“โศกนาฏกรรมบนดอยสูง” กระบวนการกลายเป็นพ่อค้ายาเสพติด


“โศกนาฏกรรม” เหล่านี้ยังส่งผลกระทบต่อจิตใจผู้คนที่อ่อนด้อยทางสังคม สร้างบาดแผลทางสังคมวัฒนธรรมให้คนบนดอยมากมายเหลือคณานับ ถึงแม้ว่าการประกาศสงครามกับยาเสพติดจะสิ้นสุดลงไปนานแล้ว แต่ “โศกนาฏกรรม”เหล่านี้ยังติดฝังลึกอยู่ในมโนสำนึกของคนบนดอย อย่างไม่จบสิ้น

           

         อะหวู่ผะ เป็นชาวเขาเผ่าลีซู (ลีซอ) อาศัยอยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งติดชายแดนไทย-พม่า อำเภอเล็กๆแห่งหนึ่งในจังหวัดแม่ฮ่องสอน รูปร่างกำยำทะมัดทแมง อายุประมาณ ๓๐ – ๓๑ ปี แต่งงานแล้วมีลูก ๓ คน คนแรกและคนที่สองเป็นลูกสาวอายุประมาณ ๔ ปี และ ๒ ปี ส่วนคนที่ ๓ เป็นลูกชาย ด้วยความที่ “อะหวู่” มีโอกาสได้เรียนหนังสือจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ ในหมู่บ้านน้อยคนนักที่จะมีโอกาสเรียนอย่างเขา พูดจาสื่อสารภาษาไทยได้ค่อนข้างดี “อะหวู่” อีกอย่าง “อะหวู่”มีอัธยาศัยดี ได้ย้ายออกไปสร้างบ้านสร้างครอบครัวใหม่ บ้านใกล้กับบ้านของแม่ แม้อายุไม่มาก “อะหวู่” ก็เป็นที่รักใคร่ของชาวบ้านที่อาศัยบริเวณนั้น เขาทำมาหาเลี้ยงครอบครัวด้วยความขยันขันแข็ง ภายหลังแต่งงานได้ ๕ – ๖ ปี “อะหวู่” และเมียก็สามารถตั้งตัวได้ มีเงินใช้ มีเงินเก็บออมพอสมควร เป็นเจ้าของวัวอีกประมาณมากกว่า ๑๐ ตัว

  

อยู่มาวันหนึ่ง มีคนพื้นราบคนหนึ่งเข้าไปเที่ยวในหมู่บ้าน เนื่องจากชาวบ้านคนอื่นไม่สามารถพูดภาษาไทยได้ ชาวบ้านจึงแนะนำให้ไปพบ “อะหวู่” หลังจากที่พูดคุยกันพอที่จะคุ้นเคยบ้างแล้ว คนไทยพื้นราบก็บอกว่าตนเองเป็นช่างซ่อมเครื่องยนต์ อยู่ที่หมู่บ้าน...ในตัวจังหวัดแม่ฮ่องสอน พอดีเมื่อวานนี้ พ่อเลี้ยงที่กรุงเทพฯซึ่งตนเองเคยอาศัยอยู่ด้วยมาเยี่ยม และ บอกว่าต้องการยา(ยาเสพติด) ๕๐,๐๐๐ เม็ด ตนเองก็ไม่เคยทำ ไม่รู้จะไปหาที่ไหน จึงลองมาเที่ยวที่หมู่บ้านแห่งนี้

(คุณ)พอจะหาให้ผมได้หรือไม่?

 

เมื่อ “อะหวู่” บวกลบคูณหารแล้ว คิดว่าถ้าตนเองสามารถขาย “ยา” ได้ก็น่าจะได้ “เงิน” ประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ บาทเป็นอย่างน้อย แต่ “อะหวู่” ก็ยังไม่แน่ใจว่าตนเองจะสามารถหา “ยา” มาขายให้คนไทยพื้นราบนั้นได้หรือไม่ “อะหวู่”  จึงนัดคนไทยพื้นราบให้มาพบตนอีกครั้งใน ๗ วันข้างหน้า ในช่วงนี้ “อะหวู่” ก็เดินทางไปคุยกับ “อาเหลียง” ซึ่งเป็นชาวจีนฮ่ออาศัยอยู่ในหมู่บ้านอีกหมู่บ้านหนึ่ง และทำหน้าที่ติดต่อซื้อขาย “ยา” ให้แก่ผู้ขาย พ่อค้าที่ต้องการซื้อยาเสพติด ซึ่ง “อาเหลียง” ได้บอกว่า ถ้าเป็นคนอื่นจะต้องจ่ายเป็นเงินสดเท่านั้น แต่สำหรับ “อะหวู่” แล้ว หากต้องการ “ยา” เท่าไหร่ก็บอกมา ไม่ต้องจ่ายเงิน ไปส่ง “ยา” ได้เงินมาแล้ว ค่อยเอามาจ่ายก็ได้ หาก “อะหวู่” ต้องการซื้อจริงๆ๕๐,๐๐๐ เม็ด “อาเหลียง”ยินดีที่จะมอบ ”ยา”  ให้ “อะหวู่” โดยไม่คิดเงินอีก ๑๐,๐๐๐ เม็ด หลังจากตกลงกับ “อาเหลียง”เสร็จแล้ว “อะหวู่”  จึงกลับมาเจรจากับคนไทยพื้นราบ และตกลงส่งมอบ “ของ” บนดอยแห่งหนึ่งไม่ไกลจากทางหลวงแผ่นดิน และแนวเขตชายแดนไทย-พม่า มากนัก


...แต่เมื่อถึงวันส่งมอบ เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด มันเป็นแบบนี้ได้อย่างไร? “อะหวู่” ต้องทิ้ง “ของ/ยา” ให้เจ้าหน้าที่ยึดไปทั้งหมด  ยิ่งกว่านั้นหากไม่ใช่ช่วงเวลาใกล้พลบค่ำและเชี่ยวชาญพื้นที่ ทั้ง “อะหวู่” และเพื่อนอีก ๒คน คงต้องจบชีวิต หรือไม่ก็ไปใช้ชีวิตอยู่ในคุกตารางอย่างแน่นอน เพราะกำลังเจ้าหน้าที่มากกว่า ๑๐ นายเตรียมพร้อมในการจับกุมอยู่แล้ว


แม้ว่า “ของ/ยา” จะถูกเจ้าหน้าที่ยึดไป แต่ “อะหวู่” ก็ต้องรับผิดชอบเงินจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท ไปจ่ายให้ “อาเหลียง” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ “อะหวู่” ต้องขายทรัพย์สินทั้งหมดของครอบครัวเพื่อชดใช้หนี้ เมื่อสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างไปอย่างรวดเร็ว “อะหวู่” ก็พยายามทุกวิถีทางที่จะฟื้นคืนสถานภาพทางเศรษฐกิจสังคมของตน เนื่องจากการฟื้นคืนวิถีทางแบบอื่นทำได้ค่อนข้างยาก

 
ในที่สุด “อะหวู่” ก็กลับไปคุยกับ “อาเหลียง” อีกครั้งและผันตัวเองไปสู่การเป็นผู้ขาย/พ่อค้า ยาเสพติด “ตัวจริงเสียงจริง” และเข้าไปอยู่ในวงการค้าอย่างจริงจัง

 


นี่เป็นเรื่องราวของชีวิตคนบนดอยแห่งหนึ่งในจังหวัดแม่ฮ่องสอน หากสืบสาวเรื่องราว “กระบวนการกลายเป็นพ่อค้ายาเสพติด” ที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเขารายอื่นๆ ซึ่งอาจจะเป็นผู้ทรงอิทธิพลในปัจจุบัน หรืออาจจะถูกจับกุมคุมขังไปเรียบร้อยแล้ว จะพบว่า แทบทั้งหมดเกิดขึ้นในวิถีทางที่ไม่แตกต่าง จากกรณีของ “อะหวู่” มากนัก


                  "ความจริงที่เจ็บปวด...ไม่มีใครสนใจ"       
          

การล่อซื้อ “ยา” จากกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเขาโดยการวาง “สาย” ในการล่อซื้อของเจ้าหน้าที่ ในด้านหนึ่ง อาจดูเหมือนว่าเป็นการป้องกันปราบปรามยาเสพติดอย่างจริงจัง แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็อาจเป็นการสร้างเงื่อนไขบางอย่างบางประการที่ส่งผล/ก่อให้เกิดผู้ขาย/พ่อค้ายาเสพติดรายใหม่ๆขึ้นก็ได้ 

“โศกนาฏกรรม” เหล่านี้ยังส่งผลกระทบต่อจิตใจผู้คนที่อ่อนด้อยทางสังคม สร้างบาดแผลทางสังคมวัฒนธรรมให้คนบนดอยมากมายเหลือคณานับ ถึงแม้ว่าการประกาศสงครามกับยาเสพติดจะสิ้นสุดลงไปนานแล้ว แต่ “โศกนาฏกรรม”เหล่านี้ยังติดฝังลึกอยู่ในมโนสำนึกของคนบนดอย  อย่างไม่จบสิ้น

หลังจากนั้น “โศกนาฏกรรม”เหล่านี้ได้เป็นแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งที่ทำให้พวกเราคิดค้นหากระบวนการพัฒนา ฟื้นฟูที่จะทำให้ชุมชนเหล่านี้มีกำลังใจ พิสูจน์ตัวเอง เข้มแข็งสามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยใช้กระบวนการศึกษาวิจัยเพื่อท้องถิ่น โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สกว.สำนักงานภาค ทำให้เกิดงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นขึ้นใน หมู่บ้านกึ้ดสามสิบ (ลีซู) อ.ปางมะผ้า หมู่บ้านรักไทย(จีนยูนนาน)หมู่บ้านรุ่งอรุณ(จีนยูนนาน) อ.เมืองและบ้านสันติชล(จีนยูนนาน)อ.ปาย เปลี่ยน “เส้นทางยาร้าย” ให้ไป “สู่เส้นทางแห่งการใช้ปัญญาในการพัฒนาท้องถิ่น” ด้วยตัวของพวกเขาเอง และเรายังพบอีกว่า “เส้นทางเดินของชุมชนเหล่านี้ ยังคงอีกยาวไกล” หากความเข้าใจต่อการป้องกัน แก้ไขปัญหายาเสพติดของภาครัฐ ยังเหมือนเดิม ยังมีมุมมองที่มองด้วย อคติ (Bias) ต่อกลุ่มชาติพันธุ์ ขาดการเข้าใจอย่างแท้จริง

รัฐบาลต้องพิจารณาถึง แผนแม่บทการพัฒนาและแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชนบนพื้นที่สูงบน “หลักการใหม่” ซึ่งได้แก่ ความเสมอภาค, ความหลากหลาย, การกระจายอำนาจและการบูรณาการ หน่วยงานของรัฐต้องทบทวนการปฏิบัติงานและระบบการข่าวให้มีความชัดเจน, ถูกต้องและแม่นยำเพื่อไม่ให้เกิดกำแพง/ช่องว่างของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับกลุ่มชาติพันธุ์ส่วนน้อย (ชาวเขา)


ขอบคุณ

บทความเรื่อง สงครามยาเสพติด “...กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเขา,การฆ่าตัดตอนกับการสร้างบาดแผลทางสังคมวัฒนธรรม...” ของอาจารย์สมบัติ บุญคำเยือง สถาบันชาติพันธุ์ศึกษา สถาบันราชภัฎเชียงราย ที่จุดประกายให้ผมสนใจและผันตัวเองเข้ามาสู่งานพัฒนาชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหายาเสพติดจังหวัดแม่ฮ่องสอน

 

 

หมายเลขบันทึก: 27094เขียนเมื่อ 6 พฤษภาคม 2006 10:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ปัญหาบางอย่างอาจต้องใช้เวลาในการเรียนรู้และหาวิธีแก้ไขเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ขอเป็นกำลังใจต่อคนทำงานทุกคนสู้ๆๆสู้ตายค่ะ

การล่อซื้อ  ในวงการปราบเราถือว่าเป็นการสร้าง Demand   เทียมเท่ากับเป็นการกระตุ้นธุรกรรมของระบบให้วนเวียนเป็นวัฎจักร น่าสงสารแพะของระบบต้องเป็นเหยื่ออย่างนี้ชั่วกัปชั่วกัลย์  หากเรายังใช้การแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุดไม่แก้ที่เหตุ  คิดแต่รับเงินต่างชาติแล้วเลี้ยงผลงานไปตลอด ผลเสียย่อมตกกับประเทศชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  ผมว่าเป็นนิมิตรหมายอันดีที่มีการนำเสนอปัญหานี้สู่สังคมอย่างตรงไปตรงมา  ผมยินดีอย่างยิ่งที่ได้แลกเปลี่ยน  ขอให้กำลังใจและจะเป็นพันธมิตรที่ดีครับ  เกิดมาต้องตอบแทนบูญคุณแผ่นดิน  เพื่อแผ่นดินไทย

จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

พี่ปิยวุฒิ

                เป็นเกียรติอย่างยิ่งที่พี่เข้ามาให้ข้อคิดเห็น ...บันทึก- - เรื่องเล่านี้ มันสะท้อนให้เห็นหลายๆอย่าง บนความสำเร็จในการปราบปรามยาเสพติด ยังไงก็ตาม...ปัญหาแบบนี้อยากให้คิดด้วย...เพราะหมายถึง การสร้างปัญหาใหม่บนปัญหาเดิม ครับ

ปริวัตร เขื่อนแก้ว

ในมุมมองของผมผู้ที่ไม่เคยสัมผัสของจริง  อาจจะไม่รู้จริงแต่ผมก็อยากจะเสนอความคิดที่ว่า "คนทุกคนไม่ว่าจะอยู่บนดอยหรือพื้นราบหรือที่ไหนๆก็ตามไม่มีใครอยากเป็นคนไม่ดีหรอก"  จากความรู้เรื่องสารถัตถะเราจะพบข้อขัดแย้งในเรื่องนี้  จากข้อความต่อไปนี้ "คนที่อยู่บนดอยหรืออยู่ชายขอบเป็นคนขายยาบ้า " แสดงว่า "คนเผ่าลีซอ(สมมติ)ขายยาบ้า" อันนี้ไม่จริงเพราะว่า คนบนดอยที่ไม่ขายยาบ้าก็มี  คนพื้นราบขายยาบ้าก็มี  ดังนั้นเราไม่สามารถจะไปกล่าวว่าคนชนเผ่าที่ราบสูงผู้เป็นมิตรที่แสนซื่อจะเป็นผู้ร้ายไปเสียทุกคน  ถ้าเราตั้งแง่ไม่ดีกับเขาเราก็จะเสียมวลชนไปเสียหมด  ผมเชื่อว่างานที่พี่ทำมุ่งหวังสร้างสรรค์สิ่งที่ดีๆแก่สังคมอย่างจริงจังและจริงใจ  และผมก็มีความเชื่ออย่างแท้จริงว่าซักวันปัญหาจะต้องคลี่คลายหากทุกๆฝ่ายร่วมมือกัน   .... ผมนึกได้ว่าผมก็เคยได้ไปสัมผัสชีวิตบนดอยที่อำเภอเวียงป่าเป้าและอำเภอเวียงแหงและเชียงดาวมาแล้ว  ที่จำได้ดีที่สุดคือที่บ้านปางหก อ.เวียงป่าเป้า  ติดชายแดนพม่า(ชาวบ้านบอก)  ผมไปออกค่ายอาสาพัฒนา  โดยพักที่โรงเรียน  การเดินทางลำบากมากๆ ระยะทางประมาณ 20 กิโลแต่ใช้เวลาเดินทาง 4 ชั่วโมง บางทีต้องช่วยกันเข็นรถ  มีวันหนึ่งเป็นวันที่ฝนตกแต่แก๊สของพวกเราหมด  เนื่องจากผมทำหน้าที่หัวหน้าฝ่ายสวัสดิการก็ต้องแบกแก๊ส 1 ถังขึ้นมอเตอร์ไซต์กับเพื่อนลุยออกไปจำได้ว่ารถล้มประมาณ 5 รอบ ถังแก๊สกระเด็นไปมา  แต่ก็รู้สึกสนุกดี  ได้ใช้ชีวิตที่ทรหด ออกจากโรงเรียนตอนประมาณ 9 โมงเช้า  กลับถึงโรงเรียนเกือบ 1 ทุ่มเพื่อไปเติมแก๊สที่บ้านกำนันเพียงอย่างเดียว  แต่ถ้ามาคิดกลับกันเป็นชาวบ้านที่ต้องมาเจอเหตุการณ์ซ้ำซากอย่างนี้เขาคงไม่สนุกแน่  น้ำประปาก็ไม่มี  ไฟฟ้าก็ไม่มี  แล้วเขาจะทำอย่างไรให้ชีวิตดีขึ้น  ผมเคยถามชาวบ้านตอนที่ไปเยี่ยมชุมชนและแจกยาเล็กๆน้อยๆ ชาวบ้านบอกว่า  ออกไปอยู่ข้างล่างก็ไม่รู้จะทำอะไร  บ้านก็ไม่มี  งานก็ไม่มีอะไรก็ต้องซื้อเขากินแล้วจะไปอยู่อย่างไร  มีบ้านอีกหลังหนึ่งที่ผมไปเยี่ยมภรรยาเขานอนอยู่ในบ้านร้องครวญคราง  ถามสามีบอกว่าภรรยาเจ็บท้องมาหลายวันแล้ว  ผมก็ถามว่าทำไมไม่พาไปหาหมอ  ตอบว่า พาไปแล้วแต่หมอว่าไม่เป็นอะไรคงเป็นโรคกระเพาะ  จะไปหาอีกก็ไม่มีเงิน  ในความรู้สึกของผมคิดว่าไม่ใช่โรคกระเพาะแน่นอนแต่จะทำอะไรมากก็ไม่ได้เพราะพวกเรามีภารกิจมากจึงได้ให้ยาแก้ปวด(พารา) และให้ยาลดกรดไป  สิ่งเหล่านี้ทำให้ผมคิดว่าคนเหล่านี้ถูกทอดทิ้งยิ่งกว่าเป็นคนชั้น 2 เสียอีก  ผมจึงอยากเสนอว่า  น่าจะมีโครงการเพื่อพัฒนาด้านสุขภาพแก่ชุมชนที่สูงอย่างยั่งยืนด้วยนะครับ  อาจจะมีตัวแทนหมู่บ้านที่สามารถให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้จะดีมากเลยครับ  สุดท้ายผมฝากข้อคิดอย่างหนึ่งว่า "เชื้อร้ายแรงมักจะไม่ทำลายในที่ที่เราคิดว่าได้ป้องกันอย่างดี  แต่จะทำลายส่วนย่อยต่างๆให้อ่อนแอเสียก่อนจึงค่อยมารุมกินโต๊ะทีหลัง"

น่าเห็นใจมากๆ..สำหรับคนที่เขาลำบาก..ถึงแม้กระทู้นี้จะนานแล้วก็ตาม..สุดท้ายก็จะมีคนหาเจอ..และก็ต่อกระทู้กันไปเรื่อยๆ..ป่านนี้ไม่ทราบว่ามีโครงการเพื่อพัฒนาด้านสุขภาพแก่ชุมชนเกิดขึ้นหรือยังก็ไม่ทราบ..และขอเป็นกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ดีๆๆช่วยปราบปรามยาเสพติดให้หมดไปจากแผ่นดินด้วยเถิด..สาธุ

ขอบคุณมากครับ ทำให้ผมมีโอกาสทบทวนบันทึกเดิมอีกครั้ง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท