ลิขิตฟ้าหรือต้องฝ่าฟัน


สามสิบลิขิตฟ้า เจ็ดสิบต้องฝ่าฟัน

กณีศึกษา SMEs “ลิขิตฟ้าหรือต้องฝ่าฟัน

 

     ถ้าเราจะกล่าวถึงผู้ที่ประสบความสำเร็จ  หลายคนอาจจะกล่าวว่าเพราะ สวรรค์ลิขิต, บางคนอาจจะกล่าวว่า สร้างมากับมือ  แล้วท่านผู้อ่านคิดว่าอย่างไร (ลองตอบในใจดู)  ผู้เขียนขอยกเรื่องเพลงของคุณเจิน เจิน ที่ว่า สามสิบลิขิตฟ้า เจ็ดสิบต้องฝ่าฟัน ต้องสู้  ต้องสู้จึงจะชนะ  มาเป็นข้อคิด สำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมทุกท่าน   เรื่องจริง ๆ แล้วนั้นเราสามารถกำหนด  หรือมีส่วนในการที่จะกำหนดอนาคต  ความสำเร็จ  หรือความล้มเหลวของตัวเราเองได้  ขึ้นอยู่กับการกระทำของตัวเรา  ขึ้นอยู่กับความตั้งใจ  ทุ่มเทในการทำงาน  การเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหา  การหาตัวช่วยซึ่งทางเรา สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. พร้อมและยินดีให้คำแนะนำหรือช่วยเหลือ  ติดต่อได้ที่ 0-2278-8800 ต่อ 400

     หลาย ๆ เรื่องเป็นสิ่งที่เรากำหนดไม่ได้  และถ้าเราจะกล่าวว่าฟ้ากำหนดก็น่าจะไม่ผิด , หรือแล้วแต่เวร แต่กรรมของคน , หรือแล้วแต่บุญวาสนาเช่น  การเลือกเกิด  เราไม่สามารถเลือกเกิดเองได้ว่า  จะเกิดที่ไหน , ครอบครัวจะรวยหรือจน , เป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย เป็นต้น  ถ้าจะเปรียบเทียบกับเพลงก็อาจจะเป็น สามสิบลิขิตฟ้า  แต่หลังจากที่เราเติบโตจนมีความคิด  เราจะเลือกขยันเรียนหรือขี้เกียจ , เราจะเลือกตั้งใจทำงานหรือเช้าชามเย็นชาม , เราจะเปิดรับการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ หรือเราจะปิดหูปิดตาตัวเอง , เราจะเลือกทำสิ่งที่ถูกกฎหมายหรือผิดกฎหมาย , เราจะเลือกต่อสู้อุปสรรคหรือคิดสั้น  เหล่านี้ล้วนคือ เจ็ดสิบต้องฝ่าฟัน ต้องสู้ ต้องสู้จึงจะชนะ   จะขอยกตัวอย่างผู้ประกอบการที่พยายามต่อสู้อุปสรรคต่าง ๆ นานา มาให้ดูดังนี้

      กรณีศึกษาผู้ประกอบการในประเทศลาว 

      ผู้เขียนพึ่งจะกลับมาจากประเทศลาวได้เห็นถึงความแตกต่างของผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจในประเทศลาว  ในปัจจุบันนี้เมืองหลวงเวียงจันทน์มีคนต่างชาติเข้าไปลงทุนอย่างมากมายเช่น คนไทย , คนจีน , คนเวียตนาม ,  คนเกาหลีและฝรั่งหลาย ๆ ชาติ เป็นต้น  และก็เริ่มจะมีการแบ่งเขตของการทำการค้าเป็นย่าน ๆ เช่น ย่านของคนจีน  ถ้าเราเข้าไปในย่านนี้ตอนกลางคืนประมาณสามทุ่ม  ท่านจะสังเกตเห็นความแตกต่างได้ทันทีว่า  ยังมีการเปิดร้านค้าขายเหมือนตอนกลางวัน  ถึงแม้ว่าในเวียงจันทร์ร้านค้าขายส่วนใหญ่จะปิดหมดแล้ว ( ยกเว้นร้านอาหาร )  ไม่ว่าจะเป็นขายของเบ็ดเตล็ด , ร้านขายเฟอร์นิเจอร์ , ร้ายขายเครื่องยนต์คล้าย ๆ เซียนกงบ้านเรา และร้านขายของต่าง ๆ มากมายของย่านคนจีนยังคงเปิดอยู่  บางร้านเปิดยันสว่าง  เขาทำอย่างนั้นทำไม? เราสอบถามมาได้ว่าการค้าในประเทศลาวมีโอกาสยังไม่มากนักจึงต้องการเปิดรับทุก ๆ โอกาสที่จะเข้ามาในทุก ๆ เวลา  เพื่อให้ความสะดวกของโอกาสให้มากที่สุด   และแน่นอนเขาเหล่านั้นย่อมจะต้องขายดีมากกว่าคนอื่น ๆ เพราะเขารอและเปิดโอกาสให้ตัวเองคอยต้อนรับลูกค้าทุก ๆ คนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้  และนี่คือตัวอย่างหนึ่งของ   เจ็ดสิบต้องฝ่าฟัน ต้องสู้ ต้องสู้จึงจะชนะ

      กรณีศึกษา  ผู้ประกอบการร้านอาหารในอเมริกา

      ในประจุบันถ้าเราเดินทางไปอเมริกาและมีโอกาสอยู่ในช่วงวันอาทิตย์ในเมืองไม่ใหญ่มากนัก และลองออกไปหาอาหารทานเองนอกที่พัก  จะพบว่ามีแต่ร้านอาหารคนจีน , ร้านอาหารคนอินเดีย และร้านอาหารคนไทยเท่านั้น   เพราะร้านอาหารของคนฝรั่งปิดหมดเพราะเป็นวันหยุด  และร้านอาหารที่เปิดก็ขายดีมาก ๆ นี่ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของคนที่ต่อสู้เพื่อกำหนดความสำเร็จของตัวเอง  เพื่อกำหนดอนาคตของตัวเองและสามารถกำหนดได้ถ้าเราเลือกทำงานให้มากกว่าคนอื่น  ถ้าเราเลือกขยันอดทนมากกว่าคนอื่น  เราจะเป็นผู้ชนะได้ด้วยตัวเรากำหนด

     กรณีศึกษา ร้านขายเสื้อผ้าสามสาขา (สยามสแคว,พารากอนและเกศร)

     มีผู้ประกอบการมาปรึกษาหาทางแก้ปัญหาว่า  ขายไม่ดีจะทำอย่างไรดี เราก็เริ่มต้นค้นหาข้อมูลจากผู้ประกอบการเช่น  การลดค่าใช้จ่าย  , การจัดการส่งเสริมการขาย , การจัดการในด้านการผลิตให้มีการลดต้นทุน  และมองหาทางแก้ปัญหาในด้านต่าง ๆ แต่ก็ไม่พบจุดอ่อน  และค้นพบว่าผู้ประกอบการกลุ่มนี้มีการบริหารงานที่มีความสามัคคี  รักใคร่กันดีมาก  ยอมรับซึ่งกันและกัน  มีผู้นำที่เสียสละ,มีความสามารถและได้รับการยอมรับสูง เมื่อที่ปรึกษาพยายามวิเคราะห์ดูก็ทราบว่าเป็นเรื่องยากที่จะหาทางแก้ไขเนื่องจากว่าสภาวะทางเศรษฐกิจมีผลต่อการขายเสื้อผ้าราคาสูง  มีการออกแบบที่โดดเด่น  แปลกและไม่เหมือนใคร   และลูกค้าที่เคยมาซื้อก็ลดลงมากไม่มีคนมาเดิน  ทำให้ยากที่จะแก้ไข  ที่ปรึกษาจึงเสนอแนวความคิดที่จะยกสินค้าไปหาลูกค้าในบริเวณที่ทำงานของกลุ่มเป้าหมาย  ซึ่งเราวางแผนที่จะทำในช่วงเศรษฐกิจไม่ดีเป็นแผนการแก้ไขชั่วคราว  โดยเราจะไม่ลงทุนเปิดสาขาใหม่  การนำสินค้าไปหาลูกค้ากลุ่มเป้าหมายถึงที่ทำงานก็ได้รับการยอมรับจากผู้ประกอบการว่าสามารถนำไปทำได้จริง  ใช้จ่ายต่ำ  น่าลองทำดีกว่านั่งรอแบบไม่มีอนาคต  ที่ปรึกษาก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเขาเหล่านั้นน่าจะสามารถต่อสู้และแก้ปัญหาได้  และคาดว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นเร็ว ๆ นี้ ต้องสู้ จึงจะชนะ

     กรณีศึกษา ร้านขายสีรถยนต์ มีสองสาขา

     เธอเป็นวัยรุ่นอายุประมาณสิบเก้าถึงยี่สิบปี  กำลังเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย  เข้ามารับการปรึกษาได้ 4 ครั้งและครั้งหลังสุดก็น่าจะได้แนวทางแก้ไขที่น่าจะเป็นไปได้จริง ๆ จุดเริ่มต้นคือ คุณพ่อทำงานต่อไปไม่ไหวเนื่องจากปัญหารุมเร้าอย่างมากมาย  มีร้านขายสีรถยนต์สองแห่งย่านสำโรง  มีปัญหาขาดสภาพคล่องเนื่องจากเศรษฐกิจตกต่ำ , ลูกค้าไม่จ่ายเงิน , เจ้าหนี้ตามเก็บเงิน , ลูกน้องลาออกไปเปิดร้านแข่งขันในทำเลใกล้ ๆ กัน , ธนาคารเร่งรัดเงินตลอดเวลาและไม่ดูแลเท่าที่ควรเช่นลูกค้ามีถึงแถวมูลค่า 5 ล้านบาทปลอดหนี้ต้องการนำมาค้ำประกันวงเงินเพิ่มเติมเพื่อแก้ปัญหาแต่ทางธนาคารก็ไม่ยินยอมอย่างเดียวเลย  เราจึงต้องแนะนำให้ขายตึกแถว 5 ล้านบาทไปก่อนเพราะสามารถแก้ปัญหาได้ทันทีเนื่องจากปัญหาเพียง 2 ล้านบาทเท่านั้น  วันหลังค้าขายดีแล้วกลับมาซื้อใหม่ก็ได้  สำหรับสาขานี้ขายดีก็ไม่ต้องเลิกเพียงแต่หาทำเลใกล้เคียงเช่าทำกิจการต่อไปและต้องแจ้งลูกค้าให้ทราบทั่วถึงก่อนย้าย  เธอก็ได้นำไปปรึกษาคุณพ่อก็ได้รับการเห็นชอบ  และคาดว่าจะสามารถแก้ไขในเร็ว ๆ นี้   นี่ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่เด็กผู้หญิงกำลังศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงแค่ปีหนึ่ง  ก็ต้องหยุดเรียนมาช่วยแก้ปัญหาเร่งด่วนเพื่อครอบครัว  น้อง ๆ จะต้องใช้จ่ายเรียนหนังสือ  และดำเนินชีวิตต่อไปได้ด้วยดี   และนี่ก็คืออีกตัวอย่างหนึ่งที่ต้องพยายามต่อสู้เพื่อกำหนดอนาคตของตน เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเธอจะช่วยคุณพ่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ด้วยดีและขอเป็นกำลังใจให้เธอด้วยคนนะครับ

      จากตัวอย่างต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วขอเป็นกำลังใจให้นักสู้ทั้งหลายสามารถฟันฝ่าปัญหาวิกฤตต่าง ๆ ไปได้ด้วยความพยายาม  ความอดทนและความอุสสาหะนะครับ

ธนพล  ก่อฐานะ

ที่ปรึกษา SMEs ด้านการบริหารจัดการธุรกิจ

ฝ่ายประสานและบริการ SMEs  

หมายเลขบันทึก: 274449เขียนเมื่อ 8 กรกฎาคม 2009 13:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 07:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

บทความนี้ชี้ให้เห็นถึงความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้นั้นเราต้องเป็นผู้สร้างเอง ไม่ใช่รอส้มหล่นหรือปาฏิหาร

ช่วงนี้เป็นช่วงที่ผู้ประกอบการต้องการกำลังใจ

แต่เท่านั้นก็ยังไม่พอ เราต้องฝ่าฟันด้วยตัวเราเองด้วยนะครับ

ดร.ธนพล ก่อฐานะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท