เหนือวิทยาศาสตร์ ๗


ต่อจาก เหนือวิทยาศาสตร์ ๖

          คนที่บัญญัติทีแรกว่าตายแล้วเกิด  หรือตายแล้วไม่เกิดนี่  ความรู้สึกอย่างนั้น มันก็มาจากเวทนาที่มีเป็นประจำ  เวทนาที่เป็นเหตุให้พอใจ  ให้ยึดถือเอานี้  ให้ยึดมั่นถือมั่นเอาเป็นของเรานี้  มันทำให้เกิดความคิด หรือความเห็นว่า อะไรที่เราควรจะเอา  ผลของการที่เราเสวยเวทนามากเข้า  มากเข้า  มากเข้า  มันจะปรุงแต่งขึ้นมาเป็นความคิดความเห็นอันหนึ่งว่า  "อะไรคือสิ่งที่เราควรจะเอา"    "อะไรคือสิ่งที่เราสั่นหัวไม่อยากเอา"   ความรู้สึกอันนี้  จะมาจากเวทนาทั้งสิ้น  เพราะว่า ไม่มีอะไรที่จะมาครอบงำจิตคนได้ นอกจากเวทนา  เวทนาที่ซ้ำซาก  ซ้ำซาก  มันจะค่อยๆ แยกตัวออกไปว่า  อันนี้เราจะเอา  นี้เราจะไม่เอา

          ทีนี้คนพวกหนึ่งก็จะมีความคิดทำนองว่า  ความเห็นที่ว่าตายแล้วเกิดนี่เราจะเอา  ความเห็นที่ว่าตายแล้วไม่เกิดเราไม่เอา เขาจึงมีทิฏฐิว่า  "ตายแล้วเกิด"

          พวกอื่นตรงกันข้าม เวทนามันคอยทำให้เขาลำบากยุ่งยาก หรือมีลักษณะอย่างอื่น  พวกนั้นก็ชอบไปในทิฏฐิความเห็นว่า  เราจะเอาอย่างว่า "ตายแล้วไม่เกิด"

          มิจฉาทิฏฐิว่า "ตายแล้วเกิด" หรือมิจฉาทิฏฐิว่า "ตายแล้วไม่เกิด"  นี้ มันมาจากสิ่งที่เรียกว่า เวทนา ที่มารู้สึกแก่จิตอย่างซ้ำซาก

          แต่ในกรณีอย่างนี้  พระพุทธเจ้าตรัสลึกลงไปถึงผัสสะ  ผัสสะคือสิ่งที่ให้เกิดเวทนา  เราจะพูดว่าผัสสะก็ได้  พูดว่าเวทนาก็ได้ เพราะว่าเมื่อมีผัสสะแล้ว  ก็ต้องมีเวทนา  เวทนานั้นต้องมีชื่อว่า สัมผัสสชาเวทนา  เวทนาที่เกิดมาจากผัสสะ  สัมผัสทางตาบ้าง  ทางหูบ้าง  ทางลิ้นบ้าง  ทางจมูกบ้าง  ทางกายบ้าง  ทางใจบ้าง  คือไปสัมผัสที่อารมณ์อะไรเข้า  หลังจากผัสสะแล้วก็ต้องมีเวทนา  ฉะนั้น เวทนาจึงมีชื่อไปตามผัสสะว่า จักขุสัมผัสสชาเวทนา  เวทนาที่เกิดจากจักษุสัมผัส  เวทนาที่เกิดมาจากโสตสัมผัส  คือ หู เวทนาที่เกิดจากฆานะสัมผัสคือ จมูก  เขาเรียกว่า เวทนาทั้งนั้น

          บางทีพระพุทธเจ้าก็ทรงใช้คำว่า "ผัสสะ" บางทีทรงใช้คำว่า "เวทนา" ที่เป็นตัวเรื่อง ตัวการ ตัวที่จะทำให้เกิดอะไรยุ่งยากลำบากนี้  แต่เดี๋ยวนี้เราเรียกว่าเวทนากันให้มันแน่นอน  เพราะมันแน่นอนกว่า มันเป็นความรู้สึกที่ทำให้สุข หรือ ทุกข์  เวทนาอย่างไหนทำให้เราเกิดความคิดขึ้นมาอย่างไร  หนักเข้าก็เป็นทิฏฐิของเรา  เรามีความเห็นอย่างนั้น  เราก็เลยไม่เห็นอย่างอื่น  ไม่ยอมเห็น  ไม่ยอมเชื่อ  ฉะนั้นจึงเกิดทิฏฐิต่างๆ เช่น  ตายแล้วเกิด  ตายแล้วไม่เกิด  หรือว่าเกิดบ้าง  ไม่เกิดบ้าง แล้วก็ตายแล้วสูญ  ว่าโลกเที่ยง  โลกไม่เที่ยง  นี้มันเนื่องกันทั้งนั้น  ว่าสิ่งต่างๆ แน่นอน ยั่งยืน  ความเห็นเหล่านี้  ปรุงมาจากความรู้สึกที่เรียกว่า  เวทนา

         

หมายเลขบันทึก: 266042เขียนเมื่อ 5 มิถุนายน 2009 11:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท