โครงสร้างกระทรวงสาธารณสุข


ฤา กรมอนามัย จะถึงครา...

        มีเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่อยากจะเชิญชวนคนกรมอนามัยมาร่วมกันคิด ช่วยกันแสดงความคิดเห็นกันให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ผมได้รับบันทึกจาก กพร. ส่ง (ร่าง) รายงานการสังเคราะห์กลไกในระบบสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งจัดทำโดยคณะอนุกรรมการศึกษากลไกระบบสุขภาพแห่งชาติและบทบาทโครงสร้างกระทรวงสาธารณสุข มาให้อ่าน และให้ข้อเสนอแนะกลับไป แต่ผมว่าหากจะจำกัดอยู่ที่ผู้ที่ได้รับหนังสือฉบับนั้นคนเดียวก็คงไม่เหมาะ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกคน

      ถึงแม้เอกสารฉบับนี้จะยังเป็นแค่เพียงเอกสารร่าง แต่สาระที่ปรากฎอยู่นั้นก็ทำให้ต้องสนใจอย่างจริงจัง เอกสารฉบับนี้ได้นำเสนอบทบาทหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขที่พึงกระทำในอนาคต รวม 12 ข้อ คือ

        1. กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพ โดยเสนอให้ปรับองค์กรปัจจุบัน (สนย.) ไปสู่การเป็นองค์กรที่มีสมรรถนะสูง ขึ้นมาทำหน้าที่เพราะเห็นว่าบทบาทหน้าที่นี้มีความสำคัญสูงมาก ถือเป็นหัวใจของบทบาทหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข

        2. การสร้างและการจัดการความรู้ด้านสุขภาพ (การวิจัยและพัฒนา) ซึ่งตรงนี้ผู้วิเคราะห์สรุปว่าในปัจจุบันมีองค์กรทำหน้าที่สร้างและจัดการความรู้กระจายอยู่ในหลายส่วน โดยได้ยกตัวอย่างชื่อกรม ประกอบ (แต่สงสัยจังไม่มีชื่อกรมอนามัยรวมอยู่ด้วย : ผู้เขียน) ข้อเสนอที่เสนอให้พิจารณาก็คือ อาจปรับองค์กรที่มีอยู่แล้วให้รองรับบทบาทหน้าที่นี้ และควรเป็นหน่วยงานของรัฐที่มิใช่ส่วนราชการเพื่อจะได้มีความคล่องตัวในการดำเนินงาน และยังเสนอให้กระทรวงควรปรับลดบทบาทการสร้างและจัดการความรู้ด้วยตนเองให้น้อยลงให้เหลือเท่าที่สำคัญและจำเป็น แล้วมอบหมายให้องค์กรข้างต้นเป็นหน่วยดำเนินการ

        3. การกำหนดมาตรฐานและดูแลกำกับกับมาตรฐาน มีข้อสรุปว่าในปัจจุบันยังไม่มีองค์กรกลางที่ดูแลเรื่องมาตรฐานในภาพรวม จึงเสนอให้มีองค์กรราชการขนาดเล็กทำหน้าที่เป็นแกนกลางเชื่อมประสานการดูแลมาตรฐานด้านสุขภาพในภาพรวม

        4. การบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ มีข้อสรุปว่ายังไม่มีกลไกดูแลงานในภาพรวม ก็เสนอให้มีกลไกราชการขนาดเล็กเป็นแกนกลางดูแลการพัฒนาการทางกฎหมายในภาพรวม แต่องค์กรดูแลการการปฏิบัติสามารถกระจายอยู่ในหลายองค์กรได้

        5. การสร้างเสริมศักยภาพองค์กรภาคส่วนต่าง ๆ ที่ทำงานด้านสุขภาพและประชาชนเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ ก็ยังสรุปว่าปัจจุบันยังไม่มีองค์กรดูแลการสร้างเสริมศักยภาพขององค์กรภาคส่วนต่าง ๆ ที่ทำงานด้านสุขภาพอย่างชัดเจน มีแต่กลไกสร้างเสริมศักยภาพภาคประชาชนอยู่ในกรม สบส. แต่ก็ยังทำหน้าที่ได้ไม่ครอบคลุม เสนอให้จัดให้มีองคืกรดูแลการสร้างเสริมศักยภาพองค์กรอื่นที่ทำงานด้านสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อปท.

        6. การป้องกัน ควบคุมโรคและภัยที่คุกคามสุขภาพ สรุปอย่างชัดเจนว่าปัจจุบันมีกรม คร ดูแลงานนี้เป็นหลัก และเสนอให้ปรับองค์กรให้มีสมรรถนะสูง

        7. การดำเนินงานด้านสุขภาพระหว่างประเทศ สรุปว่าในปัจจุบันมีกลุ่มงาน สต ใน สนย. รองรับ และเสนอให้ปรับให้เป็นองค์กรขนาดเล็กที่มีสมรรถนะสูง

        8. การดำเนินงานสนองโครงการด้านสุขภาพอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ก็สรุปว่ายังไม่มีองค์กรดูแลประสานในภาพรวม จึงเสนอให้จัดให้มีกลไกขนาดเล็กรองรับบทบาทหน้าที่นี้

        9. การซื้อบริการสุขภาพและผลิตบุคลากรด้านสาธารณสุข (ไม่รู้เหมือนกันว่ามารวมอยู่ในหัวข้อเดียวกันได้อย่างไร : ผู้เขียน) สรุปว่ามี สปสช ทำหน้าที่ซื้อบริการอยู่ แต่กลไกขาดความเชื่อมโยงกับการแสดงบทบาทหน้าที่ด้านการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ จึงเสนอให้มีการพัฒนาระบบการทำงานเชื่อมโยงบทบาทการซื้อบริการและการจัดให้มีบริการสุขภาพให้มีความใกล้ชิดและสอดประสานกัน สำหรับด้านการผลิตบุคลากรสาธารณสุข เสนอให้มีการทบทวนบทบาทหน้าที่ของ สบช. ว่าควรอยู่ในสถานะใด

       10. การจัดให้มีบริการสุขภาพแก่ประชาชนทั่วไปและประชาชนกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เสนอให้กระทรวงสาธารณสุขไม่ควรจัดบริการสุขภาพด้วยตนเอง

       11. การจัดการกรณีภัยพิบัติและเหตุฉุกเฉินด้านสุขภาพ สรุปว่าปัจจุบันมีศูนย์นเรทรรองรับบทบาทนี้ และเสนอปรับองค์กรเป็นหน่วยงานรัฐที่มิใช้ราชการที่มีขนาดไม่ใหญ่มากเพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพสูง

       12. การผลิตและสำรองยาและเวชภัณฑ์ ปัจจุบันมีองค์กรเภสัชกรรมทำหน้าที่นี้อยู่ และเสนอให้มีการพัฒนากลไกเดิมให้สูงยิ่งขึ้น

        นี่คือบทบาทหน้าที่ที่เป็นข้อเสนอที่กระทรวงสาธารณสุขสาธารณสุข พึงกระทำ ซึ่งผู้เขียนอยากจะท้าทายความคิดเห็นของชาวกรมอนามัยว่า ถ้าเป็นอย่างนี้จริง กรมอนามัย จะยังคงเป็นหน่วยงานราชการอีกต่อไปหรือไม่อย่างไร ?

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 26548เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2006 19:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 21:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท