เมื่อจัด Workshop แล้วเป้าหมาย.. ต่างกัน


มาถึงตรงนี้ทำให้เราทราบวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของผู้เข้าร่วมว่าต้องการมาต่อยอด KM จากที่เข้า workshop เรื่อง KM พื้นฐาน แต่ยังไม่ได้ปฏิบัติจริงและไม่รู้จะเริ่มอย่างไร มา workshop ครั้งนี้จึงอยากได้แนวทางการนำ KM ลงสู่การปฏิบัติ จริงๆ แล้วผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่ไม่ได้อยากฝึกการเล่าเรื่องและการเป็น "คุณลิขิต"

           เมื่อสัปดาห์ก่อน (วันที่ ๑๐-๑๑ มิ.ย.๕๒) ดิฉันและพี่แอนน์ (ชุติมา อินทรประเสริฐ) ได้จัด Workshop ให้กับแกนนำ KM โรงงานยาสูบ จำนวน ๓๑ คน   ซึ่งส่วนใหญ่ผ่าน KM พื้นฐานที่ สคส. จัดให้แล้ว ๑ ครั้ง

           เราได้รับโจทย์ว่าให้ผู้เข้าร่วมต้องการ  เรียนรู้และฝึกการเล่าเรื่องและการเป็น "คุณลิขิต"    เรามีการเตรียมงาน ออกแบบ และทำความเข้าใจในแต่ละกิจกรรมกันอย่างละเอียด   โดยมีกำหนดการว่า

           วันแรกเริ่ม ๙ โมงเช้า ถึง ๓ ทุ่ม   โดยกิจกรรมวันนี้ประกอบด้วย  BAR  ฝึกฟัง  จับประเด็น  ฝึกการบันทึกให้ครบถ้วน   ฝึกเล่าเรื่องเพื่อถ่ายทอดความรู้มือหนึ่ง (ไม่ใช่เล่าเรื่องของคนอื่น)  และปิดท้ายด้วยการฝึกให้คิดเชื่อมโยง การลำดับเรื่องเล่า และสรุปทักษะการเล่าเรื่องและการเป็น "คุณลิขิต"

          วันที่สองเริ่ม ๙ โมงเช้า ถึง บ่าย ๓ โมง   โดยเน้นการฝึกทักษะการเล่าเรื่องและการเป็น "คุณลิขิต"  ด้วยการให้แบ่งกลุ่มเล่าเรื่องการทำงานในฝ่ายงานเดียวกัน (ให้แต่ละกลุ่มเลือกหัวปลาเอง)   ตามด้วยการสรุปและ AAR

         ที่กล่าวมานั้นเป็นแผนที่เตรียมไว้และหวังว่าผู้เข้าร่วมจะได้เรียนรู้และฝึกทักษะดังกล่าว... โดยกำหนดการได้ส่งให้ผู้ประสานงานเรียบร้อยแล้ว

         เมื่อวันที่ ๑๐ มิ.ย. มาถึง workshop นี้จัดที่ โรงแรมกรุงศรี ริเวอร์ จ.พระนครศรีอยุธยา  เราไปถึงโรงแรมประมาณ ๘ โมง เราก็ทำหน้าที่จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์  เตรียมห้องประชุมให้พร้อม...

         ผู้เข้าร่วมมาถึงโรงแรมประมาณ ๙ โมงครึ่ง ผู้ประสานงานของโรงงานยาสูบได้ประกาศให้ผู้เข้าร่วมเบรคได้เลย workshop จะเริ่ม ๑๐ โมง    ผู้ประสานงานมาบอกเราเมื่อประกาศไปแล้ว และบอกว่า workshop ครั้งนี้ขออย่าให้เครียดเพราะผู้เข้าร่วมอยากพักผ่อน  กิจกรรมตอนกลางคืนก็ไม่เอา   ถ้าวิทยากรวางแผนว่ามีกิจกรรมตอนกลางคืนด้วย  ก็ขอให้ต่อจากกิจกรรมช่วงบ่ายไปเลยโดยไม่ต้องหยุดพัก  แต่ขอให้ดำเนินกิจกรรมถึง ๑๘.๓๐ - ๑๙.๐๐ น.    และวันที่ ๒ ขอให้ดำเนินกิจกรรมถึงบ่าย ๓ โมง....

        กระบวนการที่เตรียมมาก็ได้ดำเนินการไปตามแผนและเวลาที่เอื้ออำนวย (บางกิจกรรมต้องถูกตัดไปเพราะเวลามีไม่พอ) เราทราบวัตถุประสงค์ของผู้เข้าร่วมในตอน BAR ว่าส่วนใหญ่ต้องการมาพักผ่อน...  และเมื่อถึงช่วงบ่าย ผู้ประสานงาน เดินมาบอกอีกว่าอาหารเย็นนั้น ทางโรงแรมจะจัดให้ทานในห้อง workshop นี้เลย ก็ประมาณ ๑๘.๓๐ น.  ให้อาจารย์จัดกิจกรรมได้ถึงเวลานี้  ซึ่งระหว่างนั้นเราก็คิดว่าจะเอาอย่างไรดี ถ้ากระบวนต้องทำไปอย่างเร็วๆ เพื่อให้ครบแต่ไม่มีเวลาให้ผู้เข้าร่วมได้ใคร่ครวญพอ  ผู้เข้าร่วมก็จะไม่เข้าใจอย่างลึกซึ้งและคงไม่เห็นประโยชน์อย่างแท้จริง   และกิจกรรมนี้เราถือว่าเป็นกิจกรรมสำคัญที่สุดของวันนี้ด้วย  ประกอบกับเมื่อสอบถามเจ้าหน้าที่โรงแรมก็ทราบว่า ถ้าจะทานอาหารตอน ๑๘.๓๐ น. เขาต้องใช้เวลาจัดห้องประมาณครึ่ง - หนึ่งชั่วโมง .....

        เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้  เราจึงเสนอว่าให้ผู้ประสานงานถามผู้เข้าร่วมก่อนดีกว่ามั๊ย ก่อนที่จะตัดสินใจอะไรไป....  เมื่อถามแล้วก็สรุปได้ว่า งดกิจกรรมภาคกลางคืน

       เมื่อสรุปว่ากิจกรรมภาคกลางคืนงด  ดังนั้นก่อนสิ้นสุดกระบวนการในวันแรก เราจึงเพิ่มให้ผู้เข้าร่วมสะท้อนความรู้สึกและสิ่งที่ได้เรียนรู้ในวันนี้ ....  มาถึงตรงนี้ทำให้เราทราบวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของผู้เข้าร่วมว่าต้องการมาต่อยอด KM จากที่เข้า workshop เรื่อง KM พื้นฐาน  แต่ยังไม่ได้ปฏิบัติจริงและไม่รู้จะเริ่มอย่างไร  มา workshop ครั้งนี้จึงอยากได้แนวทางการนำ KM ลงสู่การปฏิบัติ    จริงๆ แล้วผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่ไม่ได้อยากฝึกการเล่าเรื่องและการเป็น "คุณลิขิต" ......

       เมื่อทราบวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของผู้เข้าร่วม... กระบวนการในวันที่ ๒ เราจึงปรับโดยสรุปการเล่าเรื่องและการเป็น "คุณลิขิต" ก่อน  จากนั้นให้ผู้เข้าร่วมทำ Role Play  สรุปภาพรวมและจบด้วย AAR

       กิจกรรม Role Play นั้นให้โจทย์ว่าเมื่อกลับไปแล้ว

       ๑. KM Team ของแต่ละฝ่ายจะวางแผนที่จะเริ่มนำ KM ไปใช้ที่จุดไหนก่อน (CoP ไหน) 

       ๒. มีวิธีคัดเลือก "คุณอำนวย" และ "คุณลิขิต" เพื่อไปลง CoP นั้นอย่างไร  

       ๓. วางแผนว่าใช้วิธีการใดที่จะได้ประเด็นร่วมเพื่อใช้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ใน CoP นั้น

       ๔. ทำบทบาทสมมุติในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ใน CoP นั้น  โดยมี "คุณอำนวย" และ "คุณลิขิต" ที่เลือกไว้ทำหน้าที่ดังกล่าว  โดยให้คนที่เหลือในกลุ่มเป็น "คุณกิจ" คอยเล่าเรื่อง

      

       เรื่องราวทั้งหมดที่เล่ามานี้ ทำให้เรียนรู้ว่า

        ๑. การเตรียมการมาเป็นอย่างดีเป็นปัจจัยความสำเร็จหนึ่ง... แต่ความสำเร็จนั้นคงเกิดขึ้นยากถ้าการเตรียมการนั้นไม่สอดคล้องกับเป้าหมายของผู้เข้าร่วม

        ๒. การจัด workshop ถึงแม้จะเตรียมการ สร้างความเข้าใจ กับผู้ประสานงานมาดีเพียงไร.... แต่ถ้าผู้ประสานงานนั้นไม่สามารถถ่ายทอดให้ผู้เข้าร่วม เข้าใจถึงวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของ workshop แล้ว... ความสำเร็จย่อมมีขวากหนามเพิ่มขึ้น

        ๓. การฟัง เป็นประตูด่านแรกของการเรียนรู้อย่างลึกซึ้งของผู้เข้าร่วม... (โดยเฉพาะผู้เข้าร่วมที่คิดว่าแค่ได้หลักการก็ทำได้แล้ว... ไม่จำเป็นต้องฟังคนอื่น)

       ๔. การเปิดใจ  ทำให้เราเข้าใจตรงกันและได้รับประโยชน์ร่วมกัน

       ๕. ให้เวลาน้อย (เพราะต้องการพักผ่อน) แต่ต้องการเรียนรู้มากๆ.. ย่อมเป็นไปได้ยาก

       ๖. ผู้นำกระบวนการเรียนรู้ หรือ วิทยากร  ต้องเตรียมพร้อมทั้งกิจกรรมและเนื้อหาอยู่เสมอ

 

uraiMan

 

คำสำคัญ (Tags): #การจัด workshop#สคส.
หมายเลขบันทึก: 268327เขียนเมื่อ 15 มิถุนายน 2009 16:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ประตูใจ...ที่เปิดออกเป็นเรื่องสำคัญ...

เพราะหากไม่เปิดประตูใจ โอกาสแห่งการเรียนรู้ก็จะทำได้ยากยิ่งนัก พี่กะปุ๋มได้เรียนรู้ว่า คนเราส่วนใหญ่นั้นไม่ถนัดที่จะหยุดฟังกันและกัน...

(^__^)

ขอบคุณค่ะ

การจัดอบรมโดยที่ทีมประสานยังไม่เข้าใจผู้ที่จะอบรมทำให้เกิดการณืแบบนี้ค่ะ

เคยเชิญอาจารย์ประพนธิ์มาอบรม KM แต่ทีมที่สถาบันไม่พร้อม อาจารย์ก็ปรับให้ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท