ขั้นตอนการเขียนสารคดีเพื่อการประชาสัมพันธ์


การเขียนสารคดีเพื่อการประชาสัมพันธ์ จะแตกต่างจากการเขียนสารคดีทั่วไป ตรงที่ผู้เขียนจะต้องตระหนักถึงจุดมุ่งหมายของการเขียนสารคดีในครั้งนั้นเสมอว่า กำลังเขียนเพื่อการประชาสัมพันธ์ ไม่ใช่เขียนเพื่อให้ความบันเทิงแบบสารคดีทั่วไป ดังนั้นนอกจากการคำนึงถึงจุดมุ่งหมายเพื่อการประชาสัมพันธ์แล้ว ยังต้องวิเคราะห์ด้วยว่าใครคือกลุ่มผู้อ่าน ซึ่งเป็นเป้าหมายของการประชาสัมพันธ์ในครั้งนั้น ผู้เขียนจึงควรเริ่มต้นการเขียนตามขั้นตอน (ถวัลย์ มาศจรัส, 2544, หน้า 111-114) ต่อไปนี้

 

1.      กำหนดจุดมุ่งหมายของการเขียนเพื่อการประชาสัมพันธ์

 

     ในบทที่ 2 ได้กล่าวไว้แล้วว่าจุดมุ่งหมายของการเขียนเพื่อการประชาสัมพันธ์ มี 6 ประการ ได้แก่ การเขียนเพื่อบอกกล่าวให้ทราบ การเขียนเพื่อให้ประชาชนเกิดการยอมรับ การเขียนเพื่อป้องกันและแก้ไขความเข้าใจผิด การเขียนเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดี การเขียนเพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดี และการเขียนเพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางการตลาด ดังนั้น ผู้เขียนสารคดีเพื่อการประชาสัมพันธ์จะต้องกำหนดจุดมุ่งหมายของการเขียนเพื่อการประชาสัมพันธ์ก่อนว่า การเขียนสารคดีในครั้งนี้จะเป็นการเขียนเพื่อรองรับและสนับสนุนจุดมุ่งหมายของการประชาสัมพันธ์ตามข้อใดใน 6 ข้อข้างต้น ดังตัวอย่างสารคดีเรื่อง คุณค่าอ่อนละมุนจากดอกคาโมไมล์ ในหน้าถัดไป ที่เป็นการเขียนเพื่อบอกกล่าวให้ทราบ รวมทั้งเขียนเพื่อให้เกิดการยอมรับ และสนับสนุนกิจกรรมทางการตลาดไปพร้อมกัน

คุณค่าอ่อนละมุนจากดอก  Chamomile

 

สารสกัดอ่อนโยนจากดอก  Chamomile  มีสรรพคุณมากมายต่อผิวและเส้นผมทั้งของคุณและลูกน้อย

คุณรู้ไหมว่าเจ้าดอกไม้สีขาวดอกเล็ก ๆ  ที่มีเกสารสีเหลืองสดใสนี้มีประโยชน์ต่อร่างกายของเราอย่างคาดไม่ถึงทีเดียว  ดอก Chamomile  เมื่อนำไปสกัดจะได้น้ำมันหมอซึ่งมีคุณสมบัติบำรุงผิวพรรณ  ช่วยให้ผิวที่แห้งแตก  กลับมาชุ่มชื่นมีชีวิตชีวาได้  โดยนำน้ำมันจากดอก Chamomile  นี้ไปทำเป็นโลชั่น  ครีมบำรุงผิว  สบู่หรือครีมอาบน้ำ  หากคุณแม่คนไหนมีปัญหาผิวแห้ง  หรือแม้แต่ลูกน้อยมีผิวแห้งทำให้เกิดผดผื่นคัน  ลองหาผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของดอก Chamomile มาใช้ดูสิคะ  ผิวของคุณและลูกจะชุ่มชื่นในเวลาอันรวดเร็ว  และข้อดีอีกอย่างหนึ่งของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ก็คือ  ไม่ระคายเคืองต่อผิวอ่อนบางค่ะ

ประโยชน์อ่อนละมุนของดอก Chamomile  มิได้มีเพียงแค่นี้  เพราะสารสกัดจากดอกไม้ชนิดนี้ยังนำไปทำเป็นยาสระผม  ช่วยให้เส้นผมไม่แห้งแตกปลายด้วยยาสระผมที่มีส่วนผสมของดอก Chamomile จะช่วยฟื้นฟูเส้นผมที่แห้งเสีย  และอ่อนโยนต่อเส้นผมของเจ้าตัวเล็กเป็นอย่างดี

บางคนที่ชื่นชอบในกลิ่นหอมละมุนของดอกไม้  ก็สามารถนำ Chamomile  ไปเป็นส่วนผสมในการบำบัดแบบAromatherapy  ได้ด้วย  ซึ่งจะช่วยคลายเครียด  เพราะจากการวิจัยในต่างประเทศเกี่ยวกับการบำบัดแบบ Aromatherapy  ยังพบว่า  หากนำ  Chamomile ไปผสมกับดอกไม้หรือพืชอื่น ๆ  เช่น  กุหลาบ  โรสแมรี่  เบอร์กามอต  ชินเนมอน ฯลฯ  จะช่วยรักษาผิวแห้ง  ผมแห้ง  ปากแตก  บรรเทาการเจ็บแผลและรอยฟกช้ำ

ทุกวันนี้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของ Chamomile  หาได้ไม่ยากค่ะ  หากคุณแม่มีปัญหาดังที่กล่าวมา  ลองหาผลิตภัณฑ์เหล่านี้มาใช้กับคุณและลูกรักสิคะ  เพื่อคุณทั้งครอบครัวจะได้มีผิวที่นุ่มละมุนเหมือนดอก  Chamomile  อย่างพร้อมหน้ากัน...ด้วยความปรารถนาดีจาก คัสสัน เบบี้ นัชชัวรัล อารมณ์ดีอย่างเป็นธรรมชาติ (รักลูก, 2546, หน้า 10)

  

2.  วิเคราะห์และกำหนดกลุ่มผู้อ่านเป้าหมาย

 

   เป็นขั้นไตร่ตรองก่อนจะลงมือเขียนอย่างละเอียดรอบคอบว่าต้องการให้ใครเป็นผู้อ่าน เป็นการวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย เพื่อจะได้เลือกใช้วัจนภาษาและอวัจนภาษา ตลอดจนสำนวนโวหารให้เหมาะสมกับกลุ่มผู้อ่านเป้าหมาย เช่น ตัวอย่างสารคดีเรื่อง คุณค่าอ่อนละมุนจากดอกคาโมไมล์ (รักลูก, 2546, หน้า 10) กลุ่มผู้อ่านเป้าหมายคือบรรดาคุณแม่ที่มีลูกเล็ก ๆ ซึ่งหากวิเคราะห์ตามกลุ่มเป้าหมายของสื่อหรือนิตยสารรักลูก ก็จะเป็นกลุ่มสตรีที่มีบุตรอายุตั้งแต่แรกเกิดถึงหกปี ดังนั้นระดับภาษาที่ใช้จึงเป็นแบบกันเอง  เน้นบรรยายโวหารและพรรณนาโวหารเป็นหลัก เป็นต้น

 

3. วิเคราะห์และกำหนดเนื้อหาสาระรวมทั้งจุดมุ่งหมายของสารคดี

 

     ในขั้นตอนนี้เป็นการวิเคราะห์เพื่อกำหนดขอบข่ายเนื้อหาว่าน่าจะบรรจุอะไรลงไปในเนื้อเรื่องที่เขียนบ้าง และหลังจากทราบแล้วว่าจะมีเนื้อหาสาระอะไรบ้าง ให้กำหนดจุดมุ่งหมายเฉพาะลงไปอีกชั้นหนึ่งว่าจะให้ผู้อ่านรับรู้เรื่องราวในแง่มุมใดเป็นพิเศษ เช่น ต้องการจะให้ข่าวสารและข้อเท็จจริง หรือต้องการจะสอดแทรกความคิดเห็นและให้คำแนะนำ หรือต้องการจะเน้นที่การให้ความรู้ หรือต้องการจะให้ผู้อ่านได้รับความเพลิดเพลินจากการอ่านเป็นหลัก เป็นต้น

 

4.  กำหนดรูปแบบและวิธีประเมินความเข้าใจ

 

   ในขั้นตอนนี้เป็นการแสวงหากลวิธีในการเขียน เพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายเฉพาะที่กำหนดไว้ โดยลองประเมินว่าหลังจากผู้อ่านอ่านจบแล้ว ผู้อ่านจะเปลี่ยนแปลงไปตามจุดมุ่งหมายเฉพาะที่ผู้เขียนตั้งไว้หรือไม่ เช่น ถ้าผู้เขียนต้องการให้ความรู้แก่ผู้อ่าน เมื่อผู้อ่านอ่านจบก็ควรจะได้รับความรู้ ในทางตรงกันข้าม ถ้าผู้อ่านอ่านจบแล้วไม่ได้รับความรู้ตามที่ผู้เขียนตั้งใจ ย่อมแสดงให้เห็นว่าผู้เขียนควรจะปรับรูปแบบและวิธีการเขียน หรือแสวงหากลวิธีในการเขียนใหม่ เป็นต้น

 

5.  กำหนดวิธีการ แนวทางการนำเสนอเนื้อหา และแหล่งข้อมูลสนับสนุน 

 

 ในขั้นตอนนี้เป็นการนำข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์ทั้งหมดจากขั้นที่ 1 – 4 มาจัดทำโครงเรื่องและกำหนดโครงสร้างก่อนจะลงมือเขียนจริง รวมทั้งมีการเตรียมพร้อมสำหรับรายละเอียดทั้งหมดที่จะใช้ประกอบการเขียน เพราะในขณะที่เขียนอาจจะต้องใช้ข้อมูลเพิ่มเติม จึงต้องกำหนดแหล่งข้อมูลไว้ในขั้นนี้ด้วย

6.  การยกร่างต้นฉบับ

 

 ขั้นนี้เป็นขั้นการลงมือเขียน เป็นวิธีการทำงานอย่างหนึ่ง ซึ่งในการยกร่างการเขียนนี้อาจจะเป็นเรื่องของการกำหนดเวลาในการเขียนว่า จะเขียนตอนไหน ใช้เวลากี่วัน เป็นต้น และหลังจากที่ได้ยกร่างต้นฉบับเสร็จแล้ว ก็ควรกลับไปทบทวนขั้นตอนในขั้นที่ 4 ถ้ามีสิ่งใดบกพร่องก็ปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น ก่อนที่จะนำต้นฉบับไปเผยแพร่

 

7.      การทดสอบต้นฉบับ

 

ขั้นนี้เป็นการตรวจสอบคุณภาพการเขียนของงานที่เขียนเสร็จแล้ว โดยให้เพื่อนร่วมงาน หรือคนที่เราคุ้นเคยได้อ่าน และถ้าเป็นไปได้ หากาสามารถหาคนอ่านที่มีลักษณะใกล้เคียงกับผู้อ่านเป้าหมายให้ได้อ่านก่อน เพื่อวิพากษ์วิจารณ์ผลงานก็จะช่วยให้ผู้เขียนได้มีโอกาสปรับปรุงต้นฉบับดังที่จะกล่าวในขั้นต่อไป

 

8.      การเผยแพร่ต้นฉบับ

 

ขั้นนี้เป็นขั้นสุดท้ายของการทำงานหลังจากเขียนจบแล้ว ได้รับฟังการวิพากษ์วิจารณ์แล้ว  และปรับปรุงต้นฉบับแล้ว ก็สามารถนำออกเผยแพร่ตามสื่อและช่องทางการสื่อสารที่เหมาะสม

คำสำคัญ (Tags): #การเขียน
หมายเลขบันทึก: 278613เขียนเมื่อ 21 กรกฎาคม 2009 08:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 16:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท