การศึกษาไทย คือ อุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียน


การศึกษาไทย คือ อุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียน

การศึกษาไทย คือ อุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียน

อดุลย์  สุชิรัมย์

ศึกษานิเทศก์ สพท.บุรีรัมย์ เขต 1

 

                เราคงเคยได้ยินคุณครูบ่นให้กับนักเรียนบางคนว่า พวกนอกคอก ..... พวกคิดอะไรไม่เหมือนบ้าน เหมือนเมืองเขา...... พวกไม่อยู่กับร่องกับรอย .....บอกสอนอะไรไม่เคยสนใจทำตาม......ฯลฯ  แล้วเราก็มีความรู้สึกคล้อยตามว่า เด็กพวกนี้คงดื้อมาก คงสอนยาก บอกสอนอะไรก็คงยากที่จะพัฒนาตามที่เรา     อยากให้เป็น อยากให้ได้  และในที่สุดก็คงต้องปล่อยไปตามบุญ ตามกรรม  จะมีครูสักกี่คนที่พยายามทำความเข้าใจเด็กกลุ่มนี้ว่าแท้ที่จริงแล้ว เขามีสาเหตุมาจากอะไร แต่ละคน ชอบที่จะเรียนอะไร ชอบที่จะทำอะไร และที่สำคัญเขามีวิธีการเรียนรู้ของตนเองอย่างไร …..???????

                จากที่ได้มีโอกาสพานักเรียนเข้าค่ายพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์นักเรียน  ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ซึ่งเป็นความร่วมมือของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจังหวัดบุรีรัมย์ ทั้ง 4 เขต กับโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ตลอดทั้งได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โรงเรียนเตรียมทหาร ที่ให้การสนับสนุนวิทยากร และที่สำคัญคือ องค์การบริหารส่วนจังหวัดบุรีรัมย์ที่ให้การสนับสนุนงบประมาณในการเข้าค่าย

สิ่งที่พบและได้เรียนรู้จากนักเรียนกลุ่มนี้คือ ความไม่ธรรมดาในเรื่องของความเป็นอัจฉริยะทางความคิด ความคิดที่ไม่เหมือนใคร (คิดนอกกรอบ) ทำให้มีความรู้สึกว่า นี่คือความหวังของคนบุรีรัมย์ .. นี่คือความหวังของประเทศชาติ ทำให้ต้องตั้งคำถามกับตัวเองเสมอขณะที่อยู่ในค่ายว่า เด็กกลุ่มนี้ขณะที่เรียนอยู่ในห้องเขาจะได้รับการตอบสนองทางความคิดอย่างไรจากครูผู้สอน  คำตอบที่ได้จากนักเรียนหลายคนคือ คุณครูเรียกพวกผมว่า พวกนอกคอก .. พวกคิดอะไรไม่เหมือนบ้าน เหมือนเมืองเขา... พวกไม่อยู่กับร่องกับรอย .....บอกสอนอะไรไม่เคยสนใจทำตาม......ฯลฯ  ทำให้เกิดความรู้สึกว่า การศึกษาของไทยเรากำลังบีบกดศักยภาพของเด็กไทยที่ทุกคนจะต้องเรียนรู้เหมือนกัน ทำเหมือนกัน ตามที่คุณครูสอน  การเรียน    การสอนในลักษณะเหมายกโหลทั้งห้อง จึงเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนแต่ละคน ซึ่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนในมาตรา 22 ว่า ผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ ดังนั้นการเรียนการสอนในลักษณะเหมายกโหลทั้งห้องจึงไม่น่าจะถูกต้อง

โดยความคิดเห็นของผู้เขียน เห็นด้วยกับบางโรงเรียนที่สอบคัดเลือกกลุ่มนักเรียนที่เรียนดีไว้เป็นห้องเรียนพิเศษ เพื่อส่งเสริมให้เด็กกลุ่มนี้ได้รับการพัฒนาอย่างถึงขีดสุดของศักยภาพ แต่ถ้าจะให้ได้ผลอย่างเต็มที่ ต้องพิจารณาคัดเลือกครูผู้สอนที่มีความรู้ ความสามารถ และเข้าใจธรรมชาติของเด็กกลุ่มนี้เป็นอย่างดี แล้วมุ่งเน้น เติมเต็มในเรื่องของคุณธรรม จริยธรรม ความเสียสละ จิตสาธารณะ การทำงานเป็นทีม วิถีประชาธิปไตยเข้าไป เราจะได้ผลผลิตที่เป็นทั้งคนดี คนเก่ง เป็นประชากรที่มีคุณภาพ เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาสังคม ประเทศชาติต่อไป

อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่า เราจะทิ้งนักเรียนกลุ่มปานกลาง และกลุ่มอ่อนไป  แต่เราต้องยอมรับในศักยภาพการเรียนรู้ของนักเรียนแต่ละคน จึงเป็นหน้าที่ของคุณครูที่จะต้องออกแบบการจัดการเรียนรู้ให้สอดคล้อง เหมาะสมกับความสามารถของนักเรียนแต่ละคน แต่ท้ายที่สุดคือ เขาต้องได้รับการพัฒนาอย่างเต็มตามศักยภาพ  แนวคิดการจัดชั้นเรียนแบบคละชั้นที่ต้องการให้เด็กเก่งช่วยเหลือดูแล เด็กที่เรียนอ่อน น่าจะไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ที่เราต้องการคนดี คนเก่ง ไปเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศอย่างเร่งด่วน  

เราจึงควรเร่งส่งเสริม พัฒนาคนเก่งให้ได้รับการพัฒนาอย่างถึงขีดสุด และปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมควบคู่กันไปอย่างจริงจัง  ให้ความสำคัญ และดูแลเด็กปานกลาง เด็กอ่อนให้ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ และทั่วถึง โดยมีคุณครูคอยดูแลให้กำลังใจอย่างใกล้ชิด

                ถึงเวลาหรือยัง...ที่เราต้องหันกลับมาทบทวน บทบาท ภารกิจ ตลอดทั้งแนวทางในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ที่ทุกฝ่ายต่างมุ่งหวังให้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศ ทำอย่างไรเราจะสามารถพัฒนาผู้เรียนให้เป็นทั้งคนดี และคนเก่งถึงขีดสุดของศักยภาพที่มีอยู่  ทำอย่างไรจะสามารถทำให้ผู้เรียนมีความเป็นเลิศทั้งด้านวิชาการ และคุณธรรม จริยธรรม  ทำอย่างไรจะทำให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา ตลอดทั้งผู้บริหาร และคุณครู ตระหนักในความรับผิดชอบร่วมกันต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา และยอมรับในความเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในปัจจุบัน  ถึงเวลาหรือยังที่ทุกคนกล้าที่จะคิดนอกกรอบ กล้าที่จะเปลี่ยนแปลงแนวทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้สอดคล้องเหมาะสมกับสภาพบริบทของตนเอง โดยไม่ต้องรอนโยบาย คำสั่ง ที่ต้องทำเหมือนกัน พร้อมกันทั้งประเทศ

 

 

หมายเลขบันทึก: 267383เขียนเมื่อ 11 มิถุนายน 2009 11:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 22:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท