การจัดการความรู้ในภาคเอกชน ตอน 1


การบริหารจัดการองค์กรและการจัดการความรู้ (23)

ภาคเอกชนเป็นภาคที่มีวัตถุประสงค์และเป้าหมายชัดเจน ได้แก่ การบริหารกิจการให้เกิดผลกำไรหรือประโยชน์ของผู้ถือหุ้นสูงสุดในระยะยาว เพื่อให้กิจการดำรงอยู่ได้ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งและขีดความสามารถการขางขันอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้กิจการหรือสินค้าและบริการของตนมีความโดดเด่นแตกต่างหรือมีต้นทุนต่ำกว่าคู่แข่งขัน จะดำเนินการได้ปัจจัยที่สำคัญหนึ่งคือ ใช้ความรู้ความสามารถของคนในองค์กรนั้นๆ สร้างความเข้มแข็งของกิจการดังกล่าวได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน การจัดการความรู้ในภาคเอกชนจึงเป็นสิ่งที่เห็นผลได้ชัดเจน มีการใช้การจัดการความรู้อย่างหลากหลายที่ระบุได้ชัดเจนหรืออาจจะเนียนอยู่ในเนื้องานนั้นๆ ที่ภาคเอกชนดำเนินการมานานแล้วแต่มิได้เรียกว่า การจัดการความรู้อย่างในปัจจุบัน

บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG

บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG เป็นบริษัทที่ได้รับการยกย่องในหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นองค์กรที่มีระบบบริหารจัดการและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างดีเยี่ยม โดยวางวิสัยทัศน์ว่า จะเป็นองค์กรแห่งนวัตกรรมด้วยบรรษัทภิบาลและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยอุดมการณ์ 4 ประการ ได้แก่ ตั้งมั่นในความเป็นธรรม เชื่อมั่นในคุณค่าของคน มุ่งมั่นในความเป็นเลิศ ถือมั่นในความรับผิดชอบต่อสังคม ยุทธศาสตร์การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ใช้ปรัชญาเชื่อมั่นในคุณค่าและศักยภาพของพนักงาน ให้ทำงานร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ด้วยบรรยากาศที่เปี่ยมด้วยพลัง สิ่งเหล่านี้พิสูจน์ได้ด้วยความเข้มแข็งของบริษัทที่เติบโตมาอย่างยาวนาน ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนได้แก่ เมื่อคราวที่เศรษฐกิจฟองสบู่แตก ยุคต้มยำกุ้ง ขณะที่องค์กรอื่นมีความสับสน โทษกันไปมาเพื่อหาคนผิด เครือปูนซิเมนต์ไทยกลับระดมพลังคนเก่งของตนเพื่อระดมความเห็นในการแก้วิกฤติการณ์ดังกล่าว ทำให้เครือปูนซิเมนต์ไทยกลับมามุ่งเน้นในธุรกิจที่ตัวเองชำนาญ ได้แก่ ซิเมนต์ เคมีภัณฑ์ กระดาษ ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จัดจำหน่ายและร่วมทุน กรอบความคิดในการพัฒนาองค์กร คือการมุ่งสู่องค์กรที่เติบโตอย่างยั่งยืนด้วยความสามารถทางการแข่งขันที่โดดเด่น  ด้วยการนำเสนอสินค้าและบริการที่มีคุณค่าสูง  การจัดบรรลุเป้าหมายได้ด้วยการสร้างองค์กรให้เป็นองค์กรแห่งนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยการปรับกระบวนทัศน์  สร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่  สนับสนุนด้านการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง  และการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้เครือซิเมนต์ไทยมีเทคโนโลยีและทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นของตนเองให้มากที่สุด  ด้วยการวางระบบพัฒนาบุคลากรเพื่อให้แสดงผลงานและความสามารถอย่างเต็มที่  ให้พนักงานเข้าใจทิศทางของบริษัท  มีเส้นทางความก้าวหน้าและอนาคตการทำงาน  สร้างบรรยากาศและส่งเสริมคุณภาพชีวิตในการทำงาน  จัดระบบรางวัลและการยกย่องชมเชย  เครื่องมือหนึ่งที่นำมาใช้ได้แก่ การจัดการความรู้  โดยใช้เพื่อการพัฒนาสมรรถนะของบุคลากร  โดยใช้หลักแสวงหา  แลกเปลี่ยน  จัดเก็บ และใช้  จากบุคลากรในฝ่ายปฏิบัติการต่างๆ  โดยแสวงหาและศึกษาบทเรียนความสำเร็จต่างๆ ใช้ระบบจัดเก็บที่เรียกว่า   Book Briefing  ตลอดจนถ่ายเป็นวีดีโอเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ด้วยระบบ E-learning  เผยแพร่ให้พนักงานทุกฝ่ายเข้าแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตลอดเวลา  จัดความเชื่อมโยงกับระบบบริหารผลงานการเสริมสร้างแรงจูงใจและเส้นทางความก้าวหน้าอีกด้วย  นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้บริษัทในเครือใช้ KM ได้อย่างทั่วถึง ที่โดดเด่นแห่งหนึ่ง ได้แก่ บริษัทปูนซิเมนต์ไทยที่แก่งคอย โดยคุณทวีสิน ฉัตรเฉลิมวิทย์ ผู้จัดการการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน ในขณะนั้น ได้ใช้ KM เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยการพัฒนาบุคลากรที่แก่งคอยได้อย่างดีเยี่ยม  ปัจจัยความสำเร็จของเครือซิเมนต์ไทยได้แก่  ผู้นำที่มีนโยบายชัดเจน  มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ และปฏิบัติเป็นแบบอย่างที่ดี  มีระบบการให้รางวัลผลตอบแทนที่ชัดเจน  เป็นระบบ  ตลอดจนมีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสนับสนุนที่ดี

ภาพกรอบความคิดพัฒนาอย่างยั่งยืนของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ที่ใช้การจัดการความรู้เป็นเครื่องมือด้วย

บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)

บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เป็นองค์กรชั้นนำที่ดำเนินการธุรกิจปิโตรเลียมของประเทศเพื่อสนองตอบต่อความต้องการด้วยคุณภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ค่านิยมที่สำคัญคือ การเรียนรู้เพื่อพัฒนา สร้างสรรค์ทีมงาน สร้างจิตสำนึกในหน้าที่ ภักดีต่อองค์กรและมุ่งเป็นองค์กรที่เน้นคุณภาพ ทำให้ได้รับรางวัลจากผลการดำเนินงานที่ดีมาอย่างต่อเนื่อง เบื้องหลังความสำเร็จคือการที่บริษัทมุ่งเน้นการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ที่สนองตอบต่อการเปลี่ยนแปลงและการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งบริษัทเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่ทำให้องค์กรอยู่รอดตลอดขึ้นอยู่กับคนและคุณภาพของคนในองค์นั้น ๆ เป็นสำคัญ  บริษัทใช้การจัดการความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของพนักงานให้เป็นผู้เรียนรู้และมีความเป็นเลิศในการปฏิบัติงาน โดยใช้รูปแบบการจัดเก็บ จัดการ และเผยแพร่ความรู้ ตลอดจนการสื่อสารกับบุคคลและทีมงานโดยใช้เทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัย สร้างชุมชนนักปฏิบัติตามกลุ่มวิชาชีพต่างๆ ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างสม่ำเสมอ ภายใต้การสนับสนุนของผู้บริหารระดับสูง การมีกลไกการสื่อสารได้หลายทางตลอดจนระบบการยกย่องชมเชยและเสริมสร้างแรงจูงใจทำให้บริษัทรวมทั้งบริษัทในเครือมีผลการดำเนินงานโดดเด่นอย่างต่อเนื่อง

บริษัท เอ็นโอเค พรีซิชั่น คอมโพเนนท์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ NOK

บริษัท เอ็นโอเค พรีซิชั่น คอมโพเนนท์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ NOK เป็นบริษัทที่ผลิตส่วนประกอบฮาร์ดดิสไดรพ์ และชิ้นส่วนอิเลกทรอนิคส์ยานยนต์ ที่ได้รับการส่งเสริมจาก BOI ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นบริษัทที่ร่วมทุนกับประเทศญี่ปุ่น ภายใต้วิสัยทัศน์เป็นบริษัทชั้นนำระดับโลกในการผลิตชิ้นส่วนอิเลกทรอนิคส์ที่มีความเที่ยงตรงสูง มีนโยบายชัดเจนที่จะปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กรด้วยการให้พนักงาน 1) กล่าวคำทักทาย แต่งกายเรียบร้อย และตรงต่อเวลา 2) ความปลอดภัยต้องมาก่อน 3) รักษาความสะอาด และพร้อมใช้งานด้วยหลักการ 5ส. 4) ใฝ่ใจในการเรียนรู้ 5) เปิดใจกว้าง มองโลกในแง่ดี และตอบสนองอย่างว่องไว 6) ทำงานเป็นทีม ด้วยการประสานใจเป็นหนึ่งเดียว 7) ข่าวสารข้อมูลต้องแบ่งปันและทันสมัย 8) ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด 9) แก้ปัญหาโดยค้นหาความจริงจากสถานที่นั้น 10) คิดสร้างสรรค์ ขยันพัฒนา ก้าวหน้าในทางเดียวกัน จากวัฒนธรรมที่เรียบง่าย บนพื้นฐานมุ่งเน้นคุณภาพและการเพิ่มผลผลิต ภายใต้คำขวัญว่า วินัยคือปัจจัยแห่งคุณภาพ บริษัทได้ใช้การจัดการความรู้เพื่อสนับสนุนกิจกรรมคุณภาพต่างๆ ได้อย่างได้ผล เช่น  กิจกรรม 5ส., ไคเซ็น, Zero Accident โดยใช้กิจกรรมแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ผ่านกิจกรรมที่เรียกว่า Small Group Activity โดยการส่งเสริมให้พนักงานทุกคน ทุกตำแหน่ง มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมย่อยต่างๆ  เพื่อส่งเสริมการทำงานเป็นทีม  มีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง  ส่งเสริมกระบวนการถ่ายทอดความรู้และพัฒนาความรู้ของทีมและกลุ่มอยู่เสมอโดยผู้บริหารเป็นแบบอย่างให้กับพนักงานทุก ๆ คน และส่งเสริมให้มีบรรยากาศการจัดการความรู้ในบริษัท เช่น  จัดระบบคอมพิวเตอร์  Internet  และ Intranet ตลอดจนห้องสมุดอย่างพอเพียง  ให้พนักงานได้ศึกษาเรียนรู้  นอกจากนี้บริษัทมีนโยบายให้องค์กรภายนอกมาศึกษาดูงานถือว่าเป็นแรงกระตุ้นให้พนักงานเกิดการตื่นตัวในการพัฒนาตนเองและองค์กรอยู่ตลอดเวลา  ซึ่งบริษัทเองยอมรับว่าให้ความสำคัญกับความรู้แบบชัดแจ้งมานานทั้งที่ความรู้แบบฝังลึกมีอยู่ในองค์กร  จึงสร้างกระบวนการผ่านกิจกรรมเพื่อให้ความรู้ไหลเวียนก่อให้เกิดความรู้ใหม่กับคนในองค์กร  ส่งผลให้องค์กรประสบความสำเร็จได้รับรางวัลต่าง ๆ อย่างมากมาย

ภาพแนวความคิดการจัดการความรู้ของ บริษัท เอ็นโอเค พรีซิชั่น คอมโพเนนท์ (ประเทศไทย) จำกัด

การบริหารจัดการองค์กรและการจัดการความรู้ (รวมบท)

การจัดการความรู้ในภาคเอกชน  ตอน 1  ตอน 2  ตอน 3

หมายเลขบันทึก: 278653เขียนเมื่อ 21 กรกฎาคม 2009 11:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ตามมาเรียนรู้ คุณเอื้อแห่ง มอดินแดงครับ

ท่าน JJ

ข้อเขียนนี้เขียนมาตั้งแต่ต้นปี อาจจะมีข้อมูลใหม่กว่านี้ก็ได้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท