เรื่องเล่าจากภาพ : การจัดการความเสี่ยง


โอกาสที่จะเกิดความผิดพลาด ความเสียหาย การรั่วไหล ความสูญเปล่า เหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งอาจเกิดขึ้นในอนาคต และมีผลกระทบ หรือทำให้การดำเนินงานไม่ประสบ ความสำเร็จตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายของชีวิต องค์กรในด้านต่างๆ

สวัสดีครับ

หลายวันก่อนทางผู้ประเมินคุณภาพการทำงานในโรงพยาบาล ซึ่งเป็นทีมของบุคลากรภายในคณะแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้มาตรวจเยี่ยมภาควิชารังสีวิทยา สิ่งหนึ่งที่ได้กล่าวถึง คือ การบริหารและจัดการความเสี่ยง ผมจึงหาภาพเกี่ยวกับความเสี่ยงจากแหล่งต่างๆแบบทั่วไปและที่ทางหน่วยงานของเราได้ดำเนินการไปแล้ว เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ครับ

ความสำคัญของการบริหารความเสี่ยง การบริหารความเสี่ยงเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการองค์กร เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยบอกให้ทราบว่าการดำเนินงานต่างๆเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายที่วางไว้อย่างมีแนวทางที่ดี เนื่องจากการบริหารความเสี่ยงเป็นการทำนายอนาคตอย่างมีเหตุมีผล มีหลักการ การการหาทางลดหรือป้องกันความเสียหายในการทำงานแต่ละขั้นตอนไว้ล่วงหน้า หรือในกรณีที่พบกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดมาก่อน 

การบริหารความเสี่ยงเป็นเรื่องส่วนรวมที่ทุกคนในองค์กรต้องเกี่ยวข้องร่วมมือกัน โดยการพิจารณา วิเคราะห์ในเชิงลึก เชิงแคบ แบบองค์รวมและเชื่อมโยงกับการกำหนดนโยบาย แผนงาน แผนปฏิบัติการหรือกิจกรรมขององค์กร ซึ่งการบริหารความเสี่ยงที่ดีจะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยบอกถึงความสามารถและการดำเนินงานของหน่วยงานและบุคลากรภายในองค์กรนั้นๆ

ความเสี่ยง (Risk) หมายถึง โอกาสที่จะเกิดความผิดพลาด ความเสียหาย การรั่วไหล ความสูญเปล่า หรือ เหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งอาจเกิดขึ้นในอนาคต และมีผลกระทบ หรือทำให้การดำเนินงานไม่ประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายของการดำรงชีวิตหรือองค์กรในด้านต่างๆ 

 

 

ความเสี่ยงจำแนกได้เป็น 4 ลักษณะ ดังนี้

Strategic Risk - ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องในระดับยุทธศาสตร์

 

Operational Risk - ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องในระดับปฏิบัติการ

 

Financial Risk - ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับด้านการเงิน

 

Hazard Risk - ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องในด้านความปลอดภัย จากอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน

 

การประเมินความเสี่ยง (Risk Assessment) หมายถึง กระบวนการระบุความเสี่ยง การวิเคราะห์ความเสี่ยง และจัดลำดับความเสี่ยง โดยการประเมินจากโอกาสที่จะเกิดและผลกระทบ

โอกาสที่จะเกิด (Likelihood) หมายถึง ความถี่หรือโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์ความเสี่ยง

ผลกระทบ (Impact) หมายถึง ขนาดความรุนแรงของความเสียหายที่จะเกิดขึ้นหากเกิดเหตุการณ์ความเสี่ยง

 

การบริหารความเสี่ยง (Risk Management) หมายถึง กระบวนการที่ใช้ในการบริหารจัดการให้โอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์ความเสี่ยงลดลง หรือ ผลกระทบของความเสียหายจากเหตุการณ์ความเสี่ยงลดลงอยู่ในระดับที่องค์กรยอมรับได้ ซึ่งการจัดการความเสี่ยงมีหลายวิธี เช่น

การยอมรับความเสี่ยง (Risk Acceptance) เป็นการยอมรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น เนื่องจากไม่คุ้มค่าในการจัดการควบคุมหรือป้องกันความเสี่ยง

การลด/การควบคุมความเสี่ยง (Risk Reduction) เป็นการปรับปรุงระบบการทำงานหรือการออกแบบวิธีการทำงานใหม่ เพื่อลดโอกาสที่จะเกิด หรือลดผลกระทบ ให้อยู่ในระดับที่องค์กรยอมรับได้

การกระจายความเสี่ยงหรือการโอนความเสี่ยง (Risk Sharing) เป็นการกระจายหรือถ่ายโอนความเสี่ยงให้ผู้อื่นช่วยแบ่งความรับผิดชอบไป

การหลีกเลี่ยงความเสี่ยง (Risk Avoidance) เป็นการจัดการกับความเสี่ยงที่อยู่ในระดับสูง และหน่วยงานไม่อาจยอมรับได้ จึงต้องตัดสินใจยกเลิกโครงการ/กิจกรรมนั้นไป

การบริหารจัดการความเสี่ยง(บางส่วน)ที่เกี่ยวข้องกับภาควิชารังสีวิทยา มีดังนี้

1.การลดความเสี่ยงจากการแพ้สารทึบรังสี : การจัดการความเสี่ยงของการตรวจพิเศษทางรังสีวินิจฉัยในผู้รับบริการที่ต้องฉีดสารทึบรังสี

 

ทางหน่วยได้จัดให้มีการคัดกรองผู้ป่วย 100% โดยรับฟังข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับประวัติการแพ้ยา แพ้อาหารทะเล ปัญหาสุขภาพของผู้รับบริการและได้ให้ข้อมูลที่สำคัญในการตรวจ

การให้สารน้ำ การดูแลผู้ป่วยก่อนและหลังการฉีดสารทึบรังสีแก่ผู้รับบริการ 

 

การเตรียมบุคลากรและเครื่องมือ อุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยเกิดอาการแพ้สารทึบรังสี เช่น อุปกรณ์ช่วยชีวิตฉุกเฉิน การให้ความรู้และฝึกซ้อมการกู้ชีพ การกำหนดขั้นตอนการช่วยเหลือ การจัดทีมสนับสนุน

 

การจัดเก็บสารทึบรังสีในอุณหภูมิที่เหมาะสม ปลอดจากรังสี และสะอาด

2.การลดความเสี่ยงจากการถ่ายภาพรังสีผู้รับบริการผิดคน 

โดยการปฏิบัติตามมาตรฐานวิชาชีพ มีการกำหนดขั้นตอนในการทำงานและการแนะนำการเตรียมตัวของผู้รับบริการที่ชัดเจน มีการตรวจสอบข้อมูลของประวัติผู้รับบริการก่อนถ่ายภาพรังสี

มีบุคลากรช่วยตรวจสอบข้อมูลภาพการตรวจ มากกว่า 1 คน

 

3.การลดความเสี่ยงจากการได้รับรังสี

จัดทำป้ายเตือนผู้รับบริการที่ตั้งครรภ์ ที่มีความเสี่ยงจากการได้รับรังสี

ตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือและแก้ไขข้อบกพร่อง เพื่อให้ใช้ปริมาณรังสีในการถ่ายภาพอย่างมีคุณภาพ ปลอดภัย (รวมถึงมีการสอนวิชาความรู้เหล่านี้ให้แก่นักศึกษาในหลักสูตรรังสีเทคนิค)

 

มีการจัดสร้างนวัตกรรม เพื่อใช้ในการป้องกันอันตรายจากรังสีแก่ผู้บริการและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เช่น ฉากกำบังรังสีจากวัสดุเหลือใช้หรือชำรุด อุปกรณ์ช่วยยึดจับเครื่องมือถ่ายภาพ

 

สรุป : จากที่กล่าวมาแล้ว ผมทราบว่าหลายหน่วยงานก็คงจัดทำเรื่องเกี่ยวกับการบริหารจัดการความเสี่ยงบ้างแล้ว สิ่งที่ผมนำเสนออาจเหมือน แตกต่างจากที่ท่านได้ทำ ก็ถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อการพัฒนาต่อไป

ความเสี่ยงภัย อันตราย การสูญเสีย เป็นสิ่งที่พวกเราไม่ต้องการให้เกิดขึ้นในชีวิตและหน่วยงาน สิ่งเหล่านี้บางอย่างป้องกันได้ แต่บางอย่างยากต่อป้องกัน คงต้องเรียนรู้ แลกเปลี่ยน บันทึก ศึกษาและร่วมมือกันต่อไป

การทำงานที่ใช้สติ ความรู้ ประสบการณ์ การวางแผน การจัดการที่ดี รวมถึงความไม่ประมาท เป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยลดความเสี่ยงได้... ครับ

 

หมายเลขบันทึก: 278399เขียนเมื่อ 20 กรกฎาคม 2009 15:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

จะพยายามทำงานให้ดีที่สุดและใช้สติมากที่สุดในการทำงาน

ขอบคุณสำหรับแนวทางในการปฏิงานรวมถึงข้อคิดดีๆๆนะค่ะ

เรียน คุณ Titi

สติมา ปัญญามี การทำงาน การใช้ชีวิต เราไม่อยากให้เกิดอันตรายกับใครเลย ทั้งผู้รับและผู้ให้ การวางแผนจัดการที่ดี เป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างหนึ่งสำหรับทีมงาน ครับ

เรียน อ.ต้อม นำวิธี แก้ ความเสี่ยงมาฝากครับ

เรียน อ.จิตเจริญ

สาธุ ... จะจำใส่สมองและใส่ใจ ไว้ ครับ

ขอบคุณ ท่านอาจารย์จิตเจริญ และอาจารย์เพชรากร

กระบวนการแม้ดีแล้ว แต่ผู้ปฏิบัติ ก็ต้องมีสติ

ดำเนินการอย่างมีสติ มีสมาธิในการทำงาน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท