Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

Law of Attraction กฎแห่งการดึงดูด


จิตเป็นใหญ่ จิตเป็นประธาน ทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยจิต

ในหนังสือ "The Secret" บอกเคล็ดลับที่จะนำไปสู่ความสุขและความสำเร็จของชีวิต โดยเชื่อใน “Law of Attraction” กฎแห่งการดึงดูด เพราะจิตของเรามีพลังอำนาจมหาศาล พูดง่ายๆก็คือ ให้คิดแต่สิ่งที่ดี แล้วสิ่งดีๆ จะถูกดึงดูดเข้ามาหาเราเอง  จิตใฝ่งาม...จิตใฝ่ดี กุศลจิตจะเกิดตามได้ทุกที่ทุกเวลา

ในทางพระอภิธรรม ท่านได้กล่าวไว้ว่าดังนี้ กุศลจิต เป็นจิตที่ไม่เศร้าหมอง ไม่เร่าร้อน เป็น จิตที่ดีงาม ที่ฉลาด ที่สะอาด ที่ปราศจากโทษ และให้ผลเป็นสุข มี อรรถ ๕ ประการ คือ

๑. อาโรคยตฺถ  ประโยชน์จากความไม่มีโรค คือ ราคะ โทสะ โมหะ เป็นโรคเพราะเสียดแทงจิตตสันดานของสัตว์ทั้งหลาย

๒. สุนฺทรตฺถ  ความงาม คือ กาย วาจา ใจ งดงาม มีคุณธรรม จริยธรรม เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งหลาย

๓. เฉกตฺถ  ฉลาด เรียบร้อย คือ มีความฉลาดในการดำเนินชีวิต และมีกิริยาวาจาสุภาพเรียบร้อย

๔. อนวชฺชตฺถ  ไม่มีโทษอันพึงติเตียนได้  คือ  มีการงาน ความประพฤติสุจริต  ไม่มีบาป  ไม่มีความผิด ก็ไม่มีโทษ  มีแต่ความดีงามที่น่ายกย่อง

๕. สุขวิปากตฺถ  ให้ผลอันเป็นสุขพึงปรารถนา คือ ปรารถนาสิ่งใด  ก็ได้ในสิ่งนั้น  สุขกาย  สุขใจ

นี่แหละค่ะ  เคล็ดลับที่นำไปสู่ความสุข  สำเร็จ  ความร่ำรวย  สมหวังดังปรารถนา  แล้วทำยังไงดีค่ะ  ที่จะทำให้เรามีกุศลจิต  มาทางนี้ค่ะเพื่อนๆ  วันนี้แพรจะบอกความลับของ“Law of Attraction”   ให้อ่านแล้วลองไปใช้ดูนะคะ  รับรองค่ะได้ผลแน่  พิสูจน์ได้  รับประกัน  ท้าให้ลองนะคะ

กุศล คือค วามดี ความไม่มีโรค ความงาม เป็นประโยชน์ ความฉลาด เรียบร้อย ความไม่มีโทษที่จะทำให้ใครมาติเตียนได้ ให้ผลเป็นความดี ความสุข จิตที่เป็นกุศล ย่อมยังให้เกิดคำพูดและการกระทำที่เป็นกุศลด้วย

ส่วน อกุศล คือ ความไม่ดี มีโทษ ให้ผลเป็นความทุกข์ ความไม่สบายกายไม่สบายใจ

เหตุให้เกิดกุศล เหตุให้กุศลจิตเกิดขึ้นก็ได้แก่ โยนิโสมนสิการ คือ การพิจารณาโดยแยบคาย พิจารณาให้ซึ้งถึงสภาพแห่งความเป็นจริงในอารมณ์นั้นๆ โยนิโสมนสิการนี้ย่อมเกิดโดยอาศัยเหตุ ๕ ประการ คือ

๑. ปุพฺเพ จ กตปุญฺญตา  เคยทำบุญไว้แต่ปางก่อน

๒. ปฏิรูปเทสวาส อยู่ในประเทศที่สมควร คือ ประเทศที่มีสัปบุรุษ

๓. สปฺปุริสูปนิสฺสย คบหาสมาคมกับสัปบุรุษ (คือ คนดี คนสงบ คนที่พร้อมมูลด้วยธรรม)

๔. สทฺธมฺมสฺสวน  ฟังธรรมของสัปบุรุษ

๕. อตฺตาสมฺนาปณิธิ  ตั้งตนไว้ชอบ เหตุให้เกิดโยนิโสมนสิการ ๕ ประการนี้ ได้แก่ ประการที่ ๑ เป็นอดีตกรรม ส่วนอีก ๔ ประการที่เหลือ เป็นปัจจุบันกรรม พูดง่ายๆก็คือ การกระทำในปัจจุบัน  เป็นเหตุให้เกิดกุศลจิต หรือจิตที่ดีงาม  นั่นเอง

บุญเกิดที่ไหน คำตอบคือ บุญเกิดได้ทุกที่ทุกเวลาที่เราเกิดกุศลจิต

บุญกิริยาวัตถุ ๑๐  บุญกิริยาวัตถุ แปลว่า ความดีที่ควรกระทำ เพราะเป็นเหตุเป็นที่ตั้งแห่งผลดีให้เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่ให้บุญเป็นกุศล เป็นที่ตั้งแห่งการทำบุญ  ทางทำความดี บุญกิริยาวัตถุมี ๑๐ ประการ ได้แก่

(๑) ทำบุญด้วยการให้ การปันสิ่งของที่เป็นประโยชน์สุขแก่ผู้รับ (ทาน)

(๒) ทำบุญด้วยการรักษาศีลและประพฤติดี คือ รักษากายวาจาใจให้เป็นปกติ ไม่เป็นการเบียดเบียนผู้อื่น (ศีล)

(๓) ทำบุญด้วยการเจริญภาวนา คือ ฝึกอบรมจิตใจให้กุศลอันประเสริฐ เกิดขึ้นและให้เจริญยิ่งขึ้นด้วย (ภาวนา)

(๔) ทำบุญด้วยการมีสัมมาคารวะและประพฤติอ่อนน้อม แก่ผู้ที่เจริญด้วย ชาติวุฒิ วัยวุฒิ และคุณวุฒิ (อปจายนะ)

(๕) ทำบุญด้วยการเข้าช่วยเหลือกิจการงานดีๆ ต่างๆ (เวยยาวัจจะ)

(๖) ทำบุญด้วยการอุทิศแผ่กุศล ให้ผู้มีคุณตลอด จนสรรพสัตว์ทั้งหลาย(ปัตติทานะ)

(๗) ทำบุญด้วยการอนุโมทนา คือ ยินดีในความดีของผู้อื่น การเห็นดีเห็น ชอบและคล้อยตามด้วยความอิ่มใจในส่วนบุญที่มีผู้อุทิศให้นั้น (ปัตตานุโมทนา)

(๘) ทำบุญด้วยการตั้งใจฟังธรรม ศึกษาหาความรู้ การสั่งสอนวิชาทางโลกที่ไม่มีโทษก็สงเคราะห์เข้าในข้อนี้ (ธรรมสวนะ)

(๙) ทำบุญด้วยการแสดงธรรม สั่งสอน ให้ความรู้ การสั่งสอนวิชาทางโลกที่ไม่มีโทษก็สงเคราะห์เข้าในข้อนี้ (ธรรมเทศนา)

(๑๐) ทำบุญด้วยการทำความเห็นให้ถูกต้อง ตรงตามความเป็นจริง อย่างน้อยก็ต้องถึง กัมมัสสกตาปัญญา คือรู้ว่าสัตว์มีกรรมเป็นของตน ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นต้น (ทิฏฐุชุกรรม)

บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ อย่างนี้ เป็นการงานของจิตซึ่งประกอบด้วยเจตนาคือ ความตั้งใจความนึกคิดอันดีงาม อันเป็นตัวต้นเหตุให้เกิดผลที่ดีที่เป็นสุข เป็นสิ่งที่ดึงดูดความสุข ความสำเร็จ  สมหวัง  ให้กับทุกคน  เพราะกุศลจิตหรือมหากุศลจิต จึงเป็นจิตที่มีความสำคัญ ดังนั้น  พึงกระทำให้เกิดขึ้นเนืองๆค่ะ ดั่งคำธรรมะที่ว่า ผู้มีปัญญา ย่อมยังกุศลจิตให้เกิดขึ้นได้เสมอ ฉันนั้น

ส่วนจิตหรือความคิด ความนึกคิด มีใหญ่ๆ อยู่ ๒ ประเภท คือ จิตที่คิดดีคิดเป็นกุศล กับจิตที่คิดไม่ดีคิดเป็นอกุศล คิดเรื่องไม่ดีที่เป็นเรื่องอกุศลค่ะ  จิตที่ตามหลักวิชาการแล้วถือว่าเป็นจิตที่ดีที่สุด ประเสริฐที่สุด เต็มคุณค่า ที่สุด เปี่ยมไปด้วยความดีที่เป็นกุศลที่สุด ก็คือ กุศลจิต หรือ มหากุศลจิต

 (ก) 'จิตที่เกิดขึ้นพร้อมกับความยินดี' (โสมนสฺสหคตํ)  คือ จิตที่เมื่อคิดอะไรก็ตามที่เป็นกุศลและมีความยินดีปลาบปลื้มอยู่พร้อม ในนั้นด้วย อาทิ จิตที่คิดระลึกถึงบุญหรือทานที่ได้กระทำมา จิตปลาบปลื้ม ในความดีใดๆ ก็ตามที่กำลังกระทำ เช่น ช่วยบริจาคเลือดให้ผู้ป่วยที่กำลังต้องการ ทำไปก็รู้สึกปลาบปลื้มใจไปด้วย แม้กลับมาบ้านแล้วก็ยังมานั่งปลื้มใจต่อ ที่ได้ทำสิ่งดีๆ ที่เป็นประโยชน์

(ข) 'ประกอบพร้อมไปด้วยปัญญา' (ญาณสมฺปยุตฺตํ) คือ มีความเห็นถูกต้องตามสภาพความเป็นจริง ปัญญาที่รู้และเข้าใจ ว่าสัตว์ทั้งหลายมีสิทธิในการกระทำของตนไม่ว่าจะดีหรือไม่ดี รู้ว่าทรัพย์สินเงินทอง บุคคลที่ผูกพันอันเป็นที่รักทั้งหลาย ไม่ใช่เป็นสิทธิของตน เพราะไม่อาจติดตามกันไปในภพอื่นได้ และแม้ในภพเดียวกันที่ได้มาพบเจอและผูกพันกันนี้ก็ไม่เคยมีอะไรแน่นอน เพราะอาจมีเหตุเภทภัยต่างๆ นานาให้ต้องพลัดพราก จากกัน หรือสูญเสียก็เป็นได้ กล่าวโดยหลักการก็คือ มีปัญญาคือมีความเห็นถูกตรงใน ๑๐ เรื่อง เรียกว่า 'ทสวัตถุกสัมมาทิฏฐิ'

ทสวัตถุกสัมมาทิฏฐิ

(๑) อตฺถิ ทินฺนํ เห็นว่า การทำบุญให้ทานได้รับผลดีมีประโยชน์

(๒) อตฺถิ ยิฏฐํ เห็นว่า การบูชาได้รับผลดีมีประโยชน์ หมายถึง การบูชาคุณของผู้มีคุณทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้า  พระธรรม พระสงฆ์ เป็นต้น ด้วยสิ่งของตามควร เช่น  ข้าว น้ำ  ผ้า ดอกไม้  ของหอม เป็นต้น

(๓) อตฺถิ หุตํ เห็นว่า การเชื้อเชิญ ปฏิสันถาร ได้รับผลดีมีประโยชน์

(๔) อตฺถิ สุกตทุกฺกตานํ กมฺมานํ ผลํ วิปาโก เห็นว่า การทำดีและทำชั่ว มีการได้รับผลทั้งทางตรงและทางอ้อม

(๕) อตฺถิ อยํ โลโก เห็นว่า ภพนี้มีอยู่ คือ ผู้ที่จะมาเกิดในภพนี้ มีอยู่

(๖) อตฺถิ ปโร โลโก เห็นว่า ภพหน้ามีอยู่ คือ ผู้ที่จะไปเกิดภพหน้าในอนาคต มี

(๗) อตฺถิ มาตา เห็นว่า การทำดีทำชั่วต่อมารดา ย่อมมีผลในภายหน้า

(๘) อตฺถิ ปิตา เห็นว่า การทำดีทำชั่วต่อบิดา ย่อมมีผลในภายหน้า

(๙) อตฺถิ สตฺตา โอปปาติกา เห็นว่า สัตว์ที่เติบโตขึ้นทันทีมีอยู่ คือ สัตว์นรก เปรต อสุรกาย เทวดาและพรหม

(๑๐) อตฺถิ โลเก สมณพรฺาหมฺณา สมฺมาปฏิปนฺนา  เห็นว่า สมณพราหมณ์ ผู้ปฏิบัติชอบประจักษ์แจ้งโลกนี้และโลกหน้า ด้วยตนเองและประกาศให้ผู้อื่นรู้ได้นั้น มีอยู่ เมื่อใครเห็นตรงตามหลักของทสวัตถุกสัมมาทิฏฐิแล้ว ก็ชื่อว่า ประกอบไปด้วยปัญญา (กัมมัสสกตาญาณ คือรู้ว่าสัตว์มีกรรมเป็นของตน ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นต้น) ดังนั้น การทำบุญทำทาน การรักษาศีล การเจริญภาวนาของผู้นั้น ก็จะมีผล (อานิสงส์) สมบูรณ์ คือ มีผลมาก มีผลเต็มเปี่ยม  

(ค) 'โดยไม่มีการชักชวน' (อสงฺขาริกํ) คือ การคิดดี การทำดี โดยไม่ต้องรอให้มีใครมาหว่านล้อมหรือ ชักชวนใดๆ คิดได้เองและริเริ่มเอง คิดและตัดสินใจกระทำสิ่งดีๆ เอง อย่างรวดเร็วฉับไวไม่ลังเล และเชื่อมั่นในความคิด ภูมิใจ ในการกระทำดีนั้นๆ อย่างเต็มเปี่ยมและมั่นคง นอกไปจากนี้ การคิดเป็นกุศล คือ จิตที่เป็นกุศล รวมทั้งคำพูดการกระทำ ที่เป็นกุศล ที่ดีนั้น หากเป็นไปครบทั้ง ๓ กาลด้วยแล้ว ก็จะยิ่งดี ยิ่งประเสริฐ ยิ่งเพียบพร้อมยิ่งๆ ขึ้น

กาลทั้ง ๓

(๑) ปุพฺพเจตนา เจตนาที่เกิดขึ้นก่อนการกระทำใดๆ หมายถึง ในการกระทำอันเป็นกุศลต่างๆ มีทาน ศีล ภาวนา เป็นต้น จิตที่คิดริเริ่มจะทำอะไร เป็นจิตที่ดี สะอาด บริสุทธิ์ อาทิ พรุ่งนี้จะไปถวายสังฆทาน พอเริ่มคิดก็จิตใจสดใส ยินดีที่จะได้ทำบุญ ทำทาน มีปัญญารู้ว่าการถวายสังฆทานเป็นการทำดีและจะส่งผลดีๆ ให้ก็ตระเตรียมสิ่งของไว้ถวายสังฆทานด้วยความเต็มใจ ด้วยจิตใจร่าเริง และฉลาดด้วยปัญญา

(๒) มุญฺจเจตนา เจตนาที่เกิดขึ้นในขณะกำลังกระทำ หมายถึง ในการกระทำอันเป็นกุศลต่างๆ มีทาน ศีล ภาวนา เป็นต้น ขณะกำลังทำความดีใดๆ นั้น จิตก็เป็นกุศลเต็มเปี่ยม เต็มใจ ประกอบพร้อมด้วยความฉลาด คือรู้ตระหนักว่าตนกำลัง ทำความดี กำลังทำสิ่งดีๆ ที่จะให้ผลเป็นความสุขในระดับต่างๆ ตามสมควรแก่การกระทำนั้นๆ

(๓) อปรเจตนา เจตนาที่เกิดขึ้นในภายหลัง เมื่อกระทำไปแล้ว หมายถึง ในการกระทำอันเป็นกุศลต่างๆ มีทาน ศีล ภาวนา เป็นต้น จิตหลังจากที่ได้กระทำดีนั้นๆ มาแล้ว เมื่อไหร่ที่นึกหรือใคร่ครวญ ถึงเรื่องนั้นก็จะยินดี ปลาบปลื้ม ในสิ่งดีๆ ในคุณความดีที่ได้กระทำไป ไม่มีความคิดในแง่ลบใดๆ ประกอบ อาทิ ไม่เสียดายทานที่ได้ทำไป ไม่เสียดายเวลาที่ไปเจริญภาวนากุศล ไม่เสียใจที่ได้เจริญศีลกุศล (คือ อยู่ในศีล) หรือไม่มานั่งเสียดายสิ่งของที่ได้นำไปถวายสังฆทานแล้ว เป็นต้น

นอกจากนั้น ยังตระหนักรู้ว่าการกระทำที่ทำไป เป็นการกระทำที่ดี มีประโยชน์ จะให้ผลเป็นความสุข ให้ผล เป็นสิ่งอันเป็นกุศล ต่อไป เรียกว่า มีเจตนาอันบริสุทธิ์ทั้ง ๓ กาล ในการกุศลนั้นๆ ก็จะเป็น กุศลชั้นสูง (อุกกัฏฐกุศล) มีผลมาก แต่หากในการกระทำกุศลต่างๆ มีทาน ศีล ภาวนา เป็นต้น ก่อนทำก็ดี ขณะกำลังกระทำก็ดีหรือภายหลังที่ทำเสร็จแล้วก็ดี ถ้าจิตใจของผู้กระทำนั้น มีอกุศลหรือคิดไม่ดีใดๆ เจือปนอยู่ในกาลใดใน ๓ กาลนี้ก็ตาม ก็เรียกว่า มีเจตนาไม่บริสุทธิ์ในกาลทั้ง ๓ กุศลนั้นก็มีผลน้อย คือเป็นกุศลชั้นต่ำ (โอมกกุศล)

ในบรรดา เจตนา ในกาลทั้ง ๓ นี้ การจะตัดสินว่ากุศลนั้นเป็นกุศล ชั้นต่ำ (โอมกกุศล) หรือกุศลชั้นสูง (อุกกัฏฐกุศล) ท่านให้ดูจาก อปรเจตนา หรือ อปราปรเจตนา คือ เจตนาที่เกิดขึ้น ในภายหลังการกระทำกุศลใดๆ เพราะว่าเป็นเจตนาภายหลัง คือเป็นเจตนาล่าสุดที่สุด ท่านว่าถึงแม้ว่าเจตนาก่อนกระทำ (ปุพพเจตนา) หรือ เจตนาระหว่างทำ (มุญจเจตนา) จะไม่ค่อยบริสุทธิ์ก็ตาม แต่ถ้าหากว่าอปรเจตนา คือเจตนาล่าสุดที่เกิดขึ้นภายหลังกระทำไปแล้วนั้น เป็นเจตนาที่บริสุทธิ์ คือ คิดนึกย้อนไปเมื่อไหร่ใจก็ยิ่งเปี่ยมไปด้วยกุศล ปลาบปลื้ม ยินดี ประกอบด้วยปํญญายิ่งๆ แม้เวลาจะล่วงเลย มาไม่เท่าไหร่ หรือล่วงเลยมานานแล้วก็ตาม -- กุศลที่ได้เจริญคือ ได้กระทำไปแล้วนั้น ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคทาน การรักษาศีล การเจริญภาวนา อันใดก็ตามนั้น ก็จะมีผลมาก เป็นกุศลชั้นสูง (อุกกัฏฐกุศล)

แต่ถ้าหากว่าเมื่อทำไปแล้ว มานึกตอนหลังก็เกิดความเสียดาย กลุ้มใจหรือไม่ก็อาจจะเกิดความยินดีเพลิดเพลินที่เป็นตัณหา หรือเกิดความหยิ่งผยองในใจว่าเราทำได้ดีกว่าผู้อื่น ได้ทำมากกว่าผู้อื่น อันเป็นความคิดที่เป็นอกุศล เหล่านี้ กุศลกรรมคือการกระทำดีนั้นๆ ที่ได้ทำไปแล้วในอดีตนั้น ก็จะจัดเป็นกุศลชั้นต่ำ คือ โอมกกุศล ไป

การทำความดีด้วยจิตอันเป็นกุศล การทำความดีหรือการกระทำอันเป็นสุจริต เกิดจากเจตนาอันเป็น มหากุศล (คือ กุศลจิตหรือมหากุศลจิตที่กล่าวมาแล้ว) กุศลเหล่านี้ เรียกว่า 'กามาวจรกุศล'

กามาวจรกุศลกรรม กามาวจรกุศลกรรม มี ๑๐ คือ

(กายกรรม ๓) (๑) เว้นจากการฆ่าสัตว์ (๒) เว้นจากการลักทรัพย์ (๓) เว้นจากการประพฤติผิดทางเพศ

(วจีกรรม ๔) (๔) เว้นจากการพูดเท็จ (๕) เว้นจากการพูดส่อเสียด (๖) เว้นจากการกล่าวคำหยาบ

(๗) เว้นจากการกล่าวคำที่ไม่เป็นประโยชน์

(มโนกรรม ๓) (๘) สังวร คือ ระวังไม่ให้ความโลภเกิด (๙) สังวร คือ ระวังไม่ให้ความพยาบาทหรือโทสะเกิด (๑๐) มีความเห็นถูกต้อง

ช่างไม้ ย่อมถากไม้ให้ตรงได้

ช่างศร ย่อมถากศรให้ตรงได้ฉันใด

ผู้มีปัญญา ย่อมยังกุศลจิตให้เกิดขึ้นได้เสมอ

แม้จะอยู่ในอารมณ์ใดก็ตาม ฉันนั้น

Law of Attraction เป็นกฎแห่งธรรมชาติ หรือกฎแห่งจักรวาล ซึ่งอยู่คู่โลกและอยู่คู่กับมวลมนุษยชาติมานับเป็นพันๆ ปี หรือในทางพระพุทธศาสนาก็คือ กฎแห่งกรรม หรือกฎแห่งการกระทำ นั่นเอง กฎแห่งการดึงดูดอาจอธิบายอย่างง่ายๆ ได้ว่า คนเราคิดอย่างไรก็จะเป็นอย่างนั้น เนื่องจากความคิดส่งผลต่อคำพูดและการกระทำ อะไรที่เราคิดถึงอยู่ตลอดเวลา  มันจะเป็นจริงได้ในที่สุด เพราะความคิดของคนเรา มักดึงดูดสิ่งที่เราคิดอยู่ตลอดเวลา แม้สิ่งนั้นเราจะไม่ต้องการก็ตาม แต่ถ้าเราคิดถึงมันอยู่ตลอด มันก็จะมาปรากฏแก่เราในที่สุด ดังคำโบราณของไทยที่ว่า “เกลียด และกลัวสิ่งไหน ก็มักจะเจอสิ่งนั้น!” ก็เพราะเรามักจะคิดแต่สิ่งที่เราเกลียดและที่เรากลัวอยู่ตลอดเวลา เราจึงมักต้องเจอกับสิ่งนั้นในที่สุดนั่นเอง 555  "ทำกรรมใดไว้  ก็จะได้รับผลแห่งกรรมนั้น...จำไว้นะ  จำไว้"

รู้อย่างนี้แล้ว  คิดดีๆไว้นะคะเพื่อน  พยายามรู้สึกตัวไว้ค่ะ รู้สึกว่าเราคิดดี พูดดีและทำดีอยู่เสมอนะคะ 

ขอบคุณทุกท่านที่อ่าน  ขอให้เจริญในธรรมนะคะ

บุญรักษา  ธรรมคุ้มครองค่ะ

หมายเลขบันทึก: 274676เขียนเมื่อ 9 กรกฎาคม 2009 12:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 23:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

อ่านเหมือนกัน 'กฎแห่งการดึงดูด' และปฎิบัติด้วย ได้ผลจริงๆนะ

ปรากฏการณ์ใด เหตุการณ์ใด ความรู้สึกใดที่เกิดขึ้นในจิตให้มองตามความเป็นจริงโดยไม่มีข้อสมมุติฐานคือไม่เอาอคติหรือความรู้ลัทธิใดเข้าไปทรอดแทรกและตีความ

แล้วจะรู้ว่ากฎแห่งการดึงดูดเป็นเช่นไรขอรับ...

ซึ้งมาก น้ำตาไหล สาธุ

...ตาทิสํ วปเต พีชํ บุคคลเมื่อหว่านพืชเช่นไร

...ยาทิสํ ลพเต พลํ ก็ย่อมได้รับผลเช่นนั้น

...กลฺยาณการี กลฺยานํ เมื่อทำดี ย่อมได้ดี (ผู้ทำกรรมดี ย่อมได้ผลดี)

...ปาปการี จ ปาปกํ ทำชั่ว ย่อมได้ชั่ว(ผู้ทำกรรมชั่ว ย่อมได้ผลชั่ว)

~~~ขุทฺทกนิกาย ธมฺมปทกถาย~~~

ขอบคุณสำหรับ บทความดีๆครับ

เติมเต็มความคิด และความเข้าใจ ใน Law of Attraction

หรือกฎแห่งการดึงดูดได้ที่ www.keedduzi.com ครับ

เป็นคอร์สวิธีคิดแบบวิทยศาสตร์ที่ คม-ชัด-ลึก-ง่ายที่สุด

ได้ถ่ายทอดแบ่งปันให้ผู้คนมากกว่า 2000 คน ผ่านการสัมมนาที่จัดขึ้นทุกเดือนมากกว่า 24 ครั้ง จากเชียงใหม่ จรดสตูล

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท