หลักสูตรสาระการเรียนรู้ท้องถิ่น


ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
รายงานการวิจัยการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาสาระการเรียนรู้ท้องถิ่นตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยหนังสือบทร้อยกรองประกอบภาพ เรื่อง ฮีตสิบสอง ประเพณีการทำบุญประจำเดือนชาวอีสาน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5   โรงเรียนบ้านท่ามะไฟหวาน
 
ความเป็นมา

                  ศิลปะวัฒนธรรมประเพณีรวมถึงเอกลักษณ์ของชาติที่ได้สืบทอดโดยภูมิปัญญาท้องถิ่น  นับว่าเป็นมรดกอันล้ำค่าที่ควรแก่การรักษาสืบสานให้อนุชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ทราบถึงวิถีชีวิตอันดีงาม  และความเจริญรุ่งเรืองในอดีตของคนไทยเพื่อความภาคภูมิใจในเอกลักษณ์ของชาติที่นานาอารยประเทศต่างก็ให้ความสำคัญและให้การยกย่องในสิ่งที่ดีงามเหล่านี้ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดนโยบายการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540  หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย มาตรา 46 ระบุว่าบุคคลซึ่งรวมกันเป็นท้องถิ่นดั้งเดิมย่อมมีสิทธิ์อนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่นศิลปะ หรือวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติและหมวด  4 หน้าที่ของชนชาวไทย  มาตรา  69  ระบุว่าบุคคลมีหน้าที่  พิทักษ์  ปกป้อง และสืบสานศิลปะ  วัฒนธรรม   ของชาติ  และ ภูมิปัญญาท้องถิ่น  อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ในหมวด 5  แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ  มาตรา  81  ระบุว่ารัฐต้องจัดการศึกษาอบรม  และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น  ศิลปะและวัฒนธรรมของชาติ  (รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พุทธศักราช  2540, 2541. หน้า 14 – 22)

              ส่วนแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษา  ศาสนา  ศิลปะ  และวัฒนธรรมระยะที่  9  พุทธศักราช  2545  -  2549  ได้มีวิสัยทัศน์เพื่อให้  คนไทยได้พัฒนาให้เป็นมนุษย์  เป็นคนดี       คนเก่ง มีความสุข  พึ่งพาตนเองได้  มีจิตสำนึกในความเป็นไทย  มีศาสนธรรมและวัฒนธรรม     เป็นวิถีชีวิตบนพื้นฐานภูมิปัญญาไทยและสากล  (แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษา ศาสนา ศิลปะ  และวัฒนธรรมระยะที่  9  พุทธศักราช  2545 -2549,  2545.  หน้า  12)  และในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  ฉบับที่ 9  พุทธศักราช  2545  -  2549  ในด้านการกำหนดวิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศ  ที่จะให้เป็นสังคมแห่งภูมิปัญญา  และการเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้คนไทยทุกคนสามารถคิดเป็น  ทำเป็น  มีเหตุผล  สามารถรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่น ควบคู่ไปกับการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม  (แผนพัฒนาเศรษฐกิจ  และสังคมแห่งชาติ  ฉบับที่ 9  พุทธศักราช  2545  - 2549, 2545.  หน้า 16 -  17)   โดยได้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติพุทธศักราช  2542  บัญญัติไว้ในหมวด  1  บททั่วไป  ความมุ่งหมายและหลักการ  มาตรา  7  ในกระบวนการเรียนรู้ต้องมุ่งปลูกฝังจิตสำนึกที่ถูกต้อง  มีความภาคภูมิใจในความเป็นไทย  รวมทั้งส่งเสริมศาสนา  ศิลปวัฒนธรรมของชาติ  การกีฬา  ภูมิปัญญาท้องถิ่น  และความรู้อันเป็นสากลและหมวด 4   มาตรา  29  ที่ให้สถานศึกษาร่วมกับบุคคล  ครอบครัว  ชุมชน  องค์กรชุมชนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสถาบันสังคมอื่น จัดกระบวนการเรียนรู้ภายในชุมชน  และรู้จักเลือกสรรภูมิปัญญา  และวิทยาการต่าง ๆ  เพื่อพัฒนาชุมชนให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและ ความต้องการ (พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติพุทธศักราช  2542,  2542.  หน้า  32 – 33)

                  เสรี  พงศ์พิศ  (2529.  หน้า 45)  ได้กล่าวว่า  ภูมิปัญญาท้องถิ่น  หรือภูมิปัญญาชาวบ้าน  หมายถึง  พื้นเพรากฐานความรู้ของชาวบ้าน  เป็นสติปัญญา  เป็นองค์ความรู้ทั้งหมดของชาวบ้านทั้งกว้างและลึก  ชาวบ้านสามารถคิดเองทำเอง  โดยอาศัยศักยภาพที่มีอยู่ใช้แก้ปัญหาการดำเนินชีวิตได้ในท้องถิ่นของตน  ช่วยให้ชาวบ้านสามารถพึ่งพาตนเองได้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่ตนอาศัยอยู่  โดยที่กรมวิชาการ  กระทรวงศึกษาธิการ  (2540.  หน้า 5)  ได้กล่าวว่าในการจัดการเรียนการสอนที่มุ่งจะให้ผู้เรียนได้รู้จักท้องถิ่น เกิดความรัก  ความภูมิใจในท้องถิ่นของตนเองนั้น  นอกจากการจัดกระบวนการเรียนการสอน  ที่มุ่งให้ผู้เรียนได้มีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับชีวิต  อาชีพ  เศรษฐกิจ  และสังคมของท้องถิ่นแล้ว  จะต้องนำเอาทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นทั้งที่เป็นทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรที่มนุษย์สร้างขึ้น  มาใช้ในการจัดการเรียนการสอนด้วย  เพราะจะช่วยให้ผู้เรียนมีประสบการณ์ตรงกับชีวิต  สภาพเศรษฐกิจ  สังคม และสิ่งแวดล้อมที่แท้จริง  ในขณะที่  อำนาจ  จันทร์แป้น  (2542.  หน้า  93)  กล่าวไว้ว่า  ท้องถิ่นที่มีบทบาทในการพัฒนาหลักสูตรซึ่งเป็นการกระจายความรับผิดชอบในการจัดการศึกษาโดยให้ท้องถิ่นมีบทบาท ในการพัฒนาหลักสูตร และการบริหารหลักสูตรให้เหมาะสม สอดคล้องกับสภาพที่เป็นจริงของท้องถิ่นสามารถนำไปสู่การเรียนการสอนในชั้นเรียนที่ทันต่อสภาพเหตุการณ์  อันจะมีความหมายต่อผู้เรียนและชุมชนส่วนนิคม  ชมภูหลง (2545.  หน้า 4)  ได้กล่าวว่า ภูมิปัญญาท้องถิ่น  หรือ ภูมิปัญญาชาวบ้านถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจ  เนื่องจากภูมิปัญญาท้องถิ่นเกิดขึ้นจากความรอบรู้  ประสบการณ์  แนวคิดที่สังคม  หรือชุมชนได้ถ่ายทอดสืบสานต่อกันมา  เพื่อใช้ประโยชน์จากสิ่งแวดล้อมแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นเพื่อผลในการดำรงชีวิตอย่างสุขกายสบายใจ

การจัดการศึกษามีหลักสูตรเป็นหัวใจและเป็นเครื่องมือถ่ายทอดเจตนารมณ์  หรือ        เป้าประสงค์ของการศึกษาของชาติลงสู่การปฏิบัติ การที่หลักสูตรจะบรรลุจุดมุ่งหมายเพียงใด  ย่อมขึ้นอยู่กับขั้นตอนการนำหลักสูตรไปใช้ในโรงเรียนเป็นสำคัญ  เพราะโรงเรียนเป็นหน่วยปฏิบัติ  ที่สำคัญที่สุดที่จะแปลงหลักสูตรไปสู่การปฏิบัติจริงเพื่อให้เกิดผลกับผู้เรียน  อันจะเป็นผลผลิตของการใช้หลักสูตรนั่นเอง  (อำนาจ จันทร์แป้น, 2542. หน้า 93)  ได้เสนอแนะไว้ว่า สถานที่ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการพัฒนาหลักสูตรคือสถานที่ซึ่งผู้เรียนและผู้สอนมาพบกัน  คือโรงเรียนนั่นเอง  การพัฒนาหลักสูตรระดับโรงเรียนมีแนวคิดว่า โรงเรียนเป็นผู้รับภาระในการจัดการศึกษาให้กับชุมชน  โรงเรียนจึงควรมีส่วนในการกำหนดหลักสูตร  เพื่อให้สอดคล้องสัมพันธ์กับสภาพปัญหาและความต้องการ  จากพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ..2542 ที่เปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาพัฒนาหลักสูตรร่วมกับสถานศึกษาในชุมชน  ครูจึงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประสานสัมพันธ์ และร่วมมือกับชุมชนและท้องถิ่นในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยจัดทำเป็นหลักสูตรสถานศึกษาที่มีเนื้อหาสาระครอบคลุมทุกกลุ่มสาระตามที่ได้กำหนดไว้ในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544  ซึ่งเป็นหลักสูตรแกนกลาง

                ภาษาไทยเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ  เป็นสมบัติทางวัฒนธรรมอันก่อให้เกิดความเป็น  เอกภาพและเสริมสร้างบุคลิกของคนในชาติให้มีความเป็นไทย  ซึ่งมีส่วนที่เป็นเนื้อสาระ  ได้แก่   กฎเกณฑ์ทางภาษาซึ่งผู้ใช้ภาษาต้องรู้และใช้ภาษาให้ถูกต้อง  นอกจากนี้วรรณคดีและวรรณกรรม ตลอดจนบทร้องเล่นของเด็กเพลงกล่อมเด็ก ปริศนาคำทาย เพลงพื้นบ้าน วรรณกรรมพื้นบ้านเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมซึ่งมีคุณค่า  การเรียนภาษาไทยจึงต้องเรียนวรรณคดี วรรณกรรมภูมิปัญญาทางภาษาที่ถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิด ค่านิยม ขนบธรรมเนียมประเพณี เรื่องราวของสังคมในอดีต ความงดงามของภาษาในบทประพันธ์ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรองประเภทต่าง ๆเพื่อให้เกิดความซาบซึ้งและความภูมิใจในสิ่งที่บรรพบุรุษได้สั่งสมบอกเล่าถึงความดี ความงาม การประพฤติตนไว้ในวรรณคดีและคติชนซึ่งสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน  (กรมวิชาการ, 2544)

                จากหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544  ได้เล็งเห็นความสำคัญของการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ในการจัดการเรียนสอนภาษาไทย  โดยกำหนดสาระและมาตรฐานการเรียนรู้ สาระที่ 4 : หลักการใช้ภาษา  มาตรฐาน ท 4.1 : เข้าใจธรรมชาติของภาษาไทยการเปลี่ยนแปลงภาษาและพลังของภาษา  ภูมิปัญญาทางภาษา  และรักษาภาษาไทยไว้เป็นสมบัติของชาติ

                ปัจจุบันการพัฒนาเนื้อหาท้องถิ่นในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยยังไม่แพร่หลายนัก  เนื่องจากขาดความพร้อมในด้านผู้สอนและหนังสือเรียน  สำหรับหนังสือเรียนที่กระทรวง          ศึกษาธิการอนุญาตให้ใช้ในโรงเรียนไม่มีเนื้อหารายละเอียดเกี่ยวกับท้องถิ่นโดยตรง  (มณฑนา  วัฒนถนอม, 2545. หน้า 52)  จึงทำให้ผู้สอนขาดข้อมูลในเรื่องท้องถิ่นของตน และการสร้างเนื้อหาท้องถิ่นนั้น  นอกจากจะให้นักเรียนรู้เกี่ยวกับจุดเด่นหรือของดีที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นแล้วยังสามารถฝึกทักษะภาษาไทยโดยใช้เนื้อหาที่เกี่ยวกับสภาพท้องถิ่น อาชีพ การดำเนินชีวิตของผู้คนในชุมชน อันทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ข้อมูลในท้องถิ่นอย่างลึกซึ้ง ดังนั้นในการพัฒนาเนื้อหาท้องถิ่น สาระการเรียนรู้ภาษาไทยจึงควรพัฒนาหลักสูตรให้นักเรียน ได้ฝึกทักษะภาษาไทยในการแสวงหาความรู้เกี่ยวกับชุมชนของตนเอง  เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจและรักชุมชนของตนยิ่งขึ้น  (มณฑนา วัฒนถนอม, 2545. หน้า 51)

หลักสูตรท้องถิ่น  เป็นหลักสูตรที่สร้างขึ้นจากสภาพปัญหาและความต้องการของผู้เรียนหรือสร้างจากหลักสูตรแกนกลางที่ปรับ ให้เข้ากับสภาพชีวิตจริงของผู้เรียนตามท้องถิ่นต่างๆ หรือสร้างจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันที่มีผลกระทบต่อผู้เรียน หลักสูตรท้องถิ่นจะสอดคล้องเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมของท้องถิ่นนั้นๆ เน้นการเรียนรู้ชีวิตของตนเองปรับตนเอง ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของวิทยาการ การใช้เทคโนโลยีและข่าวสารข้อมูลในการเรียนรู้ต่างๆ ผู้เรียนจะได้เรียนรู้ตามสภาพชีวิต จริงของตนเองสามารถนำเอาความรู้ไปใช้ในการพัฒนาตนเอง พัฒนาอาชีพ พัฒนาเศรษฐกิจและท้องถิ่นได้

ฉะนั้นองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาหลักสูตรของผู้เรียน และผู้ปกครองที่เพียงพอชัดเจนถูกต้องและเป็นระบบตลอดแสดงออกถึงความต้องการที่ถูกต้องจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นบรรลุผลและนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง

                ดังนั้นผู้วิจัยจึงเกิดความสนใจที่จะน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาบูรณาการเพื่อสร้าง และพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาสาระการเรียนรู้ท้องถิ่น ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยหนังสือบทร้อยกรองประกอบภาพ เรื่อง  ฮีตสิบสอง  ประเพณีการทำบุญประจำเดือนชาวอีสาน  กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนบ้านท่ามะไฟหวาน  

 
สุพจน์   ชุมผาง. 2551. รายงานการวิจัยการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาสาระการเรียนรู้ท้องถิ่น ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยหนังสือบทร้อยกรองประกอบภาพ เรื่อง ฮีตสิบสอง ประเพณีการทำบุญประจำเดือนชาวอีสาน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5   โรงเรียนบ้านท่ามะไฟหวาน   สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาชัยภูมิ  เขต 2  อำเภอแก้งคร้อ  จังหวัดชัยภูมิ

 

                                                          บทคัดย่อ

 

                การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ดังนี้ คือ 1) เพื่อสำรวจความต้องการของผู้บริหาร ครูผู้สอนสาระการเรียนรู้ภาษาไทย กรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครอง นักเรียนในกลุ่มพื้นที่การศึกษาแก้งคร้อ6 ต่อการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา สาระการเรียนรู้ท้องถิ่น กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5   2) เพื่อสร้างและพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา กลุ่มสาระการเรียนรู้ท้องถิ่น กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ด้วยหนังสือบทร้อยกรองประกอบภาพ เรื่อง   ฮีตสิบสอง ประเพณีการทำบุญประจำเดือนชาวอีสาน 3) เพื่อเผยแพร่และประเมินความพึงพอใจของครูผู้สอนที่นำหลักสูตรสถานศึกษา สาระการเรียนรู้ท้องถิ่น กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่ผู้วิจัยสร้างและพัฒนาขึ้น ไปใช้ 4)เพื่อประเมินความพึงพอใจของนักเรียนกลุ่มทดลอง และนักเรียนกลุ่มตัวอย่างที่มีต่อการใช้หลักสูตรสถานศึกษา สาระการเรียนรู้ท้องถิ่น กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 เรื่อง ฮีตสิบสอง ประเพณีการทำบุญประจำเดือนชาวอีสาน ที่ผู้วิจัยสร้างและพัฒนาขึ้น การวิจัยครั้งนี้ใช้กระบวนการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) กลุ่มประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้แบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 กลุ่มที่ใช้ในการสำรวจความต้องการหลักสูตร แยกเป็น ผู้บริหารจำนวน 9 คน ครูผู้สอนสาระการเรียนรู้ภาษาไทยจำนวน 7 คน กรรมการสถานศึกษาจำนวน 66 คน ผู้ปกครองนักเรียนที่เรียนในช่วงชั้นที่ 2 จำนวน  120 คน  นักเรียนที่เรียนในช่วงชั้นที่ 2 จำนวน 120 คน กลุ่มที่ 2 เป็นนักเรียนกลุ่มทดลอง เป็นนักเรียนที่กำลังเรียนในช่วงชั้นที่ 2 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนใกล้เคียง ปีการศึกษา 2550 จำนวน 30 คน กลุ่มที่ 3 เป็นนักเรียนกลุ่มตัวอย่างที่กำลังเรียนในปีการศึกษา 2551 ช่วงชั้นที่ 2 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนบ้านท่ามะไฟหวาน จำนวน 27 คน กลุ่มที่ 4) เพื่อใช้ในการเผยแพร่หลักสูตรสถานศึกษา สาระการเรียนรู้ท้องถิ่น กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาชัยภูมิ เขต 2 จำนวน 130 คน และครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 10 คน รวมประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ 462 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้มีดังนี้ 1) แบบสำรวจความต้องการหลักสูตร (แบ่งเป็นแบบสังเกต, แบบสัมภาษณ์)          2) แบบประเมินความพึงพอใจที่มีต่อหลักสูตร 3) แบบประเมินดัชนีความสอดคล้องของหลักสูตร  4) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนและหลังเรียนจำนวน 120 ข้อ 5) หลักสูตรสถานศึกษา สาระการเรียนรู้ท้องถิ่น กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย 6) หนังสือบทร้อยกรองจำนวน  12 ชุด สถิติที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ ค่าเฉลี่ย ( x ) ค่าร้อยละ (%) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) ค่าดัชนีความสอดคล้อง (IOC) และการทดสอบค่าที (t – test แบบ Dependent)

                ผลการวิจัยพบว่า การสำรวจความต้องการของผู้บริหารโรงเรียน กรรมการสถานศึกษา ครู ผู้ปกครอง และนักเรียน มีความเห็นสอดคล้องกันกับนโยบายของสถานศึกษาและมีความต้องการในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา สาระการเรียนรู้ท้องถิ่น คิดเป็นร้อยละ 97.43 ได้หลักสูตรและเอกสารประกอบหลักสูตร หนังสือบทร้อยกรองประกอบภาพจำนวน 12 เล่ม การประเมินหลักสูตร แผนการจัดการเรียนรู้ และแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนโดยผู้เชี่ยวชาญจำนวน 5 ท่าน พบว่ามีค่าดัชนีความสอดคล้อง อยู่ระหว่าง 0.6 – 1.0 ซึ่งเป็นค่าดัชนีความสอดคล้องที่ยอมรับได้ ผลสัมฤทธิ์หลังเรียนของนักเรียนกลุ่มทดลอง และกลุ่มตัวอย่างที่ใช้หลักสูตรสถานศึกษาสาระการเรียนรู้ท้องถิ่น กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้ แบบสัมภาษณ์ครูผู้สอนกลุ่มทดลอง กลุ่มเผยแพร่มีความเหมาะสมสัมพันธ์เชื่อมโยงและสอดคล้องกัน ผลการสำรวจความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการใช้หลักสูตรสถานศึกษา สาระการเรียนรู้ท้องถิ่น กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยที่ผู้วิจัยสร้างและพัฒนาขึ้น มีค่าเฉลี่ย 3.93 กลุ่มเผยแพร่ 3.78 ซึ่งมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับดี

หมายเลขบันทึก: 272506เขียนเมื่อ 1 กรกฎาคม 2009 14:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 20:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

หลักสูตรสาระการเรียนรู้ท้องถิ่นตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นหลักสูตรที่เหมาะสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันดีมาก ขอคุณมากที่นำผลการวิจัยมาเผยแพร่ จะได้เป็นแนวทางในการพัฒนาต่อไป จากครูน้อย

สุดยอดในความเป็นไทยเพื่อรักษาขนบประเพณีไทยค่ะ

สุดยอดในความเป็นไทยเพื่อรักษาขนบประเพณีไทยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท