Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

แค่มีใจอย่างเดียว..คงไม่พอจะช่วยคลายทุกข์แก่มนุษย์ไร้รัฐไร้สัญชาติ


คำนิยมหนังสือเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้อันเป็นผลิตผลของโครงการถ่ายทอดองค์ความรู้จากแม่อายสู่อันดามัน เพื่อการจัดการปัญหาสถานะบุคคลของคนไร้รัฐไร้สัญชาติในพื้นที่อันดามัน

ทำไมผู้เขียนจึงเขียนคำนิยมสำหรับทีมทำงานนี้ ?

คำตอบ ก็เพราะพวกเขาคือคนทำงานเพื่อคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติที่มีทั้งองค์ความรู้และความจริงใจต่อมนุษย์ที่ประสบปัญหาดังกล่าว

หลายปีที่ผู้เขียนลงมาทำงานเพื่อคนไร้รัฐไร้สัญชาติ สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนกับตนเองและมวลมิตรรอบด้าน ก็คือ “แค่มีใจ..คงไม่พอจะช่วยคลายทุกข์แก่มนุษย์ไร้รัฐไร้สัญชาติ” หลายบทเรียนที่ผู้เขียนได้เรียนรู้จากการทำงานบนเรื่องจริงชี้ว่า “ความเป็นมนุษย์นิยมมิใช่คุณสมบัติข้อแรกของความสำเร็จในการทำงานเพื่อคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติ หากแต่ความรู้ในกฎหมายต่างหากที่จะนำทางสู่ความสำเร็จ” ทั้งนี้ เพราะปัญหาความไร้รัฐความไร้สัญชาติเป็นปัญหาข้อกฎหมาย ความด้อยสิทธิทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดแก่มนุษย์ไร้รัฐไร้สัญชาติ ก็เพราะพวกเขาไร้สถานะทางกฎหมาย ดังนั้น การแก้ไขปัญหาที่สาเหตุ อย่างยั่งยืน ก็คือ การให้สถานะทางกฎหมายแก่มนุษย์ที่มีปัญหาสถานะบุคคลตามกฎหมาย

 

องค์ความรู้ในการทำงานเพื่อคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติ  : เรียนรู้ได้อย่างไร ?

ในยุคที่รัฐสมัยใหม่ต้องสร้างความชัดเจนให้แก่ความเป็นรัฐของตนเองโดยการบันทึกประชากรของตนในระบบการทะเบียนบุคคลของตน มนุษย์ที่ถูกรัฐบันทึกจึงมีสถานะเป็นคนมีรัฐเจ้าของตัวบุคคลหรือเรียกย่อๆ ว่า “คนมีรัฐ” ในขณะที่มนุษย์ที่ไม่ถูกบันทึกโดยรัฐใดเลยบนโลกมีสถานะเป็นคนไร้รัฐเจ้าของตัวบุคคลหรือเรียกย่อๆ ว่า “คนไร้รัฐ”

ความยากของเรื่องอยู่ที่ความหลากหลายสาเหตุที่ผลักดันให้มนุษย์คนหนึ่งตกเป็นคนไร้รัฐ ดังนั้น ความสำเร็จของการแก้ไขปัญหาจึงต้องใช้ความรู้จากหลายศาสตร์ด้วยกัน ซึ่งในปัจจุบัน พัฒนาการของวิชาการด้านนี้ทำให้เกิดความเป็นไปได้และความชัดเจนในเชิงองค์ความรู้ที่จะเล่าเรียนและฝึกฝนเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ กล่าวคือ การให้ความช่วยเหลือประชากรบนแผ่นดินไทยที่ประสบปัญหาความไร้สถานะบุคคลตามกฎหมาย

แต่อย่างไรก็ตาม ความซับซ้อนของปัญหาคนไร้สถานะทางกฎหมายทำให้องค์ความรู้ในการจัดการปัญหามีลักษณะที่เป็นสหวิทยาการ การสร้างศักยภาพที่จะใช้ประโยชน์องค์ความรู้ได้จึงเรียกร้องการเรียนรู้ทั้งในเชิงวิชาการและวิชาชีพอย่างมาก “การบรรยายองค์ความรู้” เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้จึงไม่อาจเป็นวิธีการถ่ายทอดที่มีประสิทธิภาพไปยังผู้ที่จะทำหน้าที่แก้ปัญหา แต่การถ่ายทอดองค์ความรู้ในระหว่างการทำงานด้วยกัน หรือในลักษณะของการเสวนากัน กลับเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพมากกว่า จากประสบการณ์ที่เก็บเกี่ยวมาจากการทำงานเพื่อคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติที่แม่อายทำให้เราเชื่อมั่นว่า principle of  learning by doing เป็นวิธีการถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติที่มีประสิทธิภาพดีที่สุด และการถ่ายทอดองค์ความรู้ไปยังเจ้าของปัญหาเองจะทำให้เขากลายมาเป็นผู้แก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพเช่นกัน เราคงตระหนักว่า เมื่อพวกเขาเป็นเจ้าของปัญหา พวกเขาก็จะไม่ละทิ้งปัญหา ตราบเท่าที่ปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข แต่ในกรณีส่วนใหญ่ที่เขาไม่อาจเป็นผู้แก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพ ก็เพราะพวกเขายังไม่เชื่อว่า ตัวเองเป็นเจ้าของปัญหา หรือไม่มีองค์ความรู้ที่ถูกต้องในการแก้ไขปัญหา

สำหรับคนที่มีรัฐ เราก็คงจินตนาการไม่ได้ว่า คนไร้รัฐทุกข์ร้อนอย่างไร แต่ที่ตลกไปกว่า ก็คือ เราก็ยิ่งคิดไม่ออกต่อไปอีกว่า คนไร้รัฐบางคนก็ไม่ทุกข์ร้อนที่พวกเขาไม่มีชื่อในทะเบียนราษฎร ยกตัวอย่างของนายสมศักดิ์ ที่อ้างว่า เป็นคนสัญชาติไทยโดยการเกิด เป็นคนราชบุรีซึ่งทำบัตรประชาชนหายไปนานแล้ว เขามีเวลากินเหล้าเมาทุกเย็น แต่ไม่มีเวลาไปติดต่ออำเภอเพื่อทำบัตรใหม่ และพาเด็กชายบอย บุตรชายที่มีอายุกว่า ๗ ปีไปเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน ส่วนภริยาของสมศักดิ์นั้นได้หนีจากไปตั้งแต่เด็กชายบอยมีอายุเพียง ๓ ปี การถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องคนไร้รัฐไปยังสมศักดิ์จึงเป็นสิ่งที่ยากเย็นสำหรับคนทำงานเพื่อคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติ แค่ความรู้นิติศาสตร์ก็ไม่อาจแก้ปัญหานี้ได้ ปัญหาจิตวิทยาสังคมต้องถูกนำมาใช้อีกด้วย

 การทำงานเพื่อคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติในวันนี้ดูจะมีชุดความรู้หลายลักษณะที่หลายฝ่ายพยายามที่จะค้นคว้าและผลิตออกมา องค์ความรู้แม่อายเป็นอีกชุดความรู้หนึ่งซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างคนหลายฝ่าย[1] ดูจะเป็นชุดความรู้ที่มีการศึกษากันอย่างมาก และได้รับการพัฒนาต่อยอดไปใช้ในพื้นที่อื่นๆ อีกด้วย

 

ทำไมต้องถ่ายทอดองค์ความรู้แม่อายไปยังอันดามัน ?

ปัญหาคนไร้สถานะทางกฎหมายยังปรากฏมีเต็มพื้นที่แม่อาย คำร้องของคนแม่อายที่ประสบความไร้รัฐและความไร้สัญชาติจึงมีมากมายจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ลูกศิษย์ของผู้เขียนจากรุ่นใหญ่สุดจนถึงรุ่นเล็กสุดต่างก็จะรู้สึกคุ้นเคยกับพื้นที่นี้ และ “กรณีคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติที่แม่อาย” ก็จะทำหน้าที่เป็นบทเรียนที่สำคัญมากของประวัติศาสตร์การแก้ไขปัญหาคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติในประเทศไทยที่ผู้เขียนใช้ในการสอนกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล

นอกจากนั้น การปรากฏตัวของคลินิกแม่อายเพื่อคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติยังเป็นเสมือน “ห้องทดลองทางสังคมเพื่อแก้ไขปัญหาคนไร้สถานะทางกฎหมาย”  อันทำให้องค์ความรู้ด้านนิติศาสตร์เพื่อการแก้ไขปัญหานี้ได้รับการพัฒนาขึ้นมาหลายเรื่องด้วยกัน[2]  การลองผิดลองถูกกับการแก้ไขปัญหาต่างๆ  ทำให้ค้นพบ “สูตรสำเร็จ” และ “สูตรไม่สำเร็จ” หลายสูตรด้วยกัน  และที่สำคัญสำหรับยุคนี้ ก็คือ องค์ความรู้แม่อาย (Maeai Study) เพื่อการจัดการสิทธิในสถานะบุคคล (Right to Legal Personality) ของบุคคลที่มีปัญหาสถานะบุคคล หรือที่เรียกในวันนี้กันว่า “ห้าคูณหก” นั่นเอง[3] องค์ความรู้แม่อายมิใช่เรื่องราวที่ใช้ต่อคนที่เกิดหรืออาศัยอยู่บนแผ่นดินแม่อายเท่านั้น แต่ยังเป็นบทเรียนที่ใช้ในการทำงานเพื่อคนไร้รัฐไร้สัญชาติในพื้นที่อื่นอีกด้วย

 

เป็นไปได้หรือที่จะใช้องค์ความรู้แม่อายสำหรับคนบนฝั่งทะเลอันดามัน ?

เราตระหนักว่า การแก้ไขปัญหาคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติบนแผ่นดินแม่อายและบนฝั่งทะเลอันดามันย่อมไม่แตกต่างกันในแง่องค์ความรู้ แต่อาจมีความแตกต่างกันในแง่ข้อเท็จจริง ดังนั้น องค์ความรู้ในการจัดการประชากรที่มีปัญหาสถานะบุคคลที่เราค้นคว้าและผลิตสูตรทำงานที่แม่อายจึงอาจนำไปใช้ประโยชน์ที่บนฝั่งทะเลอันดามันได้

มากล่าวถึงคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติบนแผ่นดินไทยริมทะเลอันดามัน ซึ่งผู้เขียนเข้าไปเกี่ยวพันด้วยนับแต่ราว พ.ศ.๒๕๔๐ เพราะมีนักศึกษาปริญญาโทท่านหนึ่ง[4]เลือกที่จะศึกษาเรื่องของคนเชื้อสายไทยในดินแดนที่เราเสียไปแก่รัฐต่างประเทศ ตระกูลความคิดของเรา[5] จึงต้องพากันศึกษาเรื่องคนไทยพลัดถิ่น มันเป็นประเพณีวิชาการของเราที่เมื่อคนหนึ่งเริ่มศึกษาอะไร คนอื่นก็จะพลอยลงมือศึกษาด้วย จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่จะเห็น อาจารย์อิทธิพล ปรีติประสงค์[6] ผู้เชี่ยวชาญการพัฒนาสังคมโดยกฎหมายไอที มานั่งสอบประวัติคนไทยใหญ่ไร้รัฐที่แม่อาย หรือมานั่งคุยกับเด็กไทยพลัดถิ่นไร้รัฐที่ระนอง โดยผู้เขียนมีคำแนะนำหลายประการเกี่ยวกับการจัดการปัญหาคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติบนฝั่งทะเลอันดามันเมื่อภาคการเมืองร้องขอหรือภาคประชาชนต้องการความช่วยเหลือ และบรรลุถึงรายงานผลการศึกษาอย่างครบวงจรของปัญหาเมื่อภาคประชาคมระหว่างประเทศร้องขอ

 

โครงการถ่ายทอดองค์ความรู้จากแม่อายสู่อันดามันเพื่อการจัดการปัญหาสถานะบุคคลของคนไร้รัฐไร้สัญชาติในพื้นที่อันดามันภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิเอเซีย

ด้วยข้อมูลด้านข้อเท็จจริงที่เรามีมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๐ เราตระหนักว่า องค์ความรู้ด้านการจัดการประชากรซึ่งค้นคว้าและผลิตสูตรสำเร็จที่แม่อายน่าจะใช้ได้สำหรับการจัดการปัญหาคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติบนฝั่งทะเลอันดามัน

แต่เราไม่แน่ใจว่า คนรุ่นเล็กสุดในตระกูลความคิดของเรา[7]จะทำงานได้หรือไม่ ? เราแน่ใจว่า พวกเธอทั้งหลายมีแรงใจที่มากมายเพียงพอ  แม้จะเป็นคนมือใหม่ทั้งในเรื่องข้อเท็จจริงและข้อความรู้  แต่ด้วยการสนับสนุนจากคนรุ่นใหญ่ในตระกูลความคิดของเรา[8] และจากมวลมิตรที่หลากหลายแต่มีเป้าหมายเช่นเดียวกับเรา ซึ่งอาจเป็นเจ้าของปัญหา ผู้แก้ปัญหา หรือภาควิชาการ ภาคราชการ ภาคประชาชน[9] ภาคการเมือง ดังนั้น เราจึงคิดว่า การสร้างระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพสำหรับคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติจึงเป็นไปได้ และระบบการจัดการที่เกิดขึ้นนี้จะยั่งยืนและเติบโต

ขอขอบคุณมูลนิธิเอเชียที่มีความเชื่อมั่นในแรงใจของคนรุ่นเล็กของเราและแรงความรู้ของคนรุ่นใหญ่ของเรา

มีความล่าช้าอย่างมากมายอันมีสาเหตุมาจากหลายเรื่องราวที่คนทำงานภายใต้โครงการนี้ต้องประสบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจากไปอย่างไม่มีวันกลับของคุณใหญ่ กฤษฎา ยาสมุทร คนรุ่นใหญ่คนหนึ่งในตระกูลความคิดของเรา ภารกิจของใหญ่สำหรับโครงการนี้เสร็จสิ้นลงอย่างสมบูรณ์และงดงาม เราละมือจากการสรุปโครงการไปจัดการงานศพของใหญ่ แต่เราจะไม่ละมือจากความไร้รัฐไร้สัญชาติของมนุษย์บนฝั่งอันดามัน

 

นิยมอะไรกันหนักหนา ??

อยากจะจบคำนิยมงานและคนทำงานภายใต้โครงการนี้ด้วยการยืนยันว่า โครงการนี้น่านิยมด้วยสาเหตุ ๕ ประการเป็นอย่างน้อย กล่าวคือเป็นโครงการที่ (๑)สร้างขึ้นเพื่อแก้ไขความทุกข์ร้อนของมนุษย์ที่มีอยู่จริง (๒)ใช้องค์ความรู้ในการทำงาน (๓) ให้ความรู้ที่อาจต่อยอดได้ต่อไปอย่างไม่รู้จบ (๔)ผูกเอาแรงใจและแรงความรู้เข้าไว้ด้วยกัน และ (๕) ผูกเอามิตรไมตรีของคนหลากหลายเข้าไว้ด้วยกัน

 อยากบอกมวลมิตรว่า ปัญหานั้นจะหมดไปได้ก็ต้องได้รับการแก้ไข แต่การแก้ไขแบบไร้ความรู้ก็มักจะเป็นการแก้ไขที่ “ปลายเหตุ” เพราะจะเห็นได้ชัดเจนกว่า “ต้นเหตุ”   ซึ่งปัญหานั้น ก็จะเพียงหมดไปชั่วคราว มิใช่โดยถาวร การค้นหาต้นเหตุของปัญหานั้น จะต้องใช้ความเพียรอย่างมาก ดังนั้น คนทำงานจึงต้องมีความอดทนต่ออุปสรรคและความเพียรพยายามที่จะทดสอบและทดลองการแก้ไขปัญหา

-----------------------------------------------------------------------------



[1] ภาคีหลัก คือ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ และ UNICEF โดยมีคนทำงานเพื่อคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติจำนวนมากเข้าร่วม

[2] พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, คำนำสำหรับหนังสือทำมือเรื่อง “คลินิคแม่อาย : สำนักงานกฎหมายเพื่อช่วยเหลือประชาชนไร้รัฐไร้สัญชาติโดยทนายความตีนเปล่า”, เอกสารประกอบการเสวนาวิชาการเรื่อง “การถ่ายทอดประสบการณ์การทำงานด้านสถานะและสิทธิบุคคลของคลินิกกฎหมายชาวบ้าน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่”, จัดโดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ, ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๐

http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=1&s_id=402&d_id=401

[3] โปรดอ่านเกี่ยวกับแนวคิดนี้ในบท “ห้าคูณหก : สูตรความคิดและปฏิบัติการเพื่อการพัฒนาสถานะบุคคลตามกฎหมายไทย โดย ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล

[4] อาจารย์วรรณทนี รุ่งเรืองสภากุล ในวันนี้ เป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ และผู้จัดการคลินิกกฎหมายแม่อาย

[5] กล่าวคือ ตัวผู้เขียนซึ่งเป็นอาจารย์แห่งคณะนิติศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเหล่าลูกศิษย์

[6] อิทธิพล ปรีติประสงค์, เส้นทางจากสวนผึ้งสู่แม่อาย และย้อนกลับสู่สวนผึ้ง ... อีกครั้ง เพื่อเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติ, โครงการเด็กไร้รัฐฯ, เมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ.๒๕๔๙ http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=1&s_id=277&d_id=276

[7] กล่าวคือ  (๑) นางสาวบงกช นภาอัมพร (๒) นางสาวอัจฉรา สุทธิสุนทรินทร์ และ (๓) นางสาวกิติวรญา รัตนมณี ซึ่งเป็นเจ้าของ “โครงการถ่ายทอดองค์ความรู้จากแม่อายสู่อันดามันเพื่อการจัดการปัญหาสถานะบุคคลของคนไร้รัฐไร้สัญชาติในพื้นที่อันดามัน”  ซึ่งได้รับทุนจากมูลนิธิเอเชียเพื่อการศึกษาและวางระบบการจัดการคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติบนแผ่นดินใต้ริมทะเลอันดามันในช่วง พ.ศ.๒๕๕๑ – ๒๕๕๒

[8] อันได้แก่ (๑) รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจารย์อิทธิพล ปรีติประสงค์ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนา เด็ก เยาวชน และครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล (๒) อาจารย์ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ (๓) อาจารย์กฤษฎา ยาสมุทร คนทำงานแถวหนึ่งของโครงการต่อยอดองค์ความรู้แม่อาย ภายใต้ความร่วมมือระหว่างคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ และ UNICEF

[9] อันได้แก่ (๑) คุณวีระ อยู่รัมย์ ผู้อำนวยการสำนักงานเชียงราย มูลนิธิกระจกเงา (๒) คุณปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว ผู้จัดการสถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ

หมายเลขบันทึก: 276210เขียนเมื่อ 13 กรกฎาคม 2009 21:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 07:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท