brochill
วราวรรณ จันทรนุวงศ์(ศิริอุเทน)

ข้าวเจ้า..ไม่ใช่ข้าวไพร่


ข้าว

 

ข้าวเจ้าไม่ใช่ข้าวไพร่

 

        เพราะกินข้าวมาตั้งแต่เด็กๆ จนเคยชิน จึงไม่ค่อยมีความรู้เกี่ยวกับข้าวเลย..เมื่อมาได้อ่าน ข้าวปลาอาหารไทย ทำไม? มาจากไหน?” ของสุจิตต์ วงษ์เทศ จึงทำให้ทราบว่าเรื่องข้าวไม่ใช่เรื่องเล็กๆ มีช่วงหนึ่งสุจิตต์อธิบายว่า พันธุ์ข้าวยุคแรกๆมาจากป่ามีขึ้นทั่วไป มีเมล็ดอ้วนป้อมจัดเป็นตระกูลข้าวเหนียว ซึ่งเป็นต้นตระกูลแห่งข้าวเหนียวของภูมิภาคนี้ และอาจเกี่ยวข้องกับตระกูลข้าวของญี่ปุ่นด้วย  คนทุกเผ่าพันธุ์ในภูมิภาคอุษาอาคเนย์จึงกินข้าวป่ามาก่อน ซึ่งเป็นตระกูลข้าวเหนียว   เพราะพบแกลบข้าวเหนียวอยู่ในแผ่นอิฐตามศาสนสถานยุคทวารวดีทั่วประเทศไทย รวมทั้งลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา สุโขทัย นครปฐม ลงไปถึงนครศรีธรรมราช นอกจากนั้นนักโบราณคดีจากกรมศิลปากรยังขุดพบเมล็ดข้าวเหนียวที่หุงหรือนึ่งแล้วตกอยู่ในดินบริเวณศาลาโถงวัดมหาธาตุสุโขทัยอีกด้วย

        ที่สำคัญหนังสือเล่มนี้ยังระบุอีกว่า ราวพ.ศ.1500  มีพันธุ์ข้าวเมล็ดเรียวยาวจากอินเดียในตระกูลอินดิคา แพร่เข้ามาพร้อมกับพระสงฆ์ พราหมณ์ และพ่อค้าจากชมพูทวีป และเป็นที่นิยมก่อนในกลุ่มชนชั้นสูงของรัฐลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา จึงเรียกว่าข้าวเจ้า อันหมายถึงข้าวที่เจ้าเสวย หลังจากนั้นพันธุ์ข้าวชนิดนี้จึงแพร่กระจายทั่วไปในชุมชน หมู่บ้าน บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาสืบมาจนถึงข้าวหอมมะลิในปัจจุบัน ซึ่งอธิบายได้ว่า ข้าวเจ้าเป็นข้าวที่ชนชั้นสูงใช้บริโภคมาแต่ยุคก่อนๆ เพื่อให้แตกต่างจากชนชั้นต่ำ ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ชนชั้นหัวหน้าเผ่าพันธุ์จะต้องรับแบบแผนจากต่างประเทศ เช่น ลูกปัด ดวงตรา ที่ทำจากต่างประเทศในยุคโลหะ

        ครั้นเมื่อเริ่มรับแบบแผนจากอินเดีย ชนชั้นแบบแผนทางภาษาดังคำว่ากษัตริย์ แบบแผนทางระบบความเชื่อดังพุทธ พราหมณ์ และแบบแผนทางดนตรีในพิธีกรรมดังแตร สังข์ เป็นต้น เหตุนี้ เครื่องแต่งกายของกษัตริย์จึงแตกต่างออกไปดังเครื่องทรงแรกๆ ที่มักมีแบบแผนมาจากเปอร์เซียหรืออินเดีย นอกจากนั้นแบบแผนแกงใส่เครื่องเทศก็รับมาจากอินเดียเช่นกัน ส่วนประเภทแกงจืด น้ำใสๆ ร้อนๆ ผัดๆ มันๆ จึงน่าจะรับมาจากจีนซึ่งล้วนเหมาะสำหรับการกินกับข้าวเจ้า

    ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ข้าวเหนียวหรือข้าวนึ่งจึงหมดความสำคัญจากการเป็นอาหารหลักของผู้คนแถบภาคกลางและภาคใต้ เหลือไว้เพียงความทรงจำเก่าๆ เช่น ในพิธีกรรม การบวงสรวงบูชาบรรพบุรุษเท่านั้น ขณะที่อีกส่วนหนึ่งก็ลืมข้าวเหนียวหรือข้าวนึ่ง จนไม่เหลือร่องรอยและไม่อาจยอมรับได้ว่าบรรพบุรุษเคยกินข้าวเหนียวหรือข้าวนึ่งเป็นอาหารหลัก เพราะสังคมชนชั้นสูงของชาวสยาม  เหยียดข้าวเหนียวหรือข้าวนึ่งว่าเป็นข้าวไพร่ หรืออาหารของชนชั้นต่ำเสียแล้ว...   

 

จาก สาโรจน์ มณีรัตน์, หนังสือพิมพ์มติชน, วันอาทิตย์ที่ 27 เมษายน 2551

หมายเลขบันทึก: 278180เขียนเมื่อ 19 กรกฎาคม 2009 19:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤษภาคม 2012 13:11 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • ได้สาระดีคะ
  • มีเรื่องอื่นๆอีกนะคะ
  • จะรออ่านต่อไปคะ

อ่านแล้วได้ความรู้ดีมากเลยค่ะ

ยินดีค่ะ คงเป็นประโยชน์บ้างนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท