ประทับใจในวิถี "คุณอำนวย" ของพี่จุด


สิ่งหนึ่ง ที่ตนเองประทับใจกับการได้มีส่วนร่วมในงานครั้งนี้ คือได้เรียนรู้วิถีการเป็น “คุณอำนวย” ของพี่จุด

เมื่อวาน วันที่ 4 พ.ค. ในงานสัมมนาสานสัมพันธ์เครือข่าย discharge planning ที่มีพี่จุด- จุฑารัตน์ เกียรติศิริโรจน์ เป็นผู้จัด และมีวิทยากรจากพยาธิ 3 คนไปบรรยายการจัดการความรู้ ตามที่มีเล่าในบันทึกก่อนหน้านี้

สิ่งหนึ่ง ที่ตนเองประทับใจกับการได้มีส่วนร่วมในงานครั้งนี้ คือได้เรียนรู้วิถีการเป็น “คุณอำนวย” ของพี่จุด
 
พี่จุดบอกว่าไม่คอยได้เรียนรู้เรื่องการจัดการความรู้เท่าไรนัก ก็ทำไปเองเรื่อยๆ แต่วันนี้ สิ่งต่างๆ ที่เธอถ่ายทอดจากปากของเธอ ทำให้ตนเองถึงกับออกปากกับพี่เม่ยว่า พี่จุดเป็นบุคคลที่มีการจัดการความรู้อยู่ในเองตัวสูงมาก สิ่งที่พี่จุด คิด และ ทำ เป็นสิ่งที่เราได้อ่านพบจากทฤษฎีการจัดการความรู้ เป็นการจัดการความรู้ที่เป็นไปตามธรรมชาติของเธอเอง

 

   

สิ่งที่ทำให้ตนเองรู้สึกเช่นนั้น มีตลอดตั้งแต่…

เริ่มที่พี่จุดกล่าวเปิดงาน  เธอเล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของการเกิดโครงการนี้  เธอบอกถึงสิ่งที่เธอคิด ทำ แล้วก่อให้เกิดโครงการอย่างไร  เธอทำอะไรบ้างหลังจากนั้น ตั้งแต่ประสานคุณอำนวยของรพ.อีกสองโรง เกิดอุปสรรคอะไรบ้าง เกิดงานวันนี้ (คือการสัมมนา) ที่มี 3 วิทยากรจากภาควิชาพยาธิได้อย่างไร  เธอทำให้ผู้ฟังได้รับรู้ความรู้สึก นึกคิด และอารมณ์ที่เกิดขึ้นจริงกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่ดำเนินในเรื่องเล่านั้น เป็นยอดนักเล่าเรื่องคนหนึ่งที่ตนเองเคยพบ และ ดูเหมือนเป็นความเป็นนักเล่าเรื่อง จะเป็นบุคลิกประจำตัวของเธอ เพราะไม่ว่าจะพูดคุยกับเธอเวลาใด ก็จะได้เรื่องเล่าเร้าพลังจากปากของเธอทุกครั้ง

ในระหว่างคำถามหลังการบรรยายของตนเอง ผู้ร่วมสัมมนาท่านหนึ่งถามว่า “ตามที่พูดว่า ความต่าง เป็นพลังขับเคลื่อนการจัดการความรู้ แต่ดูเหมือนผู้เข้าร่วมสัมมนาในวันนี้ ไม่มีความหลากหลายของวิชาชีพ เพราะจริงๆ แล้ว การเตรียมวางแผนผู้ป่วย ต้องอาศัยสหวิชาชีพ”  คำถามนี้ ตนเองโยนให้ผู้จัด คือพี่จุด แล้วก็พบกับคำตอบ ที่บ่งบอกความวิถีเป็น “คุณอำนวย” ที่ยอดเยี่ยม และ เป็นไปโดยธรรมชาติ
 
เธอบอกว่า เธอยอมรับว่าวันนี้เป็นกลุ่มพยาบาลเป็นหลัก แต่การรวมกลุ่มของสหวิชาชีพ (โดยเฉพาะคุณหมอ) เป็นสิ่งที่ไม่ง่าย  ดังนั้น เราควรเริ่มจากจุดไม่ยากเกินไปก่อน แล้วจึงรุกคืบในส่วนอื่นต่อไป แม้ในวงวิชาชีพเดียวกันเอง เธอก็ต้องใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวมาก เธอทำตัวเป็น “หนอน” ชอนไชไปทั่ว (ความเป็นนักเล่าเรื่องปรากฏอีกแล้วค่ะ) ในการทำสิ่งที่คิดว่าดี คิดว่าน่าจะเป็น  วิธีเปรียบเทียบของเธอทำให้พวกเราทุกคนในห้องประชุม “ยิ้ม” พร้อมกับเห็นภาพวิถีของเธอ โดยไม่ต้องการการพรรณาใดๆ อีก

บนโต๊ะอาหารกลางวัน พี่จุดก็เล่าให้ฟังอย่างสนุกสนานถึงการใช้บล็อกของตนเองอีก เธอบอกว่า เมื่อวันก่อนจิ้มดีดอยู่ชั่วโมงกว่า หลังจากพิมพ์ตัวเลข เตรียมที่จะตีพิมพ์สายก็เกิดหลุด ก็ต้องพิมพ์ใหม่ พิมพ์เสร็จ เตรียมจะตีพิมพ์ สายก็หลุดอีก ก็เลยนึกได้ว่าตนเองเคยแนะนำให้พิมพ์ใน word ก่อน เธอก็ทำดู แต่กว่าจะทำได้ ก็ต้องใช้ความพยายามอยู่พอสมควรเหมือนกัน จุดนี้ทำให้ เห็นความตั้งใจ และมุ่งมั่นของเธอจริงๆ เลยค่ะ

ก่อนปิดสัมมนา พี่จุดได้กล่าวสรุปงาน เธอสรุปประเด็นต่างๆ จากการสัมมนาในวันนี้ เธอบอกว่า เธอได้เห็นในบรรยากาศกลุ่มที่แตกต่างกันออกไป เห็นการเล่าเรื่องที่แตกต่างกันในแต่ละกลุ่ม อันอาจเกิดจากบริบทที่ต่างๆ กัน  เธอสัมผัสได้ถึงความกังวลของบางคน อาจเป็นเพราะเห็นคนรพ.โน้นทำได้ดี คงกลัวของเราจะทำได้ดีด้วยหรือไม่  บางคนก็เล่าถึงปัจจัยแห่งความสำเร็จ  สิ่งที่พี่จุดกล่าวสรุป บ่งบอกถึงความสามารถในการสังเกต และ เก็บประเด็น รวมทั้งนำมาถ่ายทอดจากใจได้ดีมาก

นี่เป็นสิ่งที่ตนเองได้เรียนรู้ “ความเป็นคุณอำนวย” ของพี่จุดภายในวันเดียว!!  พี่จุดพูดก่อนปิดสัมมนาว่า อยากเรียกอ.ปารมีว่าเป็น “ครู” ในการจัดการความรู้  แต่สิ่งทีตนเองบอกไป ไม่ได้ส่วนเสี้ยว ที่พี่จุดแสดงความเป็น “ครู” จากวิถีชีวิตการทำงานของพี่จุดที่ถ่ายทอดออกมา ขอบคุณพี่จุด ที่สอนให้รู้จัก “วิถีแห่งคุณอำนวย”

 

หมายเลขบันทึก: 26997เขียนเมื่อ 5 พฤษภาคม 2006 12:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
อ่านแล้วรู้สึกดีที่บรรยายไม่ถูกค่ะ ขอบคุณจริงๆค่ะ

ขอบคุณคุณโอ๋ค่ะ เขียนจากใจจริงๆ ค่ะ

 

และแล้ว มอ.ก็ได้คุณอำนวย อีกคน อีกไม่นาน เราจะจัดเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การเป็นคุณอำนวย ค่ะ "พี่จุด" จะเป็นอีกคนที่เราจะเชิญมาร่วม วงกันค่ะ  
วันนี้ไป round ward พิเศษทั่วไป คุณขวัญใจ พยาบาลที่เข้าร่วมประชุมเครือข่าย discharge planning บอกว่า เธอได้เข้าไปใน gotoknow ตามที่คุณโอ๋แนะนำแล้ว อ่านเจอข้อความที่มีผู้กล่าวถึงพี่จุดด้วย และชวนพี่จุดเพื่อเปิดคอมฯ เธอเปิดหาอยู่พักใหญ่ จนในที่สุดก็พบว่า ผู้ที่กล่าวถึงพี่จุดคือ อ.ปารมีนั่นเอง แต่เนื่องจากจะต้องเข้าประชุมจึงไม่ได้อ่านรายละเอียด น้องน่ารักมากอุตสาห์เดินมาบอกชื่อเรื่อง มาที่บ้านจะเปิดอ่านนึกไม่ออกว่าอยู่ในบล๊อกอะไร เปิดเดาสุ่มไปเรื่อยๆจนในที่สุดเจอ ขอบคุณอาจารย์มากๆค่ะ ข้อความที่อาจารย์เขียนเล่าช่วยให้พี่มีกำลังใจและหายเหนื่อยทุกครั้ง เหมือนนักมวยที่ขึ้นชก มีอาจารย์เป็นพี่เลี้ยงที่คอยชี้จุดดี จุดอ่อน พร้อมคอยซ้อมให้เป็นระยะ และคอยให้น้ำเมื่อขึ้นเวทีชก การทำงานในทุกที่หากมีทีมที่ดี มีหัวหน้าที่ดีเช่นอาจารย์ การทำงานคงสนุกและผู้ป่วยได้ประโยชน์สูงสุด ตัวพี่เองจะชอบอ่านที่อาจารย์เขียนเล่า เพราะรู้ว่าตัวเองเล่าอะไร และอาจารย์ถ่ายทอดสู่ผู้อื่นอย่างไร ช่วยให้พี่ได้เรียนรู้วิธีการจับประเด็นและเขียนเพื่อให้น่าอ่านและชวนให้ผู้อ่านอยากติดตามไปเรื่อยๆ แต่ไม่ง่ายเลย ดูได้จากอาจารย์คุยกับพี่ หรือไปเป็นวิทยากร รุ่งขึ้นก็มีบันทึกที่อาจารย์เขียนเล่าได้ทันที ตัวพี่เองได้ทดลองทั้ง 2 ครั้งที่จัดประชุม คือ หลังประชุมเครือข่าย discharge planning และหลังจัดอบรม discharge planning แก่พยาบาลระดับต้น หรือทุกครั้งที่ round ward และพบเรื่องที่เป็นโอกาสพัฒนาต่างๆ นั่งนึกและพิมพ์เรื่องที่จะเล่า แต่ไม่ง่าย อ่านแล้วก็ประเมินตัวเอง พบว่า ไม่กระทัดรัด ไม่ได้ใจความ เขียนวกไปวนมา หรือสาระที่เขียน / จุดเน้นอยู่ตรงนั้น?  ไม่สละสลวย  ได้ฝึกใหม่โดย copy บันทึกของอาจารย์หรือข้อคิดเห็นของอ.วิจารณ์ที่สะท้อนบันทึกแต่ละเรื่องที่เล่า ใส่ word เพื่อช่วยให้เปิดอ่านเป็นตัวอย่างได้ง่ายขึ้น จะลงมืออ่านก่อนทุกครั้งที่จะเขียนเล่า แต่ก็ยังทำได้ไม่ดี จึงยังไม่กล้าเขียนเล่าในบล๊อกของตัวเอง เขียนถึงตรงนี้ ทำให้นึกถึง อ.สุธรรมที่อดีตเคยเป็นหัวหน้า ( ผอ.รพ ) และเป็นครูทางด้านบริหารของพี่อีกคนหนึ่ง อ.สุธรรมมักเชียร์พี่ทุกครั้งเสมอว่า " ไม่แน่ใจอะไร ให้ลองทำดูก่อน " หรือ " กล้าๆหน่อย " แล้วจะลองเขียนดูใหม่ แต่ขอเวลาสักนิดนะคะ ช่วงนี้ปวดหลังมาก ยิ่งนั่งหน้าคอมฯ ยิ่งรู้สึกไม่สบาย ที่นั่งเขียนคืนนี้เพราะอยากจะขอบคุณอาจารย์ปารมีมาก จึงต้องฝืดอาการปวดหลังค่ะ

สุขภาพมาก่อน ดีแล้วค่ะ

สิ่งที่พี่จุดน่าจะทำ เพื่อผ่อนแรง คุณอำนวยใหญ่ คือ หาคุณอำนวยน้อย รวมทั้งคุณลิขิต จะช่วยให้ทีมเดินไปได้ด้วย speed ที่เร็วกว่านี้ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท