ปรากฏการณ์ จากกระแส “ฟ้ามิอาจกั้น”
การติดต่อสื่อสารที่รวดเร็ว
การเคลื่อนที่ของสื่อที่ยากต่อการควบคุม
เริ่มก่อเกิดปัญหาสังคมขึ้นมาอย่างมากมาย
ที่ผ่านมาไม่ได้มีการให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหามากนัก
เข้าใจว่า “ปัญหาของเยาวชน” ในปัจจุบัน
ส่วนมากก็มาจากการเสพสื่อ ที่หลากหลายและไม่ได้มีการกลั่นกรอง
นั่นเอง
ปรากฏการณ์ลักษณะนี้ จะทวีความรุนแรง ต่อเนื่องไปในอนาคต
หากผู้ใหญ่ที่ดูแลปัญหาอยู่ ยังไม่ก้าวรุก เพื่อที่จะแก้ไขปัญหา
อย่างจริงจัง
ได้อ่านเรื่องราว ที่น่าสนใจ และหยิบยกมาพูด คุย ในBlog
เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยน และ ชวนกันเฝ้าดูปรากฏการณ์
ยกเหตุการณ์ต่างๆมาเป็น กรณีศึกษา และวิจัย ครับ

ปลัด วธ.เผยเด็กติดเกม-แชทรูม แยกแยะชีวิตจริง-โลกเสมือนจริงไม่ออก เกิดปัญหาข่มขืนเกลื่อน เด็กในสถานพินิจฯ สารภาพทำความผิดเพราะถูกเพื่อนชักจูงและเลียนแบนมาจากหนัง ข่าวรุนแรง อินเทอร์เน็ตและหนังสือการ์ตูน
คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันสื่อมีอิทธิพลในยุคสังคมข้อมูลข่าวสารมาก ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ ซึ่งสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ไทยมีหนังสือพิมพ์ 58 ฉบับ มีผู้อ่าน 21.6 ล้านคน ชอบอ่านข่าว ร้อยละ 87.2 ซึ่งหนังสือพิมพ์ที่มียอดขายดีที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่ ไทยรัฐ "คม ชัด ลึก" เดลินิวส์ มติชน ผู้จัดการ ข่าวสด บ้านเมือง สยามรัฐ กรุงเทพธุรกิจ โพสต์ทูเดย์ และมีนิตยสารอีกประมาณ 800 ฉบับ ส่วนสื่อโทรทัศน์พบว่า ครอบครัวที่มีรายได้มากกว่า 1.5 หมื่นบาท มีอยู่ 2.6 ล้านครอบครัว ร้อยละ 30-50 เป็นสมาชิกยูบีซี และร้อยละ 6-10 เป็นสมาชิกเคเบิลโทรทัศน์ท้องถิ่น ที่สำคัญมีร้านค้าซีดี วีซีดีในกรุงเทพฯ มากถึง1.6 หมื่นแห่ง รองลงมาเชียงใหม่ 200 แห่ง
"การรับสื่อของเด็กและเยาวชนมากจนเกินไป โดยไม่มีคนคอยแนะนำเนื้อหาที่สร้างสรรค์ ทำให้เกิดปัญหาสังคมที่แปลกแตกต่างไปจากยุคเดิม จากการวิจัยเรื่องเปิดใจเยาวชนในสถานพินิจฯ ว่าอะไรเป็นสาเหตุให้กระทำผิด พบว่าเกิดจากเพื่อนชักจูง ร้อยละ 76.1 เลียนแบบภาพยนตร์ ร้อยละ 56.1 ข่าวความรุนแรงที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ ร้อยละ 40.6 รายการโทรทัศน์ ร้อยละ 32.7 อินเทอร์เน็ต ร้อยละ 31.9 และหนังสือการ์ตูน ร้อยละ 17 เด็กมีปัญหามีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร เด็กติดเกม ติดแชทรูมจนเกิดเป็นสังคมไซเบอร์ขึ้นมา เด็กกลุ่มนี้จะแยกแยะการใช้ชีวิตในโลกแห่งความจริงและโลกเสมือนจริงไม่ออก คิดว่าข้อมูล พฤติกรรมสื่อลามกในอินเทอร์เน็ตสามารถนำมาใช้ในชีวิตจริงได้ จนเกิดปัญหาข่มขืนท้องแท้งทิ้งในที่สุด" ปลัด วธ.กล่าว
ดังนั้น ศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรมของ วธ.จึงต้องดำเนินการเชิงรุก ซึ่งนอกจากการศึกษาข้อมูล ทำวิจัย จัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม 75 จังหวัดและในสถานศึกษาแล้ว ยังจัดทำระบบเรตติ้งให้เป็นเกณฑ์ในการชี้วัดคุณภาพของเนื้อหารายการโทรทัศน์ โดยประสานขอความร่วมมือกับผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ทุกช่องให้ความร่วมมือผลิตเนื้อหาตามทฤษฎีแล้ว
ที่มา หนังสือพิมพ์คมชัดลึก(mthai.com)
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร ใน The ultimate leader