คนใต้ในกระแสทุน


คนใต้ ทุนนิยม วิถีชีวิตคนใต้

ผมไปสัมมนา GotoKnow forum ครั้งนี้ได้อะไรที่เกินคาดหลายอย่าง เช่น ธนาคารชีวิต ต.คูเต่า ที่ไม่คิดว่ามันจะแตกต่างกับธนาคารหมู่บ้าน กลุ่มออมทรัพย์ ต่าง ๆ ที่เคยรับรู้มา และที่มากกว่านั้นคือ เป็นพื้นที่ที่ตรงกับความต้องการที่จะพัฒนาเป็นงานวิจัย วิทยานิพนธ์ของผมต่อไป ซึ่งปรากฎการณ์ที่เห็นมันชัดเจนมากที่จะอธิบาย 

ผมเดินทางไปครั้งนี้ด้วยรถโดยสารประจำทาง (บขส.) กรุงเทพฯ - หาดใหญ่ เพราะไม่สามารถเบิกค่าเดินทางและค่าที่พักได้ แต่ที่ยอมเสียเงินตัวเองเพราะคิดว่าน่าจะได้อะไรมากพอสมควร บนรถทัวร์เที่ยวนี้ออกจากสายใต้แห่งใหม่ เป็นรถ VIP เที่ยว 19.00 น. ค่าโดยสาร 800 กว่าบาท (ราคาเต็ม 1040 บาท) เพราะผมมีบัตรลดค่าโดยสาร  มีผู้โดยสารเพียง 6 คน จึงนั่งนอนกันสบาย เดินทางไปตามถนนสายเอเซีย ผ่านสุราษฏร์ฯ  นครศรีธรรมราช  พัทลุง และเข้าเมืองหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา รวมเวลาเดินทางประมาณ 12 ชม. ถึงหาดใหญ่ 07.00 น. พอดี แล้วเดินทางต่อไปยังโรงแรมด้วยรถมอเตอร์ไซต์ ด้วยราคา 50 บาท คิดว่าไม่แพง ไม่กลับถูกหลอกเพราะรู้จักเส้นทางดี และเป็นคนใต้เหมือนกัน

เมื่อเดินทางมาถึงเมืองพัทลุงประมาณ 6 โมงเช้า เริ่มเห็นบรรยากาศ 2 ข้างทางที่เปลี่ยนไปจากเดิมมาก ๆ ผมเคยเดินทางในเส้นทางนี้ตั้งแต่เป็นถนนสองเลนส์ สมัยเรียนอยู่ที่ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อปี 32-36 และกลับไปหลายครั้ง รวมทั้งทำงานอยู่ที่นราธวาสเมื่อปี 40-45 การเปลี่ยนแปลง 2 ข้างทางเริ่มเห็นตลอดมา  ที่เห็นชัดเจนในการเดินทางไปครั้งนี้คือ ทุ่งนาร้างมีเพิ่มมากขึ้น คนพัทลุงทำนาน้อยลง ใช้พื้นที่ปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของคนใต้แทน

 

ภาพนาร้างที่พัทลุง อาจจะดูไม่ค่อยชัดเพราะถ่ายขณะนั่งรถทัวร์

จังหวัดพัทลุงถือได้ว่าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำแห่งหนึ่งของภาคใต้ในอดีต  คนพัทลุงทำนาเลี้ยงชีพคนภาคใต้มาเป็นเวลานาน เพราะเป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ความอุดมสมบูรณ์จึงมีมาก เมื่อยางพาราและปาล์มน้ำมันแพร่ขยายเป็นพื้นเศรษฐกิจที่ทำรายได้มากกว่าการปลูกข้าว คนพัทลุง เช่นเดียวกับคนใต้ภาคอื่น ๆ รวมทั้งบ้านผมแถวพังงาด้วย นำเอาที่นาไปปลูกยางพารา และปาล์มน้ำมันแทน ในยุคที่เศรษฐกิจดี แน่นอนสร้างรายได้ และความเป็นอยู่ที่ดีแก่คนภาคใต้อย่างมาก โดยเฉพาะช่วงราคายางพารากิโลกรัมละ 100 บาท แถวบ้านผมมีรถปิ๊กอัพกันแทบทุกหลังคาเรือน แต่เมื่อราคาตกลงมาอย่างฮวบฮาบเหลือ 50 บาท หรือ 40 บาทกว่า ๆ หลายคนเริ่มหายใจไม่ทั่วท้อง จะเอาอย่างไรดีกับอนาคตข้างหน้า เพราะตอนนี้ต้องตัดยาง ขายปาล์มมาซื้อข้าวกิน แทนที่จะทำนาข้าวและใช้กินได้เลยเหมือนในอดีต

ก่อนเข้าเมืองหาดใหญ่บริเวณ 4 แยกสนามบินหาดใหญ่ ผมเห็นป้ายโฆษณาชิ้นหนึ่งของบริษัทรถชื่อดัง และฟรีเซนเตอร์ เป็น นักร้องคนใต้ชื่อดัง ปกติป้ายโฆษณาเหล่านี้เห็นโดยทั่วไปแต่ที่ผมมีคำถามคือ คำที่เขียนบนแผ่นป้ายมุมด้านล่าง "นายหัวตัวจริง"  ซึ่งไม่รู้ว่าผมคิดมากไปหรือเปล่า แต่เท่าที่รู้สึกและรีบหยิบกล้องถ่ายรูปมาถ่ายภาพนี้ทันที (ตอนนั้นรถติดไฟแดงพอดี) ก็เลยบันทึกมาให้สมาชิกช่วยกันให้ความเห็นด้วย

"นายหัว" คืออะไร เป็นภาษาใต้ คือ คนที่เราให้การเคารพนับถือ เช่น นายจ้าง หรือ นายหัวชวน (นายชวน หลีกภัย) เป็นต้น นายหัวตัวจริงของคนใต้ในอดีตมีหลายอย่าง รวมทั้ง วัว ควาย ที่นา ที่ทำมาหากิน พื้นที่ป่าชุ่มน้ำ ป่าพรุ  คล้ายป่าบุ่งป่าทามของคนอีสาน เป็นที่ช่วยให้คนใต้ดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการพึ่งตนเอง การโผล่มาด้วยวาทกรรม "นายหัวตัวจริง" ในป้ายโฆษณานี้ทำให้ผมยิ่งคิดไปในอีกหลายอย่าง โดยเฉพาะอนาคตของคนใต้ที่ถูกทุนนิยมครอบงำ อย่างหลีกไม่ได้ ถ้าไม่รู้ทัน  ผมไม่รู้จะบันทึกอะไรต่อ ไม่รู้จะอะไรต่อ อยากอ่านมุมมองจากสมาชิกมากกว่า แต่ขอจบด้วยภาพนี้ก็แล้วกัน "พ่อของผมกับเหลน" เป็นภาพที่สังคมชนบทไทยยังคงมีอยู่

 

 

หมายเลขบันทึก: 265433เขียนเมื่อ 3 มิถุนายน 2009 14:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท