ตัวอย่างสารคดีเพื่อการประชาสัมพันธ์


สารคดีเพื่อการประชาสัมพันธ์ ให้ทั้งข่าวสาร ความรู้ และคำแนะนำ อีกทั้งยังได้รับความเพลิดเพลินในการอ่านด้วย

เรื่องหวาน ๆ ตัวการทำลายสุขภาพลูก

               

เมื่อลูกน้อยอายุ 1 ปีขึ้นไป เริ่มได้อาหาร 3 มื้อเหมือนผู้ใหญ่ บางคนจะเริ่มแสดงอาการเบื่อนม เนื่องจากอาหารอื่นมีรสชาติที่หลากหลายกว่า แต่เพราะนมเป็นอาหารเสริมที่มีคุณค่าทางโภชนาการสำหรับลูก คุณพ่อคุณแม่บางท่านจึงหาเทคนิคต่าง ๆ เชิญชวนให้ลูกกลับมาดื่มนมอีกครั้ง วิธีการหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่เลือกใช้ คือให้ลูกดื่มนมปรุงแต่งรสต่าง ๆ ตามชอบใจ เช่น นมปรุงแต่งรสหวาน น้ำผึ้ง ช็อกโกแลต สตรอเบอรี ฯลฯ ไม่ว่าจะเป็นการเติมลงไปในนมผงด้วยตัวของคุณพ่อคุณแม่เอง หรือแบบนมกล่อง UHT โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ว่า อาจมีผลต่อสุขภาพของลูก

โครงการสื่อสารเพื่อสุขภาพ  ได้ร่วมกับเครือข่ายคุณพ่อ คุณแม่ จากทั่วประเทศเชิญชวนคุณพ่อ คุณแม่ และผู้ปกครองของเด็กไทยทั่วประเทศร่วมกันรณรงค์ไม่กินหวาน ด้วยมีผลการวิจัยพบว่า คุณพ่อ คุณแม่ จำนวน 39.1 % ชงนมรสหวานน้ำผึ้งให้ลูกดื่ม เท่ากับให้เด็กกินน้ำตาลวันละเกือบ 9 ช้อนชา

นอกจากนี้ ผลการวิจัยจากกองทันตสาธารณสุข กรมอนามัยพบว่า นมหวานมีผลเสียต่อเด็กเล็กอย่างมากมาย ดังนี้

1. ฟันผุ  เด็กไทยฟันผุกันมากถึงร้อยละ 80 และที่น่าตกใจกว่านั้นคือ มีการสำรวจพบโรคฟันผุในเด็กอายุ 6 เดือน ซึ่งเป็นอายุของเด็กที่ฟันน้ำนมเพิ่งเริ่มขึ้น

2. โรคอ้วน กุมารแพทย์หลายท่านชี้ว่า เด็กที่ดื่มนมหวานมีแนวโน้มเป็นโรคอ้วน ซึ่งจะเป็นประตูนำไปสู่โรคร้ายหลายโรค อาทิ เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง โรคข้อเข่า โรคหายใจลำบาก เป็นต้น

3. ทำให้เด็กขาดสารอาหาร เด็กที่อมลูกอมทั้งวันมักจะไม่หิว เพราะได้พลังงานจากน้ำตาลในลูกอม จึงทานอาหารได้น้อย ทำให้ได้สารอาหารไม่ครบหมู่

ดังนั้นการซื้อนมหวานให้ลูกดื่ม อาจทำให้ลูกติดรสหวาน และมีแนวโน้มไม่ชอบกินผักผลไม้ รวมทั้งอาหารที่เป็นประโยชน์ เนื่องจากอาหารดังกล่าวรสไม่หวานเท่า เด็กบางคนติดรสมัน คล้ายที่ได้จากไขมันนมที่เขาชื่นชอบด้วย

สิ่งที่เด็กกลุ่มนี้เลือกกินคือ เค้ก ไอศกรีม ขนมหวาน น้ำอัดลม ฯลฯ มีการประมาณการว่า เด็กไทยจำนวนราว 15 ล้านคน เสียค่าขนมที่ไร้ประโยชน์เป็นมูลค่ามากถึงปีละ 1 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ดี เมื่อกลางปี 2548 ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศฉบับที่ 286 ห้ามเติมน้ำตาลลงในนมผงสูตรต่อเนื่อง (follow-on formula) สำหรับเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 3 ปี ซึ่งในเมืองไทยจะมีเด็กเล็กช่วงวัยดังกล่าวอยู่จำนวนกว่า 2 ล้านคน โดยมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2548 ที่ผ่านมา

ถึงกระนั้น เชื่อว่ามีเด็กจำนวนหนึ่งได้ติดรสหวาน และเริ่มมีแนวโน้มเป็นโรคอ้วนแล้ว จึงขอแนะนำผู้ปกครองถึงวิธีการจัดการ เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพที่จะเกิดขึ้นกับลูกน้อย ดังนี้

1. เลือกอาหารที่มีพลังงานต่ำ แต่ให้ประโยชน์สูงและอิ่มท้อง อาหารที่ควรให้เด็กกิน เช่น อาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต และไขมันต่ำ โปรตีนสูง วิตามินและเกลือแร่สูง เช่น เปลี่ยนจากกินข้าวสวยมาเป็นข้าวต้ม เนื้อสัตว์ที่ไม่มันจัด ผัก  และกินผลไม้เป็นอาหารว่างแทนของขบเขี้ยว

2. เลิกดูดขวด อาหารยังไม่มีน้ำตาลมากเท่ากับน้ำตาลที่มีอยู่ตามธรรมชาติในนมจืด และส่วนใหญ่เด็กที่ดูดนมจากขวด เด็กจะนอนดูด น้ำนมจะเต็มฟันอยู่ตลอดเวลาเป็นเหตุให้ฟันผุด้วย ถ้าเด็กอายุ 1 ปี มีน้ำหนักเกิน 20 กิโลกรัมขึ้นไป ควรให้เด็กดื่มนมพร่องมันเนยแทน วิธีซื้อนมผงพร่องมันเนย ให้สังเกตข้างกระป๋อง ซึ่งจะเขียนว่านมผงแปลงไขมันละลายทันที

3. ออกกำลังกายหรือพาออกไปทำกิจกรรม เพื่อไม่ให้เด็กว่างนึกถึงการกิน และนั่งอยู่หน้าจอโทรทัศน์ ที่ไม่เกิดการเผาผลาญพลังงาน

การควบคุมอาหาร ไม่ให้เด็กกินหวาน จะดีต่อสุขภาพของเด็ก เช่นเดียวกับตัวคุณพ่อและคุณแม่เองด้วย เพราะฉะนั้นมาร่วมเป็นครอบครัวสุขภาพดี ที่ไม่กินหวานกันเถอะ (บันทึกคุณแม่, 2549, หน้า 122 – 123)

ลักษณะของสารคดีเพื่อการประชาสัมพันธ์

 

ในที่นี้ จะอธิบายลักษณะของสารคดีเพื่อการประชาสัมพันธ์ โดยเปรียบเทียบกับลักษณะของบทความเพื่อการประชาสัมพันธ์ และข่าวแจก ดังนี้

สารคดีเพื่อการประชาสัมพันธ์และบทความเพื่อการประชาสัมพันธ์มีลักษณะคล้ายคลึงกันมากในเรื่องของโครงสร้างการเขียน กล่าวคือ มีโครงสร้างการเขียนแบบการเขียนเรียงความที่ประกอบขึ้นด้วย ความนำ เนื้อเรื่อง และสรุป

อย่างไรก็ตาม ในส่วนเนื้อหาของสารคดีเพื่อการประชาสัมพันธ์และบทความเพื่อการประชาสัมพันธ์นั้นจะแตกต่างกัน คือ สารคดีเพื่อการประชาสัมพันธ์มุ่งเสนอข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น หรือสถานการณ์ที่เป็นอยู่ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจของประชาชน ข้อมูลที่นำเสนอมาจากความเป็นจริง สามารถอ้างอิงได้ ผู้เขียนสารคดีเพื่อการประชาสัมพันธ์จึงต้องพินิจพิจารณาและกลั่นกรองข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อนำมาเสนอให้ประชาชนทราบ เพื่อจะให้ความกระจ่างในสิ่งที่ยังคลุมเครือ หรือยังไม่เป็นที่ทราบกันอย่างถูกต้อง

ส่วนบทความเพื่อการประชาสัมพันธ์จะมุ่งนำเสนอความคิดเห็นของผู้เขียนเกี่ยวกับข้อเท็จจริงและเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น โดยการให้เหตุผลร่วมไปด้วย รวมทั้งมีจุดประสงค์เพื่อโน้มน้าวใจผู้อ่านบทความ

มาลี บุญศิริพันธ์ (2539, หน้า 11) กล่าวว่า ผู้เขียนบทความมีเจตนาที่จะแสดงความคิดเห็นของตนเองต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ต้องการโน้มน้าวชักจูงความคิดและพฤติกรรมของผู้อ่านด้วย ส่วนผู้เขียนสารคดีจะไม่พยายามโน้มน้าวผู้อ่าน แต่มุ่งให้ข่าวสารความรู้ที่เป็นสาระและความเพลิดเพลินแก่ผู้อ่าน

และเมื่อเปรียบเทียบสารคดีเพื่อการประชาสัมพันธ์กับข่าวแจก จะเห็นว่างานเขียนทั้งสองประเภทมีความเหมือนกันในด้านลักษณะคำประพันธ์ที่เป็นร้อยแก้วและต่างก็นำเสนอลงในสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ แต่รูปแบบของการเขียน จุดมุ่งหมายในการนำเสนอ และอื่น ๆ อีกหลายประการมีความแตกต่างกัน คือ

เรื่องราวในสารคดีเพื่อการประชาสัมพันธ์ไม่จำเป็นต้องรีบนำเสนอผู้อ่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นสารคดีที่เขียนเนื่องมาจากข่าว จำเป็นที่จะต้องเขียนหลังข่าวแจกที่เสนอไปแล้ว เพราะสารคดีเป็นการนำเสนอสิ่งที่เป็นสาระ ความรู้ ความบันเทิง และรายละเอียดปลีกย่อย ซึ่งผู้เขียนข่าวแจกไม่สามารถนำเสนอบรรจุลงในข่าวแจกได้ การเขียนสารคดีเพื่อการประชาสัมพันธ์ถึงแม้จะเขียนหลังจากเหตุการณ์ไปบ้าง ก็ยังไม่ทำให้สารคดีเพื่อการประชาสัมพันธ์นั้นหมดคุณค่า

อย่างไรก็ตาม เมื่อการเขียนสารคดีมีเวลาค้นคว้าหาข้อมูลที่แท้จริง มีเวลากลั่นกรองในการเขียน ไม่จำกัดเวลาที่จะต้องรีบนำเสนอ ดังนั้น สารคดีเมื่อนำเสนอไปยังผู้อ่านจึงไม่ควรเกิดการผิดพลาด หรือถ้าหากจะมีบ้างก็ควรเป็นส่วนน้อย

นอกจากนี้ เมื่อสารคดีออกสู่สายตาประชาชนก็ไม่เลือนหายไปเหมือนข่าว เนื่องจากสารคดีจะทำให้ผู้อ่านได้ทราบข้อมูลข่าวสารที่แอบแฝงอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ ฉะนั้น สารคดีหลายเรื่องที่มีผู้เขียนไว้ ถึงแม้เวลาจะผ่านไปนานแล้ว ก็ยังมีผู้สนใจนำมาอ่านได้อีก

ยิ่งไปกว่านั้น สารคดีมุ่งตอบสนองในเรื่องที่ประชาชนควรรู้ในข้อเท็จจริงอย่างละเอียดต่อเนื่องเป็นสาระ ซึ่งอาจจะไม่ปรากฏในช่วงข่าวมาก่อน เป็นรายละเอียดปลีกย่อยที่จะช่วยเพิ่มความเข้าใจให้แก่ผู้อ่าน ฉะนั้น ผู้ที่อ่านข่าวมาแล้ว ยังมีความสงสัยไม่เข้าใจ เมื่อมาอ่านในสารคดีจะช่วยให้เกิดความเข้าใจเพิ่มขึ้น

 

  ประเภทของสารคดีเพื่อการประชาสัมพันธ์

 

นักวิชาการ ตลอดจนนักเขียนทั้งไทยและต่างประเทศได้แบ่งประเภทของสารคดีไว้ไม่เหมือนกัน ในที่นี้จะแบ่งตามลักษณะของเนื้อหาอย่างกว้าง ๆ ออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ (อวยพร พานิช และคณะ, 2543, หน้า 234 - 235)

 

1. สารคดีข่าว

 

     สารคดีข่าวที่นำมาใช้เพื่อการประชาสัมพันธ์จะเป็นเรื่องที่เขียนขึ้นเพื่อขยายความ หรือเสนอเบื้องหลังของข่าวแจกที่ได้เขียนไปแล้ว แต่เรื่องนั้นยังมีแง่มุมที่น่าสนใจในการนำเสนอหรือยังเป็นเรื่องที่กลุ่มประชาชนยังให้ความสนใจ ทั้งนี้ การส่งสารคดีข่าวให้แก่สื่อมวลชนเพื่อเผยแพร่ควรส่งหลังข่าวแจกในเรื่องที่เกี่ยวข้องได้เผยแพร่ออกไปแล้ว

 

2. สารคดีสนองปุถุชนวิสัย

 

     สารคดีสนองปุถุชนวิสัยเป็นสารคดีที่มีเนื้อหาสนองความอยากรู้อยากเห็นในทุกด้านของผู้อ่าน  เช่น เรื่องท่องเที่ยว กีฬา งานอดิเรก สงคราม อุบัติเหตุ ประเพณีวัฒนธรรมต่าง ๆ การทำขนม ตัดเย็บเสื้อผ้า การออกกำลังกาย เรื่องของบุคคล เด็ก สัตว์เลี้ยง การผจญภัย เป็นต้น

การนำสารคดีประเภทนี้มาใช้เพื่อการประชาสัมพันธ์ คือ การดึงดูดความสนใจกลุ่มเป้าหมายของหน่วยงาน องค์กร และสถาบัน ด้วยเรื่องราวเนื้อหาที่น่าสนใจ และเพื่อสร้างความบันเทิง ความเพลิดเพลินแก่ผู้อ่าน ซึ่งจะส่งผลต่อการเกิดความรู้สึกที่ดี ๆ ต่อหน่วยงาน องค์กร และสถาบัน

3.  สารคดีทั่วไป

 

  สารคดีทั่วไปเป็นการเขียนเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ นอกเหนือจากที่กล่าวแล้วในสารคดีข่าว และสารคดีสนองปุถุชนวิสัย กล่าวคือ ข้อเท็จจริงในเรื่องใด ๆ ก็ตามสามารถดึงมาเขียนเป็นสารคดีได้ทั้งสิ้น ในการเขียนสารคดีเพื่อการประชาสัมพันธ์ นักประชาสัมพันธ์จะต้องสามารถดึงเอาข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์กับหน่วยงาน องค์กร และสถาบันมาเขียน ด้วยโวหารและภาพพจน์ที่ก่อให้เกิดอรรถรสอันจะทำให้ผู้อ่าน โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายของหน่วยงาน องค์กร และสถาบันติดตามเรื่องราวต่าง ๆ ตามประสงค์ของผู้เขียน

ไม่ว่าผู้เขียนจะเขียนสารคดีประเภทใดก็ตาม ผู้เขียนจะต้องมีข้อมูลอย่างถูกต้อง ให้ความเป็นธรรม ปราศจากอคติลำเอียง แล้วนำเอาสิ่งที่เป็นสาระมาเขียน เพื่อก่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ รวมทั้งความบันเทิงแก่ผู้อ่าน

 

 

คำสำคัญ (Tags): #การเขียน
หมายเลขบันทึก: 278612เขียนเมื่อ 21 กรกฎาคม 2009 08:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 03:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ให้ความรู้ได้ดีมากเลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท