เทคนิคการแปลผลจากการวิเคราะห์ข้อมูล


เรียนรู้จากห้องเรียน..เขียนจากความเข้าใจ

     โดยปกติงานวิจัยจะนำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูลไว้ในบทที่ 4  ซึ่งอาจนำเสนอเป็นตาราง  แผนภาพ  แผนภูมิ  หรือกราฟ  และผู้วิจัยจะมีการแปลผลจากการวิเคราะห์ข้อมูลใต้ตาราง  แผนภาพ  แผนภูมิ  หรือกราฟ  โดยแปลเฉพาะข้อมูลที่นำเสนอ  ไม่ควรแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม  การแปลผลข้อมูลทั่วไปหรือสถิติพื้นฐาน  ให้แปลเรียงจากมากไปหาน้อย  แต่ถ้ามีข้อมูลเพียง 2 - 3  รายการให้แปลทั้งหมด  แต่ถ้ามีมากกว่า 3 รายการ  ให้แปลรายการที่มากที่สุด  รองลงมา  และน้อยที่สุด

 ลักษณะการแปลมี  2  ลักษณะ  คือ

         1.  แปลโดยกล่าวถึงตัวเลขเท่าที่จำเป็น  เช่น  เฉพาะร้อยละ  ตัวอย่าง  "จากตาราง  พบว่ากลุ่มตัวอย่างมีการศึกษาระดับปริญญาตรีสูงที่สุด  คิดเป็นร้อยละ  47.80  รองลงมาระดับอนุปริญญา   คิดเป็น  ร้อยละ  34.65  และน้อยที่สุด คือ  ระดับปริญญาเอก  คิดเป็นร้อยละ  5.25"  หรืออาจจะเขียนอีกลักษณะหนึ่งคือ "จากตาราง  พบว่า  กลุ่มตัวอย่างมีการศึกษาระดับปริญญาตรีสูงที่สุด  รองลงมาระดับอนุปริญญา  และน้อยที่สุดคือ  ระดับปริญญาเอก  คิดเป็นร้อยละ  47.80  34.65  และ 5.25  ตามลำดับ   ในลักษณะที่ 2 นี้  "ตามลำดับ"  เป็นตามลำดับของตัวเลขร้อยละตามสาระตัวแปรที่เสนอไปก่อนหน้านี้  คือ  ปริญญาตรี  อนุปริญญา  และปริญญาเอก  แต่ในรายการแรกไม่มีคำว่า "ตามลำดับ"  เพราะได้เสนอตัวเลขต่อท้ายสาระของตัวแปรแต่ละรายการแล้ว  ข้อควรระวัง  การเขียนแปลข้อมูลใช้ลักษณะเดียวให้เหมือนกันตลอด

        2.  แปลโดยไม่กล่าวถึงตัวเลขเลย  เพราะมีในตาราง  แผนภาพ  หรือแผนภูมิแล้ว  ผู้อ่านสามารถอ่านได้จากแหล่งดังกล่าว  เช่น  "จากตาราง  พบว่า  กลุ่มตัวอย่างมีการศึกษาระดับปริญญาตรีสูงที่สุด  รองลงมาระดับอนุปริญญา  และน้อยที่สุดคือระดับปริญญาเอก"

                กรณีการแปลผลการวิเคราะห์ด้วยสถิติอ้างอิง  เช่น  สถิติทดสอบที (t-test)   สถิติทดสอบเอฟ  (F-test)  ในการวิเคราะห์ความแปรปรวน  ต้องแปลให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ  แปลตามสมมุติฐานที่ตั้งไว้และแปลให้เหมือนกันตลอด

                ตัวอย่าง  กรณีใช้สถิติทดสอบทีเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยความรับผิดชอบของเพศหญิงกับเพศชาย  มีลักษณะการแปลดังนี้

                1.  ตั้งสมมุติฐานว่าเพศหญิงกับเพศชายมีความรับผิดชอบแตกต่างกัน  ลักษณะการแปลมีดังนี้

                        1.1  กรณีที่ผลการวิเคราะห์ข้อมูลเป็นไปตามสมมุติฐาน  คือ  พบว่าแตกต่างกัน  แปลว่า "เพศหญิงกับเพศชายมีความรับผิดชอบแตกต่างกัน"  หรือ  "เพศหญิงกับเพศชายมีความรับผิดชอบแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ  .05" 

                        1.2  กรณีที่ผลการวิเคราะห์ข้อมูลไม่เป็นไปตามสมมุติฐาน  คือ  พบว่าไม่แตกต่างกัน แปลว่า  "เพศหญิงกับเพศชายมีความรับผิดชอบไม่แตกต่างกัน"  หรือ  "เพศหญิงกับเพศชายมีความรับผิดชอบแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ"  หรือ  "เพศหญิงกับเพศชายมีความรับผิดชอบไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ  .05" 

                2.  ตั้งสมมุติฐานว่าเพศหญิงมีความรับผิดชอบมากกว่าเพศชาย ลักษณะการแปลมีดังนี้

                        2.1  กรณีที่ผลการวิเคราะห์ข้อมูลเป็นไปตามสมมุติฐาน  คือ  พบว่าแตกต่างกัน  หรือค่าเฉลี่ยความรับผิดชอบของเพศหญิงมากกว่าเพศชาย (อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ)  หรือ  เพศหญิงมีความรับผิดชอบมากกว่าเพศชาย  แปลว่า  "เพศหญิงมีความรับผิดชอบมากกว่าเพศชาย"  หรือ  "เพศหญิงมีความรับผิดชอบมากกว่าเพศชายอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05"

                      2.2  กรณีที่ผลการวิเคราะห์ข้อมูลไม่เป็นไปตามสมมุติฐาน คือพบว่าไม่แตกต่างกัน

 หรือค่าเฉลี่ยความรับผิดชอบของเพศหญิงไม่มากกว่าเพศชาย (อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ)  แปลว่า  "เพศหญิงกับเพศชายมีความรับผิดชอบไม่แตกต่างกัน"  หรือ  "เพศหญิงกับเพศชายมีความรับผิดชอบไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ"  หรือ  "เพศหญิงกับเพศชายมีความรับผิดชอบไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05"

หมายเลขบันทึก: 266039เขียนเมื่อ 5 มิถุนายน 2009 11:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 03:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • ดีจังเลยครับ
  • จะขอแนะนำคุณครูที่สนใจการแปลผล
  • ให้มาอ่านนะครับ
  • ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ

ข้อมูลนี้ดีมากเลย

ขอบคุณมากครับ

ตามคำเรียกร้องค่ะ ข้อมูลมีประโยชน์มาก

มีอะไรดีๆ นำมาอีกนะค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท