สาระหลักของ "มหาวิทยาลัยชีวิต"


วิชากระบวนทัศน์พัฒนา เพื่อการเปลี่ยนแปลงความคิด....ก่อน

๒.วิชากระบวนทัศน์พัฒนา เพื่อการเปลี่ยนแปลงความคิด...ก่อน

๑.  ปัญหาวิธีคิด

                            ประเทศไทยส่งข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา สับปะรด ออกเป็นอันดับหนึ่งของโลก ผลิตและส่งออกสินค้าอีกหลายประเภท อยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก และประกาศว่าจะเป็น“ครัวของ โลก” วางเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจไว้สูง

                        คนไทยเรียนรู้วิธีทำได้เร็ว ออกจากบ้านนอกเข้ากรุงเพียงสองสามวันก็ขับรถแท็กซี่รับจ้างได้  ในหมู่บ้านเองใครไปสอนให้ทำอะไรก็ทำได้  ไม่ว่าจะเป็นแชมพู สบู่  กล้วยฉาบ น้ำผลไม้ แต่ทำแล้ว  ก็บ่นว่าขายไม่ได้  ขายไม่ออก  ไม่รู้จะไปหาตลาดที่ไหน

                        เราไม่มีปัญหาเรื่องวิธีทำ  เรามีปัญหาที่วิธีคิด  เรามักจะรีบถามว่า “ทำอย่างไร” แทนที่จะถามว่า “ทำไปทำไม”  และคุยเรื่องความคิดให้ลงตัวเสียก่อน    เหมือนที่ท่านพุทธทาสสอนว่า “ให้ขึ้นต้นไม้ทางต้น ไม่ใช่ทางปลาย”  ถ้าเรารู้ว่าทำไปทำไม มีเป้าหมายอะไรอย่างชัดเจน  การเรียนรู้เรื่องวิธีการก็ง่ายขึ้น  เราจะรู้ว่า  อะไรทำเพื่อกินเพื่อใช้   อะไรทำเพื่อขาย   รู้ว่าจะขายในหมู่บ้าน   ในท้องถิ่นหรือในเมือง  รู้ว่าจะขายที่ไหนก่อนลงมือผลิต  ไม่ใช่ผลิตแล้วค่อยวิ่งหาตลาด

                        ที่สำคัญ  เราไม่ค่อยได้สรุปบทเรียนจากอดีต    เดินไปข้างหน้าไม่ยอมเหลียวหลัง ประหนึ่งกลัวว่า  จะเห็นแต่ความล้มเหลวของตนเอง

                        ตั้งแต่ปี ๒๕๐๔  ที่ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม    เริ่มต้นแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ (ยังไม่มีคำว่า “สังคม”)  วิถีชีวิตของชุมชนในชนบทเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว    จากที่เคยหาอยู่ หากิน    มาหาเงินหาทอง     ที่เคยทำเพื่ออยู่เพื่อกิน   มาทำมาค้าขาย    ทำโดยที่ไม่มีความพร้อมที่จะทำเพราะ  ได้รับการบอกกล่าวว่า   ทำแล้วจะรวย  มีเงิน   มีทอง    เพื่อซื้อข้าว     ซื้อของที่โรงงานอุตสาหกรรมเริ่มผลิตออกมา  แต่ที่ชาวบ้านทำได้ดีที่สุด  ก็มีเพียงการปลูก   การเลี้ยงเท่านั้น  การจัดการอย่างอื่นทำไม่ได้   ทำไม่เป็น  มีเพียงที่ดินและแรงงาน  อย่างอื่นไปเอาจาก “นายทุน” หมด   ทั้งเงินและปัจจัยการผลิตอื่นๆ 

                        ทำปีแรกก็ดูท่าจะรวยอย่างที่เขาว่า   แต่ปีต่อๆ มาก็เริ่มพบสัจธรรม     เมื่อรายได้ไม่พอกับรายจ่ายก็เริ่มยืม  จากยืมไปเป็นกู้  จากญาติพี่น้องคนรู้จัก  ออกไปหานายทุน ไปธนาคาร ไปสหกรณ์และทุกแหล่งที่พอจะกู้ได้  ขยายพื้นที่เพาะปลูกโดยหวังว่าจะได้เงินเพิ่มขึ้น  ถางป่าสวน บุกรุกที่สาธารณะ  เมื่อหมดหนทางก็ปล่อยให้เขายึดที่    อพยพย้ายถิ่นไป “ตายดาบหน้า” บางคนไปหาที่ทำการเกษตรต่อไปในจังหวัดอื่นภาคอื่น   บางรายเข้าเมือง  ไปอยู่ในชุมชนแออัด

                        ความจริง รายได้ของชาวบ้านก็ใช่ว่าจะลดลง แต่เมื่อรายได้เพิ่มรายจ่ายก็เพิ่มเป็นเงาตามตัวหรือมากกว่า  แบบมี ๕ ใช้ ๑๐   พอขยันทำงานหนัก รายได้เพิ่มเป็น ๑๐ ก็ใช้ ๒๐  และเช่นนี้เรื่อยไป  รายได้ตามรายจ่ายไม่ทัน และนับวันยิ่งทิ้งห่างออกไป    กลายเป็นหนี้สินที่เพิ่มขึ้นแบบดินพอกหางหมู

                        ชาวบ้านเชื่อ “ผู้ใหญ่ลี”   ที่เป็นตัวแทนของรัฐ และสัญลักษณ์ของอำนาจรัฐที่ไปทำให้ผู้คนเข้าใจว่า “งานคือเงิน  เงินคืองาน  บันดาลสุข”   และการพัฒนา คือ “น้ำไหล   ไฟสว่าง  ทางดี มีงานทำ โดยที่ไม่ได้ตั้งคำถามอื่นๆ ที่เป็นพื้นฐานของการอยู่ดีกินดี   อยู่เย็นเป็นสุข   และเข้าใจเอาง่ายๆ ว่า    ถ้ามีเงินก็สามารถซื้อได้ทุกอย่างและเชื่อว่า  นั่นคือ  ความสุข

                        นับเป็นยุคสมัยแห่งการพัฒนาแบบ “เงินนำหน้า  ปัญญาตามหลัง” โดยแท้

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 267576เขียนเมื่อ 12 มิถุนายน 2009 09:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท