16/06/2552


พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ

พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550  ความภาคภูมิใจของประชาชนในการมีส่วนในการตัดสินใจ เพื่อการดูแลสุขภาพตนเอง   สุขภาพต้องสร้างจากผู้เป็นเจ้าของ ความหมายของคำที่มีความสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจตามพ.ร.บ.นี้ เช่น

สุขภาพ : ภาวะของมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งทางกาย  ทางจิต ทางปัญญาและทางสังคม เชื่อมโยงกันเป็นองค์รวม

บริการสาธารณสุข  : บริการต่างๆอันเกี่ยวเนื่องกับการสร้างเสริมสุขภาพ  การป้องกันและควบคุมโรคและปัจจัยที่คุกคามสุขภาพ  การตรวจวินิจฉัยและบำบัดสภาวะการเจ็บป่วยและการฟื้นฟูสมรรถภาพของบุคคล  ครอบครัวและชุมชน

สมัชชาสุขภาพ : กระบวนการที่ให้ประชาชนและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องได้ร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเรียนรู้อย่างสมานฉันท์  เพื่อนำไปสู่การเสนอแนะนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ    เป็นต้น

 

พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ  พ.ศ. 2550  ประกอบด้วย    6  หมวด   55 มาตรา  ซึ่งมีเนื้อหาดังนี้

หมวดที่ 1  สิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพ  บอกถึงสิทธิของประชาชนในการดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อม การได้รับการคุ้มครองโดยเฉพาะ ผู้หญิง  เด็ก  ผู้สูงอายุ  ผู้พิการ  ผู้ด้อยโอกาสและกลุ่มต่างๆ ที่มีความจำเพาะในเรื่องสุขภาพ  ทำให้เห็นถึงความเสมอในการรับบริการของประชาชน  สิทธิในการเปิดเผยข้อมูล  การได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อการตัดสินใจ และการปฏิเสธการรับบริการ

หมวดที่ 2  คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช) บอกถึงองค์ประกอบคณะกรรมการซึ่งมีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธาน  การได้มาในแต่ละตำแหน่งกรรมการ  คุณสมบัติ  วิธีการเลือก  หน้าที่และอำนาจซึ่งมีบทบาทในการจัดทำธรรมนูญสุขภาพ  การเสนอแนะและให้คำปรึกษา  การจัดและสนับสนุนการมีสมัชชาสุขภาพ   ส่งเสริมสนับสนุนการจัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพ  กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการติดตามและประเมินผลเกี่ยวกับระบบสุขภาพ  ตลอดจนเสนอแนะหรือให้คำปรึกษาในการแก้ไขพ.ร.บ.นี้

หมวดที่ 3  สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ  หน้าที่และอำนาจ ประสานงานกับหน่วยงานด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ของรัฐบาลและหน่วยงานอื่นที่มีงานเกี่ยวข้องกับเรื่องสุขภาพ   สนับสนุนให้การดำเนินการจัดสมัชชาสุขภาพบรรลุผล 

หมวดที่ 4  สมัชชาสุขภาพ   คสช.จะต้องจัดให้มีสมัชชาสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งโดยมอบหมายให้คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการจัดประชุม   จัดการประชุม  กำหนดวัน  เวลา  และสถานที่ในการจัดประชุม  ซึ่งการจัดประชุมจะต้องมีการประกาศให้ประชาชนทราบไม่น้อยกว่าสามสิบวันก่อนวันประชุม

หมวดที่ 5  ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ   คสช. จะเป็นผู้จัดทำธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติเพื่อให้เป็นกรอบและแนวทางในการกำหนดนโยบาย  ยุทธศาสตร์และการดำเนินงานด้านสุขภาพของประเทศ โดยธรรมนูญดังกล่าวจะต้องสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมีสาระสำคัญเกี่ยวกับปรัชญาและแนวคิดหลักของระบบสุขภาพ    คุณลักษณะที่พึงประสงค์และเป้าหมายของระบบสุขภาพ    การจัดให้มีหลักประกันสุขภาพและคุ้มครองให้เกิดสุขภาพ     การสร้างเสริมสุขภาพ     การป้องกันและควบคุมโรคและปัจจัยที่คุกคามสุขภาพ     การบริการสาธารณสุขและการควบคุมคุณภาพ   การส่งเสริม  สนับสนุน  การใช้และการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ  การแพทย์แผนไทย  การแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือกอื่นๆ  การคุ้มครองผู้บริโภค     การสร้างและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านสุขภาพ    การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพ   การผลิตและการพัฒนาบุคลากรด้านสาธารณสุข  การเงินการคลังด้านสุขภาพ

หมวดที่ 6  หมวดกำหนดโทษ

ความเห็นเพิ่มเติม      ทุกกระทรวง  ทบวง  กรมที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับสุขภาพ  หรือกิจการที่อาจมีผลต่อสุขภาพถ้ามีการจัดหรือดำเนินโครงการจะต้องทำความเข้าใจใน พ.ร.บ.นี้มากขึ้น  ตลอดจนจะต้องให้ความรู้แก่ประชาชนในการร่วมเสนอข้อคิดเห็นต่อการจัดบริการสุขภาพเพื่อตนเอง      เป็นการปกป้องสิทธิในการรับบริการจากระบบบริการภาครัฐ   สมัชชาสุขภาพแห่งชาติควรมีกลุ่มหลากหลายไม่ใช่กลุ่มคนที่ได้รับผลประโยชน์อย่างเดียวที่เข้ามาร่วมประชุมเพื่อให้เห็นภาพในด้านดีและเสียประกอบการตัดสินใจที่ถูกต้องแต่ต้องเป็นไปอย่างสมานฉันท์

หมายเลขบันทึก: 268708เขียนเมื่อ 17 มิถุนายน 2009 09:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 07:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท