นศพ.จากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้มีโอกาสมาศึกษาดูงานเรื่องการดูแลเท้าที่ รพ.สงฆ์


ในการรักษาไม่ให้เกิดแผลที่เท้าซ้ำขึ้นมานั้น จึงจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขในระยะยาวโดยการทำรองเท้าที่มีความเหมาะสมกับเท้าเฉพาะผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งช่วยกระจายการลงน้ำหนัก ในแต่ละบริเวณของเท้าอย่างเหมาะสม เพื่อลดแรงกระทำต่อเท้าที่บริเวณใดๆ อันเป็นเหตุให้เกิดแผลที่เท้า

            วันนี้ พวกเรา นศพ.จากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้มีโอกาสมาศึกษาดูงานเรื่องการดูแลเท้าที่ รพ.สงฆ์  ของ อ.เชิดพงศ์ หังสสูต โดยผู้ป่วยที่พวกเราได้รับมอบหมายให้ดูแลในครั้งนี้ ชื่อพระบุญเลิศ ซึ่งท่านก็มีปัญหาคือ เป็นแผลที่เท้าเรื้อรังมาเป็นเวลา 4 ปีแล้ว และมีโรคประจำตัวเป็นเบาหวานด้วย

 

โดยตอนแรกแผลที่เท้าเกิดจากการออกบิณฑบาต ทำให้โดนเศษแก้วบาดเท้า จากนั้นแผลก็ได้ลามมากขึ้นมาเรื่อยๆ จนไม่สามารถลงน้ำหนักที่บริเวณฝ่าเท้าได้ และไม่สามารถออกเดินบิณฑบาตได้ จึงได้มานอนรักษาตัวที่ รพ.ต่างจังหวัด เป็นเวลานานถึง 2 เดือน จากนั้นจึงได้เข้ามารักษาต่อที่รพ.สงฆ์ ซึ่งท่านได้เล่าให้ฟังว่าที่รพ. สงฆ์นี้ จะมีคลินิกเฉพาะ ในการดูแลเรื่องเท้าโดยตรง

         

                 รูป เท้าที่ได้รับการขูดตาปลาออกแล้ว

 

ซึ่งในคลินิกดูแลเท้าแห่งนี้จะเป็นคลินิกที่จัดขึ้นอย่างครบวงจรทั้งการดูแล รักษา ป้องกัน และฟื้นฟู สำหรับพระบุญเลิศ หลังจากที่ได้มาทำการรักษา จนปัจจุบันแผลหายดีแล้ว ทางคลินิกยังมีการดูแลอย่างต่อเนื่องโดยการป้องกันไม่ให้เกิดแผลซ้ำ

ในการมาตรวจครั้งนี้ แผลที่เท้าของพระบุญเลิศนั้นหายดีแล้ว แต่ยังมีตาปลาเกิดเพิ่มขึ้นมากดบริเวณแผลเดิม ทำให้เดินได้ลำบาก ท่านจึงมา รพ. เพื่อทำการตัดเนื้อตาปลาออก รวมทั้งมาทำการวัดขนาดของเท้า เพื่อนำมาทำรองเท้าชนิดพิเศษที่มีการออกแบบให้มีการกระจายน้ำหนักให้เหมาะสมกับผู้สวมใส่แต่ละคน เพื่อช่วยลดโอกาสการเกิดแผลกดทับบริเวณฝ่าเท้า

โดยหลังจากที่ผู้ป่วยรักษาแผลเรื้อรังที่เท้าหายแล้ว บริเวณรอยแผลมักมีลักษณะของหนังแข็ง(ตาปลา) เกิดขึ้นที่บริเวณนั้น ซึ่งตาปลาเป็นสาเหตุทำให้ผู้ป่วยเดินได้ไม่สะดวกและเจ็บ เนื่องจากมีกดทับจากน้ำหนักลงที่ฝ่าเท้าบริเวณนั้น นอกจากนี้การกดทับจากการลงน้ำหนักมากๆ ทำให้เกิดเนื้อตายภายในตาปลาได้ และส่งผลให้เกิดแผลที่เท้าซ้ำขึ้นมาอีก

          ดังนั้นในการรักษาไม่ให้เกิดแผลที่เท้าซ้ำขึ้นมานั้น จึงจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขในระยะยาว โดยการป้องกันไม่ให้เกิดการกดทับบริเวณแผลตาปลา รวมทั้งลดปัจจัยที่กระตุ้นการหนาตัวของตาปลาด้วย

          ซึ่งทำได้โดยใช้หลักการ off-loading โดยการทำรองเท้าที่มีความเหมาะสมกับเท้าเฉพาะผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งช่วยกระจายการลงน้ำหนัก ในแต่ละบริเวณของเท้าอย่างเหมาะสม เพื่อลดแรงกระทำต่อเท้าที่บริเวณใดๆ อันเป็นเหตุให้เกิดแผลที่เท้า และกระตุ้นการเกิดการหนาตัวของตาปลาด้วย อันเป็นวิธีหนึ่งที่ทางกลุ่มของเราได้เรียนรู้ในการไปศึกษาดูงานครั้งนี้

 

รูป รองเท้าที่จัดทำขึ้นชั่วคราวก่อนที่รองเท้าจริงจะเสร็จ

 

รูป วิธีการวัดรูปเท้าเพื่อนำไปทำเป็นรองเท้าชนิดพิเศษที่มีการกระจายน้ำหนักให้เหมาะสมแก่ผู้สวมใส่แต่ละคน

รูป แบบรองเท้าชนิดพิเศษที่มีการออกแบบพื้นรองเท้าให้มีความเหมาะสมแก่ผู้สวงใส่แต่ละคน ซึ่งมีรูปร่างภายนอกเหมือนรองเท้าทั่วไป

         

 

รูป อาจารย์และคณะนักศึกษาแพทย์ที่ไปดูงาน

 

          โดยประสบการณ์ที่ได้จากการไปดูงานในครั้งนี้ เป็นประโยชน์แก่กลุ่มของพวกเราเป็นอย่างยิ่ง ในการนำไปเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลผู้ป่วยต่อไป และขอขอบคุณ อ.เชิดพงศ์ หังสสูต และทีมงาน รวมทั้งบุคลากรของ รพ.สงฆ์ทุกท่าน ที่ให้โอกาสพวกเราในการไปศึกษาดูงานครั้งนี้

 

นศพ. ณัฐรี จันทร์เลิศฤทธิ์

นศพ. ปุริม เจนพิริยะประยูร

นศพ ปี 5 คณะแพทยศาสตร์ รพ. รามาธิบดี

 

หมายเลขบันทึก: 272388เขียนเมื่อ 30 มิถุนายน 2009 23:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท