BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

เนกขัมมปรมัตถบารมี


เนกขัมมปรมัตถบารมี

เมื่อวาน วันพระ... ซึ่งผู้เขียนได้แสดงธรรมว่าด้วยปัญญาปรมัตถบารมี ส่วนเนกขัมมปรมัตถบารมีนั้น ผู้เขียนได้แสดงไปตั้งแต่วันพระก่อนเข้าพรรษนู้น และยังคงติดค้างอยู่ ไม่ได้นำมาบอกเล่าไว้ ดังนั้น บันทึกนี้จะเล่าเรื่องเนกขัมมะพอได้ความ และบันทึกต่อไปค่อยเล่าเรื่องปัญญา เพื่อจะทำให้บันทึกชุดนี้ครบชุดตามที่ตั้งใจไว้...

คำว่า เนกขัมมะ แปลว่า ออกบวช นั่นคือ การออกบวชจัดว่าเป็นบารมีที่สาม ในบรรดาบารมีสิบประการ ซึ่งพระโพธิสัตว์และพวกเรา ต้องบำเพ็ญเพื่อเป็นพระพุทธเจ้าหรือเพียงเพื่อความหลุดพ้น... เนกขัมมะ นี้ก็เช่นเดียวกับบารมีอื่นๆ กล่าวคือ จัดเป็นระดับธรรมดา (บารมี) ระดับมั่นคง (อุปบารมี) ระดับสูงสุด (ปรมัตถบารมี)... โดยในส่วนของเนกขัมมะนี้ สมัยที่พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็น พระเจ้าสุตโสม ใน จุลสุตโสมชาดก ท่านจัดว่าเป็นระดับปรมัตถปารมี ซึ่งผู้สนใจใคร่อ่านเรื่องราวทั้งหมด ก็... (คลิกที่นี้) ...ในบันทึกนี้จะนำเสนอเพียงความเห็นเท่านั้น...

โบราณาจารย์ได้เปรียบเทียบผู้ใคร่ในการออกบวชไว้ทำนองว่า คนติดคุกปรารถนาที่จะออกจากคุกตลอดเวลา เพราะถูกกักขังหน่วงเหนี่ยวทั้งกายและใจตลอดเวลาฉันใด สำหร้บชาวบ้านผู้ครองเรือนที่ปรารถนาจะออกบวชก็ฉันนั้น กล่าวคือ มีความรู้สึกว่า ชีวิตนี้หาความสุขสงบยากจริงๆ เพราะมีปัญหาต่างๆ เข้ามากลุ้มรุมทั้งทางกายและใจ เรื่องแล้วเรื่องเล่า ไม่จบไม่สิ้น หาความสิ้นสุดไม่ได้ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการงานและปัญหาครอบครัว) ถ้าทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างแล้วไปบวชก็น่าจะมีความสุขสงบกว่านี้... ประมาณนั้น

ในชาดกเรื่องนี้ พระเจ้าสุตโสมทรงออกบวช (ราชาศัพท์ใช้ มหาภิเนกษกรมณ์ ) โดยทรงประกาศท่ามกลางบริวาร จึงมีผู้ทัดทานจำนวนมาก ทั้งการออกบวชของท้าวเธอก็มีผลกระทบต่อบุคลหลายฝ่าย ทำให้การออกบวชของพระองค์ต้องใช้กำลังใจอย่างสูงสุดเพื่อให้สำเร็จพระประสงค์ ท่านจึงจัดเป็นชั้นปรมัตถบารมี...

อนึ่ง ครั้นพระองค์ทรงออกบวชแล้ว ก็มีบริวารผู้จงรักภักดีออกบวชตามอีกจำนวนมาก ซึ่งอาจก่อให้เกิดธุระและภาระอื่นๆ ตามมา... และเมื่อนำชาดกเรื่องนี้มาเปรียบเทียบการออกบวชของฟ้าชายสิทธัตถะ ที่ทรงหนีออกมาในกลางคืน อาจเห็นได้ว่า การหนีออกมาบวชนี้ ทำให้ตัดปริโพธคือความกังวลในเรื่องต่างๆ ได้ง่ายกว่าและสะดวกกว่าการประกาศในท่ามกลางประชุมชุน... ซึ่งประเด็นนี้ อาจพิจารณาเป็นการลองผิดลองถูกของพระโพธิสัตว์ ในการบำเพ็ญเนกขัมมบารมีก็เป็นได้ และขอฝากประเด็นนี้ไว้เป็นข้อคิดสำหรับผู้สนใจด้วย...


สำหรับคนทั่วไป การออกบวชในชาติหน้า แม้จะไม่ได้บรรลุความเป็นพระอรหันต์หรือไม่สามารถหลุดพ้นได้ ก็ถือว่าเป็นการส้องเสพนิรามิสสุข ซึ่งเป็นสุขที่ไม่อิงอาศัยอามิส คือรูปรสกลิ่นเสียงหรือกามรมณ์ แต่อิงอาศัยความสุขสงบทางด้านจิตใจ นี้จัดเป็นประโยชน์ในชาตินี้... การออกบวชเพียงชั่วคราวหรือตลอดชีวิตทำนองนี้ จัดว่าเป็นการบำเพ็ญบารมีซึ่งจะติดตามไปในขันธสันดานของเรา และนี้จัดว่าเป็นประโยชน์ในชาติหน้าหรือชาติต่อๆไป ครั้นบารมีเต็มเปี่ยมหลุดพ้นจากอาสวกิเลส ก็จัดว่าเป็นประโยชน์สูงสุดนั่นเอง

อีกอย่างหนึ่ง เนกขัมมะ หรือการออกบวชนี้ มิใช่ว่าจะบวชเป็นพระ-เณรเท่านั้น แม้ชาวบ้านทั่วไปที่มานุ่งขาวหุ่มขาวประพฤติปฏิบัติตามแบบอย่างนักบวช แม้เพียงชั่วคราวก็จัดเป็นเนกขัมมบารมีเช่นเดียวกัน เพียงแต่กำลังของบารมีอาจอ่อนกว่าเท่านั้น...

หมายเลขบันทึก: 279265เขียนเมื่อ 23 กรกฎาคม 2009 08:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 21:52 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท