มาช่วยกันวิจารณ์


แสดงความคิดเห็นเมื่อมีโอกาสแสดงความคิดเห็น

จงตอบคำถามต่อไปนี้

 

๑.  วรรณกรรมไทยมีกี่ประเภท

                การจัดแบ่งประเภทของวรรณกรรมไทยสามารถจำแนกได้หลายลักษณะแตกต่างกันตามมุมมองผู้จัดประเภท  การจัดแบ่งประเภทวรรณกรรมไทยมีกี่ประเภทจึงเป็นเรื่องยากที่จะสรุปว่ามีกี่ประเภท  การจัดแบ่งประเภทจึงใช้มุมมองในการที่จะพิจารณา  ดังต่อไปนี้

                ประการที่หนึ่งแบ่งตามลักษณะการประพันธ์  จำแนกวรรณกรรมออกเป็น    ประเภท  ประกอบด้วยวรรณกรรมร้อนแก้วและวรรณกรรมร้อยกรอง  วรรณกรรมร้อยแก้วเป็นวรรณกรรมที่ไม่มีการบังคับฉันทลักษณ์เขียนเป็นความเรียง  ส่วนวรรณกรรมร้อยกรองเป็นวรรณกรรมที่บังคับฉันทลักษณ์

                ประการที่สองแบ่งตามรูปแบบได้    ประเภท  คือ  บันเทิงคดีกับสารคดี 

                                วรรณกรรมประเภทบันเทิงคดี  (Fiction)  คือ วรรณกรรมที่เน้นให้ความเพลิดเพลินกับผู้อ่านเป็นประการสำคัญ ให้ข้อคิด คติสอนใจ ซึ่งสามารถแบ่งประเภทได้ดังนี้

                                ๑.  เรื่องสั้น  (Short  Story)

                                ๒.  นวนิยาย  (Novel) 

                                ๓.  บทละคร  (Drama)

                                วรรณกรรมประเภทสารคดี  (Non- Fiction)  คือ  วรรณกรรมที่มุ่งให้ความรู้  ความคิดประโยชน์เป็นประการสำคัญ  ซึ่งสามารถแบ่งย่อยได้ดังนี้

                                ๑.  ความเรียง  (Essay)

                                ๒.  บทความ  (Article)

                                ๓.  สารคดีชีวประวัติ  (Biography)

                                ๔.  สารคดีท่องเที่ยว  (Travelogue)

                                ๕.  อนุทิน  (Diary)

                                ๖.  จดหมายเหตุ  (Arehive)

                                การแบ่งวรรณกรรมไทยโดยใช้มุมมองของรูปแบบเป็นที่นิยมมากที่สุดในการแบ่งประเภทวรรณกรรมตามลักษณะต่างๆ 

                ประการที่สามแบ่งตามลักษณะการถ่ายทอดหรือการนำเสนอ  สามารถแบ่งประเภทของวรรณกรรมเป็น    ประเภท  วรรณกรรมมุขปาฐะและวรรณกรรมลายลักษณ์  วรรณกรรมมุขปาฐะคือวรรณกรรมที่เล่ากันปากต่อปาก  ไม่มีการบันทึกเป็นตัวอักษร  เสพโดยการฟัง  วรรณกรรมลายลักษณ์เป็นวรรณกรรมที่มีอยู่มากคือ  วรรณกรรมที่เขียนเป็นตัวหนังสือรวบรวมเป็นรูปเล่ม

                ประการที่สี่แบ่งตามความหมาย  เนื่องจากคำว่า  วรรณกรรม  เป็นคำที่มีความหมายกว้าง  ยากแก่การนิยามความหมายให้ชัดเจนได้  การแบ่งวรรณกรรมตามความหมายแบ่งเป็น    ประเภท  คือ  วรรณกรรมและวรรณคดี  ซึ่งประเภทของวรรณกรรมทั้งสองจะแตกต่างกันเพียงว่า  วรรณคดีคือวรรณกรรมที่ได้รับการยกย่องว่าแต่งดี  หรือมีวรรณศิลป์  ซึ่งวรรณกรรมอาจจะมีหรือไม่ก็ได้  โดยที่วรรณกรรมคืองานเขียนทั่วๆ  ไป

                จากที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการแบ่งประเภทวรรณกรรม  จะเห็นได้ว่า  การแบ่งประเภทของวรรณกรรมสามารถแบ่งได้หลายลักษณะตามแต่ลักษณะที่ใช้ในการแบ่ง  การแบ่งประเภทของวรรณกรรมส่วนใหญ่ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ  การแบ่งวรรณกรรมตามลักษณะของรูปแบบ    ประเภท  ดังนี้  ๑.  เรื่องสั้น  ๒.  นวนิยาย  ๓.  สารคดี  ๔.  กวีนิพนธ์  ๕.  ปกิณกคดี  เนื่องจากการแบ่งในลักษณะนี้สามารถจำแนกลักษณะการประพันธ์เป็นร้อยแก้วและร้อยกรอง  ลักษณะการแบ่งลักษณะนี้สามารถให้รายละเอียดได้อย่างครอบคลุมกว่าและให้ความชัดเจนกว่า

 

๒.  แต่ละประเภทมีลักษณะเฉพาะตนอย่างไร

                วรรณกรรมแต่ละประเภทย่อมมีความแตกต่างกันไปในแต่ละประเภท  ประเภทของวรรณกรรมในที่นี้ใช้การแบ่งโดยใช้รูปแบบ  ซึ่งเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมมากที่สุด  แบ่งเป็น    ประเภท  ประกอบด้วย  เรื่องสั้น  นวนิยาย  สารคดี  กวีนิพนธ์  และปกิณกคดี  ด้วยลักษณะเด่นเฉพาะของวรรณกรรมแต่ละเรื่องทำให้สามารถแบ่งประเภทวรรณกรรมออกเป็นประเภทได้  วรรณกรรมแต่ละประเภทมีลักษณะเฉพาะตนดังนี้

                ๑.  เรื่องสั้น  เป็นวรรณกรรมที่มีขนาดสั้น  สามารถจบเรื่องได้ในตอนเดียว  เรื่องสั้นแต่ละเรื่องมีความเป็นเอกภาพในตัว  เรื่องสั้นเป็นเรื่องที่มีโครงเรื่องเดียว  มีตัวละครน้อย  เหตุการณ์สั้นๆ  ส่วนมากเป็นเหตุการณ์สั้นๆ  นำเสนอแนวคิดหลักเพียงสิ่งเดียว

                ๒.  นวนิยาย  เป็นวรรณกรรมที่มีขนาดยาว  นิยมแบ่งเนื้อเรื่องออกเป็นตอนๆ  มีหลายเหตุการณ์ มีโครงเรื่องใหญ่และโครงเรื่องย่อย  มีแนวคิดที่หลากหลายตามความยาวของเรื่องที่แบ่งเป็นตอนๆ  มีตัวละครมาก  ดำเนินเรื่องใช้เวลามากกว่าเรื่องสั้น 

                ๓.  สารคดี  เป็นวรรณกรรมที่อิงอยู่กับข้อมูลที่เป็นจริง  ไม่มีส่วนของจิตนาการเข้ามาเกี่ยวข้อง  อาจจะมีความคิดเห็นของผู้เขียนบ้างแต่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเป็นความคิดเห็นของผู้เขียน  วรรณกรรมประเภทสารคดีมุ่งที่จะให้ความรู้แก่ผู้อ่านเป็นสำคัญ

                ๔.  กวีนิพนธ์  คืองานเขียน(วรรณกรรม)ที่มีความแตกต่างจากประเภทที่ได้กล่าวมาแล้วตรงที่ใช้ฉันทลักษณ์ในการประพันธ์  การใช้ฉันทลักษณ์ทำให้วรรณกรรมประเภทนี้ถูกจัดเป็นประเภทใหม่  โดยพิจารณาตามรูปแบบอาจเป็นสารคดี  เรื่องสั้น  นวนิยายก็ได้  แต่การเขียนต้องมีฉันทลักษณ์  ที่เรียกว่า  วรรณกรรมร้อยกรอง ในปัจจุบันอาจจะมีกลอนบางประเภทที่ไม่มีฉันทลักษณ์ แต่ผู้อ่านสามารถรับรู้ได้ว่ามีลักษณะคล้ายกลอนก็นับว่าเป็นกวีนิพนธ์

                ๕.  ปกิณกคดี  เป็นรามวรรณกรรมต่างๆ  ที่ไม่ชัดอยู่ในประเภทใดประเภทหนึ่งที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

๓.  ท่านคิดว่าการวิจัยวรรณกรรมแต่ละประเภทใช้ระเบียบวิธีเหมือนหรือต่างกันอย่างไร

                ในการวิจัยทางวรรณกรรมแต่ละประเภทใช้ระเบียบวิธีวิจัยในลักษณะเดียวกันและมีรายละเอียดบางอย่างที่ต่างออกไปเฉพาะประเภทของการศึกษา  ในการวิจัยทางวรรณกรรมขั้นตอนต่างๆ  ในการวิจัยเป็นขั้นตอนที่สามมารถใช้ได้กับวิจัยวรรณกรรมทุกประเภท  ส่วนวิธีการในแต่ละขั้นตอนการวิจัยจะแตกต่างกันออกไป  เช่น  ขั้นของการเก็บรวบรวมข้อมูล  การวิจัยเอกสาร(วรรณกรรมที่เป็นลายลักษณ์)การเก็บข้อมูลไม่จำเป็นต้องมีการลงพื้นที่เก็บข้อมูล  การวิจัยวรรณกรรมมุขปาฐะการเก็บข้อมูลต้องลงพื้นที่  เก็บข้อมูลจากผู้เล่าเรื่อง  หรือในการขั้นตอนของการวิเคราะห์ข้อมูลที่ต้องอ้างอิงแนวคิดทฤษฎี  ทำให้วิธีการวิเคราะห์ข้อมูลแตกต่างกันออกไป  การใช้แนวคิดที่แตกต่างในการศึกษาวรรณกรรมเรื่องเดียวกันจะได้ผลการวิเคราะห์ต่าง  เช่น  การวิเคราะห์เรื่องไตรภูมิพระร่วง  หากวิเคราะห์ด้วยทฤษฎีพุทธศาสนาวรรณคดีเรื่องนี้ถือว่าเป็นวรรณกรรมที่มีคุณค่า  หากพิจารณาด้วยแนวคิดทางการเมืองวรรณคดีเรื่องนี้อาจถูกจัดเป็นเครื่องมือที่ชนชั้นผู้ปกครองใช้กดขี่ชนชั้นผู้ถูกปกครอง 

                ระเบียบวิธีวิจัยทางวรรณกรรมไม่มีความแตกต่างกันมากนักในแต่ละประเภท  สามารถใช้ระเบียบวิธีเดียวกันได้  การวิจัยจะแตกต่างกันออกไปตามแนวคิดทฤษฎีที่ใช้  ข้อมูลซึ่งเป็นรายละเอียดย่อยที่ผู้วิจัยต้องอิงตามความมุ่งหมายของการวิจัย  แต่โครงสร้างหลักในการวิจัยนั้นไม่ว่าจะเป็นวรรณกรรมประเภทใดก็ใช้ระเบียบวิจัยเดียวกัน  เว้นเสียแต่ว่าเป็นการวิจัยอย่างอื่นที่มิใช้วรรณกรรม

หมายเลขบันทึก: 274377เขียนเมื่อ 8 กรกฎาคม 2009 09:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 21:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท