ฉัน หนังและความเชื่อมโยง ตอนที่ 2 : การอ่าน...นี่ก็สำคัญนะ


สิ่งสำคัญหลังจากเจ้าหน้าที่รัฐมาต่างหากที่ทำให้ลุงแกรู้ตัวว่า "แกอ่านได้ แต่แกไม่มีอะไรจะอ่าน"

ถ้าคุณเป็นคนที่อ่านออก -เขียนได้ ขอถามว่า คุณให้ความสำคัญกับการ "อ่านออก-เขียนได้" นั้นมากน้อยแค่ไหน? แต่โดยส่วนใหญ่ ผู้เขียนคิดว่าคนที่มีทักษะเช่นนั้นมักไม่ค่อยเห็นความสำคัญของการ "อ่าน" หรือการ "เขียน" ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะตัวผู้เขียนเองก็เป็นหนึ่งในคนส่วนใหญ่ที่คิดแบบนั้น และไม่เคยรู้สึกว่าการอ่านออก-เขียนได้ ...นี่มันก็สำคัญ จนกระทั่งได้ดูหนังเรื่อง The Reader ได้อ่านหนังสือเรื่องชายชราผู้อ่านนิยายรัก (UN VIEJO QUE LEIA NOVELAS DE AMOR) และหนังสือถ้ามีเพียง 100 คนบนโลกใบนี้


The Reader เป็นหนังเก่าที่ฉายมาตั้งแต่ปี 2008 (อันที่จริงก็ไม่ได้เก่ามาก ก็แค่ข้ามปี) โดยก่อนที่จะถูกสร้างเป็นหนัง The Reader ได้ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นบทประพันธ์ก่อน โดยผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย Bernhard Schlink ซึ่งได้รับการตีพิมพ์เป็นภาษาเยอรมันในปี 1995 ส่วนฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษนั้นได้ตีพิมพ์ในปี 1997 โดย Carol Brown Janeway และได้รับการถ่ายทอดเป็นภาษาอื่นๆ ทั่วโลกอีกกว่า 37 ภาษา


หนังสือดังกล่าวได้รับการตอบรับทั้งในประเทศเยอรมันและประเทศอื่นๆ เป็นอย่างดี ไม่นับรวมว่าได้รางวัลต่างๆ นานาอีกมากมาย ได้เป็นนวนิยายเยอรมันเล่มแรกที่ได้ขึ้นสู่อันดับหนังสือขายดีของ The New York Times จนกระทั่งได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์ในปี 2008 กำกับโดย Stephen Daldry และถึงแม้จะถูกเปลี่ยนการสื่อสารจากตัวอักษรมาสู่โลกเซลลูลอยด์ (หรือปัจจุบันพูดให้ถูกต้อง คือโลกของดิจิตอลมูฟวี่) ความแรง ความนิยมในนวนิยายเรื่องดังกล่าวก็ยังคงได้รับรางวัลตามมาอีกมากเช่นเคย ไม่ว่าจะเป็นรางวัลออสการ์ ในหมวดรางวัลผู้แสดงนำยอดเยี่ยม Kate Winslet ที่กวาดทั้งรางวัลออสการ์และรางวัล Golden Globe ในสาขา Best Supporting Actress


แต่ถึงแม้นวนิยายเรื่องดังกล่าวจะได้รับการกล่าวขวัญถึงในแง่ดีต่างๆ นานามากมาย เมื่อถูกถ่ายทอดออกมาเป็นภาพยนตร์ การตีความของผู้กำกับก็ได้ถ่ายทอดให้ลึกซึ้ง ลุ่มลึก และเผยให้เห็นอีกแง่มุมหนึ่งที่เราๆ ท่านๆ อาจไม่เคยคิดกันเลยว่า อันที่จริงแล้ว ถ้าเราตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้น เราจะทำอย่างไร


ในบางส่วนบางตอนของเนื้อหาได้ทำให้เราเข้าใจว่า นางเอกของเรื่อง (ชื่อในเรื่องคือฮันนาห์ ซมิดท์) เคยเป็นผู้คุมค่ายกักกันของนาซีแห่งหนึ่ง และทุกอาทิตย์หรือทุกเดือนต้องคัดเลือกนักโทษชาวยิวส่งไปยังค่ายกักกันอีกแห่งเพื่อลดจำนวนประชากรที่ต้องกักขัง (หรือฆ่าให้ตายนั่นเอง) ในตอนนี้หนังได้ทำให้เห็นว่า เธอเพียงแต่เป็นคนที่ต้องการหางานทำเท่านั้น เมื่อที่นี่เปิดรับสมัครผู้คุม เธอก็ไปสมัคร จากนั้นเธอก็พยายามรับผิดชอบงานในหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ

 
เนื่องจากผู้เขียนไม่ได้อ่านฉบับนวนิยายมาก่อน แต่กระโดดมาดูฉบับภาพยนตร์เลย บางฉากบางตอนจึงไม่เข้าใจความคิดของตัวละครได้มากนัก มีฉากหนึ่งในการพิจารณาโทษผู้กระทำผิดในช่วงฮิตเลอร์รุ่งเรืองนั้น หนังได้พยายามสื่อให้เห็นว่า ไม่ว่าอย่างไร นางเอกจะไม่เผยให้ประชาคมโลกรับรู้เด็ดขาดว่า เธอ "อ่านไม่ออกและเขียนไม่ได้" ถึงแม้จะเป็นสิ่งที่ทำให้เธออาจได้รับโทษทัณฑ์ที่ลดน้อยลงก็ตาม แต่เธอก็ไม่ได้ทำ
ผู้เขียนเองก็เพิ่งมาอ่านเจอบทความ Don't Give an Oscar to The Reader ของ Ron Rosenbaum ซึ่งเขียนไว้ตอนหนึ่งว่า

"they could have heard it from Hitler's mouth in his infamous 1939 radio broadcast to Germany and the world, threatening extermination of the Jews if war started. You had to be deaf, dumb, and blind, not merely illiterate... You'd have to be exceedingly stupid."

"(แปล) ในช่วงปี 1939พวกเขาถูกฮิตเลอร์พูดกรอกหูผ่านวิทยุอยู่ทุกวี่ทุกวันว่า การเป็นคนที่ไม่รู้หนังสือนั้น ไม่ต่างอะไรกับคนที่หูหนวก ตาบอด และโง่เง่าอย่างที่สุด" ผู้เขียนเห็นว่าด้วยความเชื่อที่ได้ฟังจากวิทยุทุกวันนี่เอง จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ ฮันนาห์ไม่ยอมเอ่ยให้ใครได้รับรู้เลยว่าตัวเองไม่รู้หนังสือ (เพราะอับอาย)

 
ในประเด็นที่หนังพยายามนำเสนอในเรื่องของการอ่าน ทำให้ผู้เขียนนึกถึงนิยายสเปนอีกเล่มที่เคยได้อ่าน คือเรื่องชายชราผู้อ่านนิยายรัก ส่วนที่ผู้เขียนชอบคือ ตอนที่อันโตนิโอ โฆเซ่ โบลิบาร์ (คุณลุงตัวเอกของเรื่อง) ได้รู้ว่าตัวเองอ่านหนังสือออก ก็ตอนที่พวกข้าราชการมาขึ้นทะเบียนผู้ที่ต้องเสียภาษีและขึ้นทะเบียนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตชนบทอันห่างไกล (เรียกว่าป่าเลยก็ว่าได้) แล้วเจ้าหน้าที่รัฐทดลองให้คุณลุงอ่านหนังสือ ปรากฎว่าลุงแกอ่านได้ เจ้าหน้าที่จึงให้แกมีสิทธิในการเลือกตั้ง (ซึ่งเป็นเรื่องห่างไกลคุณลุงมากและแกก็ไม่รู้เรื่องอะไรด้วย) สิ่งสำคัญหลังจากเจ้าหน้าที่รัฐมาต่างหากที่ทำให้ลุงแกรู้ตัวว่า "แกอ่านได้ แต่แกไม่มีอะไรจะอ่าน"...นี่คือตอนที่ผู้เขียนชอบมาก (คนที่มีหนังสือให้เลือกอ่านเยอะๆ อ่านแล้วจะรู้สึกอะไรบ้างไหม)


นอกจากนึกถึงนิยายสเปนเรื่องดังกล่าวแล้ว ก็ให้นึกถึงหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่พี่ชายผู้เขียนได้ส่งต่อมาให้อ่าน เป็นหนังสือของมูลนิธิเด็กจัดพิมพ์โดยใช้ชื่อหนังสือว่า "ถ้ามีเพียง 100 คนบนโลกใบนี้" เป็นการรวบรวมบทความทางอีเมล์ที่มีผู้ส่งต่อถึงกันมากที่สุดในโลกมาไว้ในเล่ม อีเมล์ฉบับที่ทำให้นึกถึงนั้นมีเนื้อหาว่า

If you can read this e-mail, that means you are thrice-blessed. First, because someone thought of you, and sent you this message. Second, because you are able to read. Third, and most important, because you are alive.
ถ้าคุณได้อ่านข้อความนี้ ก็เท่ากับว่า คุณได้พรสามประการ ประการแรกคือ เพราะมีใครบางคนคิดถึงคุณ และส่งบทความนี้มาให้ พรประการที่สอง คือ เพราะคุณอ่านหนังสือออก พรประการที่สาม ข้อนี้สำคัญที่สุด คือ เพราะคุณยังมีชีวิตอยู่น่ะสิ.

หมายเหตุ
บทความ Don't Give an Oscar to The Reader ของ Ron Rosenbaum มีเนื้อหาพูดโจมตีหนังในทำนองว่า ไม่ควรให้รางวัลกับภาพยนตร์เรื่อง The Reader เพราะ
1. พยายามนำเสนอมุมมองที่ว่า การไม่รู้หนังสือ การเป็นคนซื่อที่ไม่เข้าใจในเรื่องยอกย้อนบางเรื่องนั้น สมควรหรือที่จะถือว่าเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดกับการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ชาวยิวในสมัยฮิตเลอร์ กับ
2. การที่ภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอในแง่มุมดังกล่าว ที่บอกว่าการไม่รู้หนังสือ ทำให้คิดไม่เป็น ทำได้แต่เพียงทำตามคำสั่ง จึงดูเหมือนเป็นการแก้ต่างให้กับผู้ที่ทำผิดในช่วงเวลานั้น เพียงเพื่อหวังให้ชาวยิวผู้เคราะห์ร้ายได้ยกโทษหรืออภัยให้


ซึ่งผู้เขียนได้หยิบยกเพียงบางประเด็นที่สามารถอธิบายการกระทำของตัวละครมาพูดถึงประกอบในบทความนี้เท่านั้น ไม่ได้นำประเด็นที่ Ron Rosembaum ที่เขียนแย้งรางวัลออสการ์ไว้มาเกี่ยวข้องด้วย รายละเอียดของบทความดังกล่าวอ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://www.slate.com/id/2210804/pagenum/2

 
ข้อมูลอ้างอิง
http://en.wikipedia.org/wiki/The_Reader  
http://thereader-movie.com/site/

The Reader. กำกับโดย Stephen Daldry (2008) นำแสดงโดย Kate Winslet / Ralph Fiennes

 

หนังสือชายชราผู้อ่านนิยายรัก ( UN VIEJO QUE LEIA NOVELAS DE AMOR) เขียนโดย หลุยส์ เซปุลเบดา แปลจากภาษาสเปนโดย สถาพร ทิพยศักดิ์

 

หนังสือถ้ามีเพียง 100 คนบนโลกใบนี้ (ปี 2546) เรียบเรียงโดย คาโยโกะ อิเคดะ แปลโดย สุจินดา นวกานนท์ อิซูมิดะ

หมายเลขบันทึก: 276565เขียนเมื่อ 14 กรกฎาคม 2009 21:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ก็ ok นะ ถ้าจะพยายามรวมแนวคิดเข้าด้วยกัน

อย่าแตกแถวออกไปเรื่อยๆ จะทำให้กลับเข้าแถวไม่ถูก

จากช่วงต้น เหมือนจะพูดถึงการแสดงความไม่เห็นด้วยกับ

การให้รางวัล แล้วขยายไปเรื่อง สเปน และหนังสือของมูลนิธิเด็ก

ยังดี ที่กลับมาใช้ หมายเหตุ ต่อเรื่องเดิมได้จนจบน่ะ

zonjathai

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท