ThaiLivingWill
โครงการ ส่งเสริมการใช้สิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)

พินิจวาระสุดท้าย


อะไรคือเสียงสุดท้ายที่เราอยากได้ยิน อะไรคือสัมผัสสุดท้ายที่เราอยากรับรู้ เราอยากปิดฉากชีวิตของเราในที่แห่งใด เราอยากร่ำลาโลกที่คุ้นเคยนี้อย่างไร

stone

เราไม่มีวันรู้ว่าวันพรุ่งนี้หรือชาติหน้าจะมาก่อนกันเป็นคำที่ท่านดาไล ลามะ เตือนสติเราให้ไม่ประมาทในชีวิต คุณ กรรณจริยา สุขรุ่ง ตัวแทนจากโครงการเผชิญความตายอย่างสงบเครือข่ายพุทธิกา เปิดเวทีรับฟังด้วยการชวนให้ผู้เข้าร่วมงานกว่า 100 ชีวิตได้ลองจินตนาการความตายของตน

วิทยากรเชื้อเชิญให้ทุกคนนั่งผ่อนคลาย และหลับตา ตามลมหายใจเข้าออก และ พิจารณาว่า 

ลมหายใจเข้าและออกบาง ๆ เบา ๆ นี้เองที่เป็นสายธารหล่อเลี้ยงชีวิต หากลมหายใจเข้าไม่ออกมา หรือลมหายใจออกไม่มีลมเข้าไปต่อ ชีวิตของเราก็มีอันจบสิ้นไป ความเป็นและความตายอยู่ใกล้เราเพียงปลายจมูก

เรารู้สึกอย่างไร 

จินตนาการถึงยามเช้า เมื่อรุ่งอรุณแห่งชีวิตเริ่มขึ้นพร้อมกับแสงอาทิตย์ที่ฉายฉาน

ดอกบัวคลี่กลีบบานรับวันใหม 

หยดน้ำค้างใสกระจ่างบนยอดหญ้า 

ทุกชีวิตมีชีวา

นึกถึงครอบครัวของเรา พ่อ แม่ สามี ภรรยา ลูก หลาน ญาติพี่น้อง นึกถึงเพื่อนฝูงที่รัก เพื่อนร่วมงาน สัตว์เลี้ยง อีกไม่นานเราจะต้องจากพวกเขาไปแล้ว เรารู้สึกอย่างไร

นึกถึงการงาน หรือ โครงการที่เรารัก ทุ่มเทเวลา แรงกาย แรงใจมาตลอด บัดนี้เราจะไม่ได้ทำสิ่งนั้น ๆ อีกแล้ว 

นึกถึง เงินทอง ทรัพย์สิน ต่าง ๆ ที่เรามีและสะสมไว้มาตลอดชีวิต ไม่ว่าเราจะรักและชื่นชอบสิ่งเหล่านี้อย่างไร เราก็จะต้องทิ้งมันไว้ข้างหลัง

แม้แต่ร่างกายนี้ที่เราอยู่กับเขามาแต่เกิด เราก็ต้องวางร่างนี้ไป 

เรารู้สึกอย่างไรที่กำลังจะจากโลกที่คุ้นเคยไป” 


หลังการทำจินตภาพภาวนา วิทยากรเชิญให้ผู้เข้าร่วมในแต่ละกลุ่ม แลกเปลี่ยนความรู้ลึกเมื่อคำนึงถึงความตายของตนเอง 


หลายเสียงสะท้อนก้องว่า หวั่นไหว กลัว และโดยมาก มักกลัวว่าคนข้างหลังจะอยู่กันอย่างไร หลายคนสะท้อนว่า 
เพิ่งได้ทบทวนอนาคตของทุกชีวิตที่จะพบกันที่ประตูแห่งความตาย และได้เห็นว่าที่ผ่านมา ตนเองไม่ได้เตรียมตัว เตรียมการใด ๆ ไว้เลยสำหรับภาระกิจการงาน หรือผู้ใกล้ชิด

แต่หลายท่าน โดยเฉพาะท่านที่ทำงานเกี่ยวกับความตายและการเจ็บป่วยระยะสุดท้าย ดูเหมือนว่าจะตระเตรียมใจของตัวเองไว้เป็นอย่างดี 

อย่างท่านประธานอาสาสมัครสาธารณสุขท่านหนึ่งบอกว่า เนื่องจากท่านเป็นพิธีกรในงานศพบ่อยครั้ง จึงได้เตรียมการสำหรับความตายของตนไว้แล้ว คือ ได้บันทึกเสียงเพื่อเป็นพิธีกรในงานศพของท่านเอง 

คำถามที่สองที่คุณกรรณจริยา
 ชวนใคร่ครวญต่อ คือ หากเราเลือกได้ เราจะออกแบบการตายของเราอย่างไร 

เมื่อความตายอยู่ตรงหน้าแล้ว อะไรคือสิ่งสุดท้ายที่เราอยากเห็น ใครคือคนที่เราอยากอยู่ด้วยในเวลานี้ ก่อนที่ตาจะปิดลงชั่วนิรันดร์ 

อะไรคือเสียงสุดท้ายที่เราอยากได้ยิน 

อะไรคือสัมผัสสุดท้ายที่เราอยากรับรู้ 

เราอยากปิดฉากชีวิตของเราในที่แห่งใด 

เราอยากร่ำลาโลกที่คุ้นเคยนี้อย่างไร 

มีอะไรบ้างที่เราอยากทำ และอยากให้คนอื่นทำให้เรา 

และมีอะไรบ้างที่เราอยากขอไม่ให้กระทำกับเราในเวลาสำคัญนี้ 

ก่อนที่เราจะจากกัน” 


จากนั้น ผู้เข้าร่วมประชุมแลกเปลี่ยนความเห็น ความรู้สึกกันในกลุ่ม


หลายคนปรารถนาจะตายที่บ้าน แต่ก็มีบางคนที่อยากจากไปในบรรยากาศที่ตนชอบ ขอตายในบรรยากาศใกล้ชาวทะเล และได้อยู่กับคนที่เรารักผู้เข้าร่วมประชุมท่านหนึ่งกล่าว 


เสียงที่หลายคนอยากได้ยิน ในวาระสุดท้าย คือ เสียงพระเทศน์หรือเสียงสวดมนต์ และบางคนก็อยากได้ฟังเสียงเพลงที่ชอบ เช่นเพลงไทยเดิม 


พยาบาลท่านหนึ่งซึ่งเข้าร่วมประชุมเล่าเหตุการณ์หนึ่งสะท้อนถึงความต้องการเบื้องลึกในวาระสุดท้ายของคนไข้จำนวนหนึ่ง คนไข้นอนใส่ท่อที่คอมาหลายเดือนแล้ว ทำให้ไม่สามารถพูดหรือสื่อสารอะไรได้ ท่านดูทุรนทุรายกระสับกระส่าย แล้ววันหนึ่ง ท่านจึงถอดท่อออกด้วยตัวเอง
 เพราะท่านอยากคุยกับลูกหลานเวลาพูดท่านก็เอามือปิดคอไว้ ดูท่านมีความสุขมากที่ได้สั่งเสีย ล่ำลากับลูกหลาน และท้ายที่สุดท่านก็จากไปอย่างสงบ” 


นายแพทย์ท่านหนึ่งกล่าวว่า หากถึงวาระของเรา เราไม่ขอใส่ท่อช่วยหายใจ ไม่ขอหลายสิ่งหลายอย่างที่เรามักทำให้คนไข้ สิ่งนี้ทำให้เราต้องหันกลับมาทบทวนตัวเองจริง ๆ ว่าทำไม เราจึงรู้สึกเช่นนั้น” 


จบกระบวนการชวนคิดวาระสุดท้าย หลายคนได้เห็นแล้วว่าการตายที่พึงปรารถนาของตัวเองนั้นเป็นอย่างไร แต่จะเป็นไปได้เพียงใดนั้น คงขึ้นอยู่กับเงื่อนไขในชีวิตที่เราจะสร้างขึ้นมา ซึ่งตรงนี้ นายแพทย์ ชาตรี เจริญศิริ จากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สานกระบวนการต่อด้วยการพูดคุยแบบ World Cafe เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมคิดว่า
 หนทางสู่การจากไปตามปรารถนานั้นจะเป็นไปได้อย่างไร อุปสรรคต่อการจากไปอย่างสงบตามที่เราปรารถนานั้น มีอะไรบ้าง 

 

หมายเลขบันทึก: 268581เขียนเมื่อ 16 มิถุนายน 2009 16:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ

จริงอย่างที่ผู้เขียนว่าค่ะ ความตายมันอยู่ใกล้

แต่ก่อนไม่เคยพินิจพิจารณษเรื่องนี้มาก่อนเลย

คิดแต่ว่า เรายังมีเวลาอยู่เสมอ

หลังจากเข้าร่วมอบรม โครงการเผชิญความตายอย่างสงบเครือข่ายพุทธิกา

ที่จัดขึ้นที่ รพ. ศรีนครินทร์ ม.ขอนแก่น

ทำให้เข้าใจชีวิต และกระบวนความคิดหลายๆอย่าง

ตอนนี้ รู้สึกว่าได้ใช้ชีวิตแบบมีความหมาย และเข้าใจอะไร อะไร มากขึ้นค่ะ

มีคนไข้ประมาณ ๑/๑๐ เท่านั้นที่มีสติสามารถสื่อสารกับผู้อื่นได้ ใน ๑ ชม. สุดท้ายก่อนจากไป

สติทางกายภาพ ซึ่งแตกต่างจาก สติทางธรรม

ผมเชื่อว่า เราน่าจะประคองสติของเราได้ ถ้าเตรียมตัวไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ บอกคนข้างเคียงว่า เมื่อถึงเวลานั้นต้องการเสียงอะไรนำทาง

สำหรับผมเอง ถึงตอนนี้ ขอเป็น เสียงระฆังใบน้อย ที่ผมใช้เวลาทำกลุ่ม ช่วยเคาะเบาๆ ให้แว่วๆ ไม่เอาแบบดังๆ แบบสะดุ้งโหย่ง นะ

๕๕๕

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท