ช่วยตกผลึกความคิดเศรษฐกิจพอเพียงกันหน่อย


หยุดราชการวันเสาร์ ได้โอกาสทบทวนตัวเองตามภารกิจมอบหมายให้คุณอำนวยทั้งหลาย(อำนวยกลางหรือจังหวัด อำนวยอำเภอ และเข้าใจว่าคงจะตำบลและหมู่บ้านด้วย) โครงการ KMแก้จนเมืองนคร จึงได้ประเมินสมรรรถภาพ สมรรถนะตนเอง(มีหลายสมรรถภาพ)ตามตารางอิสรภาพ เพื่อจะได้บอกตนเองและบอกทีมงานว่า ตนให้คะแนนตนเองแต่ละรายการประเมินประมาณไหน ผมวิเคราะห์ตนเองแล้ว คิดว่าความรู้ความเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง (ซึ่งรวมความอยู่ในรายการที่ 1 ความเข้าใจในแนวคิดโครงการฯ ) อยู่ในเกณฑ์น้อย คะแนน 1 จึงบอกตนเองและขอบอกทีมงานให้ทราบโดยทั่วกัน ทั้งๆที่ไม่น่าเป็นเช่นนั้นเลย ทีวี หนังสือพิมพ์ วิทยุ เรียกว่าสื่อทุกสื่อโหมโรงประชาสัมพันธ์กันทุกวัน ฟังเขาพูดมาก็เยอะ อ่านก็มาก แต่มันไม่ซึ้ง อธิบายคนอื่นตามความเข้าใจตนเองไม่ได้ (ว่าตามคนอื่นว่าทุกที) หนักใจว่าเราเป็นคุณอำนวย(ระดับจังหวัดเสียด้วยนะ)จะรู้แบบงูๆปลาๆคงไม่เพียงพอ ไม่ได้แปลว่าคุณอำนวยระดับจังหวัดจะรู้และรู้มากกว่าเขาทุกเรื่อง แต่เนื่องจากว่าเราส่งเสริมคุณกิจคือครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการ หมู่บ้านละ 64 ครัวเรือน ให้ปฏิบัติการแก้จนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เมื่อจะต้องวัดความสำเร็จ(หรือไม่สำเร็จ) เราจะดูจากอะไร ขณะนี้เครื่องมือวัดที่ว่าโครงการฯเรายังไม่ได้ทำขึ้น วัดค่าตัวเลขมันวัดกันไม่ยากมากนัก เช่น รายได้ที่เพิ่มขึ้น รายจ่ายที่ลดลง หรือเงินออม เป็นต้น แต่ความสุขหรือคุณธรรมว่าพอเพียงแล้วหรือไม่ จะวัดกันอย่างไร ผู้รู้ผู้มีใจเมตตากรุณาช่วยหน่อยนะครับ

ทุนความรู้เดิมที่ได้ฟังได้อ่านมา เศรษฐกิจพอเพียงเป็นการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน เปรียบกับเสา 3 ต้น คือ เสาความพอประมาณ เสาความมีเหตุมีผล และเสาระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งเสา 3 ต้น นี้ยืนอยู่ บนฐานที่สำคัญ 2 ฐาน คือฐานความรู้ และฐานล่างสุดคือฐานคุณธรรม

โครงการ KMแก้จนเมืองนคร จำแนกครัวเรือนเป้าหมายที่เข้าร่วม เพื่อให้ง่ายต่อการจกัดกิจกรรมการเรียนรู้ออกเป็น 4 ระดับ คือ ระดับครัวเรือนที่ไม่พออยู่พอกิน ระดับครัวเรือนที่พออยู่พอกิน ระดับครัวเรือนที่มีกินมีใช้(อยู่ดีกินดี) และระดับครัวเรือนที่มั่งมีศรีสุข แยกระดับอย่างนี้เพื่อให้แต่ละระดับตั้งวงเรียนรู้แก้ไขปัญหากันเองด้วยทุนต่างๆของตนเอง มีวิทยากรกระบวนการ(คุณอำนวย)คอยกระตุ้นกระบวนการเรียนรู้ให้ มุ่งการเอื้อเฟื้อต่อกันไม่ว่าจะอยู่ระดับใด เช่น นำประสบการณ์การทำมาหากินที่แต่ละคนหรือแต่ละระดับทำได้มาเล่าสู่กันฟัง  (จะไม่มีการแย่งกันเพราะไม่ได้แจกอะไร แจกแต่ความรู้และวิธีการเรียนรู้ให้อย่างเดียว) เรียนรู้และแบ่งปันความรู้ ปฏิบัติการแก้จนร่วมกันไปด้วยกัน พวกที่มั่งมีศรีสุข(ถ้ามี)ในหมู่บ้านก็มาช่วยพวกไม่พออยู่พอกิน เป็นต้น (พูดง่ายแต่ทำยาก)

เป้าหมายใหม่ของผมต่อเรื่องนี้(ความรู้ความเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง) ผมตั้งที่ระดับ 2 (พอใช้) ผมจะไปถึงหรือเปล่า ทีนี้ผมจะเปลี่ยนวิธีการเรียนรู้ใหม่ จะให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์กรณีศึกษาต่างๆ(ที่เกี่ยวกับการทำงานแก้จนของชาวบ้าน) วิเคราะห์ร่วมกับเพื่อนๆที่ทำงานร่วมกัน กับทีมงานจัดการความรู้ฯ ให้เพื่อนๆและทีมงานถกกันเรื่องนี้ให้บ่อยขึ้น และทำการเอากรณีแก้ไขความยากจนที่ว่ามาวิเคราะห์ด้วยตนเอง (ฝึกวิเคราะห์มากขึ้น ทำการบ้านมากขึ้นหนักขึ้น)เทียบเคียงกับหลักการทฤษฎี เพื่อตกผลึกความคิดเป็นของตนเอง เวลาอธิบายคนอื่นก็จะไหลความคิดออกมาจากตัวเอง

ท่านผู้รู้จะกรุณาแนะนำอย่างไร ขอเชิญและขอขอบคุณล่วงหน้าครับ

หมายเลขบันทึก: 27083เขียนเมื่อ 6 พฤษภาคม 2006 09:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
ขอขอบคุณ คุณจำนง หนูนิล ที่ให้ความกรุณาเข้าร่วมกับ ชุมชน: ศูนย์รวมความรู้องค์กรพัฒนาเอกชน
เบื้องต้น ขอออกตัวก่อนว่าไม่เก่งเรื่องนี้..

อาจเป็นไปได้ว่าเราต้องผ่านเหตุการณ์ร้ายๆในชีวิตก่อน เช่นก่อนที่รู้จักความพอเพียงมันอาจต้องเป็นหนี้สินกันก่อน ต้องอดอยาก ไม่มีจะกิน ไม่มีเงินมาใช้จ่ายตามที่เราต้องการ เมื่อประสบปัญหา จึงเริ่มหาทางออก และความพอเพียงนั่นแหละก็คือคำตอบ.. เพราะเราเรียนรู้แล้วว่าความไม่พอเป็นอย่างไร ความขาดแคลนเป็นอย่างไร.. มันเกิดจากการเรียนรู้จากภายในออกสู่การประพฤติปฏิบัติของตัวเราแต่ละคน และวิธีคิดของคนแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน..

อีกวิธีก็คือการเรียนรู้จากประสบการณ์ของคนอื่นที่เขากระทำจนประสบความสำเร็จมาแล้วจนเรียกได้ว่าเป็นปราชญ์ชาวบ้าน เช่น ที่ชุมชนบ้านไม้เรียง หรือตัวอย่างชีวิตของผู้ใหญ่วิบูลย์ ที่ จ.ฉะเชิงเทรา เป็นต้น

สำหรับผมว่ามันสำคัญที่วิธีคิดตั้งต้น เพราะถ้ายังไม่เข้าใจ มันก็ปรับวิถีชีวิตลำบาก เพราะการลด ละ ส่วนเกินของชีวิต ที่มายาสังคมโหมผ่านสื่อต่างๆ จนกลายเป็นค่านิยมของสังคมเพราะมันฉายภาพซ้ำไปซ้ำมาชวนให้เราหลงไหลเพลิดเพลินไปกับมัน จนความอยากความต้องการที่เกินพอดี การสะสมส่วนเกินจึงเกินขึ้น.. เมื่อเอาไปเปรียบเทียบกับคนอื่นๆ ในสังคม มันจึงเกิดปัญหาที่ใจเป็นสำคัญ.. ใจของคนที่เอาสิ่งนั่นๆ ไปวัด ไปเปรียบเทียบ ...

เราบอกว่าเราล้าหลังอเมริกาอยู่ 50 ปี
เราบอกว่าลาวล้าหลังเราอยู่ 50 ปี

แต่คนฝรั่งชอบบ้านเราที่ล้าหลังเขาอยู่ 50 ปี เราบอกว่าชอบกรุงเวียงจันทร์ที่ล้าหลังเราอยู่ 50 ปี...

จริงๆ แล้ววัตถุถูกพัฒนา แต่จิตใจกลับแย่ลงจากการพัฒนาแบบนั่น เรากลับโหยหาจิตใจแบบชาวบ้านที่โอบอ้อมอารีมีศีลมีธรรมกันต่างหาก คงต้องให้ผู้ที่เข้าร่วมโครงการค้นหาสิ่งที่ต้องการเห็น และทำร่วมกัน เริ่มจากภายในตัวเองก่อน แล้วแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ รอบตัว จนเห็นแจ้ง ประมาณนั่นครับ..
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท