เชงเม้ง


เชงเม้ง
เชงเม้ง คือชื่อเทศกาลไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วของชาวจีน ซึ่งจะไหว้กันก่อนวันที่ 5 เมษายน ของทุกปี บางคนก็มองว่าเป็นกุศโลบายให้ญาติพี่น้องมาพบปะพูดคุยกัน บางคนก็มองว่าเป็นการสอนเรื่องความกตัญญูให้แก่ลูกหลาน และอีกหลายๆคนมองว่าหากไม่ไหว้แล้วบรรพบุรุษจะไม่มีกิน พอท่านไม่มีกิน ก็ไม่มีแรงปกป้องลูกหลาน ลูกหลานก็จะเดือดร้อนไปด้วย เท่าที่สอบถามมาหลายคนจะมองว่าเป็นเรื่องสอนลูกหลานให้กตัญญูกับเรื่องการพบปะญาติมิตร แต่ก็มีอีกกลุ่มใหญ่ๆที่มองว่าเป็นการไหว้ให้บรรพบุรุษมีกินจะได้ปกป้องเรา
 
จริงๆแล้วไม่ว่าจะมองแบบไหนก็ถูกทั้งนั้น มันขึ้นอยู่กับว่าใครมีประสบการณ์หรือความเชื่อไปทางด้านใด แต่ผมขอให้สังเกตมุมมองที่ว่า เป็นการไหว้เพื่อให้บรรพบุรุษมีกินแล้วจะได้ปกป้องลูกหลานให้ดีๆอีกสักหน่อย จะเห็นได้ว่ามุมมองแบบนี้แฝงทัศนคติแบบพึ่งพาคนอื่นเอาไว้ค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นลูกหลานที่ไหว้ก็เพื่อให้บรรพบุรุษดูแลตัวเอง หรือว่าบรรพบุรุษที่ต้องรอให้ลูกหลานมาไหว้ก็ตาม ต้องบอกก่อนว่าผมไม่ได้ต่อต้านแนวคิดแบบนี้นะครับ แต่อยากจะชี้ให้เห็นว่า ในวันที่เรามีแรงมีกำลังมีความสามารถนั้นเราก็ควรรู้จักพึ่งตัวเองก่อน
 
สมมติเล่นๆว่า ในวันที่สมชายมีโอกาสหาเงินหาทองมากมาย สมชายกลับปล่อยโอกาสนั้นไปเสียด้วยการนอนเฉยๆ โดยที่คิดเอาเองว่าเดี๋ยวค่อยทำก็ได้ จนถึงเวลาที่สมชายหิวข้าว เราอยากจะกินแต่ไม่มีเงินซื้อ และตอนนั้นสมชายก็ไม่อยู่ในวิสัยที่จะหาเงินอะไรได้เอง สมชายต้องรอสมคิดที่ใจดีเอาอาหารมาให้สมชายกิน โดยสมชายบอกสมคิดว่า ถ้ากินอิ่มแล้วเดี๋ยวจะไปช่วยเฝ้าบ้านให้ กับเรื่องของสมหมาย ที่เป็นคนรุ่นราวคราวเดียวกับสมชาย เจอโอกาสและอุปสรรคมาเหมือนๆกัน ในวันที่สมชายเลือกที่จะนอน สมหมายกับขยันทำมาหากิน จนวันที่สมหมายหิว เขาก็ไม่ต้องรอขออาหารจากสมคิดผู้ใจดี เพราะเขาสามารถหาอาหารให้กับตัวเองด้วยสิ่งที่เขาสะสมมา แต่หากสมคิดนำอาหารมาให้เขาก็ตอบแทนสมคิดด้วยความปราณีอีกต่างหาก ถามว่าหากเป็นคุณ คุณจะเลือกใช้ชีวิตแบบไหนระหว่างสมชายหรือสมหมาย
 
หากมองในแง่ของบุญนั้น ในวันที่เราสามารถทำบุญด้วยตัวเราเอง เราก็สมควรทำอย่าไปรอว่าตายไปแล้วลูกหลานจะทำให้ หากคุณโชคดีมีลูกหลานดี คุณจะก็มีกินมีใช้ปีละครั้ง ไปจนกว่ารุ่นเหลนของคุณจะลืมคุณ แต่หากโชคไม่ดีลูกหลานไม่สนใจก็อดกินครับ ต้องรอให้ลูกหลานคนอื่นที่ใจดีมากๆทำทานครั้งใหญ่แล้วคุณก็ไปรอแย่งกับเขา เสี่ยงดวงกันเอาเองตอนนั้น ลองนึกถึงลูกหลานตัวเองตอนนี้แล้วเดาสิครับว่าเขาจะเป็นแบบไหน ตอนนี้ผมยังไม่มีลูกมีหลาน ลองหลับตานึกถึงน้องๆญาติๆที่รู้จักกันแล้วก็กลัวครับ :) ทำบุญด้วยตัวเองดีกว่า
 
ที่สำคัญวิธีการทำก็ไม่มีอะไรมาก ไม่ต้องวุ่นวาย เริ่มต้นแค่มีศีล ไม่ต้องหลายข้อครับ แค่ 5 ข้อก็พอ ซึ่งเป็นเรื่องที่คนปกติจะทำได้อยู่แล้ว เช่น ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่เป็นชู้หรือผิดลูกผิดคู่ใคร ไม่โกหก (รวมถึงพูดเพ้อเจ้อด้วย) และไม่กินเหล้าเมายา หลายคนอาจจะบอกว่าเรื่องการพูดนี้ยาก แต่จริงๆก็ไม่ยากเลยนะครับ ผมกลับมองว่าการโกหกทำให้เราต้องจำเรื่องหลายเรื่องกับหลายคนปวดหัวกว่าอีก พอตั้งใจที่จะรักษาศีล 5 แล้วต่อไปก็ใช้ชีวิตให้เป็นปกติครับ เคยเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น ไม่ต้องไปทำอะไรที่แปลกประหลาดกว่าเดิม หลายคนมองว่าจะทำบุญจะปฏิบัติธรรมต้องค่อยๆเดิน ค่อยๆพูด ใจต้องนิ่งๆ ไม่ยินดียินร้ายอะไร กินอาหารชืดๆ ดูหนังดูละครไม่ได้ ปล่อยวางทุกสิ่งทิ้งความสุขทุกอย่าง ใส่เสื้อสีขาว ไม่แต่งหน้าไม่ทำผม อันนั้นเข้าใจผิดแล้วครับ
 
ธรรม ก็คือเรื่องธรรมดา เราปฏิบัติธรรมก็คือทำตัวธรรมดานี่แหละ ทำตัวเป็นปกติเพียงแต่แฝงความรู้สึกตัวแทรกเข้าไปในชีวิตประจำวันเท่านั้น ดีใจ เสียใจ ชอบ ไม่ชอบ หงุดหงิด เบื่อ เซ็ง อยาก ไม่อยาก ขบขัน สงสัย เผลอลืมตัว อารมณ์ไหนเกิดขึ้นมาก็รู้มันไปเท่านี้เองครับ ลองดูนะครับว่าเราใช้ชีวิตประจำวันแล้วปฏิบัติธรรมได้อย่างไร เช่น ก็เดินไปตามถนนปกตินี่แหละ ถ้าเหนื่อยก็รู้ว่าเหนื่อย รู้ว่าอยากพัก รู้ว่าอยากกินน้ำ เจอแม่ค้าขายน้ำ ดีใจก็รู้ว่าดีใจ พูดคุยถามราคาน้ำแบบปกติเลย แม่ค้าขายแพงหงุดหงิดก็รู้ว่าหงุดหงิด (อย่าลืมมีศีลนะครับ ไม่ว่าแม่ค้าจะกวนประสาทขนาดไหน โกรธก็รู้ว่าโกรธ แต่ไม่ด่าไม่ตบนะครับ ) กินน้ำแล้วสดชื่นก็รู้ว่าชอบใจ สบายใจ เดินไปเจอร้านข้าวมันไก่น่าจะอร่อยก็รู้ว่าอยาก สั่งมากินก็ใส่น้ำจิ้มอะไรให้อร่อยตามปกตินะครับ ไม่ต้องเอาข้าวมันไก่เทรวมน้ำจิ้มเทรวมกับน้ำแกงกินแบบประหลาดๆนะครับ มีกินอย่างไรก็กินไปอย่างนั้น ได้กินของอร่อยก็ดีแล้วไม่จำเป็นต้องทำลายของอร่อยให้ไม่อร่อยไม่น่ากินนะครับ แต่เวลากินอร่อยก็รู้ว่าชอบ ไม่อร่อยก็รู้ว่าไม่ชอบเท่านั้นเอง
 
จะเลือกใส่เสื้อสีจะแต่งหน้าเปรี้ยวจี๊ด หรือขรึมๆสไตล์เอิร์ธโทนก็ไม่มีใครว่า แต่เวลาแต่งแล้วชอบก็รู้ว่าชอบ เขียนคิ้วเบี้ยวไป หงุดหงิดใจก็รู้ว่าหงุดหงิด หงุดหงิดเสร็จแล้วก็แก้นะครับ ไม่ใช่ปล่อยวางเลยตามเลย ชะรอยว่ากรรมคงจัดสรรให้คิ้วเบี้ยว แก้ให้สวยแบบปกตินะครับ ไม่อย่างนั้นเวลาไปทำงานหรือเดินถนน คนอื่นเขาเห็นคิ้วคุณเขาต้องรู้สึกว่าขำ หรือไม่ก็รู้สึกสงสัยในคิ้วแปลกๆนั้นนะครับ ดูละครก็ได้ถ้าอยากดู ดูแล้วอยากตบนางร้ายก็รู้ว่าโกรธ รู้ว่าอยากตบ ดูพี่หม่ำตลกก็รู้ว่าตลก ดูเทปบันทึกภาพคอนเสิร์ตพี่เบิร์ดแล้วสนุกก็รู้ว่าชอบว่าสนุก พี่เบิร์ดซึ้งก็รู้ไปว่าใจมันอิน มันซึ้ง อ่านหนังสือแล้วเบื่อก็รู้ว่าเบื่อ หรืออ่านเรื่องนี้แล้วสงสัยว่าจากเชงเม้งมันมาที่พี่เบิร์ดได้อย่างไรก็แค่รู้ว่าสงสัย
 
จะทำอะไรก็แล้วแต่ แค่มีสติรู้กายรู้ใจตามปัจจุบันด้วยใจที่ตั้งมั่นและเป็นกลางเท่านั้นเองครับ ไม่ต้องไปดัดแปลงอะไรเป็นแค่ผู้รู้ผู้ดู อันนี้หมายถึงว่า เราเป็นแค่ผู้รู้ผู้ดูอารมณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ไปแทรกแซงให้หาย หรือประคองไว้ให้อยู่นานๆ เช่น โกรธก็รู้ไปว่าโกรธ ไม่ต้องไปพยายามทำให้หาย เราคอยชำเลืองดูเรื่อยๆว่า โกรธอยู่นี่ อ้อ เริ่มลดลงล่ะ เกือบๆหายแล้ว เท่านั้นเอง แต่ระหว่างที่โกรธก็สำรวมกายวาจานะครับ อย่าไปตบไปด่าใคร หรือเวลามีความสุขก็ไม่ต้องไปหาทางให้มันอยู่นานๆ เราก็ดูไป อุ๊ย สุขมากๆ อ้าวเริ่มลดลงล่ะ เอ๊ะ ไม่เหลือแล้ว เท่านั้นเองครับ แต่ที่ยกตัวอย่างเรื่องเขียนคิ้ว เขียนผิดก็รู้ว่าหงุดหงิด แต่เราก็แก้คิ้วที่เขียนไปนะครับ ไม่ใช่ไม่ทำอะไร เราไม่ไปทำอะไรกับอารมณ์หงุดหงิดต่างหาก เราแก้ไขคิ้วเราได้ครับ
 
เพียงแค่แทรกความรู้สึกตัวลงไป ก็ถือว่าเป็นการปฏิบัติธรรม ซึ่งจะเป็นการสะสมผลบุญเอาไว้ใช้ต่อโดยไม่ต้องรอลุ้นว่าลูกหลานจะไหว้อะไรให้เรากินช่วงเชงเม้งหรือเปล่า (กลับมาที่เรื่องเชงเม้งจนได้) ไม่ได้เหนื่อยยากอะไร ใช้ชีวิตเป็นปกติแต่แทรกความรู้สึกตัวไปเท่านั้น ผลที่ได้นั้นนอกจากจะเป็นเรื่องบุญมีมากมายแล้ว เวลาที่ทำไปเรื่อยจนถึงจุดหนึ่ง เราก็จะพบว่า ไม่ว่าเรื่องบุญเรื่องบาปก็ไม่มีค่าอะไรเลย ไม่มีน้ำหนักต่อเราเท่าๆกัน ถึงตอนนั้นแล้ว เชงเม้งก็ไม่มีค่าอะไรอีกต่อไปแล้วครับ
 
หมายเหตุ ผมก็จับเอาเรื่องนั้นมาผสมเรื่องนี้ หรือพูดง่ายๆว่าเขียนมั่วๆไปตามเรื่องของผมนั่นแหละครับ อาจจะผิดบ้าง อย่าเชื่อถืออะไรผมเด็ดขาดนะครับ ให้เป็นเพียงการกระตุ้นเตือนความสนใจก็พอแล้ว ที่เหลือผมแนะนำให้อ่านของครูบาอาจารย์หรือขอคำแนะนำจากท่านดีกว่าครับ ทั้งตรงและถูกต้อง แต่อย่าลืมนะครับ อ่านอย่างไรก็เท่านั้น ถ้าไม่ลงมือปฏิบัติ เริ่มกันตอนนี้เลยครับ
คำสำคัญ (Tags): #เชงเม้ง
หมายเลขบันทึก: 269758เขียนเมื่อ 21 มิถุนายน 2009 15:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มีนาคม 2012 22:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท