การจัดการความรู้ 2 แนวทาง ตอน 2


การบริหารจัดการองค์กรและการจัดการความรู้ (13)

สำหรับผู้ที่สนใจแนวทางการจัดการความรู้ตามธรรมชาติ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม  http://www.kmi.or.th และขอแนะนำหนังสือสำหรับผู้สนใจ ได้แก่ เรื่อง การจัดการความรู้ ฉบับมือใหม่หัดขับ โดย ดร.ประพนธ์ ผาสุกยืด และการจัดการความรู้ ฉบับนักปฏิบัติ โดย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช

เคล็ดลับการจัดการความรู้ตามธรรมชาติให้ประสบความสำเร็จ อยู่ที่ คุณเอื้อ ต้องเป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจและให้การสนับสนุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการสร้างบรรยากาศที่เสริมสร้างการเรียนรู้และไม่ใช้วัฒนธรรมเชิงอำนาจแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา สนับสนุนให้ คุณกิจ ที่เป็นผู้ปฏิบัติงานจริง เล่าเรื่องความสำเร็จจากงานที่ทำ ทั้งนี้อาจต้องฝึกทักษะการเล่าเรื่องเพิ่มเติม ผู้ฟังได้แก่ผู้ปฏิบัติงานในงานหรือกลุ่มงานเดียวกัน เทคนิคการฟังก็มีความสำคัญ เมื่อผู้ฟังฟังอย่างตั้งใจ ฟังด้วยความชื่นชมยินดี สอบถามแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วยบรรยากาศฉันท์มิตร ทำให้สามารถค้นพบหรือสกัดชุดความรู้สำหรับการปฏิบัติงานได้ หากได้คุณกิจที่มีคุณสมบัติเพิ่มเติมได้แก่ เป็นคนดีของหน่วยงาน ทำงานด้วยใจยิ่งจะเสริมสร้างแรงบันดาลใจให้เพื่อนร่วมงานได้เป็นอย่างดี คุณประสาน คุณลิขิต และ คุณวิศาสตร์ ก็มีความสำคัญในการจัดกระบวนการตั้งแต่เริ่ม จนกระทั่งถึงขั้นตอนการบันทึก จัดเก็บ และเผยแพร่ด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้การขยายผลความสำเร็จไปได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ตัวอย่าง คุณเอื้อ ที่ดีได้แก่ ผศ.ดร.วิบูลย์ วัฒนาธร  จากมหาวิทยาลัยนเรศวร  คุณอำนวย ที่ดี ได้แก่ รศ.นพ.จิตเจริญ ไชยาคำ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น คุณประสาน ที่ดีได้แก่ คุณเมตตา  ชุ่มอินทร์ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และคุณเจนจิต รังคะอุไร จากมหาวิทยาลัยนเรศวร คุณลิขิต ที่ดีได้แก่ คุณศักดิ์สิทธิ์  บุญคุณ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น คุณวิศาสตร์ระดับชาติ ในขณะนี้ได้แก่ ดร.ธวัชชัย และ ดร.จันทวรรณ ปิยะวัฒน์ สองคู่ขวัญจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

หากพิจารณาการจัดการความรู้ 2 แนวทางนี้ มีความเหมือนและแตกต่างกันอยู่หลายประเด็น ได้แก่ ประเด็นแรก การกำหนดเป้าหมาย ทั้ง 2 แนวทางต้องกำหนดเป้าหมายว่า ต้องการใช้การจัดการความรู้เพื่ออะไร? ส่วนนี้มีความคล้ายกับ ว่าเป็น หัวปลา ซึ่งมักจะเป็นโจทย์ขององค์กรที่ต้องการนำความรู้มาพัฒนาหน่วยงาน เพียงแต่การจัดการความรู้ตามแบบฟอร์มมักกำหนดโจทย์ที่ใหญ่ ยาก และเป็นปัญหา ขณะที่การจัดการความรู้ตามธรรมชาติเริ่มจากโจทย์เล็กๆ หรือเรื่องที่ประสบความสำเร็จจากหน้างาน ประเด็นที่ 2 กระบวนการที่ใช้การจัดการความรู้ตามแบบฟอร์มใช้กระบวนการตามระบบราชการ คือ ต้องจัดทำแผนปฏิบัติราชการตามขั้นตอนที่กำหนด ภายใต้การบังคับบัญชา มีงบประมาณ และใช้เครื่องมือที่เน้นเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่สนับสนุนการดำเนินงาน ขณะที่การจัดการความรู้ตามธรรมชาติ จัดกระบวนการที่ศึกษาจากความสำเร็จในงานที่พบแล้วนำมาถ่ายทอด แลกเปลี่ยนประสบการณ์จากผู้ปฏิบัติงานจริง เพื่อให้นำไปปรับใช้และขยายผลต่อยอดความสำเร็จ  ภายใต้บรรยากาศฉันท์มิตร และมีความเสมอภาค เข้าอกเข้าใจกัน ในลักษณะ ปรับทุกข์ ปรับสุข และประเด็นสุดท้าย การวัดผลความสำเร็จ ในการจัดการความรู้ตามแบบฟอร์มใช้ตัวชี้วัดเป็นเครื่องมือสำคัญ มีผลเป็นคะแนนชัดเจน ขณะที่การจัดการความรู้ตามธรรมชาติ ใช้บรรยากาศและความตื่นตัวในการเข้าร่วมกิจกรรม ตลอดจนการนำไปปฏิบัติเป็นตัวชี้วัด

ข้อจำกัดหรือจุดอ่อนของการจัดการความรู้ตามแบบฟอร์ม คือ โครงการมักไม่ได้รับจัดสรรงบประมาณตามแผนที่ตั้งไว้ ทำให้ผู้รับผิดชอบดำเนินงานปรับเปลี่ยนกิจกรรมเท่าที่จะสามารถดำเนินการได้ ส่งผลต่อเป้าหมายที่ตั้งไว้ กรณีที่ตั้งเป้าหมายไว้สูงเกินหรือเป็นประเด็นที่ใหญ่ จะไม่เห็นผลความสำเร็จในระยะสั้น ทำให้หมดกำลังใจหรือไม่เห็นประโยชน์ของการจัดการความรู้ เกิดทัศนคติที่ไม่ดี หรือแม้กระทั่งเกิดการ จัดฉาก ขณะที่การจัดการความรู้ตามธรรมชาติมีข้อจำกัดหรือจุดอ่อนที่เริ่มจากความสำเร็จหรือจุดเล็กๆ ทำให้ขยายผลได้ช้า ไม่ทันใจผู้บริหารระดับสูง ในกระบวนการหากไม่สามารถนำ คุณกิจ ตัวจริงมาแสดงเพราะติดอยู่กับงานประจำ บางครั้งขาดทักษะการเล่าเรื่องและการเผยแพร่ ทำให้การสกัดความรู้อ่อนไป และบางกรณีอาจขาด คุณเอื้อ ที่สนับสนุนการจัดการความรู้ที่ครบวงจร หรือ คุณเอื้อ เกิดการยึดติดหรือหลงในกระบวนการ และรูปแบบของการจัดการความรู้ตามธรรมชาติ ทั้งที่อาจมีเครื่องมืออื่น ที่สามารถดำเนินการให้บรรลุยุทธศาสตร์ขององค์กรได้ดีกว่า

โดยแท้จริงแล้วสามารถใช้การจัดการความรู้ทั้ง 2 แนวทาง ผสมและเชื่อมโยงเพื่อให้การจัดการความรู้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น กล่าวคือ เริ่มจากการกำหนดเป้าหมาย การใช้การจัดการความรู้มาช่วยพัฒนางานให้ชัดเจน และกำหนดขอบเขตพอสมควรที่สามารถดำเนินการเป็นขั้นตอนเพื่อให้ผู้ปฏิบัติ และทีมงานมีกำลังใจและแรงจูงใจที่จะทำงานอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มจากงานที่ประสบความสำเร็จหรือมีแววจะประสบความสำเร็จ อันเกิดจากผู้ปฏิบัติงานใช้ความรู้และความสามารถ แล้วใช้กระบวนการเล่าเรื่องความสำเร็จ หรือวิธีอื่นตามความเหมาะสม กรณีที่องค์กรมีความจำเป็นต้องเชิญบุคคลภายนอกเข้ามาถ่ายทอดแลกเปลี่ยนความรู้ ก็สามารถดำเนินการได้ และเป็นสิ่งที่พึงกระทำ มีระบบการสกัดความรู้ ออกมาจัดเก็บและเผยแพร่ ตลอดจนสนับสนุนให้นำมาปฏิบัติในหน่วยงานเดิม หรือหน่วยงานใหม่ เพื่อจะได้ทราบว่าความรู้นั้นเหมาะสมกับองค์กรหรือไม่? หรือต้องปรับปรุงเพิ่มเติมอย่างไร? เพื่อให้เกิดการปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่องภายใต้บรรยากาศ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานอย่างกัลยาณมิตร เชื่อมโยงกับระบบประเมินผลงานและแรงจูงใจ การยกย่องชมเชย โดยมีเป้าหมายเดียวกัน คือ เพื่อการพัฒนาองค์กร งาน และตนเอง ส่งเสริมให้เป็นองค์กรที่ใช้ความรู้เป็นฐาน หรือองค์กรแห่งการเรียนรู้  เมื่อครบรอบปีงบประมาณแล้วต้องมีการทบทวนและวางแผนใช้การจัดการความรู้เพื่อการพัฒนาในปีต่อไปอย่างต่อเนื่องด้วย

การบริหารจัดการองค์กรและการจัดการความรู้ (รวมบท)

การจัดการความรู้ในฐานะเครื่องมือเพื่อการพัฒนาทุนมนุษย์

การจัดการความรู้ 2 แนวทาง

ตอน 1  ตอน 2

การจัดการความรู้ ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

หมายเลขบันทึก: 274923เขียนเมื่อ 10 กรกฎาคม 2009 09:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 07:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท