การพัฒนาที่ยั่งยืน


การเสพบริโภคด้วยปัญญาโดยใช้โยนิโสมนสิการ คือการกินพอดี การบริโภคพอดี เรียกว่า โภชเนมัตตัญญุตา โดยตั้งอยู่บนฐานของการพิจารณารู้ถึง คุณค่าแท้-คุณค่าเทียม

ศิลาอ่านหนังสือเล่มหนึ่งมาน่าสนใจค่ะ ชื่อเรื่อง “การพัฒนาที่ยั่งยืน” (Sustainable Development) โดยพระพรหมคุณากรณ์ (ป.อ. ปยุตโต) เรียนตามตรงว่าช่วงนี้เวลามีค่ามาก การเลือกอ่านหนังสือสักเล่ม จะต้องคิดแล้วคิดอีกว่าอ่านไปเพื่ออะไรหนังสือทุกเล่มมีคุณค่ามีความหมาย  แต่ที่ตั้งคำถามในใจนี้ ก็เพื่อจัดลำดับความสำคัญก่อนหลังประกอบกับการใช้เวลาที่เพียงพอเพื่อการไตร่ตรองความรู้ที่ได้จากหนังสือเล่มนั้นค่ะ

 

หากอ่านเพื่อความบันเทิงเราเครียดและต้องการผ่อนคลายใช่หรือไม่

 

หากอ่านเพื่อเพิ่มพูนความรู้เราจะนำไปใช้ประโยชน์อะไรในตอนนี้

 

คำตอบสำหรับการอ่านหนังสือ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ก็คือจะนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันของตัวเองค่ะและเห็นว่าน่าจะมีประโยชน์แก่กัลยาณมิตร จึงนำมาเล่าสู่กันฟัง

 

หนังสือเล่มนี้มีความลึกซึ้งอย่างมากมีทั้งหลักธรรม และหลักเศรษฐศาสตร์แทรกซึมเกือบทุกถ้อยคำ โดยเฉพาะบางประเด็นมีความเป็นนามธรรมที่ยากแก่การอธิบายให้เห็นภาพ จึงขอกล่าวเฉพาะประเด็นที่เป็นรูปธรรมและนำมาปฏิบัติได้

 

                       

 ศิลาอ่านพบประเด็นเรื่องการเสพบริโภคสิ่งต่าง ๆ มีอยู่ 2 ประเภท ได้แก่ การเสพบริโภคด้วยตัณหา กับการเสพบริโภคด้วยปัญญา 

 

การเสพบริโภคด้วยตัณหาดูเหมือนว่าสังเกตเห็นได้ไม่ยาก ตัวอย่างเช่น

 

การทานอาหารเพราะรสชาติอร่อย มีราคาโดยไม่คำนึงคุณค่าทางอาหาร

 

การซื้อของมียี่ห้อเพื่ออวดโชว์กัน (มานะ) ซื้อสิ่งของฟุ่มฟื่อยมาใช้สอยโดยไม่จำเป็น

            

 

การเสพบริโภคด้วยปัญญาโดยใช้โยนิโสมนสิการ คือการกินพอดี การบริโภคพอดี เรียกว่า โภชเนมัตตัญญุตา โดยตั้งอยู่บนฐานของการพิจารณารู้ถึง คุณค่าแท้-คุณค่าเทียม

 

การเสพบริโภคด้วยปัญญาดังกล่าวข้างต้นนี้ สำหรับศิลาแล้ว  เป็นเรื่องที่อยู่ภายในของแต่ละบุคคล  เปรียบเสมือนการปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันของแต่ละบุคคลว่าขณะที่จะเสพบริโภคนั้น  ได้ผ่านการไตร่ตรองอย่างแยบคายแล้วหรือยัง

 

เพื่อให้เห็นภาพของการเสพบริโภคเช่นว่านี้ขอยกตัวอย่างที่ปรากฎในหนังสือเล่มนี้ดังนี้ค่ะ

 

พระสูตรท่านเล่าไว้ว่า พระเจ้าแผ่นดินชื่อพระเจ้าอุเทน ตอนนั้นไม่ค่อยนับถือศาสนาพุทธ คราวหนึ่งมีการถวายผ้าจีวรให้แก่พระอานนท์ตั้ง 500 ผืน  พระเจ้าอุเทนคงทรงคิดว่าพระนี้โลภ จะเอาไปทำไมตั้งมากมาย จึงตรัสถามพระอานนท์ว่า

 

ผ้านี้ท่านจะเอาไปทำไมมากมาย ท่านจะปฏิบัติอย่างไรกับผ้าเหล่านั้น

 

พระอานนท์ก็ทูลตอบว่า

 

จะนำไปแจกจ่ายให้แก่พระที่ขาดแคลนผ้า

 

พระอุเทนก็ตรัสถามต่อไปว่า 

 

เมื่อได้ผ้าใหม่มาแล้ว  ผ้าเก่าท่านจะทำอย่างไร

 

พระอานนท์ก็ทูลตอบว่า

 

ผ้าเก่าที่เลิกห่มแล้ว ก็เอาไปทำเป็นผ้าดาดเพดาน  ถ้ามันเก่าขึ้นไปอีกท่านก็เอาไปใช้เป็นผ้าปู ผ้าห่อของอะไรต่ออะไรเรื่อยไป จนกระทั่งในที่สุดก็เป็นผ้าขี้ริ้ว

 

ต่อจากผ้าขี้ริ้ว พระอานนท์ยังไม่หยุด  ท่านจะเอาไปบดตำ สมัยก่อนเขาใช้ผสมดินดังที่อินเดียปัจจุบันก็ยังใช้อยู่ คือเอาดินเป็นส่วนผสมแล้วก็ทาฝาผนัง

 

พระเจ้าอุเทนได้ทรงฟังคำชี้แจงก็ทรงเลื่อมใสว่า

พระอานนท์มีความคิดประหยัดดีเหลือเกิน ไม่ใช่จะฟุ่มเฟือย ก็เลยถวายผ้าจีวรเพิ่มขึ้นอีก อันนี้เป็นตัวอย่างของ reuse คือการรู้จักใช้สิ่งที่ใช้แล้วให้เป็นประโยชน์ต่อไปอีก

 

หลังจากอ่านเรื่องนี้แล้วศิลาจะซื้อหรือบริโภคอะไรก็แล้วแต่ จะสังเกตตัวเองอย่างมีสติ...พิจารณาถึงคุณประโยชน์ที่จะได้ฟังดูเหมือนง่ายนะคะ หลายครั้งเลยค่ะที่ต้องต่อสู้ระหว่างธรรมะกับอธรรมในใจ  ของบางอย่างเราอยากได้มาก มองแล้วมองอีก เพ่งพิจารณาคุณค่าและมองกลับมาดูความอยากของตนเองหลายครั้งหลายคราก้าวเท้าออกมาจากร้านแล้ว ใจยังโหยหาจึงกำลังฝึกฝนตนเองอย่างค่อยเป็นค่อยไปอยู่ค่ะ

                     

   

      

ข้อค้นพบที่ได้จากการอ่านหนังสือนี้นอกจากทำให้ศิลาพยายามฝึกสติในการเสพบริโภคแล้ว  ยังมองเห็นว่าการพัฒนาที่ยั่งยืน สุดท้ายแล้วก็เป็นเรื่องของภายในเราเอง  ธรรมชาติของเรา เราสามารถ "รู้" และ "ละ" ได้ หรือ ดัดธรรมชาติของเราให้ไปในทางที่ถูกที่ควรได้

หากนำไปปฏิบัติได้จริง การเป็น "หนี้" ในครัวเรือนก็ลดลง ส่งผลดีต่อสังคมโดยรวมค่ะ

                 

กัลยาณมิตรท่านใดอ่านแล้ว มีความเห็นว่าอย่างไร แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้นะคะ

 

 

         ขอบพระคุณที่มาแวะมาเยี่ยมเยียนค่ะ

 

                               

ศิลาขอเพิ่มเติมข้อมูล หากกัลยาณมิตรท่านใดสนใจตัวอย่างการเสพบริโภคด้วยปัญญา (ปัญญาปฏิบัติตัวจริงเสียงจริง) แวะไปอ่านได้ตาม link ต่อไปนี้ค่ะ

- http://gotoknow.org/blog/wasawatdeemarn/265341 

เรื่อง "รถยนต์" เครื่องวัดหน้าตาและฐานะทางสังคมของครูมหาวิทยาลัย จาก Blog “บันทึกความดี..ความคิดชั่ว” โดยท่านอาจารย์ wasawat deemarn

หมายเลขบันทึก: 266699เขียนเมื่อ 8 มิถุนายน 2009 18:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)

เจริญพร โยมศิลา

อาตมาได้อ่าน เรื่องเมื่อเราลองงดซื้อ จากนิตยสารสรรสาระ

ผู้เขียนบอกว่า คนส่วนใหญ่มีสิ่งของมากมายเกินความต้องการอยู่แล้ว

และสิ่งของส่วนมากแล้วมักซื้อเก็บไว้เป็นที่ระลึกโชว์เพื่อนๆ

ยุคนี้อาตมาเห็นว่าเราๆท่านๆต่างตามกระแสบริโภคนิยมกันอย่างไม่ลืม

หูลืมตา ทีวีก็โฆษณาแต่สินค้าตลอด 24 ชั่วโมง

เจริญพร

ตัวอย่าง รียูส เรื่องพระอานนท์ ดีมากเลยคะ ขอบคุณคะ

  • กราบนมัสการพระคุณเจ้าพระปลัด P เจ้าค่ะ จริงอย่างที่ท่านบรรยายธรรมมาค่ะ ขอน้อมรับไปปรับใช้ ให้มีสติรู้ตัวขณะเสพบริโภคค่ะ

ผมว่าเราถูกล้างสมองโดยโทรทัศน์ด้วยส่วนหนึ่ง

อยากให้บริษัทโฆษณารับทำ สปอตชุดนี้ แทน โฆษณารักแร้ขาว จังเลยครับ

 

  • ได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว
  • ชอบมาก
  • มีหลายอย่างเอาไปทดลองปฎิบัติแล้ว
  • อยากมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนพูดคุยกันบ้างจัง
  • อย่าลืมชวนคนที่ทำให้ผมประหลาดใจไปด้วย
  • ว่าแต่ว่า
  • ช่วงนี้หายไปไหนหนอ
  • ไม่เขียนบันทึกเลย
  • ขอบพระคุณคุณดอกแก้ว P ที่แวะมาอ่านค่ะ  เห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะ ตัวอย่างการ reuse ของพระอานนท์ในพุทธกาลเป็นสิ่งที่เราควรยึดเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตเสพบริโภคค่ะ
  • ศิลาแวะไปเยี่ยมบ้านแล้วนะคะ จึงได้ตอบเม้นทฺ์นี้ช้า
  • กรณีที่ศิลามีเวลาไม่มากนัก จะเลือกไปเขียนเม้นท์ที่บ้านกัลยาณมิตรก่อนที่จะตอบในบันทึกตัวเอง  แต่ช้าเร็วก็จะตอบอย่างตั้งใจทุกท่านค่ะ
  • เรียนท่านอาจารย์หมอเติมศักดิ์ P จับคู่เปรียบเทียบได้เห็นภาพมากค่ะ อิอิ
  • สวัสดีค่ะท่านอาจารย์ขจิต P  โอ้โห อ่านเรื่องยาก ๆ แบบนี้ด้วยเหรอคะ ... ศิลาอ่านแบบเลือกประเด็นที่สนใจอ่าน ไม่ได้อ่านทั้งเล่มนะคะ  อ่านไปอ่านมา ก็โดนใจเรื่องที่นำเสนอนี่แหละค่ะ  เห็นว่านำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ดี  เพราะบางคร้้งก็ขาดสติค่ะ  เห็นเงินมันเหลือ อิอิ  (ล้อเล่น) จริง ๆ แล้วไม่ควรค่ะ  ถึงเงินมีจ่าย ก็ควรจ่ายให้เป็น
  • อยากให้กัลยาณมิตรหลายท่านอ่านหนังสือเล่มนี้จัง ไม่อยากเล่ามากเพราะเราก็ไม่ได้รู้ดีอะไร อยากให้อ่านกันมากกว่า อ่านแล้วจะได้ปฏิบัติกันค่ะ
  • อยากเจอกันแล้วเหรอคะ  ศิลาก็อยากเจอค่ะ แต่เป็นผู้หญิงก็เลยสงวนท่าทีไว้ค่ะ 555
  • ท่านอาจารย์ขจิตคิวแน่นเอี๊ยดเลย...  ว่างเมื่อไหร่ มาเคาะประตูบอกดีกว่าค่ะ  ศิลาไม่ค่อยเดินสายไปไหนไกล 
  • หากนัดเจอเมื่อไหร่ นัดคนเดียวได้เจอเบิ้ลหรือทริปเปิ้ลด้วยน๊า..คุ้มนะคะ...อีกคนเขาไม่ค่อยลงแล้วค่ะ  กำลังทำคดีสำคัญอยู่ค่ะ เพื่อประเทศชาติ ปล่อยเขาไปก่อน

สวัสดีค่ะ

เริ่มเห็นคุณค่าการบริโภคแบบพอเพียงเมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมา

คิดและมีสติก่อนซื้อบริโภค...ดีจริงๆค่ะ

ขอบคุณบันทึกดีมีประโยชน์

สวัสดีค่ะอาจารย์ศิลา

ขอบคุณที่นำเรื่องที่อ่านมา สรุปให้อ่านเข้าใจง่ายๆขึ้นนะคะ

ขอบคุณความพอเพียง

 

  • การคิดอย่างสติก่อนเสพบริโภค เป็นเรื่องที่ดีมากค่ะ คุณ mena P  เหมาะกับเราคนไทยที่น้อมนำเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้  กรณีที่เสนอนี้ เป็นเรื่องภายในของเราที่เกื้อหนุนกันค่ะ
  • ดีใจมากค่ะที่คุณ mena ได้นำแนวคิดนี้มาใช้นานแล้ว มีอะไรดี ๆ มาแลกเปลี่ยนเป็นประสบการณ์กันด้วยนะคะ ศิลาอยากได้ตัวอย่างเยอะๆ ค่ะ  จะได้เป็นประโยชน์แก่เด็ก ๆ ที่จะดูผู้ใหญ่เป็นตัวอย่างด้วยค่ะ
  • ขอบพระคุณค่ะ

สวัสดีค่ะ

  • แวะมาทักทายค่ะอาจารย์
  • ขอแสดงความยินดีกับรางวัลสุดคะนึงนะคะ
  • มีความสุขวันหยุดนะคะ

 

สวัสดีครับอาจารย์  ตามปกติจะไปคุยกับเพ็ญอย่างน้อยเดือนละครั้ง..คุยเรื่องสัพเพเหระ..สิ่งที่ถามไถ่ทุกครั้งที่ไปพบคือ ยังบันทึกรายจ่ายอยู่หรือไม่..ได้ความว่ายังบันทึกอยู่ทุกวัน...(จดทุกครั้งที่จ่าย..ถ้าไม่จดก็คงลืม )......หวังว่า เมื่อนำมาทบทวนคงจะทำให้ " รู้ " และ " ละ "..ได้ตามที่อาจารย์ว่า  ครับผม

 

  • สวัสดีคุณศิลา
  • ทุกวันนี้สังคมเต็มไปด้วยบริโภคนิยม โดนมอมเมาทางสื่อต่าง ๆ จนคนไทยหมดแรง สิ่งดี ๆ ของไทยก็ไม่นิยมกัน โดยเฉพาะหลักธรรม การสัมมนาของหน่วยงานจะจัดหัวข้อธรรมะในหลักสูตร ยังยาก นำแต่ทฤษฎีนอกมาทั้งนั้น
  • ขอบคุณ
  • สวัสดีค่ะ พี่แดง P คิดถึงจังค่ะแล้วจะไปเยี่ยมนะคะ

สวัสดี ครับ คุณ sila

หนังสือเล่มนี้...ผมไม่เคยอ่าน

แต่ได้อ่านภาษาที่คุณ sila ถ่ายทอดแล้ว

รู้สึกถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านตัวคุณ sila

....ตระหนักเพิ่มขึ้น  รู้เพิ่มขึ้น....

ที่สำคัญจะนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างไร?  ...เป็นประเด็นที่สำคัญมาก ๆ ที่ทำให้หนังสือเล่มนี้เกิดประโยชน์สูงสุด...

เป็นอีกหนึ่งบันทึก ที่ถ่ายทอด ผ่านชุมชน online แล้ว รู้สึกว่า...ปลุกจิตสำนึกของสังคมเพิ่มขึ้น จริง ๆ ครับ

...

มาด้วยความระลึกถึง คุณ sila เช่นเคย...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท