ภาพประกอบสารคดีเพื่อการประชาสัมพันธ์


ตัวอย่างสารคดีเพื่อการประชาสัมพันธ์ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อเสนอข่าวสารและข้อเท็จจริง เช่น

เวิลด์โฟน 1800 ดิจิตอล ร่วมด้วยช่วยกันแฟมิลี่แรลลี่

 

เชื่อว่าสังคมคนกรุงเทพฯ โดยเฉพาะสังคมมนุษย์ย่อมเต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย ทางออกที่ดีทางหนึ่งคือหาหนทางออกไปพักผ่อนหย่อนใจ บางคนไม่อยากเดินทางไกลก็อาจเที่ยวพักผ่อนตามศูนย์การค้า สวนสัตว์ สวนลุม สวนสยาม และอีกหลาย ๆ สวนที่พอจะเดินทางใกล้ ๆ

อีกกลุ่มหนึ่งก็อาจเลือกที่จะเดินทางไปพักผ่อนตามทะเลชายหาดใกล้ ๆ กรุงเทพฯ แต่รูปแบบของการพักผ่อนของแต่ละคนก็แตกต่างกันไป ซึ่งเมื่อปลายปี 2541 บริษัท โทเทิ่ลแอ็คเซ็สคอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือแทคที่ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบเวิลด์โฟน 800 และเวิลด์โฟน 1800 ดิจิตอล จัดกิจกรรมท่องเที่ยวในรูปแบบแรลลี่ให้เฉพาะกับผู้ที่ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 2 ระบบนี้

โดยใช้ชื่อกิจกรรมนี้ว่า เวิลด์โฟน 1800 ดิจิตอล ร่วมด้วยช่วยกัน แฟมิลี่ แรลลี่ รายละเอียดของแรลลี่นี้ประชาสัมพันธ์สาวสวยของแทคแจ้งว่า เป็นแรลลี่ที่จัดทุกเดือน เดือนละครั้ง เดือนเมษายนนี้จะเป็นครั้งที่ 7 แล้ว โดยครั้งแรกจัดในเดือนตุลาคม 2541 ที่ผ่านมา และจะจัดต่อไปอีก 5 ครั้ง จนครบ 12 ครั้งในเดือนกันยายน 2542 ถือเป็นการสิ้นสุดกิจกรรมเวิล์ดโฟนแรลลี่

การแข่งแรลลี่ครั้งนี้เป็นการแข่งแรลลี่ที่เน้นความสนุกสนานมากกว่าการแข่งแพ้ชนะ เพราะไม่ได้นำคะแนนไปรวมกับแรลลี่ชิงแชมป์ประเภทสนามอื่น ๆ ดังนั้นสบายใจได้ว่าเป็นแรลลี่พักผ่อนจริง ๆ ทุกอย่างจะไม่ซีเรียส แต่สำหรับของรางวัลนั้น ประชาสัมพันธ์สาวสวยคนเดิมย้ำหนักย้ำหนาว่า คุ้มกับค่าสมัครคันละ 1,800 บาทจริง ๆ  และไม่เฉพาะสำหรับของรางวัลสำหรับการแข่งขันที่มากมายแล้ว ยังมีของว่าง ของแจก ของแถมมากมาย ที่ผู้ร่วมแข่งขันจะได้รับ ซึ่งก็รับรองได้ว่าจะต้องประทับใจแน่

สำหรับสถานที่ปล่อยรถนั้น เวิล์ดโฟน 1800 ดิจิตอล ร่วมด้วยช่วยกัน แฟมิลี่ แรลลี่ ใช้บริเวณของเซ็นทรัล ซิตี้ บางนา และไปสิ้นสุดการแข่งขันและพักผ่อนที่โรงแรมแอมบาสเดอร์ ซิตี้ จอมเทียน พัทยา โดยรางวัลจากการแข่งขันนั้น แทคแจ้งว่าจะมีทั้งหมด 15 อันดับ มีรางวัลให้กับผู้ชนะทั้ง 15 อันดับ เป็นการโทรฟรีจากโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบเวิล์ดโฟน 800 และเวิล์ดโฟน 1800 ดิจิตอล ตั้งแต่ 500 บาท จนถึง 10,000 บาท พร้อมถ้วยเกียรติยศ

และยังจะมีของรางวัลที่จะจับฉลากให้กับผู้เข้าร่วมการแข่งขันในงานเลี้ยงฉลองอีกมากมาย เช่น โทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบเวิล์ดโฟน 1800 ยางรถยนต์ Bridgestone ตั๋วเครื่องบินภายในประเทศ สายการบิน Angel Airline เครื่องใช้ไฟฟ้าเนชั่นแนล ผ้าเบรก Ferrado น้ำมันเครื่อง elf  บัตรที่พักโรงแรมในเครือเซ็นทรัล ฯลฯ ซึ่งแทคบอกว่าผู้ร่วมการแข่งขันจะต้องมีของติดไม้ติดมือกลับบ้านแน่นอน

นับเป็นการพักผ่อนที่คุ้มค่าทีเดียวกับเวลา 2 วัน 1 คืน กับเวิล์ดโฟน 1800 ร่วมด้วยช่วยกัน แฟมิลี่ แรลลี่ และยังพอมีเวลาสำหรับสมาชิกผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เวิล์ดโฟน 800 และเวิล์ดโฟน 1800 ที่จะได้ร่วมสนุกกันเช่นนี้ สำหรับรายละเอียดคงต้องไปสอบถามจากเวิล์ดโฟนที่สำนักงานบริการลูกค้าทั้ง 7 สาขา หรือที่เบอร์โทรจากมือถือทั้ง 2 ระบบ ที่เบอร์โทร1803 และ 1877 (คู่แข่ง, 2542, หน้า 12)

 

ภาพประกอบการเขียนสารคดีเพื่อการประชาสัมพันธ์

 

การเขียนสารคดี นอกจากจะต้องมีส่วนประกอบต่าง ๆ ตามที่กล่าวมาแล้วจนถึงภาพพจน์ ยังมีอีกสิ่งหนึ่ง คือ ภาพซึ่งนับว่าเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในการเขียนเพื่อเรียกร้องความสนใจจากผู้อ่าน ภาพจะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจข้อความที่อธิบายในเนื้อหา เช่น การเขียนสารคดีที่เกี่ยวกับวิธีทำอย่างไรสักอย่างหนึ่ง ถ้าจะมุ่งอธิบายเป็นตัวอักษรเพียงอย่างเดียว ผู้อ่านก็ยากที่จะเข้าใจ ฉะนั้น ถ้ามีการใช้ภาพประกอบคำอธิบายเป็นขั้นตอน ตามลำดับ จะทำให้ผู้อ่านที่คิดจะทดลองฝึกทำ เมื่ออ่านคำอธิบายแล้วดูภาพประกอบไปด้วย จะช่วยให้เข้าใจยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ภาพจะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจ และเชื่อถือในเรื่องที่บรรยาย การเขียนสารคดีถ้ามีแต่บรรยายเป็นตัวอักษรอย่างเดียวเหมือนกับขาดหลักฐานที่จะระบุความเป็นจริง ฉะนั้นถ้ามีภาพประกอบการบรรยาย นอกจากจะเป็นหลักฐานอ้างอิง ยังเป็นสื่อที่จะชวนให้เรื่องนั้นน่าอ่านน่าเชื่อถือว่าเป็นความจริงยิ่งขึ้น และภาพจะช่วยแนะนำบุคคล อาทิ ผู้เขียนประสงค์จะเขียนสดุดีบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่ได้สร้างคุณธรรมอันงดงามไว้ปรากฎเป็นที่เลื่องลือแก่คนทั่วไป ซึ่งผู้เขียนเห็นสมควรที่จะนำผลงานรายละเอียดที่เขาได้สร้างไว้มาเสนอต่อผู้อ่านเท่ากับเป็นการช่วยประกาศเกียรติคุณ ความดีของเขาให้แพร่หลายไปอีกด้วย แต่ถ้าจะบรรยายเป็นตัวอักษรโดยไม่มีภาพประกอบจะทำให้ผู้อ่านที่ไม่เคยเห็นบุคคลผู้นั้น นึกวาดภาพในมโนภาพไม่ออกว่าหน้าตาของเขาจะเป็นอย่างไร ฉะนั้น ถ้ามีภาพของบุคคลนั้นประกอบจะทำให้ผู้อ่านเข้าใจและซาบซึ้งเหมือนผู้เขียน

 

ประเภทของภาพประกอบการเขียนสารคดีเพื่อการประชาสัมพันธ์

 

สารคดีเพื่อการประชาสัมพันธ์ ควรมีภาพประกอบ เพื่อดึงดูดความสนใจผู้อ่าน ภาพที่นำมาประกอบในสารคดี แบ่งเป็น 2 ประเภท ใหญ่ ๆ (ยูร กมลเสรีรัตน์, 2541 หน้า 90) ได้แก่

 

1. ภาพถ่าย

 

ปัจจุบันเครื่องบันทึกภาพมีหลายอย่างหลายชนิด มีทั้งกล้องถ่ายภาพธรรมดาไปจนถึงกล้องถ่ายหรือบันทึกภาพเก็บการเคลื่อนไหวได้ทุกอิริยาบททั้งบนบกและใต้น้ำทะเล ฉะนั้น ผู้เขียนจึงสามารถจะบันทึกภาพที่ได้ไปพบเห็นโดยเฉพาะตอนที่ตรงกับส่วนสำคัญในเนื้อหาที่ประสงค์จะนำมาเสนอผู้อ่าน ภาพถ่ายนี้จึงนับได้ว่าใช้เป็นส่วนประกอบการเขียนได้ชัดเจนดี

 

2. ภาพวาดประกอบ

 

ในกรณีที่ผู้เขียน เขียนเกี่ยวกับเรื่องที่ถ่ายภาพไม่ได้ หรือหาภาพถ่ายไม่ได้ก็ต้องใช้วิธีวาดภาพขึ้นแทน หรือใช้การเขียนลายเส้นแทนภาพวาด ภาพลายเส้นหมายถึงภาพที่เขียนหรือวาดด้วยหมึกดำ หรือดินสอดำ ภาพลายเส้นมักจะเป็นภาพที่อธิบายเกี่ยวกับแผนภูมิการบริหารงานของหน่วยงาน หรือวาดสัดส่วนของรูปร่างเป็นเส้นๆ พอให้ทราบว่า เป็นภาพอะไร การเขียนสารคดีบางเรื่อง ผู้เขียนเกิดแรงบันดาลใจที่จะชักชวนผู้อ่านให้เห็นถึงสิ่งหรือเรื่องที่เป็นหน้าที่ของทุกคนในสังคมควรจะได้รับทราบและร่วมกันรักษาไว้ ก็อาจจะวาดเป็นภาพศิลป์ที่เกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ ประกอบเรื่องที่เขียน และถ้าต้องการอธิบายภาพ เพื่อเสริมให้ผู้อ่านเข้าใจภาพประกอบนั้นได้ดียิ่งขึ้น ก็สามารถที่จะเขียนคำบรรยายภาพที่นำมาประกอบเรื่องนั้น ๆ ได้ด้วย

สรุป

สารคดี คือ งานเขียนที่นำเสนอข้อมูลจากความจริงพร้อมหลักฐานอ้างอิงประกอบ มีการแทรกคารมให้ผู้อ่านได้รับทั้งสารประโยชน์ควบคู่ไปกับความรื่นรมย์ จุดมุ่งหมายของการเขียนสารคดีเพื่อการประชาสัมพันธ์ ได้แก่ เพื่อเสนอข่าวสาร เพื่อเสนอความคิดเห็น เพื่อให้ความรู้ เพื่อให้ข้อเท็จจริง และเพื่อให้ความเพลิดเพลิน

ลักษณะของสารคดีเพื่อการประชาสัมพันธ์มีลักษณะโครงสร้างแบบการเขียนเรียงความที่ประกอบขึ้นด้วย ความนำ เนื้อเรื่อง และสรุป ผู้เขียนสารคดีจะไม่พยายามโน้มน้าวผู้อ่าน แต่มุ่งให้ข่าวสารความรู้ที่เป็นสาระและความเพลิดเพลินแก่ผู้อ่าน ถึงแม้จะเขียนสารคดีหลังเหตุการณ์ไปบ้าง ก็ยังไม่ทำให้สารคดีนั้นหมดคุณค่า สารคดีหลายเรื่องถึงแม้เวลาจะผ่านไปนานแล้วก็ยังมีผู้สนใจนำมาอ่านอีก

สารคดีสามารถแบ่งประเภทตามลักษณะของเนื้อหาอย่างกว้าง ๆ ออกเป็น 3 ประเภท คือ สารคดีข่าว สารคดีสนองปุถุชนวิสัย และสารคดีทั่วไป

ขั้นตอนการเขียนสารคดีเพื่อการประชาสัมพันธ์ ได้แก่ การเตรียมตัว การลงมือเขียนเรื่อง การทบทวนเรื่องที่เขียน การตรวจทาน และการตั้งชื่อเรื่อง องค์ประกอบของสารคดีเพื่อการประชาสัมพันธ์ ประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ ได้แก่ ชื่อเรื่อง คำนำ เนื้อเรื่อง และสรุป ลักษณะชื่อเรื่องที่ดีควรมีสาระเด่นชัด บ่งบอกถึงบรรยากาศของเรื่อง ทิศทางหรือประเด็นสำคัญของเนื้อหา

สารคดีถ้าสามารถเขียนความนำได้ดีย่อมเชิญชวนให้ผู้อ่านติดตามอ่านเรื่องด้วยความตั้งใจ รูปแบบของความนำมีหลายแบบ เช่น ความนำแบบสรุปความสำคัญ ความนำด้วยการพรรณา ความนำที่เอ่ยถึงภูมิหลัง ความนำแบบคำถาม ความนำที่เป็นข่าว ความนำแบบคำกลอนหรือสุภาษิต ความนำแบบกระทบความรู้สึก ความนำแบบสนทนากับผู้อ่านโดยตรง และความนำแบบคำพูด

หลักการเขียนเนื้อเรื่องควรเขียนตามขั้นตอนดังนี้ ได้แก่ รวบรวมเนื้อหาที่ได้มาจากแหล่งข้อมูลให้พร้อม ใส่รายละเอียดตามข้อมูลที่ได้มา รายละเอียดในการเขียน การเขียนเนื้อเรื่อง และการอ้างอิงคำพูดหรือคำบอกเล่าอธิบาย

ความจบมีความสำคัญเช่นเดียวกับความนำ แต่ความจบทำหน้าที่สร้างความประทับใจให้กับผู้อ่าน การเขียนความจบมีหลายรูปแบบ เช่น จบแบบสรุปความ จบแบบประหลาดใจ จบแบบยกสุภาษิตคำคม จบแบบขอร้องและวิงวอน จบแบบตอบคำถาม จบแบบชี้ข้อที่น่าคิด จบแบบเชิญชวนเชิงแนะนำ จบแบบแสดงความรูสึกสะเทือนใจ และจบแบบฝากความคิดเห็น

ภาพ เป็นส่วนประกอบที่สำคัญในการเขียนเพื่อเรียกร้องความสนใจจากผู้อ่าน ภาพจะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจและซาบซึ้งในเนื้อหา ประเภทของภาพประกอบการเขียนสารคดีเพื่อการประชาสัมพันธ์ ได้แก่ ภายถ่าย และภาพวาด

 

คำสำคัญ (Tags): #การเขียน
หมายเลขบันทึก: 278615เขียนเมื่อ 21 กรกฎาคม 2009 08:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท