าไปอยู่เป็นเพื่อนในห้อง MRI ได้

ข้อดีของการตรวจ MRI ของข้อต่อและกล้ามเนื้อ

  1. ภาพที่ได้จะเห็นรายละเอียดของเนื้อเยื่อและส่วนประกอบต่างๆของข้อต่อและกล้ามเนื้อได้อย่างชัดเจนกว่าการตรวจโดยเครื่องมือชนิดอื่นๆ จึงทำให้รังสีแพทย์สามารถตรวจพบการฉีกขาดของเอ็น(Tendon) หรือเนื้อเยื่อต่างๆ แม้จะมีขนาดที่เล็กมาก
  2. การตรวจด้วยเครื่อง MRI ไม่ได้ใช้รังสีเอกซ์ในการถ่ายภาพ จึงปลอดภัยจากการได้รับปริมาณรังสีดูดกลืนในร่างกาย
  3. สามารถตรวจหาโรคที่เกี่ยวข้องกับข้อต่อและกล้ามเนื้อได้หลากหลายกว่าการตรวจทางรังสีวิทยาอื่นๆ

การส่องกล้องตรวจข้อเข่า (Knee Artroscopy)

          ในบางกรณีทั้งการตรวจร่างกาย เอ็กซเรย์ทั่วไปและตรวจด้วย  MRI ก็ยังไม่สามารถบอกได้ว่ามีอะไรฉีกขาดบ้าง แพทย์อาจพิจารณาใช้กล้องส่องเข้าไปภายในข้อเข่า (Knee Artroscopy)  เพื่อดูด้วยตาของแพทย์ให้แน่ใจว่ามีส่วนใดผิดปกติบ้าง ซึ่งการส่องกล้องนี้จำเป็นต้องทำในห้องผ่าตัด เพื่อป้องกันการติดเชื้อและจำเป็นต้องทำให้ผู้ป่วยไม่เจ็บปวด ซึ่งต้องอาศัยวิสัญญีแพทย์ (แพทย์ดมยา) ให้ยาชาเฉพาะที่ เช่นการฉีดยาชาเข้าไขสันหลังเพื่อให้อวัยวะที่อยู่ต่ำกว่าบั้นเอวลงไปถึงปลายเท้า หมดความรู้สึกเจ็บปวดซึ่งภาษาที่ใข้เรียกกันทั่วไปว่า “บล็อคหลัง” ทางการแพทย์เรียกว่า REGIONAL ANASTHESIA (การทำให้เกิดการชาเฉพาะส่วน) ผู้ป่วยบางรายต้องการให้สลบไปเลยระหว่างการส่องกล้อง แพทย์ดมยาอาจใช้วิธีดมยาสลบก็ได้

          การผ่าตัดข้อโดยการส่องกล้อง (Arthroscope) เหมาะสำหรับข้อที่เสื่อมไม่มาก แพทย์จะทำการผ่าตัดผ่านกล้องในห้องผ่าตัด เจาะสองรูใต้ลูกสะบ้า รูหนึ่งใช้สอดกล้องที่ต่อกับจอภาพ (monitor) อีกรูหนึ่งใส่เครื่องมือพิเศษที่ใช้ในการทำผ่าตัดผ่านกล้อง ตลอดการผ่าตัด จะมีแผลเพียงสองรูเท่านั้น

          เครื่องมือที่ใช้ในการทำผ่าตัดนี้สามารถล้างเศษชิ้นส่วนของกระดูกอ่อนที่เกิดจากการสึกหรอของข้อที่ลอยปนอยู่ในน้ำข้อเข่า และดูดสารน้ำอักเสบในข้อเข่าออก แพทย์สามารถมองเห็นผิวกระดูกอ่อน หมอนรองกระดูก ความสมบูรณ์ของเนื้อเยื่อในข้อเข่า สามารถประเมินขอบเขตที่สึกหรอในเข่าได้ดีขึ้น มากกว่าข้อมูลที่ได้จากภาพถ่ายทางรังสี นอกจากนี้ หากแพทย์พบกระดูกอ่อนสึกหรอ มีขอบเปิดเผยอ แพทย์สามารถใช้เครื่องมือเข้าไปกรอให้ขอบเรียบมากขึ้น เพื่อชะลอการสึกหรอได้ กรณีที่กระดูกอ่อนสึกหรอจนเห็นชั้นกระดูกจริง แพทย์สามารถใช้เครื่องมือกระตุ้นให้มีการเกิดใหม่ชองชั้นพังผืดแทนชั้นของกระดูกอ่อนเดิมได้ ถึงแม้ว่าชั้นของพังผืดจะไม่มีคุณสมบัติในการหล่อลื่น และยืดหยุ่นเท่ากระดูกอ่อนเดิม แต่สามารถช่วยลดการปวดเข่าในขณะใช้งานได้ระดับหนึ่ง ภาวะข้อเข่าเสื่อม โดยส่วนใหญ่จะพบผู้ป่วยในอายุมาก เช่น อายุมากกว่า 50 ปี ขึ้นไป  

          การส่องกล้องเข้าไปเอาสิ่งสกปรกที่เกิดจากการสึกของข้อออกมา ช่วยให้แพทย์สามารถทำผ่าตัดโดยใช้แผลผ่าตัดขนาดเล็กมาก ในลักษณะการเจาะรูเล็กๆ บริเวณข้อเข่า เพื่อสอดกล้องเข้าไปในข้อเข่า ซึ่งต่างจากในอดีตที่จำเป็นต้องทำผ่าตัดด้วยแผลขนาดใหญ่  การผ่าตัดโดยใช้วิธีการส่องกล้องจะช่วยให้ผู้ป่วยมีความปลอดภัยสูง มีอาการเจ็บปวดหลังผ่าตัดน้อยมาก ผู้ป่วยสามารถเดินลงน้ำหนักได้ทันทีหลังรับการผ่าตัด และผู้ป่วยส่วนใหญ่จะสามารถกลับบ้านและสามารถกลับไปทำงานตามปกติได้อย่างรวดเร็ว 

    

ข้อบ่งชี้ในการทำ Artroscope

  • ในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่า มีภาวะข้อเข่าเสื่อมในขั้นเริ่มต้นหรือปานกลาง โดยไม่ประสบความสำเร็จในการรักษาด้วยการทานยาหรือการปรับวิธีการปฏิบัติตัวในการใช้ข้อเข่า  แนะนำให้ทำการผ่าตัดเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุอื่นที่อาจทำให้มีอาการปวดข้อเข่าเรื้อรังมานาน
  • ผู้ป่วยที่มีอาการข้อเข่าเสื่อมมาก แต่อายุยังน้อยเกินกว่าจะทำการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียม 

ข้อดีของ Artroscope         

          การส่องกล้องเข้าไปในข้อเข่าเพื่อตรวจวินิจฉัยให้ได้ว่าภายในข้อเข่ามีสิ่งใดผิดปกติบ้างจะทำให้ได้คำตอบที่ชัดเจน และหากมีพยาธิสภาพ หรือสิ่งผิดปกติใดที่สามารถจะแก้ไขได้ทันที เช่น หมอนรองกระดูกฉีกขาดเป็นชิ้นหรือเป็นแผ่น (loose bodies menicus) ที่ขัดขวางการเคลื่อนไหวของผิวข้อเข่าที่มีลักษณะเรียบจะมีอะไรมาขวางหรือทำให้เกิดการสะดุดไม่ได้ (เปรียบเช่นมีก้อนกรวดหรือทรายที่อยู่ใต้ฝ่าเท้าเวลาเดิน)     แพทย์ผู้ส่องกล้องก็จะทำการแก้ไขไปเลย โดยการตัดแต่งส่วนที่ไม่เรียบให้ขอบของหมอนรองกระดูกที่เหลืออยู่มีความเรียบ ซึ่งถือเป็นการรักษาไปด้วยเลยในตัว ดังนั้นการส่องกล้องเข้าไปในข้อเข่าสามารถที่ทำหน้าที่ได้ทั้งการตรวจวินิจฉัย และเป็นการรักษาไปด้วยในตัว เป็นการยิงกระสุนนัดเดียวได้นกสองตัว แต่ก็มีข้อคำนึงถึงค่าใช้จ่ายและปัญหาแทรกซ้อนเช่นเดียวกับการผ่าตัดอื่นๆ ซึ่งแพทย์ผู้รักษาต้องอธิบายทั้งข้อดีและข้อเสียต่างๆให้ผู้ป่วยและญาติเกิดความเข้าใจเพื่อประกอบการตัดสินใจด้วย

ประโยชน์ของการผ่าตัดส่องกล้อง

  1. ช่วยให้แพทย์สามารถเห็นสภาพภายในข้อเข่าได้อย่างชัดเจน ดังนั้น แพทย์จะสามารถวินิจฉัยความรุนแรงความเสื่อมของข้อเข่าได้อย่างละเอียด แพทย์มีข้อมูลมากขึ้นในการให้คำแนะนำ วิธีปฏิบัติตัวของผู้ป่วยในการป้องกัน และรักษาอาการปวดหรืออาการบวมที่เกิดจากภาวะข้อเข่าเสื่อม ได้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายได้ดียิ่งขึ้น
  2. ในระหว่างที่แพทย์ทำการผ่าตัดส่องกล้องข้อเข่านั้น จะมีการล้างน้ำภายในข้อเข่าให้สะอาด เพื่อเอาเศษกระดูกอ่อนที่สึกหรอและลอยอยู่ในข้อเข่าออกให้มากที่สุด  ซึ่งจะลดการเสียดสีเวลาเคลื่อนไหวข้อเข่า จึงเป็นการช่วยทั้งลดอาการที่เกิดจากข้อเข่าอักเสบ ลดอาการปวดของข้อเข่า และนอกจากนี้ยังพบว่า จะช่วยลดเสียงที่เกิดขึ้นเวลามีการเคลื่อนไหวข้อเข่า
  3. ปัจจุบันมีการพัฒนาเครื่องมือที่ใช้ในการรักษาผิวกระดูกอ่อนที่พบว่ามีการสึกหรอ  ในขณะทำการผ่าตัดส่องกล้อง คล้ายลักษณะการทำแผลผิวกระดูกอ่อนที่สึกหรอให้หายเร็วยิ่งขึ้น และช่วยป้องกันการขยายตัวของบาดแผลบริเวณผิวกระดูกอ่อน


ข้อจำกัดในการรักษา

          ต้องเลือกผู้ป่วยที่เหมาะสม ซึ่งในกรณีที่เลือกผู้ป่วยที่เหมาะสมแล้ว แพทย์สามารถคาดหวังผลการรักษาได้สูงถึง 70% การรักษาวิธีนี้ไม่สามารถทำให้อาการข้อเข่าเสื่อมหายขาดได้ แต่ช่วยชะลอความรุนแรงของอาการข้อเข่าเสื่อมได้ช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งขึ้นอยู่กับพยาธิสภาพและความรุนแรงของข้อเข่าเสื่อมด้วย จึงเป็นการผ่าตัดที่ช่วยยืดเวลาในการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าให้กับผู้ป่วยที่ยังอายุน้อยได้ดีในระดับหนึ่ง


ขอขอบคุณ  web อ้างอิง

http://www.mrithai.com/index.php/mri-exams/53-mri-musculoskeletal/73-mri-musculoskeletal.html?tmpl=component&print=1&page=

http://www.vejthani.com/Center/TJR-center/index.php

หมายเลขบันทึก: 279985เขียนเมื่อ 25 กรกฎาคม 2009 11:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณมากครับ :)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท