เหตุใดบ้านจึงเป็นที่พึ่งพิงสุดท้ายของทุกคนได้เสมอ?


"คนไทยเรายังใช้คำว่า กลับบ้านเก่า ในวาระสุดท้ายแห่งชีวิตด้วย หลายคนก่อนกลับบ้านเก่าก็ยังสั่งเสียลูกหลานญาติพี่น้องว่า ขอกลับไปตายที่บ้าน"

ในบันทึกก่อนหน้านี้เรื่อง กลับบ้านเรากันเถอะ มีน้องคนหนึ่งเขียนความเห็นที่ทำให้ผมนึกถึงหนังสือเรื่อง รากฐานแห่งชีวิต ที่ผมเขียนเมื่อปี 2535 ในนั้นมีตอนหนึ่งเกี่ยวกับบ้าน เมื่อนำความคิดที่เคยเขียนมาเขียนตอบน้องคนนั้นไปแล้ว เห็นว่าควรยกมาเป็นอีกบันทึกหนึ่ง จึงคัดลอกมาเป็นบันทึกใหม่ ดังข้อความข้างล่างครับ

อ่าน comment ผึ้งแล้วเลยคลิกเข้า Youtube ไปฟังเพลง Perhaps Love ที่ http://www.youtube.com/watch?v=jufQm1P7lDs&NR=1

ฟังเสร็จแล้วก็เกิดความคิดว่า กลับถึงบ้านแล้วอย่าลืมพูดคำว่า "Home sweet home" พูดแล้วก็ทำตามที่พูดด้วย อย่าให้เป็น home bitter home

ความจริง คำว่า "บ้าน" ยังมีความหมายทางวัฒนธรรมมากมาย เช่น ช่วงสงกรานต์ที่รถราในกรุงเทพฯ เบาบางลงไปจนถนนหนทางว่างไปหมด ก็เพราะการ "กลับบ้าน" ของคนชนบทที่มาทำงานในเมืองกรุง

"บ้าน" จึงเป็นอะไรที่มี "ความหมาย" ในสังคมไทยมากเหลือเกิน

"บ้าน" เป็นที่เกิด ที่ฟูมฟักรักษาเราให้เติบโตขึ้นมา พอใครพูดว่ากลับไปเยี่ยมบ้าน เรามักจะถามว่ากลับไปว่า ไป "เยี่ยมแม่" เหรอ

"บ้าน" จึงมีความหมายถึงความเป็น "ครอบครัว" ที่มีพ่อ-แม่-พี่-น้อง-ปู่-ย่า-ตา-ยาย-ญาติโก-โหติกา-มิตร-สหายบรรดามีที่นับถือว่าเป็นญาติกันแม้ไม่ได้ร่วมสายเลือด

"บ้าน" ยังมีความหมายที่กว้างขึ้นมาอีกสำหรับคนชนบท หมายถึง "หมู่บ้าน" คำว่าหมู่บ้านเป็นภาษาทางการ ภาษาเขียน แต่ในภาษาพูด ไม่มีใครพูดคำว่า หมู่บ้าน มีแต่พูดว่าเขาเป็นคน "บ้าน" ไหนเท่านั้น เช่น "ผมมาจากบ้านหนองหมาว้อ"

"บ้าน" ยังมีความหมายในแง่ที่เป็นที่พักพิงแหล่งสุดท้ายสำหรับคนที่ "จนตรอก" ไม่มีที่ไปด้วย ("...in those times of trouble...") ไม่ว่าจะทำความผิด กระทั่งพลาดพลั้งไปทำร้ายคนอื่น ถูกเจ้าหน้าที่บ้านเมืองไล่จับ หนีหัวซุนหัวซุนมา เราจะ "คิดถึงบ้าน" สามารถกลับ "บ้าน" อันเป็นที่ที่เราวางใจว่า ณ ที่นั้นเราจะได้รับความรัก ความเมตตา การให้อภัย ได้รับการเชื้อเชิญให้เข้า "บ้าน" ให้อ้อมกอดที่อบอุ่น ให้ข้าวกิน ให้น้ำดื่ม ที่หลับที่นอน แก่เราเสมอ จากผู้ที่มีความรักความเมตตาต่อเราอย่างไม่มีเงื่อนไข (พระท่านสอนว่าบิดามารดาคือ "พรหม" ของลูก เพราะท่านมีคุณสมบัติของพรหมครบทั้งสี่อย่าง)

คนชนบทจำนวนมากขณะนี้ที่เผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ถูกออกจากงาน หมดทางไป ก็พากัน "กลับบ้าน" กลับไปสู่ที่ที่เขารู้ดีว่าเป็นที่พึ่งพิงสุดท้ายได้เสมอ เพราะที่นี่มีความรักให้เขาเสมอ ด้วยเหตุนี้ The memory of love will bring you home เสมอ

คนไทยเรายังใช้คำว่า "กลับบ้านเก่า" ในวาระสุดท้ายแห่งชีวิตด้วย หลายคนก่อนกลับบ้านเก่าก็ยังสั่งเสียลูกหลานญาติพี่น้องว่า "ขอกลับไปตายที่บ้าน"

"บ้าน" จึงเป็นอะไรที่มีความหมายมากที่สุดอย่างหนึ่งในชีวิตเรา

บ้านคือพื้นที่ที่เรา "คุ้นเคย" เรารู้ทุกรายละเอียด เราสัมผัสได้ถึงความปลอดภัยเมื่ออยู่ในบ้าน ความอบอุ่นที่เราเคยได้รับตั้งแต่เยาว์วัย

แล้วเหตุไฉน พวกเราที่เดินทางไกลออกจากบ้านกันมายาวนาน จึงไม่หมั่นกลับมาเยี่ยม "บ้าน" ของเราบ้าง

สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์
๒๒ ก.ค. ๒๕๕๒

 

หมายเลขบันทึก: 279014เขียนเมื่อ 22 กรกฎาคม 2009 11:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 08:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)
  • อ่านแล้วคิดถึงเพลง
  • Take me home country road ครับ
  • อาจารย์สบายดีไหมครับ

หลายคนสนใจเรื่องไกลตัว ลืมความอบอุ่นที่บ้านค่ะ

  • สบายดีครับ อ.ขจิต อาจารย์ก็คงสบายดีนะครับ
  • เห็นด้วยครับกับคุณนงนาท

อ.ขจิต ครับ ผมเคยเขียนถึงเพลง Take me home, country roads ด้วยครับ ที่ http://gotoknow.org/blog/inspiring/266869

พี่เชษฐค่ะ  Home sweet home วันนี้บ้านเงียบมากเลยค่ะ สาวน้อยที่มีอยู่คนเดียวไปเรียนในรั้วสีชมพูแล้วค่ะ

สวัสดีน้อง P ดาวลูกไก่ ชื่นชมยินดี
เมื่อ พ. 22 ก.ค. 2552 @ 13:39

เรียนอยู่คณะไหนครับ เป็นคณะเดิมของเราหรือเปล่า
ลูกพี่คนเล็กก็เรียนอยู่รั้วสีชมพูเหมือนกัน คณะสัตวแพทย์

สาวน้อยเรียนบัญชี คณะพาณิชย์ฯ ค่ะ  เลือกไว้อันดับแรก แต่ยังมีเลือกนิเทศฯอันดับสาม(ตามใจแม่) มาชวนพี่ไปอ่านวีรกรรมแม่ค่ะ ภารกิจพรากผู้เยาว์ >>ตกหอ ร้อนถึง(ญาติ)ผู้ใหญ่ >> เมื่อลูกรักหลุดอาการ...โฮมซิก! (มาเป็นชุดเลยนะคะ)

คิดถึงโต๊ะกินข้าวที่บ้าน คิดถึงเสือลายบนหลังคา คิดถึงเตียงนุ่มๆที่คุ้นเคย....

ส่วนตัวแล้ว ...พบว่า บ้าน ในตัวเอง สำคัญสุด เลย

ต้องกลับบ้านนี้ อันเป็นตัวแทน พุทธะในใจได้

ก็กลับได้ทุกบ้าน อย่างมีความสุขได้

ไม่งั้น มันแปลกแยก ไปหมด

สวัสดีคะ อาจารย์ขยัน เขียนนั่นนี่มา ให้ได้อ่าน ดีจังคะ

ครับ เวลาผมอยู่กับบ้านได้อย่างสงบ ผมมองออกไปนอกหน้าต่าง เห็นผู้คนเคลื่อนไหวไปมา รักสามัคคีกันบ้าง โกรธเกลียดขัดแย้งกันบ้าง ได้ความรู้สึกเหมือนดูละคร หรือจะว่าไป กรอบหน้าต่างสี่เหลี่ยมนั้นเปรียบเหมือนจอทีวีก็ได้

ในกรอบหน้าต่างบานนั้น ทุกแอ็คผ่านมาและก็ผ่านไป บางคนไม่เห็นหน้า(รูป - กาย)เขานาน ผ่านมาอีกทีดูแก่ลงไปอีกโขเลย มีคู่หนึ่งเมื่อวานนี้โกรธทะเลาะกันเสียงดัง (อารมณ์ - ใจ) วันนี้เห็นคุยกันหนุงหนิง อีกคนเดินผ่านบอกว่าจะไปพักผ่อนชายทะเล ขากลับผ่านมาอีกทีบอกใหม่ว่าไปภูเขาดีกว่า (ความคิด - หัว)

ยิ่งพิจารณายิ่งเห็นชัดว่าไม่มีกาย ใจ(อารมณ์-ความรู้สึก) และหัว(ความคิด) ของใครเลยที่ไม่เปลี่ยนแปลง (อนิจจัง)

กายเราวันนี้ก็คนละกายกับเมื่อวาน นี่ยังไม่นับเมื่อเดือนที่แล้ว ปีที่แล้ว หรือเมื่อเรายังเด็ก เราก็ไม่ได้อยู่ในกายนี้

อารมณ์ยิ่งเปลี่ยนเร็วใหญ่ วันหนึ่งยังเปลี่ยนไปได้ตั้งหลายอารมณ์ มาแล้วไปจริงๆ เพียงแต่ขณะมันกำลังเกิด เราไม่ไหวทันว่าเดี๋ยวมันก็ไป หรือพรุ่งนี้ก็ไป ถ้าใครจมอยู่กับอารมณ์บางอย่างนานเกินไป ร่างกายก็รับไม่ได้ ต้องป่วยหรือมีอันเป็นไปบางอย่าง

ความคิดก็เปลี่ยน หัวเรานี่ร้ายสุด อย่าว่าแต่วันเดียวเลย แค่นาทีเดียวยังเปลี่ยนไปได้ตั้งหลายเรื่อง

เมื่อเป็นดังนี้ เหตุใดเราจึงไม่ปล่อยวาง...

สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์
๙ พ.ย.๕๒

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท