แนวทางการบริหารแบบโปร่งใส


แนวทางการบริหารแบบโปร่งใส

แนวทางการบริหารแบบโปร่งใส
ในส่วนนี้ผู้เขียนขอนำเสนอถึงแนวทางการบริหารงานแบบโปร่งใส โดยจะกล่าวถึงในภาพรวม ๆ ที่ครอบคลุมทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งนี้ หากพิจารณาจากหลักหรือกระบวนการบริหารทั่วไป ซึ่งกล่าวถึงกระบวนการในการบริหารว่า ประกอบด้วยขั้นตอน 4 ประการคือ (สาคร สุขศรีวงศ์, 2550 : 26-27)

1. การวางแผน (Planning) ประกอบด้วย การกำหนดขอบเขตธุรกิจ ตั้งเป้าหมาย ตลอดจนกำหนดวิธีการเพื่อให้สามารถดำเนินการได้ตามวัตถุประสงค์ หรือเป้าหมายที่ตั้งไว้
2. การจัดองค์กร (Organizing) ประกอบด้วย การจัดบุคลากร แบ่งแผนกงาน และจัดสรรทรัพยากรต่าง ๆ ให้เหมาะสม สอดคล้องกับแผนงานเพื่อให้องค์กรสามารถดำเนินการตามแผนให้บรรลุวัตถุประสงค์ และเป้าหมายที่กำหนด
3. การชี้นำ (Leading) ประกอบด้วยเนื้อหา 2 เรื่องที่สำคัญคือ ภาวะผู้นำ (Leadership) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการพัฒนาตัวผู้บริหารเอง และการจูงใจ (Motivation) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการชักจูงหรือกระตุ้นให้ผู้อื่นทำงานได้เต็มที่ตามความรู้ความสามารถ
4. การควบคุมองค์กร (Controlling) เป็นการควบคุมองค์กรให้ดำเนินงานต่างๆ ภายในองค์กรให้เป็นไปตามแผงงาน ความคาดหวัง หรือมาตรฐานที่กำหนด
ดังนั้น แนวทางการบริหารงานแบบโปร่งใส โดยอาศัยกรอบแนวคิดการบริหารงานดังกล่าวข้างต้น สามารถดำเนินการได้ตามแนวทางดังนี้

ประการแรก ในการวางแผน (Planning) ซึ่ง ประกอบด้วย การกำหนดขอบเขตของธุรกิจหรือการกำหนดวิสัยทัศน์ และพันธกิจขององค์กร การตั้งเป้าหมาย ตลอดจนกำหนดวิธีการดำเนินการเพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ หรือเป้าหมายที่ตั้งไว้นั้น ควรให้บุคลากรจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดสิ่ง ต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้น ทั้งนี้ ควรเริ่มตั้งแต่การกำหนดวิสัยทัศน์ขององค์กรที่น่าจะมาจากความคิดเห็นร่วม กันของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในลักษณะที่เรียกว่า "วิสัยทัศน์ร่วม" (Share Vision) ไปจนถึงการกำหนดวัตถุประสงค์ และนโยบายขององค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับหน่วยงานภาครัฐในยุคใหม่มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายของรัฐที่มีผลกระทบต่อประชาชนโดยส่วนรวม เพื่อแสดงออกถึงการบริการงานที่มุ่งเน้นความโปร่งใสอย่างแท้จริง

ในทางปฏิบัติพบว่า องค์กรทั้งในภาคเอกชนและภาครัฐจำนวนมากที่มีการกำหนดวิสัยทัศน์ ตลอดจนนโยบาย วัตถุประสงค์ และเป้าหมาย โดยกลุ่มผู้บริหารระดับสูงเพียงไม่กี่คน และไม่เปิดโอกาสให้บุคลากร และกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย หรืแประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมแต่อย่างใด พฤติกรรมองค์กรในลักษณะเช่นนี้กล่าวได้ว่า "แค่เริ่มต้น ก็ไม่โปร่งใสเสียแล้ว"
นอกจากการกำหนดวิสัยทัศน์ นโยบาย วัตถุประสงค์ และเป้าหมายที่มาจากการมีส่วนร่วมแล้ว การแสดงออกซึ่งความโปร่งใสอีกประการหนึ่งก็คือ การเปิดเผยสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ต่อสาธารณะโดยชัดเจน ไม่คลุมเครือ ซึ่งต้องอาศัยช่องทางการสื่อสารที่หลากหลายและเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่ม รวมไปถึงการจัดเอกสารที่เกี่ยวข้องไว้อย่างเป็นระบบ ตรงตามข้อเท็จจริงเพื่อที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถตรวจสอบ และขอดูได้เมื่อมีข้อสงสัย

ประการที่สอง ในด้านการจัดองค์กร (Organizing) ซึ่งประกอบด้วย การจัดบุคลากร การแบ่งแผนกงานหรือการจัดโครงสร้างองค์กร และการจัดสรรทรัพยากรต่าง ๆ ให้เหมาะสม สอดคล้องกับแผนงานหรือโครงการต่าง ๆ การบริหารแบบโปร่งใสเริ่มตั้งแต่การสรรหาบุคลากรที่หน่วยงานต้องมุ่งเน้นที่ความสามารถ และระบบคุณธรรม (Merit System) ไม่ใช้ระบบอุปถัมภ์ (Patron-Client System) ในการรับบุคลากรเข้าทำงาน หลักการเช่นนี้ต้องกำหนดเป็นนโยบายที่ชัดแจ้งขององค์กรและประกาศให้สาธารณชนรับทราบโดยทั่วกัน

ต่อมาในส่วนของการระบบการให้คุณ-ให้โทษที่จะต้องเป็นไปด้วยความเป็นธรรม และมีความตรงไปตรงมา ทั้งนี้ พรศักดิ์ ผ่องแผ้ว (2544) ได้เสนอองค์ประกอบของการชี้วัดความโปร่งใสของระบบการให้คุณและให้โทษไว้ ดังนี้

ตัวชี้วัดความโปร่งใสของระบบการให้คุณ ประกอบด้วย
- มีผลประโยชน์ให้แก่บุคลากรที่ปฏิบัติงานเป็นผลสำเร็จ
- มีผลประโยชน์ให้แก่บุคลากรที่ปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพสูง
- มีผลประโยชน์แก่บุคลากรที่ซื่อสัตย์
- มีระบบรายได้หรือผลประโยชน์เกื้อกูลรองรับมาตรฐานค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น

ส่วนตัวชี้วัดของระบบการให้โทษ ประกอบด้วย
- มีระบบที่มีประสิทธิภาพสูงสำหรับการฟ้องร้องผู้กระทำผิด
- มีระบบที่มีประสิทธิภาพสูงสำหรับการตรวจสอบการทำงานในหน่วยงาน
- มีวิธีการที่ยุติธรรมสำหรับการลงโทษผู้กระทำผิด
- กระบวนการยุติธรรมที่รวดเร็ว
- มีการลงโทษจริงจัง หนักเบาตามเหตุผลและพฤติการณ์ของการกระทำผิด
- หัวหน้างานลงโทษผู้กระทำผิดหรือด้อยประสิทธิภาพอย่างจริงจัง
- มีการป้องปรามผู้ส่อทุจริต หรือด้อยประสิทธิภาพให้ปรับปรุงตน

นอกจากนี้ ในด้านการพัฒนาบุคลากร หน่วยงานจะต้องเปิดโอกาสให้บุคลากรได้รับการพัฒนา และฝึกอบรมตามความเหมาะสมต่อการนำไปพัฒนาความรู้ความสามารถ และประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานอย่างแท้จริง ประการสำคัญยิ่งคือการให้บุคลากรทุกคนมีโอกาสที่เท่าเทียมกันในการได้รับการพัฒนา

ในด้านการจัดโครงสร้างหน่วยงานจะต้องมีการปรับปรุงให้เหมาะสมกับสถานการณ์และสภาพแวดล้อมอยู่เสมอ ทั้งนี้ หากมีการให้บุคลากรและผู้มีส่วนได้เสียเข้ามามีส่วนร่วมในการปรับปรุงโครงสร้างและระบบงานด้วยก็นับว่าเป็นความใจกว้าง และเปิดเผยอย่างยิ่งของผู้บริหาร อันเป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนถึงความโปร่งใสด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม อย่างน้อยที่สุดโครงสร้าง ระบบงาน และแนวทางปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับสาธารณชนหรือส่วนรวมต้องมีการเปิดเผยให้เป็นที่รับรู้โดยทั่วกันในช่องทางการสื่อสารที่หลากหลาย และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารดังกล่าวได้ง่าย ในส่วนของการเปิดเผยโครงสร้างและระบบงานนั้น ในกรณีของหน่วยงานภาครัฐในปัจจุบันได้มีข้อกำหนดในพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 บังคับให้หน่วยงานของรัฐต้องเปิดเผยให้ประชาชนรับทราบ โดยอย่างน้อยที่สุดต้องลงประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษา

ประการที่สาม ในส่วนของการชี้นำ (Leading) ซึ่งประกอบด้วยเรื่องภาวะผู้นำ (Leadership) และการจูงใจ (Motivation) ในเรื่องแรกคือภาวะผู้นำของผู้บริหาร ซึ่งเป็นส่วนสำคัญมากต่อการสร้างความโปร่งใสในการบริหารงานของแต่ละองค์กร เนื่องจากภาวะผู้นำเป็นความสามารถในการทำให้บุคคลอื่นปฏิบัติอย่างใดอย่าง หนึ่งเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ (สาคร สุขศรีวงศ์, 2550 : 156) ดังนั้น จุดเริ่มต้นของการบริหารงานแบบโปร่งใสจึงอยู่ที่ผู้นำองค์กร ซึ่งจะต้องตระหนักถึงความโปร่งใส ในขณะเดียวกันการประพฤติตนและการแสดงออกของผู้นำต้องแสดงให้เห็นถึงความจริงใจในการปฏิบัติต่อผู้ตาม ตรงไปตรงมา เปิดเผย มีความซื่อสัตย์สุจริต มีจิตใจที่เป็นธรรม หากผู้นำองค์กรใดมีพฤติกรรมหรือแนวโน้มที่ส่อไปในทางทุจริต กระทำการใดไม่สะท้อนถึงความโปร่งใส ย่อมมีผลต่อบุคคลากรในองค์กรให้ประพฤติตามเช่นนั้นด้วย ดังดำกล่าวของนักการเมืองอดีตนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่งกล่าวไว้ว่า "เมื่อหัวไม่กระดิก แล้วหางจะส่ายได้อย่างไร"

ในส่วนของการจูงใจ (Motivation) ซึ่งเป็นการชักจูงให้บุคคลอื่นแสดงพฤติกรรมที่พึงประสงค์ (สาคร สุขศรีวงศ์, 2550 : 156) ดังนั้น ในการบริหารงานแบบโปร่งใส ผู้บริหารจึงต้องเสริมสร้างและสนับสนุนให้เกิดบรรยากาศแห่งความโปร่งใสทั่วทั้งองค์กร การสร้างจิตสำนึกความซื่อสัตย์สุจริต และความรับผิดชอบต่อหน้าที่ให้เกิดขึ้นในมวลหมู่พนักงาน เพื่อปูทางไปสู่การสร้างวัฒนธรรมความโปร่งใสในองค์กร ทั้งนี้ ตามทฤษฎีอีอาร์จี (ERG Theory) ได้แบ่งความต้องการของมนุษย์ออกเป็น 3 ขั้น ได้แก่ ความต้องการการอยู่รอด (Existence Need) ความต้องการความสัมพันธ์ (Relatedness Needs) และความต้องการเติบโตก้าวหน้า (Growth Needs) (Alderfer, 1972 อ้างในสาคร สุขศรีวงศ์, 2550 : 167) ดังนั้นในการสร้างวัฒนธรรมความโปร่งใสในองค์กรผู้บริการอาจใช้หลักความต้องการของมนุษย์ตามทฤษฎี ERG ดัง กล่าวข้างต้นเป็นแนวทาง โดยใช้กระบวนการกลุ่มในการสร้างกลุ่มสัมพันธ์ให้เกิดการยอมรับและปลูกฝัง จิตสำนึกแห่งความโปร่งใสให้เกิดขึ้นในองค์กร ในขณะเดียวกันในด้านความเติบโตก้าวหน้าของบุคคลากรก็สามาถนำวิถีปฏิบัติและ แนวคิดในการทำงานที่สะท้อนถึงความโปร่งใสมาเป็นข้อพิจารณาประการหนึ่งในการ ให้รางวัล และการเลื่อนตำแหน่งงาน
ประการสุดท้าย การควบคุมองค์กร (Controlling) ซึ่งเป็นการควบคุมองค์กรให้การดำเนินงานต่างๆ ให้เป็นไปตามแผงงาน ความคาดหวัง หรือมาตรฐานที่กำหนด ในส่วนนี้เกี่ยวข้องการการตรวจสอบ ติดตามและประเมินผล ดังนั้น การวางระบบและกระบวนการควบคุมต้องมีความโปร่งใสในตัวเองก่อนเป็นเบื้องแรก กล่าวคือ ต้องมีความเที่ยงตรง ชัดเจน ตรวจสอบได้ และเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลากรหรือกลุ่มบุคคลที่เข้ามาทำหน้าที่ตรวจสอบ ติดตาม และประเมินผลควรมีความเป็นอิสระอย่างแท้จริง ทั้งนี้ อาจให้มีหน่วยงานภายนอกที่เป็นกลางหรือผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกเข้ามาร่วมในคณะกรรมการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหน่วยงานภาครัฐ หากเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการตรวจสอบ ติดตาม และประเมินผลด้วยก็จะเป็นการดียิ่งขึ้น เพราะเท่ากับเป็นการแสดงออกถึงความโปร่งใสในการปฏิบัติราชการจริง เนื่องจากแสดงให้เห็นว่าพร้อมที่จะรับการตรวจสอบจากประชาชน หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดเวลา
นอกจากนี้ ภายใต้หลักความโปร่งใส หน่วยงานจำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลหรือผลการตรวจสอบ ติดตาม และประเมินผลให้ประชาชน หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนทราบโดยทั่วกัน ทั้งนี้ ในการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวหากได้มีการจัดกระทำข้อมูลให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ รวมทั้งมีการเผยแพร่ในช่องทางที่หลากหลายเพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงได้ง่ายก็จะเป็นการดียิ่งขึ้น เป็นการแสดงออกถึงความรับผิดชอบและความจริงใจที่องค์กรพึงมีต่อประชาชน หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ลูกค้า ผู้ถือหุ้น นักลงทุน สังคม ฯลฯ ได้เป็นอย่างดี

บทสรุป
ภายใต้แนวคิดการบริหารจัดการกิจการที่ดี (Good Governance) ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐหรือภาคเอกชนก็ตาม การบริหารงานควรยึดหลักความโปร่งใส ซึ่งนิยามของความโปร่งใสในที่นี้มิได้หมายความเพียงแค่ "การเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ" เท่านั้น แต่หมายความรวมถึง "การประพฤติปฏิบัติขององค์กร และบุคลากรที่ต้องกระทำอย่างตรงไปตรงมา และตั้งอยู่บนฐานคติของความซื่อสัตย์สุจริต มีจิตสำนึกที่ดีต่อหน้าที่ ทั้งนี้การกระการใด ๆ นั้น สามารถตรวจสอบและชี้แจงได้เมื่อมีข้อสงสัย"

ดังนั้น หากพิจารณาตามหลักการบริหารจัดการตามองค์ประกอบของ P-O-L-C ซึ่งประกอบด้วย การวางแผน (Planning) การจัดองค์กร (Organizing) การชี้นำ (Leading) และการควบคุม (Controlling) การบริการงานแบบโปร่งใสต้องดำเนินการในทุกขั้นตอนของกิจกรรมการบริหารจัดการ ซึ่งเริ่มตั้งแต่การวางแผนที่ต้องกระทำอย่างเปิดเผย และเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได่ส่วนเสียเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการด้วย และมีการเปิดเผยข้อมูลให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทราบโดยทั่วกัน ด้านการจัดองค์กร ในการบิหารงานแบบโปร่งใสต้องมีระบบการสรรหาบุคลากรที่ใช้ระบบคุณธรรมและความสามารถ ไม่ใช้ระบบอุปถัมภ์หรือระบบเส้นสาย ส่วนการให้ความดีความชอบแก่บุคลากรต้องอาศัยการพิจารณาตามความสามารถ และผลงานอย่างแท้จริง รวมทั้งมีกลไกในการป้องปรามผู้ประพฤติส่อไปในทางทุจริตอย่างเป็นธรรม ในด้านการชี้นำ ซึ่งต้องเริ่มต้นตั้งแต่คณะผู้บริหารระดับสูงที่ต้องมีจิตสำนึกของความโปร่งใส มีวิถีปฏิบัติที่แสดงออกให้เห็นถึงการเป็นคนเปิดเผย มีความตรงไปตรงมา ความซื่อสัตย์สุจริต และความเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ นอกจากนี้ยังต้องสร้างแรงจูงใจให้บุคลากรในหน่วยงานมีวิถีปฏิบัติซึ่งความโปร่งใสด้วย โดยการปลูกฝังจิตสำนึกของความโปร่งใสให้เกิดขึ้นทั่วทั้งองค์กร รวมไปถึงการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่มุ่งเน้นความโปร่งใสในการทำงานด้วย ในประการสุดท้ายได้แก่ การควบคุม ซึ่งเกี่ยวข้องกับการตรวจสอบ ติดตามและประเมินผล ในการนี้ผู้บริหารต้องจัดให้มีหน่วยงานตรวจสอบติดตาม และประเมินผลทั้งจากภายใน และภายนอกที่เป็นอิสระ ปราศจากการแทรกแซงของฝ่ายใด ๆ ทั้งนี้ ควรมีการเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามามีส่วนร่วมในการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลด้วย มีการเปิดเผยผลการประเมินให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทราบโดยทั่วกันอย่างตรงไปตรงมา

การบริหารงานแบบโปร่งใสน่าจะเป็นวิถีการบริหารจัดการประการหนึ่งที่พึงปฏิบัติทั้งในหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน หรือหน่วยงานประเภทใด ๆ ที่ต้องเกี่ยวข้องกับกลุ่มทางสังคมหรือ มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายภาคส่วนเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งศตวรรษที่ 21 ที่ข้อมูลข่าวสารสามารถเชื่อมต่อกันได้อย่างรวดเร็วยากที่หน่วยงานจะปกปิดความผิด หรือความไม่สุจริตของตนได้นานนัก การบริหารงานแบบโปร่งใสน่าจะเป็นวิธีการที่ดี และเหมาะสมกับองค์กรในยุคใหม่ที่มุ่งเน้นถึงความเปิดเผย ความซื่อสัตย์ และความเป็นธรรมภายใต้ความรับผิดชอบต่อสังคมและเพื่อนมนุษย์ทุกผู้ทุกนามในโลกใบนี้

http://www.oknation.net/blog/boonyou/2008/05/11/entry-3

หมายเลขบันทึก: 276233เขียนเมื่อ 13 กรกฎาคม 2009 22:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 13:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

แวะมาอ่านแวะมาทักทายคะ
เรื่องเกี่ยวกับองค์กรและผู้นำองค์กร
ก็น่าสนใจดีนะคะ
คิดดูแล้วหากจะให้เกิดผลสัมฤทธิ์
ทุกอย่างต้องจัดเป็นกระบวนการคะ

เปลี่ยนบรรยากาศไปดูของชื่นตาชื่นใจนะคะ

http://gotoknow.org/blog/gold-ornament/282088

 

 

ขอบคุณมากค่ะที่เข้ามาชมผลงาน

ขอบคุณที่ช่วยแสดงความคิดเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท