เทคนิคเชิงบวกเพื่อสร้างความสนใจในการเรียนรู้


เทคนิคเชิงบวกเพื่อสร้างความสนใจในการเรียนรู้

เทคนิคเชิงบวกเพื่อสร้างความสนใจในการเรียนรู้(ตอนที่2)

9. การส่งเสริมให้ผู้เรียนตั้งคำถามและมีส่วนร่วมในการเรียนรู้(Encourage students to ask questions and participate)

          ผู้สอนสามารถส่งเสริมให้ผู้เรียนรู้จักตั้งคำถามและมีส่วนร่วมในการเรียนรู้โดยใช้วิธีการ ดังนี้

                   1)สร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่สนุกสนานเป็นกันเองและน่าสนใจ

                   2)กระตุ้นให้ผู้เรียนตั้งคำถามและให้มีส่วนร่วมในการติดต่อสื่อสารอย่างเปิดเผยกับผู้สอนและเพื่อนร่วมชั้นเรียน

                   3)บอกผู้เรียนถึงผลการวิจัยที่มีผู้พบว่า การมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมในชั้นเรียนมีความสัมพันธ์อย่างสูงกับความสำเร็จในการเรียนรู้ ทั้งนี้เป็นผลมาจากความสำเร็จที่ผู้เรียนได้เรียนวิชานั้นเสร็จสิ้นอย่างสมบูรณ์(Leong and Petkova , 2003)

                   4)เตือนให้ผู้เรียนระลึกไว้ว่า การวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์และการให้ผลย้อนกลับทางลบ(negative feedback)จะช่วยสร้างความมั่นใจและสร้างอุปนิสัยที่ดี

                   5)บอกผู้เรียนให้รู้ว่า การทำสิ่งต่างๆในชั้นเรียนผิดพลาดดีกว่าการทำสิ่งที่ผิดพลาดในโลกของความเป็นจริง

                   6)เตือนให้ผู้เรียนรู้ว่าการวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์และการให้ผลย้อนกลับทางลบสามารถนำมาใช้เพื่อปรับปรุงผลลัพธ์ของการเรียนรู้ให้ดีขึ้นได้

          10.การยอดรับความคิดเห็นและคำวิจารณ์ของผู้เรียน(Respect students’ opinions and comments)

          ดร.โซโลเวย์(Soloway .1996)ศาสตราจารย์ทางด้านวิศวกรรมศาสตร์และคอมพิวเตอร์ กล่าวว่า “เด็กๆต้องการผู้ใหญ่ที่เป็นบุคคลตัวอย่างและต้องการให้ผู้ใหญ่แสดงความสนใจและเห็นคุณค่าในความคิดของพวกเขา” ดังนั้นถ้าผู้สอนต้องการฝึกให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมและมีประสบการณ์ในการเรียนรู้ก็ควรยอมรับข้อคิดเห็นและคำวิจารณ์ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน หากผู้เรียนเสนอข้อคิดเห็นที่ผู้สอนเห็นว่ายังไม่ถูกต้องก็ควรตั้งคำถามใหม่เพื่อให้ผู้เรียนมีโอกาสคิดทบทวนคำตอบอีกครั้ง การให้ผู้เรียนได้คิด วิเคราะห์โดยผ่านกระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณจะช่วยให้ผู้เรียนพุ่งความสนใจไปที่ประเด็นคำตอบที่ผู้สอนต้องการ การยอมรับความคิดเห็นของผู้เรียนไม่ได้แปลว่าผู้สอนต้องเห็นด้วยกับข้อคิดเห็นที่ไม่ถูกต้องนั้น แต่เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ระบายความคิดและวิเคราะห์สภาพการเรียนการสอนโดยมองไปยังคุณค่าของคำตอบ ข้อคิดเห็น และคำวิจารณ์ ผู้สอนจึงไม่ควรอายหากถูกผู้เรียนวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา และควรให้คำชมเชยถ้าผู้เรียนสามารถให้ข้อคิดเห็นที่ดีและเป็นประโยชน์

          11. การเป็นตัวแบบ(Be a role model)

          ผู้สอนทุกคนคาดหวังให้ผู้เรียนเป็นทั้งคนดีและคนเก่ง ในทำนองเดียวกันผู้เรียนก็คาดหวังที่จะเห็นความเชี่ยวชาญและการแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสมของผู้สอน ด้วยเหตุนี้ผู้สอนจึงต้องเป็นแบบอย่างที่ดีของผู้เรียนในด้านมาตรฐานของความรู้และความประพฤติ เช่น ในด้านความรู้ผู้สอนต้องรู้จักค้นคว้าหาความรู้ใหม่ๆมาใช้ในการเรียนการสอน ด้านคุณลักษณะ ต้องเป็นคนตรงต่อเวลา มีความรับผิดชอบ มีการวางแผนล่วงหน้า ถ้าผู้สอนแสดงให้เห็นในสิ่งเหล่านี้ผู้เรียนก็จะมีลักษณะเช่นเดียวกันเมื่อสำเร็จการศึกษาไปแล้ว

          12. การประเมินผลการเรียนรู้แบบลึก(Assess on deep learning)

          การประเมินผลการเรียนรู้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนการสอน เป็นส่วนช่วยให้ผู้สอนรู้ว่าผลลัพธ์ของการเรียนรู้ของผู้เรียนอยู่ในระดับใด  รู้แบบผิวเผิน(surface learning)คือแค่จำได้ หรือ รู้แบบลึกซึ้ง(deep learning)ถึงขั้นสามารถนำไปใช้ในการดำรงชีพและการประกอบอาชีพให้ประสบความสำเร็จได้ การรู้แบบลึกจะเกิดขึ้นเมื่อ

                   1)ผู้เรียนสามารถทำความเข้าใจกับเนื้อหาสาระในรายวิชาต่างๆด้วยความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง(deep understanding)

                   2)ผู้เรียนเกิดแรงจูงใจภายในที่จะเรียนรู้เนื้อหาสาระในรายวิชานั้นๆในระดับที่สูงขึ้น

                   3)ผู้เรียนสามารถมองเห็นเนื้อหาสาระของรายวิชาในภาพรวม(as a whole)ได้

                   4)ผู้เรียนสามารถมองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างรายวิชาที่เรียนกับวิชาอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตตลอดจนอธิบายถึงเหตุผลของความสัมพันธ์หรือความเกี่ยวข้องนั้นได้

            หากจะให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้แบบลึก ผู้สอนต้องจัดการสอนในรูปแบบที่สามารถสะท้อนให้เห็นสิ่งต่างๆเหล่านี้ได้ ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนสามารถมองทะลุถึงสิ่งที่ตนได้เรียนรู้ สิ่งที่ตนมีความเข้าใจ สามารถเชื่อมโยงความรู้ไปสู่การดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพให้ประสบผลสำเร็จได้

                   

 

ที่มา : วารสาร วิทยาจารย์ ฉบับที่ 107/7 เดือน มิถุนายน 2551

 

 

คำสำคัญ (Tags): #การจูงใจ
หมายเลขบันทึก: 277664เขียนเมื่อ 18 กรกฎาคม 2009 10:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤษภาคม 2012 09:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

บทความดีจังเลยค่ะ

ขอบคุณค่ะ ที่นำบทความดีดีมาเผยแพร่ และมีแหล่งอ้างอิง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท