วัตถุประสงค์


จินตนาการสำคัญกว่าความรู้
Imagination is more important than knowledge.
อัลเบิร์ต ไอสไตน์ (Albert Aistein)

บล็อกนี้ ผมต้องการเสนอองค์ความรู้เกี่ยวกับจินตภาพแบบวิชชาธรรมกาย (Thammakai Imagery) โดยมีวัตถุประสงค์หลายประการ  ประการแรกที่นึกได้ในตอนนี้ก็คือ ต้องการให้เป็นหลักฐานว่า ผมเองเป็นผู้พัฒนาจินตภาพแบบวิชชาธรรมกาย (Thammakai Imagery) นี้ขึ้น

บางท่านอาจจะสงสัยว่า เป็นหลักฐานเกี่ยวกับอะไร?

ขออธิบายว่า องค์ความรู้ ทฤษฎี ฯลฯ ต่างๆ ที่เราคิดขึ้น  ถ้าเราไม่เขียนให้เป็นหลักฐานในที่สาธารณชนไว้  เราเผยแพร่ไปเรื่อยๆ แบบไม่เป็นวิชาการ  ถ้ามีบุคคลอื่นนำองค์ความรู้หรือทฤษฎีที่ว่านั้น  เผยแพร่ในที่สาธารณะก่อน  ลิขสิทธิ์ต่างๆ จะตกเป็นของผู้นั้นในทันที

ทำไมจะต้องมี “จินตภาพแบบวิชชาธรรมกาย (Thammakai Imagery)”

จากการออกไปสอนการปฏิบัติธรรมแบบวิชชาธรรมกายในที่ต่างๆ  การอบรมการปฏิบัติธรรม และทำวิจัย ผมมีปัญหามากมายกับข้อสงสัยของผู้ที่ไม่เชื่อ  ยกตัวอย่างเช่น นักเรียนเห็นจริงๆ หรือเปล่า  นักเรียนโกหกหรือเปล่า  คิดไปเองหรือเปล่า  สะกดจิตหรือเปล่า ฯลฯ เป็นต้น

ที่เป็นปัญหามากที่สุดก็คือ ผมเคยทำวิจัยเรื่อง “ผลของการปฏิบัติธรรมสายวิชชาธรรมกายที่มีต่อความฉลาดทางอารมณ์และการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรมของนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน”  ผลของการวิจัย  พบว่า การปฏิบัติธรรมสายวิชชาธรรมกายพัฒนาความฉลาดทางปัญญา (IQ) ความฉลาดทางอารมณ์  (EQ) ได้ แต่พัฒนาการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรม (moral reasoning) ไม่ได้ 

กลุ่มตัวอย่างมี 58 คน  มีผลของการปฏิบัติธรรมดังนี้
    1) จิตสงบ     จำนวน 2 คน     คิดเป็นอัตราร้อยละ 3.45
    2) เห็นดวงปฐมมรรค     จำนวน 18 คน     คิดเป็นอัตราร้อยละ 31.03
    3) เห็นกายธรรมพระโสดา     จำนวน  28 คน     คิดเป็นอัตราร้อยละ 48.28
    4) เห็นกายธรรมพระสกิทาคามี     จำนวน  6 คน     คิดเป็นอัตราร้อยละ 10.34
    5) เห็นกายธรรมพระอนาคามี     จำนวน  - คน    คิดเป็นอัตราร้อยละ -
    6) เห็นกายธรรมพระอรหัต     จำนวน 4 คน     คิดเป็นอัตราร้อยละ 6.90

กลุ่มตัวอย่างสามารถปฏิบัติธรรมในสายวิชชาธรรมกายได้ผลจริง คือ เห็นดวงธรรม และกายธรรมคิดเป็นร้อยละ 31.03 และ 65.52 ตามลำดับ รวมเป็นผู้เห็นดวงธรรมและกายธรรม คิดเป็นร้อยละ 96.55 มีกลุ่มตัวอย่างที่ทำได้แต่เพียงจิตสงบเพียงร้อยละ 3.45 เท่านั้น

ผมได้ส่งงานวิจัยดังกล่าวเพื่อเข้า “การประชุมทางวิชาการ การวิจัยทางการศึกษาระดับชาติ ครั้งที่ 12” ซึ่งประชุมกันเมื่อ 15-16 พฤศจิกายน 2550 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ กรุงเทพฯ

คณะกรรมการก็รับงานวิจัยของผมเพื่อเข้าร่วมประชุม แต่ในหนังสือรายงานการประชุมทางวิชาการดังกล่าว ได้ตัดผลการวิจัยส่วนที่เป็นการรายงานว่า กลุ่มตัวอย่างเห็นดวงธรรมและกายธรรมออกไป

ก็แสดงว่า กรรมการของการประชุมฯ เห็นว่า งานวิจัยน่าสนใจ แต่รับไม่ได้ว่า ในการปฏิบัติธรรมจะเห็นดวงธรรมและเห็นกายธรรม

ดังนั้น ผมจึงเห็นว่า ถ้าผมตีความการปฏิบัติธรรมแบบวิชชาธรรมกายในระดับเบื้องต้น[1] ให้เป็นการฝึกจินตภาพ น่าจะยอมรับกันได้ในทางวิชาการ  เพราะ การฝึกจินตภาพกำลังเป็นที่นิยมศึกษาและนำไปใช้ประโยชน์กันมากในปัจจุบันนี้

ประโยชน์อีก 2-3 ประการก็คือ เมื่อมีการพัฒนาการปฏิบัติธรรมแบบวิชชาธรรมกายในระดับเบื้องต้น ให้เป็นการฝึกจินตภาพ   การฝึกจินตภาพแบบวิชชาธรรมกายก็จะสามารถนำไปใช้ในทุกเชื้อชาติและศาสนา ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมโลกขึ้นอีกด้วย

...........................

อ้างอิง
[1] ขออธิบายเพื่อป้องกันการเข้าใจผิดว่า ผมไม่ได้ตีความการฝึกปฏิบัติธรรมแบบวิชชาธรรมกายทั้งหมดให้เป็นการฝึกจินตภาพ  ที่นำมาตีความและนำไปสอนนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการฝึกเบื้องต้นเท่านั้น  ซึ่งจะเป็นส่วนไหน เท่าใดจะได้อธิบายต่อไป

ขอย้ำอีกหน่อยว่า ในการตีความครั้งนี้ไม่ได้ดัดแปลงเนื้อหาคำสอนของวิชชาธรรมกายที่หลวงพ่อวัดปากน้ำสอนไว้แต่อย่างใด เป็นเพียงตีความและปรับปรุงเทคนิคการสอนบางประการที่เป็นเบื้องต้นเท่านั้น

ประการสำคัญก็คือ ผมได้ขออนุญาตกับหลวงพ่อวัดปากน้ำแล้ว  หลวงพ่อวัดปากน้ำ บอกว่า “ถ้าผมเห็นดีเห็นงานอย่างไร ก็ทำไปได้เลย”  แต่วิธีการที่ผมไปขออนุญาตหลวงพ่อวัดปากน้ำ และหลวงพ่อวัดปากน้ำตอบมาอย่างนั้น  ผมมีวิธีการทำอย่างไร  ผมขออนุญาตไม่นำเสนอมาไว้ ณ ที่นี้  เพราะ เท่าที่ผมมีประสบการณ์  การอธิบายทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อหวังดีต่อประชาชน ในบางครั้งผลที่ได้รับกลับมา กลับเป็นโทษเสียอีก

ดังนั้น เรื่องบางเรื่อง ผมจึงไม่ขออธิบายไว้ ดังเช่นเรื่องดังกล่าวนี้เป็นต้น

หมายเลขบันทึก: 264958เขียนเมื่อ 1 มิถุนายน 2009 15:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤษภาคม 2012 13:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้าจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท