จิตตปัญญาเวชศึกษา 102: Humanized Medical Curriculum สังคมปรนัย (2)


สังคมปรนัย (2)

ต่อจาก สังคมปรนัย (1) นะครับ

การศึกษา เล่าเรียน หรือประสบการณ์ต่างๆ สุดท้ายก็จะไปหล่อหลอมเป็นกระบวนทัศน์ ความคิด ความรู้สึก และแสดงออกมาทางพฤติกรรมในขั้นตอนสุดท้าย พฤติกรรมหนึ่งๆนั้นก็จะมีแรงผลักดันที่มาได้หลากหลาย แม้จะเป็นพฤติกรรมอย่างเดียวกันแต่สามารถมี "แรงบันดาลใจ" ไม่เหมือนกัน สุดท้าย ก็จะมี "ความหมาย" ไม่เหมือนกัน

มีครั้งหนึ่งมีคนเดินทางไปก็พบพื้นที่แห่งหนึ่ง กำลังมีงานก่อสร้าง มีคนงานกำลังทำงานอยู่หลายคน ด้วยความสงสัยใคร่รู้ คนเดินทางเกร่เข้าไปถามคนงานแถวๆนั้น 2-3 คน

"กำลังทำอะไรอยู่น่ะ?" คนเดินทางถาม

คนงานคนแรกตอบ "กำลังวางอิฐ"

คนงานคนที่สองตอบ "กำลังทำงาน หาเงิน"

คนงานคนที่สามตอบ "กำลังสร้างโบสถ์"

ทั้งสามคนทำงานเหมือนๆกัน แต่ไม่เหมือนกัน คนแรกมองเห็นและให้ความหมายกับสิ่งที่ตนเองกำลังสัมผัสตรงข้างหน้า กำลังถืออิฐ กำลังวางอิฐ สิ่งที่ทำก็เป็นแค่นั้น ถืออิฐวางอิฐ คนที่สองได้ให้ความหมายอีกอย่างหนึ่ง นี่เป็นงาน และทำแล้วได้เงิน เอาไปซื้อข้าวปลาของใช้่ที่จำเป็น ส่วนคนที่สามนึกถึงผลงานสุดท้ายย จะกลายเป็นวัด เป็นโบสถ์

===========================

ณ ชายหาดแห่งหนึ่ง เด็กกลุ่มหนึ่งเห็นชายชราคนหนึ่งเดินก้มๆเงยๆอยู่ไปตามชายหาด เดี๋ยวก้ม หยิบอะไรมาสักอย่างหนึ่ง เสร็จแล้วก็เขวี้ยงลงไปในทะเล เดินต่อ ก้มใหม่ หยิบอะไรขึ้นมาใหม่ แล้วก็โยนลงทะเลใหม่ เด็กกลุ่มนี้เกิดความสนใจ จึงเดินไปใกล้่ๆ เพื่อจะดูว่าชายชราคนนี้กำลังทำอะไร

พอเข้าไปใกล้ก็เห็นว่าชายชราคนนี้เดินไปตามชายหาด เพื่อเก็บปลาดาวที่ถูกน้ำทะเลพัดมาเกยตื้นติดฝั่งอยู่ แล้วก็จะโยนคืนไปในทะเลใหม่ ไม่ให้มันเกยตื้นแห้งตาย ด้วยความสงสัยก็เลยถาม

"ลุงๆ ลุงจะทำอะไรน่ะ?"

ชายชราเงยหน้ามอง "ช่วยปลาดาว มันเกยตื้น"

เด็กๆมองไปตามชายหาด เห็นตลอดความยาวทั้งฝั่งนั้น ก็เต็มไปด้วยปลาดาวเกยตื้นเต็มไปหมด "ลุงๆ ปลาดาวมันมีตั้งเยอะนา ลุงจะช่วยได้สักกี่ตัวเนี่ย"

"ก็ไม่กี่ตัว" ลุงยังก้มๆเงยๆหยิบปลาดาวต่อ

"ไม่เห็นมันจะได้่ผลเลยลุง ยังไงๆมันก็ไม่หมด ขว้างลงไปประเดี๋ยวมันก็ถูกซัดขึ้นมาใหม่ ทำไปก็ไม่มีความหมายอะไรเลย" เด็กแสดงความเห็น

"ก็จริงอยู่ ตัวที่ลุงไม่ได้ช่วย หรือตัวที่ถูกซัดกลับเข้ามาใหม่คงจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร แต่ที่แน่ๆ บางตัวที่ลุงช่วยโยนลงทะเลไปใหม่ สำหรับตัวนั้นมันคงจะมีความหมายต่อมันอยู่บ้างนะ"

เรื่องนี้ไม่เหมือนกับเรื่องแรก เพราะคุณลุงคนนี้ไม่ได้มองที่ "ภาพรวม" สุดท้ายว่าจะเกิดอะไรขึ้น หรือคิดคำนวณประสิทธิภาพ ความคุ้่ม ฯลฯ แต่คุณลุงอยู่กับ "ปลาดาว" ตัวที่คุณลุงหยิบขึ้นมา ดูแล และโยนกลับทะเล ทุกๆตัวมีความหมายต่อคุณลุงทั้งสิ้น

===========================

มนุษย์เราเรียนรู้และเกิดปัญญาได้หลายวิธี อาจจะศึกษาเรียนรู้ตากตำรับตำรา อ่านหนังสือ ชมสื่อต่างๆ อาจจะเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ปฏิบัติตรง หรืออาจจะเรียนรู้จากการภาวนา ใคร่ครวญ ไตร่ตรองก็ได้ เราเติบโตมาพร้อมๆกับการให้ลำดับความสำคัญของเรื่องราวต่างๆ สิ่งสำคัญพื้นฐาน เช่น การอยู่รอด รอดชีวิต ปลอดภัย ไม่เจ็บปวด เป็นความต้องการและเป็นความจำเป็นขั้นพื้นฐานในการมีชีวิตอยู่ การเรียนรู้เพื่อ serve ความต้องการด้านนี้ก็จะทรงพลัง และสำคัญมาก

มีการทดลอง มีกรงเหล็กขนาดใหญ่อยู่ 1 กรง เอาลิงชิมแปนซีใส่ไว้ในกรงนี้ 5 ตัว ตรงกลางกรงใหญ่นี้ มีบันไดเหล็กตั้งไว้ และเหนือบันได มีกล้วยห้อยลงมาจากหลังคาหนึ่งหวี ทุกครั้งที่ลิงตัวใดตัวหนึ่ง เดินไปที่บันไดและไต่ขึ้นไปจะหยิบกล้วย ผู้ทดลองก็จะฉีดน้ำเย็นเจี๊ยบใส่ลิงทุกตัวในกรงนั้น ลิงวิ่งหนีกันกระเจิดกระเจิง ทำซ้ำแล้วซ้ำอีก จนในที่สุด ก็ไม่มีลิงตัวไหนเดินเฉียดกรายไปที่บันไดนี้อีกเลย นั่งจุมปุ๊กอยู่ตามขอบกรงเท่านั้น

เสร็จแล้วก็เอาลิงออกจากกรงนี้ไป 1 ตัว นำเอาตัวใหม่เข้ามา พอเอาลิงตัวใหม่เข้ามา ลิงตัวนี้มองไปรอบๆก็เห็นเพื่อนร่วมกรงนั่งกันเฉยๆหมด แกก็เดินไปที่บันไดเหล็ก เพื่อจะปีนไปหยิบกล้วยที่ห้อยอยู่ข้างบน ปรากฏว่าลิงตัวอื่นๆพอเห็นเจ้าหน้าใหม่นี่ทำท่าจะปีนบันได ทุกตัวก็วิ่งลงมาไล่กัด จิก ตี ทำร้ายกันใหญ่ ไม่ยอมให้่ขึ้นไป สุดท้ายเจ้าตัวใหม่ก็ยอมแพ้ เลิกความคิดจะปีนบันไดขึ้นไป

เราค่อยๆเอาลิงชุดเก่า ชุดแรกสุด ออกไปทีละตัวๆ เอาตัวใหม่เข้ามาทีละตัวๆ ทุกครั้งก็จะออกมาเหมือนกันหมด คือ พอลิงตัวใหม่เข้าไป จะปีนบันได ตัวที่เหลืออยู่ก็รุมกันตี รุมกันทำร้าย จนไม่กล้าปีนบันได จนในที่สุด ทั้งกรงมีแต่ลิงตัวใหม่หมดเลย ไม่เหลือลิงชุดแรกที่ถูกฉีดน้ำ แต่ "ประเพณี" ที่ว่าบันไดเป็นพื้นที่ต้องห้ามนั้น กลายเป็นกฏถาวรไปแล้ว ลิงทุกตัวจะไม่ยอมให้ลิงตัวใหม่ตัวไหนมาปีนบันไดได้เลย

=========================

ณ ละครสัตว์จีนคณะหนึ่ง มีการแสดงแปลกๆมากมาย แต่ที่น่าทึ่งที่สุดชุดหนึ่งก็คือ การฝึกขบวนตัวหมัด ให้มาลากรถที่ทำจากกล่องไม้ขีดไฟ ตัดแต่งจนเหมือนเกวียน เหมือนรถม้า ลากวิ่งไปตามพื้นได้ เพราะโดยธรรมชาติแล้ว ตัวหมัดนั้นทรงพลังมาก สามารถกระโดดได้สูงกว่าความสูงตนเองถึง 30 เท่า เรียกว่าชนะนักกระโดดสูงมนุษย์ได้สบายๆ (ใครอยากจะเป็นมนุษย์ตัวหมัด ไปแข่งกับ spiderman ก็ได้นะครับ)

ด้วยความสงสัย ผู้เข้าชมคนหนึ่งทนไม่ไหว ก็รอจนจบการแสดง เดินไปหาเจ้าของคณะตัวหมัดละครสัตว์ พูดคุยตีสนิท ชวนไปกินข้าว กินเหล้ากันหลังจบการแสดง พอตีสนิทกันแล้ว ก็ถามไปว่า เขาฝึกตัวหมัดไม่ให้กระโดด แต่ให้เดินไปบนพื้นได้ยังไง

เจ้าของคณะตัวหมัดหัวเราะ บอกว่าฝึกได้ไม่ยากหรอก แค่ทำให้มันเลิกกระโดดก็พอ หลังจากนั้นมันก็ทำอะไรไม่ได้ นอกจากเดินไปราบๆเท่านั้นเอง

"แล้วจะทำไง หมัดถึงไม่กระโดดล่ะ?"

"ตอนแรก ก็จับหมัดมาใส่ไว้ในโถแก้วสูงๆก่อน กะๆว่าหมัดมันกระโดดเลยปากโถแน่ๆ แต่พอใส่ลงไปแล้ว เราก็เอาฝาแก้วมาปิดเอาไว้ ตอนแรก หมัดมันก็จะกระโดดดึ๋งๆๆๆ อยู่ในโถ ทุกครั้งหมัดมันก็จะชนโป๊กๆๆ จนในที่สุดหมัดมันจะเริ่มกระโดดเหมือนกัน แต่เตี้ยลง โดดไม่ชนฝา เราก็จะเปลี่ยนโถใหม่ ให้เตี้ยกว่าเดิม หมัดโดดกี่ครั้งๆ ก็หัวกระแทกฝา โป๊กๆๆๆ ไปเรื่อยๆ หมัดมันก็เริ่มกระโดดเตี้ยลงกว่าเดิมเพื่อไม่ให้หัวกระแทก ทุกครั้งเราจะรอจนการกระโดดของหมัดเตี้ยลงจนกระทั่งโดดไม่ชนฝาเลยแม้แต่ครั้งเดียว ก่อนจะเปลี่ยนความสูงของโถ

สุดท้าย เราก็ใส่กล่องแบนๆ ชนิดโดดปุ๊บชนปั๊บ พอหมดรายการสุดท้ายนี่ หมัดมันเลิกกระโดดไปเลย เดินอย่างเดียว แม้แต่เอาออกมานอกโถแล้วก็ตาม"

====================================

มีหมออเมริกันอยู่คนหนึ่ง เป็นลูกศิษย์ชาวอเมริกันเพียงผู้เดียวของโปรเฟสเซอร์ปาฟลอฟ นักสรีระวิทยาชาวรัสเซีย ที่ทำการทดลองเรื่องเงื่อนไขหมาน้ำลายไหลที่เราเรียนกันมาตอนเด็กๆนั้นเอง ของโปรเฟสเซอร์ปาฟลอฟ มีเงื่อนไขคือกระดิ่งกับอาหาร ที่จะกระตุ้นให้หมาน้ำลายไหล จนตอนหลังแม้แต่เสียงกระดิ่งอย่างเดียว ไม่มีอาหาร ก็จะเพียงพอที่ทำให้หมานำ้ลายไหลได้ทุกครั้ง

หมออเมริกันคนนี้ทำอีกแบบหนึ่ง โดย outcome behavior เป็นอีกระบบหนึ่ง โดยการใช้หมามาผูก electrode ไว้กับขาข้างหนึ่ง สาย electrode เส้นนี้ สามารถปล่อยกระแสไฟฟ้าอ่อนๆเข้าไป shock หมาได้เมื่อกดปุ่ม แล้วมีการวัดความดันโลหิต กับจับชีพจรหมาเป็นตัวแปร

การทดลองก็คือ ทุกครั้งที่สั่นกระดิ่ง ก็จะกดปุ่มให้ไฟฟ้าชอร์ตหมาไปด้วย เมื่อหมาถูกไฟชอร์ต ชีพจรก็จะเต้นเร็วขึ้น ความดันโลหิตสูงมากขึ้นทันที ทำไปนานๆ ทำซ้ำไปเรื่อยๆ ในที่สุด ก็เกิดปรากฏการณ์คล้ายๆที่ปาฟลอฟทำ คือ เพียงแค่สั่นกระดิ่งอย่างเดียว ไม่มีไฟชอร์ต ชีพจรหมาก็จะเต้นเร็วระรัว และความดันชูตสูงขึ้นทันที

ที่น่าสนใจมากก็คือผลที่ว่านี้ คงอยู่นานมาก แทบจะเรียกได้ว่าตลอดชีวิตหมาตัวนั้นเลย

เรื่องนี้อธิบายว่า "หัวใจ" จำเป็นต้องมีชุดความทรงจำพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับความเจ็บปวด ภัย อันตราย ที่คุกคามชีวิตหรือการอยู่รอด ดังนั้น เมื่อเราถูกกระตุ้นมาครั้งหนึ่ง เราก็จะ "จำ" ไว้เลยว่าเรื่องนี้มันมากับอันตรายๆ เมื่อไรได้กระตุ้นแบบนั้นอีก เราจะรีบเตรียมตอบสนองไว้อย่างรวดเร็ว

ตัวกระตุ้นด้านลบเหล่านี้จะคงอยู่เนิ่นนานกว่าตัวกระตุ้นแบบบวก นานกว่าหลายเท่าเลยทีเดียว เพื่อเป็นการปกป้องกันอันตรายต่อตัวเอง เราถูกออกแบบออกมาแบบนั้น แม้ว่าความจำเหล่านี้ บางครั้งอาจจะสับสนเอาเรื่องไม่อันตรายมาเกี่ยวข้อง จนกระทั่งเกิดผลกระทบมากมาย แต่เราก็ช่วยอะไรไม่ได้

==========================

ที่พยายามยกตัวอย่างมาหลากหลายรูปแบบ เพื่อต้องการสะท้อนให้เห็นว่า มนุษย์เรานั้น มีการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา และน้ำหนักของการเรียนรู้่นั้นส่วนใหญ่มาจากประสบการณ์ตรง ไม่ใช่เรื่องที่เราท่องจำ แต่เป็นเรื่องที่เราจำเพราะมันมีความหมายมากต่อชีวิตเรา และสามารถส่งผลระยะยาวนาน (อย่างไม่น่าเชื่อ คือ บางครั้งตลอดชีวิต) ต่อพฤติกรรมในอนาคตของเรา

ข้อสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ เจ้าของประสบการณ์นั้นๆ จะเป็นคนให้ความหมายสิ่งที่เขาได้เผชิญ และความหมายที่ว่านี้เอง ที่จะส่งผลต่อไปถึงพฤติกรรม ความคิด ความรู้สึกของเขาในภายหลัง แปลว่า คนเราอาจจะให้ความหมายได้หลากหลายมากๆก็ได้ในประสบการณ์คล้ายๆกันนั้น

ลองคิดดูว่านักเรียนแพทย์เข้ามาในคณะแพทยศาสตร์นั้น เขาเห็นอะไร เผชิญอะไร ถูกชมเรื่องอะไร ถูกดุ ถูกด่า ถูกประเมินเรื่องอะไรบ้าง เขาเห็นพี่ๆ อาจารย์ พยาบาล และคนไข้ทำอะไรกันบ้าง ทุกสิ่งทุกอย่างเหล่านี้เป็นห้องเรียนชีวิตที่เขาเรียนอยู่ตลอดเวลา

ถ้าเราสร้างบรรยากาศของสังคมปรนัยในการเรียนแพทย์จะเกิดอะไรขึ้น?

ตอนที่เราสอนการดูแลคนไข้ที่ข้างเตียงนั้น สมองและจิตใจของนักเรียนแพทย์อยู่ที่ไหน? เขากำลังคิดถึงสิ่งที่เขาจะจำไปตอบตอนสอบ หรือว่าคิดถึงว่าคนไข้ข้างหน้านี้กำลังได้รับการดูแลอยู่หรือไม่ อย่างไร และกำลังรู้สึกอย่างไรอยู่? ดังนั้นที่นักเรียนกำลังยืนอยู่ข้างเตียงคนไข้นี้ ก็เหมือนกับกรณีคุณลุงกับปลาดาวนั่นเอง ถ้านักเรียนเราถูก conditioning ให้มัวแต่ปกป้องตัวเอง ตอบคำถามอย่างไรไม่ให้ถูกดุด่าว่ากล่าวเป็นที่อับอาย นักเรียนก็อาจจะไม่ทันได้สังเกตว่า ณ ตอนที่เรากำลังปกป้องตัวเองอย่างขะมักเขม้นนั้น จริงๆแล้วเป็นเวลาที่เรากำลังให้การรักษาดูแลคนจริงๆอยู่ และเป็นคนที่มีความรู้สึกนึกคิด เป็นช่วงเวลาที่เรากำลังสร้างหล่อหลอมความสัมพันธฺ์ระหว่างเรากับคนไข้และญาติ

แต่ถ้าเราไม่ได้มีกะจิตกะใจอยู่ตรงนั้น จะเป็นเช่นไรล่ะ??

สักกี่ครั้งที่เราไปยืนมุงกันอยู่ตรงข้างเตียงคนไข้ แต่ใจเราไม่ได้อยู่กับ "คนไข้" แต่กลับไปอยู่กับหัวใจบ้าง อยู่กับหน้าท้อง อยู่กับตับ ไต ม้าม อยู่กับปอด กับต่อมไทรอยด์ กับริดสีดวงทวารของคนไข้ เมื่อเราไม่ได้ "อยู่กับคน" คนนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับเขา ก็ดำเนินไปเรื่อยๆในอีกรูปแบบหนึ่ง บางทีเรื่องนี้ก็แสดงออกมาชัดเจน เมื่อเราเริ่มเรียกคนไข้ออกมาเป็นอวัยวะต่างๆ

case ไทรอยด์ไปเข้าห้องน้ำครับอาจารย์

วันนี้ case ไส้เลื่อนขอกลับบ้านแล้วค่ะอาจารย์

วันนี้ผมไปดูแผล case diabetic foot (แผลที่เท้าคนไข้เบาหวาน) แล้วครับ แผลดี สดครับ

case มะเร็งหลอดอาหารบอกว่าจะไม่ยอมผ่าตัดค่ะ พี่ใช้ทุนให้เรียนถามอาจารย์ว่าจะเอายังไงดี

ฯลฯ

เป็นแบบที่พึงปราถนาหรือไม่??

ต่อตอนสามครับ

หมายเลขบันทึก: 279737เขียนเมื่อ 24 กรกฎาคม 2009 14:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 08:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

น่าคิดนะคะอาจารย์ ถ้าคิดแบบนั้นหมอก็กลายเป็นรักษาโรค ไม่ใช่รักษาคนป่วย คนต่างหากที่เป็นคีย์ที่สำคัญ ส่วนเรื่องลิงนี่เคยได้ยินมา มันทำให้นึกถึงวิถีประชาที่ทำตามกันโดยขาดเหตุและผล คือรุ่น 1 เจอผลที่ทดลองกับตัวเอง แต่รุ่นต่อๆ มาก็ถูกทำให้ยอมรับกฎเหล็กโดยปริยาย ทั้งๆ ที่ไม่ทราบว่าต้นสายปลายเหตุเป็นอย่างไร และก็ไม่คิดว่าจะทดลองหรือหาเหตุผล แต่ยอมรับและทำตามเพราะลิงส่วนใหญ่ยอมรับและกระทำแบบนั้น

นึกถึงว่าถ้าลองต่อตัวกันหยิบกล้วยโดยไม่ปีนบันไดอาจจะไม่โดนฉีดน้ำก็ได้ อาจจะมีเงื่อนไขที่แตกต่างยกเว้นให้ แต่ก็ไม่มีลิงตัวไหนลองดู ซึ่งถ้าเปลี่ยนไปอีกหลายสิบเจนเนอเรชั่น บันไดนี้อาจจะกลายเป็น zone ศักดิ์สิทธิ์ห้ามแตะต้องแม้จะไม่มีกล้วยอยู่ด้านบนรออยู่เลยก็ตาม

Little Jazz P ครับ

precisely

กฏเหล็ก taboo ขนบ ฯลฯ เยอะแยะไปหมดครับ มันมีทั้งข้อดี และข้อเสียในเรื่องเหล่านี้ แต่ข้อน่ากลัวที่พึงระวังมากที่สุดคือ การจำกัดจินตนาการ ศักยภาพในการตั้งคำถามนี่แหละ ที่จะขวางความเจริญของตนเองและคนรอบข้าง สังคมได้

เดี๋ยวนี้เรามี "บันไดศักดิ์สิทธิ์" ไม่น้อย

มี "ยามเฝ้าบันได" ก็ยิ่งเยอะกว่า ที่เผลอๆคนกลัวยาม มากกว่ากลัวบันได

จนสุดท้ายยามหลงเข้าใจว่า ตนเองคือคนที่คนอื่นควรจะกลัว

นำไปสู่.....

.........

.........

อื่นๆอีกมากมาย

นี่เลยค่ะ แนะนำให้ดูเรื่อง City of Ember เป็นตัวอย่างเรื่องของมนุษย์ที่ถูกนำไปอาศัยอยู่ใต้ดินเพื่อให้ดำรงเผ่าพันธุ์ไว้ ผ่านไปสองร้อยปีความรู้เกี่ยวกับโลกเบื้องบนเลือนหายไป ประชาชนเชื่อกันว่ามีแต่ Ember เท่านั้น ไม่มีที่อื่น พ้นเขตนครนี้ไปมีแต่ความมืดมิด เป็นอะไรที่เกินจินตนาการ ไม่รู้จักและดูน่าหวาดกลัว ความคิดเรื่องการออกจากที่นั่นเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ของยามเฝ้าบันได ถ้ามีอะไรเปลี่ยนแปลงก็คงไม่น่าจะดีต่อตัวเองเพราะที่นี่ตัวเองมีอำนาจมากที่สุด

ในหนังจะเห็นคำอธิษฐานแปลกๆ ด้วยค่ะ อย่างขอบคุณท่านผู้สร้าง Ember ขอบคุณเครื่องปั่นไฟที่ให้แสงสว่างอะไรทำนองนั้น เปรียบเทียบให้เห็นภาพว่าจินตนาการของมนุษย์ที่ถูกจำกัดไว้แค่สิ่งที่รับรู้ตรงหน้าด้วยตาที่มองเห็นเป็นยังไง (แนะนำหนังอีกแล้ว 555 ลากโยงเข้าเรื่องหนังได้ทุกทีไป หนังนี้เด็กดูได้ด้วยนะคะ PG)

ฮึ ฮึ ไม่เป็นไรมิได้ครับ คุยเรื่องหนังนี่ ที่ไหน เมื่อไร ก็ย่อมได้

หนังประเภทความฝันที่ถูกจำกัด จินตนาการที่ถูกคุมกำเนิดนี่ ถูกนำเสนอมาหลากหลายรูปแบบมาก ขึ้นอยู่กับจะนำเอาประเด็นอะไรมาเน้นกัน

The Brave New World และ Rogan Run เป็นหนึ่งใน Sci-fi ยุคต้นๆ

หลายปีก่อน คงจะต้องยกให้ GAGATTA เป็นภาพยนต์ที่ sarcasm มากๆ ประชดความอหังการ์ในความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ของมนุษย์ นำเอาประสาทสัมผัสธรรมดาๆของคน ความรัก ความรู้สึก ความฝัน ความอยากรู้อยากเห็น ชีวิตที่มีความหมาย มาปะทะกับ genetics กับ objective detecting machines จำนวนมาก เป็นหนังที่ "คมคาย" ที่สุดเรื่องหนึ่งที่เดียว

และเมื่อเร็วๆนี้ คงจะต้องกล่าวถึง WALL-E โลกมนุษย์อ้สนม่อต้อที่ถูกสะกดจิต เช้า กลางวัน เย็น ที่เด็ดมากๆก็คือ เอาหุ่นยนต์ที่มีอารมณ์รักอ่อนไหว มาเป็นตัวเอกที่ "สะกิดใจ" มวลมนุษย์อีกครั้งหนึ่ง

และ The Islands ที่มนุษย์เผ่าพันธฺฺุ์พิเศษ คือ ถูก cloned มาเพื่อเป็นคลังอวัยวะ ก็มีชีวิตอยู่กับ Implanted memory ว่าตนเองเป็นใคร  มาจากไหน ตอนหลับก็ถูก "บรรจุ" ความฝัน ให้ใฝ่ฝันอยากจะไป Island กันทุกลมหายใจ

น่าติดตาม น่าอ่าน น่าจดจำไปบอกใครต่อใคร และที่สำคัญน่าปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท