พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. ๒๔๕๗


พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. ๒๔๕๗

พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่
พ.ศ. ๒๔๕๗

           มีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสเหนือเกล้า ฯ ให้ประกาศทราบทั่วกันว่าเมื่อในสมัยรัชกาลแห่งสมเด็จพระบรมชนกนารถ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ขึ้นเมื่อ พระพุทธศักราช ๒๔๔๐ และได้ใช้พระราชบัญญัตินั้นเป็นแบบแผนวิธีปกครองพระราชอาณาจักร อันอยู่ภายนอกจังหวัดกรุงเทพฯ มาจนบัดนี้พระราชบัญญัติอื่น ๆ อันเนื่องด้วยปกครองราษฎร ซึ่งตั้งขึ้นภายหลังต่อมาได้ยึดพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่นี้เป็นหลักอีกเป็นอันมาก เพราะฉะนั้น พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ นับว่าเป็นพระราชบัญญัติสำคัญในการปกครองพระราชอาณาจักรอย่างหนึ่ง
           ตั้งแต่ได้ตราพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ในพระพุทธศักราช ๒๔๔๐ มา วิธีปกครองพระราชอาณาจักรได้จัดการเปลี่ยนแปลงดำเนินมาโดยลำดับหลายอย่าง ทรงพระราชดำริเห็นว่า ถึงเวลาอันสมควรที่จะแก้ไขพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ให้ตรงกับวิธีการปกครองที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้แก้ไขพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่รัตนโกสินทรศก ๑๑๖ ของเดิม แห่งใดที่ยังใช้ได้ให้คงไว้ แห่งที่เก่าเกินกว่าวิธีปกครองทุกวันนี้แก้ไขให้ตรงกับเวลารวบรวมตราเป็นพระราชบัญญัติไว้ สืบไปดังนี้

หมวดที่ ๑
ว่าด้วยนามและการใช้พระราชบัญญัติ

            มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช ๒๔๕๗
           มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ ตั้งแต่วันประกาศแล้วให้ใช้ทั่วทุกมณฑลเว้นแต่ในจังหวัดกรุงเทพฯ ชั้นใน และเมื่อใช้พระราชบัญญัตินี้แล้วให้ยกเลิกพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ รัตนโกสินทรศก ๑๑๖ เสีย ใช้พระราชบัญญัตินี้แทนสืบไป
           มาตรา ๓ บรรดาพระราชกำหนดกฎหมายแต่ก่อน บทใดข้อความขัดกับพระราชบัญญัตินี้ ให้ยกเลิกกฎหมายบทนั้นตั้งแต่วันที่ได้ใช้พระราชบัญญัตินี้ไป
           มาตรา ๔ อำนาจหน้าที่สมุหเทศาภิบาล ซึ่งกล่าวต่อไปในพระราชบัญญัตินี้ ส่วนในมณฑลกรุงเทพฯ ให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของเสนาบดีกระทรวงนครบาลหรือข้าราชการผู้ใหญ่ในกระทรวงนครบาล ซึ่งเสนาบดีกระทรวงนครบาล จะได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อำนาจหน้าที่เฉพาะการนั้น ๆ อีกประการหนึ่ง ความที่กล่าวต่อไปในพระราชบัญญัตินี้ แห่งใดมีใจความว่าสมุหเทศาภิบาลจะทำได้ด้วยอนุมัติของเสนาบดี ใจความอันนี้ไม่ต้องใช้ในส่วนมณฑลกรุงเทพฯ และหน้าที่สมุหเทศาภิบาลและเสนาบดีในส่วนมณฑลกรุงเทพฯ รวมอยู่ในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงนครบาล
           มาตรา ๕ ให้เสนาบดีผู้บัญชาการปกครองท้องที่มีอำนาจที่จะตั้งกฎข้อบังคับ สำหรับจัดการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ ถ้าและกฎนั้นได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต และประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษาแล้วก็ให้ถือว่าเป็นเหมือนส่วนหนึ่งในพระราชบัญญัตินี้
           มาตรา ๖ ในการที่จะกำหนดเขตหมู่บ้านและตำบลทั้งปวงในหัวข้อเรื่องใดให้ผู้ว่าราชการเมืองนั้น เมื่อได้อนุมัติของสมุหเทศาภิบาลแล้ว มีอำนาจที่จะกำหนดได้ และการที่จะกำหนดเขตอำเภอนั้นก็ให้สมุหเทศาภิบาลมีอำนาจที่จะกำหนดได้ เมื่อได้รับอนุมัติของเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยแล้วฉะนั้นส่วนมณฑลกรุงเทพฯ เสนาบดีกระทรวงนครบาลกำหนดได้เด็ดขาด

หมวดที่ ๒
ว่าด้วยวิธีอธิบายศัพท์ที่ใช้ในพระราชบัญญัติ

           มาตรา ๗ ศัพท์ว่า บ้าน และเจ้าบ้าน ซึ่งกล่าวในพระราชบัญญัติให้พึงเข้าใจดังนี้ คือ
           ข้อ ๑ ศัพท์ว่า บ้านนี้ หมายความว่า เรือนหลังเดียวก็ตาม หลายหลังก็ตาม ซึ่งอยู่ในเขตที่มีเจ้าของอิสระส่วนหนึ่งในพระราชบัญญัตินี้ว่า บ้านหนึ่งห้องแถว และแพ หรือเรือชำ ซึ่งประจำอยู่ที่ใด ถ้ามีเจ้าของหรือผู้เช่าครอบครองเป็นอิสระต่างหากห้องหนึ่ง หลังหนึ่ง ลำหนึ่ง หรือหมู่หนึ่ง ในเจ้าของหรือผู้เช่าคนนั้นนับว่าบ้านหนึ่งเหมือนกัน
           ข้อ ๒ ศัพท์ว่า เจ้าบ้านนั้น หมายความว่า ผู้อยู่ปกครองบ้านและได้ว่ามาแล้วในข้อก่อน จะครอบครองด้วยเป็นเจ้าของ ด้วยหรือเป็นผู้เช่าก็ตาม ด้วยเป็นผู้อาศัยโดยชอบด้วยกฎหมายก็ตาม ถือตามพระราชบัญญัตินี้ว่าเป็นเจ้าบ้าน
           ข้อ ๓ วัด โรงพยาบาล โรงทหาร โรงเรียน เรือนจำ ที่ทำการไปรษณีย์ สถานีรถไฟ สถานที่ต่าง ๆ ของรัฐบาล อยู่ในความปกครองของหัวหน้าในที่นั้น ไม่นับเป็นบ้านตามพระราชบัญญัติ

หมวดที่ ๓
ว่าด้วยลักษณะปกครองหมู่บ้าน
ตอน ๑
การตั้งหมู่บ้าน

           มาตรา ๘ บ้าน หลายบ้านอยู่ในท้องที่อันหนึ่ง ซึ่งควรอยู่ในความปกครองเดียวกันได้ ให้จัดเป็นหมู่บ้านหนึ่ง ลักษณะที่กำหนดหมู่บ้านตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือความสะดวกแก่การปกครองเป็นประมาณ คือ
           ข้อ ๑ ถ้าเป็นที่มีคนอยู่รวมกันมาก ถึงจำนวนบ้านน้อย ให้ถือเอาจำนวนคนเป็นสำคัญประมาณราว ๒๐๐ คนเป็นหมู่บ้านหนึ่ง
           ข้อ ๒ ถ้าเป็นที่ผู้คนตั้งบ้านเรือนอยู่ห่างไกลกัน ถึงจำนวนคนน้อยถ้าและจำนวนบ้านไม่ต่ำกว่า ๕ บ้านแล้ว จะจัดเป็นหมู่บ้านหนึ่งก็ได้

ตอน ๒
การแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน
การออกจากตำแหน่งของผู้ใหญ่บ้าน และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน
(ชื่อตอน ๒ แก้ไขโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๘๖)

           มาตรา ๙ ในหมู่บ้านหนึ่ง ให้มีผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่ง และมีผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง หมู่บ้านละสองคน เว้นแต่หมู่บ้านใดมีความจำเป็นต้องมีมากกว่าสองคน ให้ขออนุมัติกระทรวงมหาดไทย
           ในหมู่บ้านใด ผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นสมควรให้มีผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ ก็ให้มีได้ตามจำนวนที่กระทรวงมหาดไทยจะเห็นสมควร
           ผู้ใหญ่บ้านจะได้รับเงินเดือน แต่มิใช่จากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือน ส่วนผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครองจะได้รับเงินตอบแทนตามที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด
           (มาตรา ๙ แก้ไขโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑๒ ลงวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๕)
           มาตรา ๑๐ ผู้ใหญ่บ้านมีอำนาจหน้าที่ปกครองบรรดาราษฎรที่อยู่ในเขตหมู่บ้าน
           (มาตรา ๑๐ แก้ไขโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๘๖)
           มาตรา ๑๑ ให้กรมการอำเภอประชุมราษฎรซึ่งมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ เลือกราษฎร ผู้มีคุณสมบัติที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๒ เป็นผู้ใหญ่บ้าน
           (๑) มีสัญชาติไทยและมีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ ในวันที่ ๑ มกราคม ของปีที่มีการเลือก
           (๒) ไม่เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
           (๓) ไม่เป็นคนวิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
           (๔) มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่เป็นประจำ และมีชื่อในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร ในหมู่บ้านนั้นติดต่อกันมาแล้วไม่น้อยกว่าสามเดือนจนถึงวันเลือก
           (มาตรา ๑๑ แก้ไขโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๘๙)
           (ความใน (๔) ของมาตรา ๑๑ แก้ไขโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๓๕ และ ความใน (๑) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๔๒)
           มาตรา ๑๒ ผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
           (๑) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
           (๒) อายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบห้าปีบริบูรณ์ในวันรับเลือก
           (๓) มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่เป็นประจำ และมีชื่อในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรในหมู่บ้านนั้นติดต่อกันมาแล้วไม่น้อยกว่าสองปีจนถึงวันเลือกและเป็นผู้ที่ประกอบอาชีพเป็นหลักฐาน
           (๔) เป็นผู้เลื่อมใสในการปกครองตามรัฐธรรมนูญด้วยความบริสุทธิ์ใจ
           (๕) ไม่เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
           (๖) ไม่เป็นผู้มีร่างกายทุพพลภาพจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ วิกลจริต จิตฟั่นเฟือน ไม่สมประกอบ ติดยาเสพติดให้โทษ หรือเป็นโรคตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา
           (๗) ไม่เป็นสมาชิกรัฐสภา สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ข้าราชการการเมือง ข้าราชการประจำ พนักงาน เจ้าหน้าที่ หรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ หรือของรัฐวิสาหกิจ หรือขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือลูกจ้างของส่วนราชการ หรือลูกจ้างของเอกชนซึ่งมีหน้าที่ทำงานประจำ
           (๘) ไม่เป็นผู้มีอิทธิพลหรือเสียชื่อในทางพาลหรือทางทุจริต หรือเสื่อมเสียในทางศีลธรรม
           (๙) ไม่เป็นผู้เคยถูกให้ออก ปลดออก หรือไล่ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะทุจริตต่อหน้าที่ และยังไม่พ้นกำหนดเวลาสิบปีนับแต่วันถูกให้ออก ปลดออก หรือไล่ออก
           (๑๐) ไม่เป็นผู้เคยต้องรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุด เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ และยังไม่พ้นกำหนดเวลาสิบปีนับแต่วันพ้นโทษ
           (๑๑) ไม่เป็นผู้เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำผิดเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ กฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติ กฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า กฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ กฎหมายว่าด้วยศุลกากร กฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน ในฐานความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ กฎหมายว่าด้วยที่ดิน ในฐานความผิดเกี่ยวกับที่สาธารณประโยชน์ กฎหมายว่าด้วยยาเสพติด กฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง และกฎหมายว่าด้วยการพนัน ในฐานความผิดเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสำนัก
           (๑๒) ไม่เป็นผู้เคยถูกให้ออกจากตำแหน่งตามมาตรา ๑๔ (๖) หรือ (๗) และยังไม่พ้นกำหนดเวลาสิบปีนับแต่วันถูกให้ออก
           (๑๓) ไม่เป็นผู้เคยถูกลงโทษให้ออก ปลดออก หรือไล่ออกจากตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล หรือผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน และยังไม่พ้นกำหนดเวลาสิบปีนับแต่วันถูกให้ออก ปลดออกหรือไล่ออก
           (๑๔) มีพื้นความรู้ไม่ต่ำกว่าการศึกษาภาคบังคับ หรือที่กระทรวงศึกษาธิการเทียบไม่ต่ำกว่าการศึกษาภาคบังคับ เว้นแต่ในท้องที่ใดไม่อาจเลือกผู้มีพื้นความรู้ดังกล่าวได้ ผู้ว่าราชการจังหวัดโดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อาจประกาศในราชกิจจานุเบกษายกเว้นหรือผ่อนผันได้
           (มาตรา ๑๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๔๒)
           มาตรา ๑๓ การเลือกนั้นให้กรมการอำเภอเป็นประธานพร้อมด้วยกำนันหรือผู้ใหญ่บ้านในตำบลนั้นอย่างน้อยหนึ่งคน
           วิธีเลือกจะกระทำโดยลับหรือโดยเปิดเผยก็ได้
           เมื่อราษฎรส่วนมากที่มาประชุมเลือกผู้ใดแล้ว ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้ใหญ่บ้าน แล้วให้กรมการอำเภอรายงานไปยังข้าหลวงประจำจังหวัดเพื่อออกหนังสือสำคัญให้ไว้เป็นหลักฐาน
           ในกรณีที่ผู้รับเลือกมีคะแนนเสียงเท่ากันให้จับสลาก
           ผู้ใหญ่บ้านอยู่ในตำแหน่งคราวละห้าปี นับแต่วันที่ราษฎรเลือก
           (มาตรา ๑๓ แก้ไขโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๘๙)
           (ความในวรรคห้าของมาตรา ๓ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๓๕)
           มาตรา ๑๔ ผู้ใหญ่บ้านต้องออกจากตำแหน่งด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง ดังต่อไปนี้
           (๑) ขาดคุณสมบัติหรือเข้าลักษณะต้องห้ามอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา ๑๒
           (๑ ทวิ)ถึงคราวออกตามวาระ
           (๒) ตาย
           (๓) ได้รับอนุญาตให้ลาออก
           (๔) หมู่บ้านที่ปกครองถูกยุบ
           (๕) ไปเสียจากหมู่บ้านที่ตนปกครองเกินสามเดือน
           (๖) ราษฎรผู้มีสิทธิเลือกผู้ใหญ่บ้านในหมู่บ้านนั้นมีจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งจำนวนร้องขอให้ออกจากตำแหน่ง
           (๗) ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งให้ออกจากตำแหน่ง เมื่อได้สอบสวนเห็นว่าบกพร่องในทางความประพฤติ หรือความสามารถไม่เหมาะสมกับตำแหน่ง
           ความใน (๑) มิให้ใช้บังคับแก่มาตรา ๑๒ (๕) ในกรณีที่ผู้ใหญ่บ้านได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัดให้ลาอุปสมบท หรือบรรพชาได้ไม่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบวัน
           ความในวรรคสอง ให้ใช้บังคับแก่กำนันด้วย
           (มาตรา ๑๔ แก้ไขโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๕๓๒)
           (ส่วนความใน (๑ ทวิ) เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๓๕)
           มาตรา ๑๕ ผู้ใหญ่บ้านและกำนันท้องที่ร่วมกันพิจารณาคัดเลือกราษฎรซึ่งมีคุณสมบัติตามมาตรา ๑๖ เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครองและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ
           (มาตรา ๑๕ แก้ไขโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๑๐)
           มาตรา ๑๖ ผู้มีสิทธิจะได้รับคัดเลือกเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง หรือผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๒
           (มาตรา ๑๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๔๒)
           มาตรา ๑๗ เมื่อผู้ใดได้รับคัดเลือกเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครองหรือผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ ให้กำนันรายงานไปยังนายอำเภอเพื่อออกหนังสือสำคัญไว้เป็นหลักฐาน และให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง หรือผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบตั้งแต่วันที่นายอำเภอออกหนังสือสำคัญ
           (มาตรา ๑๗ แก้ไขโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๑๐)
           มาตรา ๑๗ ทวิ ในหมู่บ้านใดมีผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบผู้ว่าราชการจังหวัดจะแต่งตั้งให้ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครองเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบอีกตำแหน่งหนึ่งก็ได้ ส่วนเงินค่าตอบแทนให้เป็นไปตามที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด
           (มาตรา ๑๗ ทวิ แก้ไขโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑๒ ลงวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๕)
           มาตรา ๑๘ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครองและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบอยู่ในตำแหน่งคราวละห้าปี
           นอกจากออกจากตำแหน่งตามวาระ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบต้องออกจากตำแหน่งเพราะขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๒ หรือเพราะเหตุเช่นเดียวกับที่ผู้ใหญ่บ้านต้องออกจากตำแหน่งตามมาตรา ๑๔ (๒) ถึง (๗)
           ถ้าตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครองหรือผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบว่างลง ให้มีการคัดเลือกผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครองหรือผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบแทน และให้นำความในมาตรา ๑๕ มาตรา ๑๖ และมาตรา ๑๗ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
           ผู้ซึ่งได้รับคัดเลือกตามวรรคสามอยู่ในตำแหน่งตามวาระของผู้ซึ่งตนแทน
           เมื่อผู้ใหญ่บ้านต้องออกจากตำแหน่งไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครองและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบต้องออกจากตำแหน่งด้วย
           (มาตรา ๑๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๔๒)
           มาตรา ๑๙ การที่ต้องเลือกผู้ใหญ่บ้านขึ้นใหม่นั้น อาศัยเหตุผล ๒ ประการ คือ
           ข้อ ๑ ถ้าลูกบ้านในหมู่บ้านใดทวีขึ้น จะเป็นด้วยผู้คนเกิดก็ตามหรืออพยพมาแต่ที่อื่นก็ตาม เมื่อกำนันนายตำบลและผู้ใหญ่บ้านในตำบลนั้นปรึกษากันเห็นว่า จำนวนคนในหมู่บ้านใดเกินกว่าความสามารถในผู้ใหญ่บ้านคนเดียวจะดูแลปกครองให้เรียบร้อยได้ ให้กำนันนำความแจ้งต่อกรมการอำเภอ ให้พิเคราะห์ด้วยอีกชั้นหนึ่ง แล้วให้กรมการอำเภอบอกเข้าไปยังผู้ว่าราชการเมือง เมื่อผู้ว่าราชการเมืองเห็นสมควรแล้ว ก็ให้ตั้งหมู่บ้านขึ้นใหม่และเลือกผู้ใหญ่บ้านเพิ่มเติมขึ้นใหม่ได้
           ข้อ ๒ ถ้าผู้ใหญ่บ้านหมู่ใดว่างลง ให้คัดเลือกผู้ใหญ่บ้านขึ้นใหม่ภายในกำหนดสิบห้าวัน นับแต่วันที่ได้ทราบการว่างนั้น การคัดเลือกให้นำความในมาตรา ๑๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
           (ความในข้อ ๒ ของมาตรา ๑๙ แก้ไขโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๘๖)
           มาตรา ๒๐ เมื่อผู้ใหญ่บ้านต้องออกจากตำแหน่งด้วยเหตุประการใด ๆ เป็นหน้าที่ของกำนันนายตำบลนั้น จะต้องเรียกหมายตั้ง และสำมะโนครัวทะเบียนบัญชีที่ได้ทำขึ้นไว้ในหน้าที่ผู้ใหญ่บ้านนั้นคืนมารักษาไว้ เมื่อผู้ใดรับตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้านแทน ก็ให้มอบสำมะโนครัวและทะเบียนบัญชีทั้งปวงให้ แต่หมายตั้งนั้นกำนันต้องรีบส่งให้กรมการอำเภอ อนึ่ง การที่จะเรียกคืนหมายตั้งและสำมะโนครัวทะเบียนบัญชีที่ได้กล่าวมาในข้อนี้ ถ้าขัดข้องประการใด กำนันต้องรีบแจ้งความต่อกรมการอำเภอ
           มาตรา ๒๑ ถ้าผู้ใหญ่บ้านคนใดจะทำการในหน้าที่ไม่ได้ในครั้งหนึ่งคราวหนึ่ง ให้มอบหน้าที่ให้แก่ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครองคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาการแทนจนกว่าผู้ใหญ่บ้านนั้นจะทำการในหน้าที่ได้ และรายงานให้กำนันทราบ ถ้าการมอบหน้าที่นั้นเกินกว่าสิบห้าวัน ให้กำนันรายงานให้นายอำเภอทราบด้วย
           (มาตรา ๒๑ แก้ไขโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๑๐)

ตอน ๓
การตั้งหมู่บ้านชั่วคราว

           มาตรา ๒๒ ถ้าในท้องที่อำเภอใดมีราษฎรไปตั้งชุมนุมทำการหาเลี้ยงชีพแต่ในบางฤดู ถ้าและจำนวนราษฎรซึ่งไปตั้งทำการอยู่มากพอสมควรจะจัดเป็นหมู่บ้านได้ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ เพื่อความสะดวกแก่การปกครอง ก็ให้นายอำเภอประชุมราษฎรในหมู่นั้นเลือกว่าที่ผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่ง หรือหลายคนตามควรแก่กำหนดที่ว่าไว้ในพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่นี้
           มาตรา ๒๓ ผู้ซึ่งสมควรจะเป็นว่าที่ผู้ใหญ่บ้านตามมาตรา ๒๒ ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๒ (๑) (๒) (๔) (๕) (๖) (๗) (๘) (๙) (๑๐) (๑๑) (๑๒) (๑๓) และ (๑๔)
           (มาตรา ๒๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๔๒)
           มาตรา ๒๔ ผู้ใหญ่บ้านเช่นนี้ ให้เรียกว่า ว่าที่ผู้ใหญ่บ้าน เพราะเหตุที่เป็นตำแหน่งชั่วครั้งหนึ่งคราวหนึ่ง แต่มีอำนาจและหน้าที่เท่าผู้ใหญ่บ้านทุกประการ ถ้าราษฎรเลือกผู้หนึ่งผู้ใดอันสมควรจะว่าที่ผู้ใหญ่บ้านได้ ก็ให้รายงานขอหมายตั้งต่อผู้ว่าราชการเมือง
           มาตรา ๒๕ หมายตั้งว่าที่ผู้ใหญ่บ้านนี้ ให้ผู้ว่าราชการเมืองทำหมายพิเศษตั้ง เพื่อให้ปรากฏว่าผู้นั้นว่าที่ผู้ใหญ่บ้านตั้งแต่เดือนนั้นเพียงเดือนนั้นเป็นที่สุด ตามกำหนดฤดูกาลที่ราษฎรจะตั้งชุมนุมกันอยู่ในที่นั้นเมื่อราษฎรอพยพแยกย้ายกันไปแล้ว ก็ให้เป็นอันสิ้นตำแหน่งและหน้าที่เมื่อถึงฤดูใหม่ก็ให้เลือกตั้งใหม่อีกทุกคราวไป
           มาตรา ๒๖ หมู่บ้านที่จัดขึ้นชั่วคราวนี้ ให้รวมอยู่ในกำนันนายตำบลซึ่งได้ว่ากล่าวท้องที่นั้นแต่เดิม เว้นไว้แต่ถ้าท้องที่เป็นท้องที่ป่าเปลี่ยวห่างไกลจากกำนัน เมื่อมีจำนวนคนที่ไปตั้งอยู่มาก ผู้ว่าราชการเมืองเห็นจำเป็นจะต้องมีกำนันขึ้นต่างหาก ก็ให้เลือกและตั้งว่าที่กำนันได้โดยทำนองตั้งว่าที่ผู้ใหญ่บ้านตามที่ได้กล่าวมาแล้ว

ตอน ๔
หน้าที่และอำนาจของผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน
(ตอนที่ ๔ แก้ไขชื่อโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๑๐)

           มาตรา ๒๗ ผู้ใหญ่บ้านเป็นหัวหน้าของราษฎรในหมู่บ้านของตน ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ มีหน้าที่และอำนาจในทางปกครองและรักษาความสงบเรียบร้อยของราษฎร ดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
           ข้อ ๑ ที่จะรักษาความสงบและความสุขสำราญ ช่วยป้องกันความทุกข์ภัยของลูกบ้านตามสมควรและที่สามารถจะทำได้ การที่กล่าวนี้ ถ้าสมควรจะต้องปรึกษาหารือและช่วยกันกับเพื่อนผู้ใหญ่บ้านก็ดี กับกำนันนายตำบลก็ดี ก็เป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านที่จะต้องปฏิบัติให้สมควรแก่การที่จะรักษาประโยชน์และความสุขของลูกบ้าน ซึ่งได้มอบไว้เป็นธุระในพระราชบัญญัตินี้
           ข้อ ๒ ถ้าความทุกข์ภัยเกิดแก่ลูกบ้าน ซึ่งจะต้องขอความป้องกันจากรัฐบาล เป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านที่จะนำความแจ้งต่อเจ้าพนักงานปกครอง ตั้งแต่กำนัน นายอำเภอ เป็นต้น ขึ้นไปโดยลำดับ
           ข้อ ๓ ถ้ารัฐบาลจะประกาศ หรือจะสั่งราชการอันใดให้ราษฎรทราบเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านที่จะรับข้อความอันนั้นไปแจ้งแก่ลูกบ้านของตนให้ทราบ
           ข้อ ๔ เป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านที่จะทำบัญชีสำมะโนครัวในหมู่บ้านของตน และคอยแก้ไขบัญชีนั้นให้ถูกต้องเสมอ
           ข้อ ๕ ถ้าผู้ใหญ่บ้านรู้เห็นเหตุการณ์แปลกประหลาดอันใดที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านของตน หรือในลูกบ้านของตน ซึ่งอาจจะเป็นคุณ หรือเป็นโทษแก่ราชการบ้านเมืองก็ดี แก่ประชาชนในที่นั้นก็ดี ยกตัวอย่างข้างฝ่ายโทษ ดังรู้เห็นว่าผู้คนมีทรัพย์สิ่งของแปลกประหลาดอันน่าสงสัยว่า เป็นของที่ได้มาโดยทางโจรกรรมก็ดี หรือว่าถ้าเห็นผู้คนล้มตาย หรือมีบาดแผลอันควรสงสัยว่าจะมีผู้อื่นกระทำเอาโดยทุจริต หรือไปกระทำทุจริตต่อผู้อื่นแล้วจึงเกิดเหตุขึ้นก็ดี เหล่านี้เป็นต้น ให้รีบนำความแจ้งต่อกำนันนายตำบลของตน
           ข้อ ๖ ถ้ามีคนจรแปลกหน้านอกสำมะโนครัวหมู่บ้านนั้นเข้ามาอาศัยเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านจะต้องไต่ถามให้รู้จักตัว และรู้เหตุการณ์ที่มาอาศัยถ้าเห็นว่าไม่ได้มาโดยสุจริตให้เอาตัวผู้นั้นส่งกำนันนายตำบลของตน
           ข้อ ๗ ถ้าเกิดเหตุจลาจลก็ดี ฆ่ากันตายก็ดี ตีชิงก็ดี ปล้นทรัพย์ก็ดีหรือไฟไหม้ก็ดี หรือเหตุร้ายสำคัญอย่างใด ๆ ในหมู่บ้านของตน หรือในหมู่บ้านที่ใกล้เคียงอันสมควรจะช่วยได้ เป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านจะต้องเรียกลูกบ้านของตนออกช่วยต่อสู้ติดตามจับผู้ร้ายเอาของกลางคืนหรือดับไฟ หรือช่วยอย่างอื่นที่สมควรโดยเต็มกำลัง
           ข้อ ๘ ผู้ใหญ่บ้านเห็นลูกบ้านของตนคนใดแสดงความอาฆาตมาดร้ายแก่ผู้อื่นก็ดี หรือเป็นคนจรจัดไม่ปรากฏการทำมาหาเลี้ยงชีพ และไม่สามารถจะชี้แจงให้เห็นความบริสุทธิ์ของตนได้ก็ดี ผู้ใหญ่บ้านมีอำนาจที่จะเรียกลูกบ้านคนนั้นมาไต่ถามและว่ากล่าวสั่งสอน ถ้าไม่ฟังให้เอาตัวส่งกำนันจัดการตามความในมาตรา ๕๒ แห่งพระราชบัญญัตินี้
           ข้อ ๙ ควบคุมดูแลลูกบ้านให้ปฏิบัติหน้าที่ซึ่งจะต้องพึงกระทำตามกฎหมาย หรือระเบียบแบบแผนของทางราชการ
           ข้อ ๑๐ ฝึกหัดอบรมให้คนไทยรู้จักหน้าที่และกระทำการในเวลารบ
           ข้อ ๑๑ ทำการอบรมสั่งสอน หรือชี้แจงข้อราชการแก่ราษฎรในการนี้ให้เรียกราษฎรมาประชุมได้ตามครั้งคราวที่สมควร
           ข้อ ๑๒ บำรุงและส่งเสริมการอาชีพของราษฎรในทางเกษตรกรรมพาณิชยกรรม และอุตสาหกรรม
           ข้อ ๑๓ ตรวจตราและรักษาประโยชน์ในการอาชีพของราษฎร
           ข้อ ๑๔ สั่งให้ราษฎรช่วยเหลือในการสาธารณประโยชน์ เพื่อบำบัดปัดป้องภยันตรายซึ่งมีมาเป็นสาธารณะโดยฉุกเฉิน และให้ทำการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ราษฎรผู้ประสพสาธารณภัย
           ข้อ ๑๕ จัดการป้องกันโรคติดต่อ หรือโรคระบาดซึ่งเกิดขึ้น หรือจะเกิดขึ้นในหมู่บ้าน เพื่อมิให้ติดต่อลุกลามมากไป
           ข้อ ๑๖ จัดหมู่บ้านให้เป็นระเบียบเรียบร้อยและต้องด้วยสุขลักษณะ
           ข้อ ๑๗ จัดให้มีการประชุมกรรมการหมู่บ้าน
           ข้อ ๑๘ ปฏิบัติการตามคำสั่งของกำนัน หรือทางราชการ และรายงานเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นในหมู

หมายเลขบันทึก: 273464เขียนเมื่อ 4 กรกฎาคม 2009 12:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 14:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
เด็กหญิงกิติยา รามอินทร์ ม.1/6 เลขที่ 21

อ่านแล้วค่ะ

กานต์มณี ปานนิล ม.1/1 เลขที่ 18

อ่านแล้วคะครู

- พรบ.ลัษณะปกครองท้องที่ ฉบับที่ 11 พ.ศ. 2551 ระบุคุณสมบัติผู้ใหญ่บ้าน มาตรา 12 (14) มีพื้นความรู้ไม่ต่ำกว่าการศึกษาภาคบังคับ หรือที่กระทรวงศึกษาธิการเทียบไม่ต่ำกว่าการศึกษาภาคบังคับ เว้นแต่ในท้องที่ใดไม่อาจเลือกผู้มีพื้นความรู้ดังกล่าวได้ ผู้ว่าราชการจังหวัดโดยอนุมัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อาจประกาศในราชกิจจานุเบกษายกเว้นหรือผ่อนผันได้

- พรบ.การศึกษาภาคบังคับ พ.ศ. 2545 มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้

“การศึกษาภาคบังคับ” หมายความว่า การศึกษาชั้นปีที่หนึ่งถึงชั้นปีที่เก้าของการศึกษา

ขั้นพื้นฐานตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ

“สถานศึกษา” หมายความว่า สถานศึกษาที่จัดการศึกษาภาคบังคับ

“ผู้ปกครอง” หมายความว่า บิดามารดา หรือบิดา หรือมารดา ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองหรือผู้ปกครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และหมายความรวมถึงบุคคลที่เด็กอยู่ด้วยเป็นประจำหรือที่เด็กอยู่รับใช้การงาน

“เด็ก” หมายความว่า เด็กซึ่งมีอายุย่างเข้าปีที่เจ็ดจนถึงอายุย่างเข้าปีที่สิบหก เว้นแต่เด็กที่สอบได้ชั้นปีที่เก้าของการศึกษาภาคบังคับแล้ว

- ข้อสอบถาม ผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้าน เกิดปี 2509 ไม่จบการศึกษาในระบบปกติ แต่มาเรียนเพิ่มที่ กศน.ได้วุฒิ ป.6 จบปี 2549 ถ้าบุคคลนี้ลงสมัครรับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้าน จะมีคุณสมบัติตรงตามนัย พรบ.ทั้งสองนี้หรือไม่อย่างไรครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท