ผู้นำท้องถิ่นกับยุทธศาสตร์การพัฒนา


คนเก่งที่สุด คือ คนที่รบชนะโดยไม่ต้องรบ

ผู้นำท้องถิ่นกับยุทธศาสตร์การพัฒนา

PDF

พิมพ์

ส่งเมล

เขียนโดย ดร . เสรี พงศ์พิศ   

Saturday, 06 June 2009

สยามรัฐรายวัน 4 มิถุนายน 2552

 

สังคมวันนี้เริ่มเปลี่ยนไปมากแล้ว การศึกษา การพัฒนาเศรษฐกิจสังคม การสื่อสาร การไปมาหาสู่ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำให้ผู้คนเปลี่ยนไป มีความรู้มากขึ้น มีความเข้าใจเรื่องต่างๆ ทางสังคมเศรษฐกิจมากขึ้น แม้ว่าคนจำนวนมากอาจจะจบเพียงชั้น ป.4 แต่ก็ติดตามข่าวสารบ้านเมือง ได้รับรู้เรียนรู้เรื่องราวมากมาย ไม่ทำให้ใครหลอกหรือจูงจมูกได้ง่ายๆ อีก

คนแก่งและดี เป็นที่ยอมรับของผู้คนเป็นคนมีความรู้ความสามารถจริง ได้รับเลือกให้เป็นผู้นำท้องถิ่น เป็นผู้แทนของชาวบ้านในท้องถิ่นและในระดับชาติมากขึ้นเรื่อยๆ วันนี้มีเงินและมีอำนาจอย่างเดียวไม่พอ อาจจะได้รับเลือก แต่การบริหารงานต่อไปก็ไม่ใช่ว่าจะง่ายแล้ว เพราะผู้คนก็เริ่มเรียนรู้และพัฒนาตนเอง รู้แล้วว่าประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การไปเลือกตั้ง แต่เป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน และเป็นเรื่องการตรวจสอบเพื่อความโปร่งใสและธรรมาภิบาล

ด้วยเหตุนี้ สิทธิเสรีภาพทำให้ชาวบ้านรู้ว่า คุณได้รับเลือกเข้าไปเพื่อรับใช้พวกเขา ไม่ใช่เข้าไปเป็นเจ้าเป็นนาย คุณอยู่ได้เพราะเงินภาษีอากรของชาวบ้าน คุณต้องทำหน้าที่ให้ดี เป็นผู้แทนผลประโยชน์ของประชาชนไม่ใช่ผลประโยชน์ของคุณที่เข้าไปถอนทุน  และถ้าหากจะถอนทุนก็ระวังให้ดี วันนี้ชาวบ้านที่เลือกคุณเข้าไปเขารู้ว่ามีหน้าที่ตรวจสอบคุณด้วย คุณต้องโปร่งใส ไม่โกงกิน

ประเทศพัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่น ซึ่งร้อยกว่าปีก่อนยังสู้ไทยไม่ได้ ก้าวหน้าไปไกลว่าไทยมากเพราะการศึกษาและการกระจายอำนาจ เมื่อประชาชนมีความรู้ และสามารถเลือกตัวแทนของตนเองเข้าไปบริหารจัดการท้องถิ่น พวกเขาก็พัฒนาประชาธิปไตย พัฒนาเศรษฐกิจสังคมได้อย่างรวดเร็ว ไม่ได้แปลว่าไม่มีการโกงกินอีกต่อไป แต่โกงกินไม่กี่ล้าน ถูกตรวจสอบและจับได้หมดอนาคตไปทุกคน บางคนอับอายอยู่ไม่ได้ “ขอลาตาย” ก็มี  อะไรที่คงยังไม่มีในเมืองไทยวันนี้ แต่วันหน้าถ้าเราพัฒนาประชาธิปไตยได้จริงก็น่าจะมีกรณีแบบญี่ปุ่น เกาหลีใต้เกิดขึ้นที่บ้านเราด้วย

ผู้นำที่เก่งและดีย่อมมีวิสัยทัศน์ มองลึก มองกว้าง มองใกล้ มองไกล มองรอบด้าน มองทะลุสิ่งที่ขวางกั้นต่างๆ มองอะไรที่คนธรรมดามองไม่เห็น เพราะเขาคือผู้ที่ “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง” อย่างที่ซุนหวู่บอกไว้เมื่อ 2,600 ปีที่แล้ว แต่ซุนหวู่บอกไว้ดีกว่านั้นว่า “คนเก่งที่สุด คือ คนที่รบชนะโดยไม่ต้องรบ” คือ คนที่ “สู้ด้วยยุทธศาสตร์ รบด้วยปัญญา ขนะด้วยความรู้”

ผู้นำวันนี้ต้องมียุทธศาสตร์ ซึ่งหมายถึงวิชาที่ว่าด้วยการต่อสู้ ทำอย่างไรจะต่อสู้กับปัญหาความยากจน ปัญหาหนี้สิน ปัญหาความขัดแย้ง ความรุนแรง ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลาย บุกรุก แย่งชิง ปัญหาความเจ็บไข้ได้ป่วย ปัญหาการขาดการศึกษา ปัญหาการขาดโอกาสได้เรียนรู้และพัฒนาตนเอง

ผู้นำที่ดีย่อมมี “ข้อมูล” ท้องถี่นที่มากพอ ดีพอ ลึกพอที่จะนำมาประกอบการทำ “แผนยุทธศาสตร์” เพื่อนำเสนอ “วิสัยทัศน์” ให้พี่น้องในท้องถิ่นตอนไปหาเสียง ทำให้เป็น “ภาพนิมิต” ที่มีพลัง ไม่ใช่ฝันอันเลื่อนลอย ลมๆ แล้งๆ พูดไปขายฝันไป ซึ่งอาจจะขายได้ครั้งเดียวเท่านั้นเพราะพูดเก่ง แต่คนพูดเก่งอย่างเดียวไม่สามารถทำให้ภาพฝันเป็นจริงได้ก็จะได้โอกาสเพียงครั้งเดียว ชาวบ้านอยากเห็น “ผลงาน” ไม่ใช่บริหารงาน “ด้วยปาก”

การทำยุทธศาสตร์วันนี้ยังไม่มีความชัดเจน เพราะผู้นำท้องถิ่นจำนวนมากยังสับสนกับการทำแผนงานประจำปี แผนงบประมาณเสียมากกว่า ขณะที่แผนยุทธศาสตร์เป็นเรื่องของหลักคิด หลักการ วิสัยทัศน์ ปรัชญา แนวทางในการดำเนินงาน แผนงานใหญ่ แล้วถึงตามด้วยโครงการและกิจกรรมต่างๆ


วันนี้เรายังอ่อนยุทธศาสตร์ เพราะเน้นแต่เรื่องปฏิบัติ รายละเอียดของโครงการ ซึ่งมักจะ “ลอก” ทำตามๆ กัน ไม่ให้ความสำคัญกับเรื่อง “วิธีคิด” ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ ถ้าไม่ปรับ “วิธีคิด” ก็ไม่สามารถปรับวิธีปฏิบัติ ก็ไม่สามารถ “ปรับกระบวนทัศน์” ซึ่งเป็นทั้งวิธีคิด วิธีปฏิบัติ วิธีให้คุณค่า เป็นตัวกำหนดแผนงาน โครงการ กิจกรรมทั้งหมด 

คิดเหมือนเดิมก็ทำเหมือนเดิม ประเทศชาติก็ไม่พัฒนาเหมือนเดิม มีแต่ทำแผนใช้เงินเหมือนเดิม

หมายเลขบันทึก: 268711เขียนเมื่อ 17 มิถุนายน 2009 10:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท