องค์ประกอบของสารคดีเพื่อการประชาสัมพันธ์


โครงสร้างของการเขียนเชิงสาระเกือบทุกชนิด ประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ ดังนี้ (เปลื้อง ณ นคร, 2516, หน้า 15 - 17) 

1. ชื่อเรื่อง

ชื่อเรื่อง เป็นข้อความอันดับแรกที่กระทบสายตาผู้อ่าน เปรียบเสมือนผู้ที่ไปเดินเลือกซื้อผ้า สิ่งที่จะกระทบหรือสะดุดสายตาความรู้สึกของผู้ซื้อให้สนใจก่อน คือสีสันและลวดลาย ต่อไปจึงเป็นเนื้อผ้า โครงสร้างรูปแบบเสื้อและราคา  ฉะนั้นถ้าจะนำมาเปรียบกับชื่อเรื่อง สีสันและลวดลายเท่ากับชื่อเรื่อง คอปกปกเสื้อเท่ากับความนำ เนื้อผ้าและขนาดตัวเสื้อเท่ากับเนื้อเรื่องและปริมาณความยาวสั้นของเรื่อง  ราคาก็คือความจบนั่นเอง ถ้าราคาแพงเกินไปเท่ากับความจบไม่ดี ผู้ซื้อก็หมดความสนใจ ถ้าสีสันลวดลายไม่สะดุดตาผู้ซื้อก็ไม่สนใจอีก ฉะนั้นชื่อเรื่องจึงนับว่าสำคัญมากในการดึงดูดสายตาผู้อ่านให้เกิดความสนใจก่อนอย่างอื่น

การตั้งชื่อเรื่องอาจกระทำก่อนที่จะลงมือเขียน หรือเขียนจนจบแล้วจึงจะตั้งชื่อเรื่อง หรือเขียนไปจนใกล้จะจบเรื่องจึงนึกชื่อตั้งขึ้นมาได้ก็มี

มาลี บุญศิริพันธ์ (2539, หน้า 65) ได้อธิบายถึงลักษณะชื่อเรื่องที่ดีว่าชื่อเรื่องที่ดีควรมีสาระเด่นชัด บ่งบอกถึงลักษณะบรรยากาศของเรื่องอย่างชัดเจน สามารถกำหนดทิศทางขอบข่ายประเด็นสำคัญของเนื้อหาอย่างแน่นอนทันที

ลักษณะเด่นชัดของชื่อเรื่องที่นิยมกันมาก คือ เหมาะสมกับสาระและกาลเทศะ แปลกใหม่ เฉียบคม จำง่ายและไม่เยิ่นเย้อ ครอบคลุมเนื้อหาสำคัญของเรื่อง แนวการตั้งชื่อเรื่องมีมากมายหลายแบบ เช่น ตั้งชื่อเรื่องให้สัมพันธ์กับเรื่อง  ตั้งชื่อเรื่องให้แปลกและเด่น ตั้งชื่อเรื่องโดยใช้ภาษาง่าย ๆ และข้อความไม่ยาวเกินไป ตั้งชื่อเรื่องตามจุดมุ่งหมายสำคัญของเรื่อง ตั้งชื่อเรื่องให้เกิดความสงสัย ตั้งชื่อเรื่องจากความรู้สึกที่ประทับใจ ตั้งชื่อเรื่องโดยใช้วิธีเล่นคำเล่นอักษร เล่นสัมผัส ตั้งชื่อเรื่องแบบเร้าความสนใจ ตั้งชื่อเรื่องเป็นนามธรรม ตั้งชื่อเรื่องตามสถานที่สำคัญ ตั้งชื่อเรื่องตามเกียรติประวัติของบุคคลในเรื่อง ตั้งชื่อเรื่องตามประสบการณ์ของผู้เขียน ตั้งชื่อเรื่องตามเหตุการณ์สำคัญที่เคยเกิดขึ้น ตั้งชื่อเรื่องประเภทใคร ประเภทอะไร ประเภทที่ไหน ประเภทเมื่อไร ประเภททำไม ชื่อเรื่องประเภทอย่างไร

กล่าวโดยสรุป ไม่ว่าจะเป็นการเขียนสารคดีหรืองานเขียนใด ๆ และไม่ว่าจะตั้งชื่อเรื่องแบบใด ไม่ควรตั้งชื่อเรื่องให้ซ้ำกับงานเขียนของคนอื่น รวมทั้งควรตั้งชื่อเรื่องให้น่าสนใจ และตั้งชื่อเรื่องอย่างพิถีพิถัน เนื่องจากหากเนื้อเรื่องดีแต่ชื่อเรื่องไม่ดี ก็จะไม่สามารถดึงดูดความสนใจผู้อ่าน

 

2.  คำนำ หรือ ความนำ

 

  คำนำ หรือความนำ คือ การเริ่มต้นเรื่องโดยการเกริ่นให้ผู้อ่านทราบว่าเรื่องที่จะเขียนนั้นเกี่ยวกับเรื่องอะไร เป็นการเสนอทรรศนะอย่างกว้าง ๆ ไว้ก่อน ไม่ต้องอธิบายอย่างละเอียด และไม่ต้องเขียนยาวมากนัก มีเพียงย่อหน้าเดียว ควรมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความสนใจแก่ผู้อ่านให้ได้ทราบข้อมูล เรื่องที่น่ารู้และน่าสนใจ

การเขียนสารคดีเพื่อการประชาสัมพันธ์จะสร้างความดึงดูดใจและความพอใจในความรู้สึกของผู้อ่านได้มากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับความสามารถในการเขียนความนำ ซึ่งสำคัญมาก เพราะถ้าผู้อ่านอ่านความนำจบลงไปแล้วรู้สึกสนใจ ก็จะอ่านเรื่องต่อด้วยความตั้งใจ แต่ถ้าอ่านแล้วไม่สนใจก็อาจจะอ่านเนื้อหาต่อไปอย่างผิวเผิน ฉะนั้นถ้าผู้เขียนสารคดีเพื่อการประชาสัมพันธ์สามารถเขียนความนำได้ดีย่อมเชิญชวนให้ผู้อ่านติดตามอ่านเรื่องด้วยความตั้งใจ

รูปแบบในการเขียนความนำมีหลายแบบ อยู่ที่ผู้เขียนเห็นควรจะใช้วิธีเขียนแบบใดจึงจะเหมาะสมกับเรื่องที่ตนจะเขียนแบบของการเขียนความนำในสารคดี เท่าที่อ่านพบนิยมเขียนกันมีหลายแบบ (สิริทิพย์ ขันสุวรรณ, 2543, หน้า 31 – 34 ) อาทิ

2.1 ความนำแบบรวมยอด ความนำแบบรวบยอดหรือจะเรียกว่าแบบสรุปความสำคัญก็ได้ ความนำแบบนี้ผู้เขียนจะสรุปประเด็นเฉพาะใจความสำคัญของเรื่องโดยย่อในความนำก่อน แล้วจึงเขียนบรรยายเกี่ยวกับรายละเอียดในตอนเนื้อเรื่อง ซึ่งความนำแบบนี้เรียกในภาษาอังกฤษว่า summary lead

ตัวอย่างของความนำแบบรวบยอด เช่น โปรตีนในนมแพะกับนมวัวจะแตกต่างกัน เพราะว่ามาจากสัตว์คนละประเภท โดยเฉพาะคุณสมบัติหรือรายละเอียดของโปรตีน ลักษณะของโปรตีนในนมแพะนั้นจะมีโปรตีนที่ใกล้เคียงกับนมแม่มากกว่านมวัว(บันทึกคุณแม่, 2550, หน้า 16)

2.1 ความนำด้วยการพรรณนา  ความนำแบบนี้นิยมเขียนในสารคดีประเภทท่องเที่ยวหรือบรรยายบุคลิกลักษณะที่น่าสนใจของบุคคล สถานที่ และสิ่งแวดล้อม เป็นการเขียนพรรณนาเพื่อดึงอารมณ์ผู้อ่านให้เกิดจินตนาการคล้อยตามจนอยากอ่านรายละเอียดที่จะมีในเนื้อเรื่องตามมา การเขียนความนำแบบนี้ภาษาอังกฤษเรียกว่า แบบ description หรือ descriptive lead

2.3 ความนำที่เอ่ยถึงพื้นฐานความหลัง (ภูมิหลัง) หมายถึงการเขียนความนำแบบเอาเรื่องเดิมที่เคยเป็นที่สนใจของผู้คนในสังคม ซึ่งได้ยกเลิกไปชั่วระยะหนึ่ง จะด้วยกรณีใดก็ตาม แต่แล้วเรื่องนั้นได้ถูกนำมากลับคืนมาสู่สายตาประชาชนใหม่อีก ความนำแบบนี้ในภาษาอังกฤษเรียกว่า แบบ background lead

2.4 ความนำแบบคำถาม  ความนำแบบนี้ผู้เขียนจะตั้งเป็นคำถามขึ้นมาก่อนให้ผู้อ่านคิดตั้งแต่ต้น คำถามนั้นต้องมีความสำคัญพอที่จะสร้างความสนใจให้เกิดขึ้นแก่ผู้อ่านให้นึกอยากทราบคำตอบ การเขียนความนำในสารคดีบางเรื่องอาจจะตั้งต้นด้วยคำถามได้แทนที่จะอธิบายหรือบรรยายหรือพรรณนาอย่างเดียว ในขณะเดียวกันการเขียนความนำแบบนี้ ผู้เขียนจะนิยมถามแล้วตอบด้วย แต่ตอบด้วยความเพียงสั้น ๆ ไม่ชัดเจนเป็นการเชิญชวนผู้อ่านว่า ถ้าอยากทราบคำตอบให้ละเอียดก็ต้องอ่านเนื้อเรื่องด้วย ทำนองนั้นความนำแบบนี้ภาษาอังกฤษเรียกว่า แบบ question lead

ตัวอย่างของความนำแบบคำถาม เช่น ดีมั้ย? ถ้าสมองเท่าเดิม...แต่จำได้มากขึ้น คุณพ่อคุณแม่รู้มั้ย...เจ้าตัวเล็กของเราเรียนรู้และจดจำได้อย่างไร กระบวนการเรียนรู้และจดจำของลูกน้อยเกิดจากการรับ - ส่งข้อมูลของเซลล์สมองและวงจรประสาท สารอาหารที่จำเป็นสำหรับกระบวนการนี้คือโคลีน(บันทึกคุณแม่, 2549, หน้า 15)

2.5 ความนำที่เป็นข่าว ความนำแบบนี้เป็นความนำที่เขียนเพื่อเสนอข่าวสารให้ผู้อ่านรับทราบ ได้เคยกล่าวมาแล้วว่า สารคดีสามารถที่จะเสนอข่าวสารเหตุการณ์ที่ผ่านไปนานแล้วได้ ทั้งนี้อยู่ที่ผู้เขียนจะหยิบยกเอาประเด็นใดที่คิดว่าเขียนแล้วจะทำให้ผู้อ่านเข้าใจชัดเจนกว่าเมื่อครั้งอ่านข่าวสดของเรื่องนั้น ความนำแบบนี้จะเขียนเกี่ยวกับข่าวอะไรก็ได้เช่นข่าวเกี่ยวกับการเมืองในต่างประเทศที่ยังวุ่นว่าย ข่าวเกี่ยวกับวันครบรอบเหตุการณ์สำคัญข่าวเกี่ยวกับวันครบรอบวันเกิดหรือข่าวเกี่ยวกับการมรณกรรมของบุคคลสำคัญ เป็นต้น การเขียนความนำแบบนี้เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า newspeg

2.6 ความนำแบบคำกลอนหรือสุภาษิต ความนำแบบนี้ผู้เขียนจะยกเอาคำกลอนหรือสุภาษิตมาเขียนแทนการบรรยายหรือพรรณนาทั่วไป การใช้คำกลอนหรือสุภาษิตในการเขียนความนำ เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่สะดุดตาผู้อ่าน โดยเฉพาะนักอ่านที่มีนิสัยชอบอ่านชอบแต่งคำประพันธ์ประเภทร้อยกรอง การเขียนความนำแบบนี้ ถ้าผู้เขียนเลือกสรรคำที่ไพเราะมีความหมายลึกซึ้ง

2.7 ความนำแบบกระทบความรู้สึกหรือกระทบใจ ความนำแบบนี้ใช้คำขึ้นต้นที่กระทบใจผู้อ่านให้รู้สึกในทันทีว่า เรื่องต่อไปคงจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ฆาตกรรมอย่างแน่นอน ใครฆาตกรรมใคร และใครคือทูตมรณะ การเขียนแบบนี้จะใช้คำสั้นๆ ซ้ำๆ กัน เป็นคำที่มีน้ำหนักหรืออาจจะเป็นคำๆ เดียว แต่มีน้ำหนักก็ได้ความนำแบบนี้มักเป็นความนำของเรื่องที่ก่อให้เกิดความหวาดหวั่น น่ากลัว น่าสยดสยอง การเขียนความนำแบบนี้เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่าแบบ striking lead

2.8 ความนำแบบสนทนากับผู้อ่านหรือปราศรัยกับผู้อ่านโดยตรง ความนำแบบนี้ผู้เขียน จะใช้สรรพนามแทนตัวเอง และแทนตัวผู้ฟัง การเขียนแบบนี้ไม่ต้องใช้ข้อความยาวมาก แต่ให้สะดุดใจผู้อ่าน ใช้ภาษาเป็นกันเองกับผู้อ่านเหมือนกับเคยรู้จักกันมาก่อน และคล้ายกับมีผู้ฟังนั่งฟังอยู่ด้วย การเขียนความนำแบบนี้ภาษาอังกฤษเรียกว่า แบบ direct  address  lead

2.9 ความนำแบบคำพูด การเขียนความนำแบบนี้จะมีลักษณะเริ่มต้นด้วยคำพูดกับผู้อ่าน จะเป็นคำคมหรือคำพูดที่แสดงอารมณ์เป็นกันเองกับผู้อ่านก็ได้ แต่ต้องให้คำพูดนั้นมีใจความที่จะเกี่ยวข้องกับเนื้อหา ข้อความที่เขียนไม่ต้องยาวมาก พอให้ได้ใจความตรงกับจุดมุ่งหมายของการที่จะพูดเท่านั้น การเขียนความนำแบบนี้ภาษาอังกฤษเรียกว่า แบบ quotation  lead

 

3. เนื้อเรื่อง 

 

     เนื้อเรื่อง คือ การขยายเนื้อความให้ผู้อ่านได้ทราบข้อมูล รายละเอียด โดยอาจแทรกสถิติ ตัวอย่างประกอบ เพื่อความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น การเขียนเนื้อเรื่องจึงมีได้หลายย่อหน้า

วิธีการเขียนเนื้อเรื่องหรือเนื้อหาควรเขียนเพื่อให้เป็นไปตามลำดับ ไม่วกวน ไม่สับสน โดยมีขั้นตอนในการเขียน ดังนี้

3.1 รวบรวมเนื้อหาที่ได้มาจากแหล่งข้อมูลให้พร้อม คือ การรวบรวมข้อมูลที่ได้แสวงหาค้นคว้ามาพร้อมแล้วทุกอย่างมาจัดลำดับความคิด ดังนี้

3.1.1 ลำดับตามกาลเวลา หมายถึง การใช้เวลาก่อนหลังของเหตุการณ์มาจัดตามลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

3.1.2 ลำดับตามหลักฐาน หมายถึง ดำเนินเรื่องตามหลักฐานอ้างอิงตั้งแต่เริ่มแรกไปจนสุดท้าย

3.1.3 ลำดับตามความสำคัญจากมากไปหาน้อย หรือจากความสำคัญน้อยไปหามากก็ได้ แต่ถ้าเป็นแบบแรกจะดึงดูดความน่าสนใจของผู้อ่านในตอนต้นได้ดีกว่า

3.2 ใส่รายละเอียดตามข้อมูลที่ได้มา เมื่อได้โครงเรื่องดังข้อแรกแล้ว ขั้นต่อไปจึงนำมาเขียนใส่รายละเอียดเพิ่มเติมตามข้อมูลที่ได้มาก็จะได้เนื้อเรื่องตามลำดับไม่วกวนหรือสับสนทั้งผู้เขียนและผู้อ่าน

3.3 รายละเอียดในการเขียน ถ้าเขียนลงในสื่อสิ่งพิมพ์ การเขียนเนื้อหาจะต้องมีการบรรยายหรือพรรณนาให้ละเอียด เพื่อให้ผู้อ่านเกิดจินตภาพคล้อยตามในขณะที่อ่าน แต่ถ้าเขียนเป็นบทสารคดีเพื่อการประชาสัมพันธ์ทางสื่อวิทยุกระจายเสียง หรือวิทยุโทรทัศน์ การเขียนข้อความเนื้อหาจะต้องสั้นและกระชับ โดยมุ่งเขียนบรรยายเฉพาะใจความสำคัญของเรื่อง ส่วนรายละเอียดของเนื้อหาจะถูกสื่อสารด้วยเสียงและภาพประกอบให้ได้ยินและได้เห็นอยู่แล้ว ไม่ต้องบรรยายรายละเอียดทุกซอกทุกมุมเหมือนเขียนลงในสื่อสิ่งพิมพ์ จริงอยู่ถึงแม้ในสื่อสิ่งพิมพ์ก็มีภาพประกอบด้วย แต่เป็นภาพนิ่ง ไม่เคลื่อนไหวและมีชีวิตชีวาเหมือนของจริงเท่ากับที่ผู้รับสารได้เห็นทางวิทยุโทรทัศน์

3.4 การเขียนเนื้อเรื่อง นอกจากจะเขียนให้รายละเอียดแล้ว ถ้าสามารถเขียนเล่าเติมเสริมสร้างเกร็ดที่เป็นเรื่องราวเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ตำนาน นิทานประจำหมู่บ้าน คำบอกเล่าต่อ ๆ กัน มาของคนถิ่นนั้นที่เคยเล่าให้ฟัง ฯลฯ แทรกบ้างเพื่อเพิ่มความสนใจให้แก่ผู้อ่าน จะทำให้สารคดีเพื่อการประชาสัมพันธ์เรื่องนั้นน่าอ่านกว่าการมุ่งบรรยายเพียงอย่างเดียว แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับประเภทของสารคดีเรื่องนั้นด้วยว่าจะสามารถแทรกเกร็ดของเรื่องได้หรือไม่ หรือถ้าเนื้อเรื่องไม่เอื้ออำนวย ก็อาจจะใช้วิธีการเล่าให้พาดพิงถึงสิ่งที่จะทำให้เกิดอารมณ์ขันก็ได้

3.5 การอ้างอิงคำพูดหรือคำบอกเล่าอธิบาย การเขียนเนื้อหาถ้าจะมีแต่การบรรยาย การพรรณนา หรือมีเกร็ดเล็ก ๆ แทรกเท่านั้น อาจไม่พอที่จะดึงดูดความสนใจของผู้อ่านได้ ฉะนั้นถ้าเป็นไปได้ควรจะแทรกคำพูดที่เป็นคำสนทนาต่อกันของบุคคลในเรื่อง อาจจะเป็นคำพูดที่ไปสัมภาษณ์มา หรือคำพูดที่ผู้เขียนได้สอบถามจากผู้รู้ซึ่งร่วมอยู่ในเหตุการณ์ของเรื่องที่เขียน หรือผู้ร่วมไปเที่ยวไปทัศนศึกษาด้วยกันก็ได้ ประการสำคัญคำพูดนั้น จะต้องเป็นคำพูดที่ให้คุณค่าสาระแก่เนื้อเรื่องเพิ่มขึ้นด้วย ประโยคต่าง ๆ จากคำสนทนาในเรื่องจะเป็นข้ออ้างอิงที่ระบุแหล่งข้อมูลความเป็นจริงของเรื่องราวไปในตัวด้วย

 

4. สรุป

 

สรุป คือการเขียนข้อความในตอนท้ายของเรื่อง ผู้เขียนต้องใช้ศิลปะในการสร้างความประทับใจแก่ผู้อ่าน อาจใช้กลวิธี เช่น สรุปโดยการใช้สำนวน คำพังเพย หรือ คำคม หรือ ทิ้งท้ายด้วยคำถามที่น่าสนใจ การเขียนสรุปควรเป็นการสรุปอย่างสั้น ๆ เพียงหนึ่งถึงสองย่อหน้าเท่านั้น

การปิดเรื่องหรือความจบมักจะอยู่ย่อหน้าสุดท้ายของการเขียนเรื่อง และต้องขึ้นย่อหน้าใหม่ จะเขียนต่อรวมไปกับเนื้อหามิได้ เพราะจะกลายเป็นข้อความในเนื้อหาไป การเขียนความจบของสารคดีเพื่อการประชาสัมพันธ์ไม่นิยมการเขียนสรุปย่อทั้งเรื่อง แต่จะเป็นการเขียนสรุปแบบทิ้งท้ายเพื่อจะจบเรื่อง

ความจบมีความสำคัญเช่นเดียวกับความนำ แต่มีข้อแตกต่างกันในด้านหน้าที่ ความนำ ทำหน้าที่ดึงความสนใจจากผู้อ่านให้อยากอ่านเนื้อเรื่องรายละเอียดต่อไป แต่ความจบทำหน้าที่สร้างความประทับใจให้กับผู้อ่านในแง่ฝากข้อคิด หรือยั่วยุให้ผู้อ่านคิดต่อไปอีกภายหลังอ่านจบไปแล้ว และจะเป็นการจูงใจให้ผู้อ่านอยากติดตามอ่านเรื่องอื่นต่อไปที่มาจากการเขียนของนักเขียนผู้นั้นด้วย

การเขียนความจบมีหลายรูปแบบ ดังจะยกตัวอย่างเช่น

4.1 จบแบบสรุปความ การจบแบบสรุปความ คือ การเขียนความจบแบบสรุปประเด็นของเรื่องที่ได้บรรยายมาตั้งแต่ต้น หรือเท่ากับย้ำสาระสำคัญที่สุดของเรื่องมาเขียนให้ผู้อ่านเข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น

4.2 จบแบบประหลาดใจ การจบแบบประหลาดใจ หมายถึง การเขียนที่ขมวดเรื่องในตอนท้ายให้ผู้อ่านได้เห็นถึงความน่าประหลาดใจเกี่ยวกับชีวประวัติของบุคคลในเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบเรื่องซึ่งจะพบได้น้อยนักกับบุคคลอื่น ๆ

4.3 จบแบบยกสุภาษิต คำคม หรือคำประพันธ์ประเภทร้อยกรอง การเขียนความจบหรือปิดเรื่องเป็นสุภาษิต คำคม หรือคำประพันธ์ประเภทร้อยกรอง จะเป็นการเขียนเพื่อย้ำหรือสนับสนุนข้อเขียนในเนื้อหาให้ผู้อ่านเห็นถึงความสำคัญหรือคุณค่าอย่างเด่นชัด และยังเป็นการเขียนเพื่อสร้างความประทับใจให้แก่ผู้อ่านอีกแบบหนึ่งด้วย

ตัวอย่างการจบแบบยกสุภาษิต คำคม หรือคำประพันธ์ประเภทร้อยกรอง เช่น

4.4 จบแบบขอร้องและวิงวอน การเขียนความจบหรือปิดเรื่องแบบนี้ เนื่องมาจากผู้เขียนได้เล่าถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ตลอดจนความสำคัญ และความจำเป็นที่จะต้องกระทำแล้ว ในตอนจบผู้เขียนจึงถือโอกาสเสนอคำขอร้องวิงวอนต่อผู้อ่านในตอนปิดเรื่อง

4.5 จบแบบตอบคำถาม การเขียนความจบแบบนี้ คือ การเขียนแบบตั้งปัญหาหรือคำถามขึ้นก่อนในตอนความนำ ดังนั้นเมื่อถึงตอนจบ จึงต้องจบแบบตอบคำถามที่ตั้งไว้ในตอนความนำหรือเปิดเรื่อง เพื่อให้เรื่องราวมีความสัมพันธ์เกี่ยวโยงกันไปตามลำดับตั้งแต่ต้นจนจบ

4.6 จบแบบชี้ข้อที่น่าคิด การเขียนความจบแบบนี้เป็นการเขียนที่ผู้เขียนชี้ให้ผู้อ่านเห็นถึงจุดบกพร่องที่เกิดขึ้นตามเหตุการณ์ในเนื้อเรื่องมาตลอด เมื่อถึงตอนปิดเรื่อง จึงได้ชี้ข้อที่น่าคิดไว้กับผู้อ่านให้ไปคิดต่อเอาเองว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

4.7 จบแบบเชิญชวนเชิงแนะนำ การเขียนความจบหรือปิดเรื่องแบบนี้เป็นการเขียนแบบแสดงความมุ่งหมายจะเชิญชวนผู้อ่านให้ร่วมกระทำในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ที่จะเป็นผลดีต่อตัวผู้อ่านเอง หรือต่อองค์กร ต่อส่วนรวม เป็นต้น

4.8 จบแบบแสดงความรู้สึกสะเทือนใจ การเขียนความจบแบบนี้ คือ การเขียนที่มุ่งจะให้ผู้อ่านเข้าใจชัดเจนเกี่ยวกับการกระทำความดีของบุคคลในเรื่อง แต่กลับได้รับผลตอบแทนถึงขั้นสูญเสียชีวิตนำความโศกเศร้าให้แก่ครอบครัวและมิตรสหาย การเขียนปิดเรื่องแบบนี้เพื่อให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์สะเทือนใจและเห็นใจคล้อยตามความรู้สึกของผู้เขียน

4.9 จบแบบฝากความคิดเห็น การเขียนความจบหรือปิดเรื่องแบบนี้เป็นการเขียนหลังจากผู้เขียนได้บรรยายให้เห็นถึงความสำคัญของเรื่องเช่น เอกลักษณ์สิ่งหนึ่งของสังคมไทย ซึ่งนับวันจะเสื่อมสูญหมดไปในกาลข้างหน้าหากขาดผู้ร่วมกันอนุรักษ์ไว้ ผู้เขียนจึงเขียนฝากความคิดเห็นไว้ในตอนปิดเรื่องเพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจหรือหากมีโอกาสจะได้ช่วยกันอนุรักษ์และส่งเสริมเอกลักษณ์สิ่งนั้นไว้ด้วยวิธีการตามความคิดเห็นของผู้เขียน

นอกจากนี้ ในการเขียนความจบ ต้องใช้ดุลยพินิจพิจารณาว่าการเขียนความจบแบบใดจะเหมาะสมกับการเขียนสารคดีประเภทใด  และไม่ควรอธิบายหรือยกตัวอย่างเพิ่มเติมอีก ไม่ควรลงท้ายด้วยการใช้ถ้อยคำนำหน้าใจความว่า สรุปแล้ว ขอสรุปว่า ในที่สุด สุดท้ายนี้ การเขียนความจบจะต้องสัมพันธ์กับความนำและเนื้อหาด้วย จะได้กลมกลืนกันภายในเรื่อง เป็นการจบลงอย่างงดงามตามแบบการเขียนสารคดี

อนึ่ง หลักการเขียนคำนำ หรือความนำ เนื้อเรื่อง และสรุปของการเขียนทั้งสารคดีเพื่อการประชาสัมพันธ์ และบทความเพื่อการประชาสัมพันธ์สามารถนำมาใช้ร่วมกันได้ เพราะการเขียนทั้งสองประเภทมีโครงสร้างการเขียนเหมือนกัน แต่จะแตกต่างกันในประเด็นอื่น ดังกล่าวแล้ว

คำสำคัญ (Tags): #การเขียน
หมายเลขบันทึก: 278614เขียนเมื่อ 21 กรกฎาคม 2009 08:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 03:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท