ตำนานขึดล้านนาตอน" ขึดตุงไจ "


ปกกะโดงก๊างตุงไม่ถูกต้องตามฮีตกองจักตกขึดอาถรรพ์

ตุงไจ เป็นเครื่องสักการะบูชาพระพุทธเจ้าถึงห้าพระองค์ได้แก่พระพุทธเจ้ากุกสันโท  โกนาคมโน  กัสสปะ   โคตมะ  และอริยเมตไตร  ด้วยความสำคัญดังกล่าวชาวล้านนาได้ให้ความเคารพนับถือตุงไจเป็นเครื่องสักการะสูงยิ่ง  หากจะถวายทานตุงต้องกระทำตัดเย็บด้วยตนเอง กว่าจะได้ตุงเพียงหนึ่งผืนก็ใช้เวลานานนับปี  เมื่อจะนำไปถวายทานต้องขอสุมา(ขมา)ตุงก่อน  ทานตุงแล้วต้องมีพิธีกรรมสำคัญต่อเนื่อง  มีข้อละเว้น  งดการกระทำบางอย่างเกี่ยวกับตุงเพราะมันจะตกขึดหรือถูกอาถรรพ์

จากข้อห้ามกระทำ มีตำรา มีคัมภีร์ เกี่ยวกับตุงไจจารึกไว้เป็นหลักฐานมากมาย หลากหลายตำรา   ทำให้ผู้เขียนออกสำรวจและบันทึกตรวจสอบเกี่ยวกับตุงไจในการนำตุงไจมาใช้ประดับตกแต่งร้านค้า  การนำตุงไจมาปักตามรั้วบ้านเพื่อพิสูจน์ว่าขึดตามตำราหรือไม่

ชัดที่สุดคือการตกขึดที่นำตุงไจมาปักทำพิธีเปิดร้านอาหารโดยการนิมนต์พระมาทำพิธีแล้วนำตุงไจสีแดงปักไว้หน้าร้านเพราะเชื่อว่าตุงไจ  คือไชยชนะ มีโชคชัยทั้งมวล ไม่นานนักเมื่อตุงไจสีซีดจางลงร้านค้าต้องปิดลงตามสีจางลงของตุงเพราะไม่มีคนมาทานอาหาร  ทั้งๆที่อยู่ใกล้ศูนย์ราชการ  มีที่เก็บรถกว้างขวางแต่ไม่มีใครเอารถมาจอดเพื่อทานอาหาร

เจ้าของเก่าต้องให้ผู้อื่นเช่า  ผู้เช่าใหม่ก็ทำอาหารขายเช่นกันแต่ก็ไม่มีใครมาทานอาหารอย่างเช่นเจ้าของร้านครั้งแรก   และมีการเปลี่ยนผู้เช่าไปหลายๆรายรายแล้วรายเล่าแต่ก็ต้องปิดลงทุกเจ้าจนปัจจุบันก็ยังประกาศให้เช่า

ยังมีอีกหลายรายที่ตกขึดเรื่องของตุงไจ เพราะเข้าใจผิดว่า  ตุงไจคือตุงแห่งไจ(ชัยชนะ)เท่านั้น ที่จริงตุงไจหมายถึงชัยมงคลคุณงามความดีทั้งมวลใช่ว่ามีความหมายเพียงชัยชนะอย่างเดียวก็หาไม่

เมื่อหลงผิดว่าตุงไจคือเครื่องหมายแห่งชัยชนะและไม่ศึกษาข้อมูลอย่างจริงจังจึงนำตุงไจมาใช้ประดับตามที่ไม่บังควรทั่วไป  หรือบางคนมองในแง่ที่ว่าตุงเป็นเพียงแค่ธงและเครื่องประดับจึงนำตุงมาใช้ประดับตกแต่งในบ้านตนเอง  หรือร้านค้าตนเอง  แม้แต่สถานที่อโคจร  บาร์  คลับ  ผับเทคก็นำตุงมาใช้แขวนตกแต่ง   จึงต้องตกขึดหรือต้องอาถรรพ์ตามตำรามูละขึดเรื่องตุงสรุปว่า "ปกกะโดงค้างตุง แขวนโคมไฟในบ้าน     หอเฮือน(หอเรือน)มักฉิบหาย .."

ที่จริงเรื่องขึดเกี่ยวกับตุงไจยังมีอีกมาก  และมีพบเห็นให้เก็บข้อมูลอีกหลายประเด็น ตัวอย่างในชีวิตจริงก็ยังมีให้พบกันอยู่ทั่วไปเพียงแต่ไม่มีคนใส่ใจกันมากนัก      แต่ผู้คนที่ไม่ถือสาเรื่องขึดก็ยังทำกันต่อไป  หากพบเรื่องขึดเกี่ยวกับตุงมักพูดว่าเป็นเรื่องเหลวไหลมีเพียงสำนึกในใจเพียงว่าตุงคือธงเป็นเครื่องประดับ

ดังกล่าวแล้วว่าตุงเป็นเครื่องสักการะพระพุทธเจ้าถึงห้าพระองค์  เป็นของสูงยิ่งของผู้คนล้านนาใช้ถวายแขวนบูชาเพียงในวัดเท่านั้น  มิใช่นำตุงไปแขวนในที่อื่นๆ     ในปัจจุบันตุงกลับถูกลดคุณค่าลงเพียงเครื่องประดับ  เกิดความสับสน    ผู้คนที่รู้เรื่องตุงเห็นความไม่ถูกต้องเกิดความอัดอั้นตันใจ  มรดกของบรรพบุรุษล้านนาที่สร้างไว้ดีงามกลับถูกนำไปใช้แบบหมิ่นแคลนเพราะเกิดความไม่ถูกต้องตามจารีตเดิมเกี่ยวกับตุงมันจึง.....ขึด

 

หมายเลขบันทึก: 264097เขียนเมื่อ 28 พฤษภาคม 2009 23:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 15:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

อัดอั้นตันใจ...เช่นกันเจ้า

ปัจจุบันจะเห็นได้ว่า หากต้องการบรรยากาศล้านนา ตุงและโคมจะเป็นดั่งสัญลักษณ์ของล้านนา และเป็นสิ่งที่สร้างบรรยากาศล้านนา สามารถพบได้ในโรงแรม ร้านค้า และสถานที่อื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากวัด นอกจากนี้ ในสถานที่สาธารณะ เช่น ตามถนนหนทาง ผู้เกี่ยวข้องยังมีการนำตุงชัย (ตุงไจ) มาประดับตามถนนหนทาง ในช่วงใกล้ปีใหม่เมือง หรือเทศกาลสงกรานต์ เพื่ออะไรไม่ทราบ แต่ในฐานะคนต่างถิ่น มันช่วยสร้างบรรยากาศล้านนา และปีใหม่เมืองได้ดีที่เดียว แต่...ก็ค้านกับข้อมูลที่เคยได้รับจากทางวิทยุบางคลื่น ที่พูดถึงสีที่ใช้ ว่าใช้สีแดงบ้าง...ทำให้นึกว่ามีอุบัติเหตุใดแถวๆนั้นหรือไม่ (แสดงให้เห็นว่า สื่อมวลชนบางแห่ง ยังไม่เห็นด้วยกับการใช้ตุงในรูปแบบนี้) นอกจากนี้ ผู้รู้จริงทางวัฒนธรรมก็พูดกันหลายคน ว่าตุงนั้นใช้ในวัด (อย่างที่ลุงหนานฯ เล่าให้ทราบแล้วข้างต้น) ไม่ใช้ในขบวนแห่ และอื่นๆ แต่เสียงคงไม่ดังและแรงพอที่จะดึงวัฒนธรรมการใช้ตุงแบบดั้งเดิมกลับมาได้แล้วกระมัง

อย่างไรก็ตาม คนต่างถิ่นคนนี้ ขอเป็นกำลังใจให้ผู้เกี่ยวข้องในการอนุรักษ์วัฒนธรรม สามารถอนุรักษ์การใช้ตุงชัยที่ถูกต้องกลับคืนมาดังเก่า ให้ถูกกาลเทศะ และฮีตฮอย

นอกจากนี้ เคยถามจากผู้ที่ทำตุงขาย ว่าเอาตุงไปใช้ในโอกาสใดได้บ้าง ปรากฏว่าข้อมูลที่ได้ ก็ไม่ได้ตรงกันกับข้อมูลจากผู้รู้จริงทางวัฒนธรรม ด้วยเพราะไม่รู้จริง หรืออย่างไรก็ตาม นี่เอง อาจเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้ไม่รู้ แต่อยากใช้ตุง ก็ซื้อตุงไปใช้ตามที่คนขายบอก

เลยเป็นการทำให้ความรู้เกี่ยวกับกาลเทศะการใช้ตุง โดยเฉพาะตุงชัย เพี้ยนไป จนดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดาเสียแล้ว

โดยสรุป สถานการณ์ของการเพี้ยนทางวัฒนธรรมการใช้ตุงชัย ในมุมมองของคนต่างเมือง มีดังนี้

1. มีการใช้ตุงชัยอย่างไม่ถูกกาลเทศะฮีตฮอยอย่างเปิดเผย พบให้เห็นทั่วไป และโดยหน่วยงานที่น่าจะมีบทบาทยิ่งในการอนุรักษ์และสื่อภาพลักษณ์ความเป็นล้านนาที่เกี่ยวข้อง

2. ผู้ผลิตตุงขายนั้น ไม่ทราบแน่ชัดว่ารู้กาลเทศะฮีตฮอยการใช้ตุงที่ถูกต้องหรือไม่ แต่ให้ข้อมูลแก่ลูกค้าที่ไม่ถูกต้อง

3. ผู้รู้จริงมีหลายคน ออกมาพูด บางคนพูดผ่านสื่อมวลชน เช่น วทยุ หนังสือพิมพ์ แต่ก็ยังไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่ชัดเจน ยังคงมีการใช้ตุงชัยที่ไม่ถูกต้องกันแบบที่พบเห็นได้ทั่วไป

เสนอแนะ

1. ควรมีการทำงานประสานกันระหว่างผู้รู้จริง เช่นสภาวัฒนธรรมจังหวัดฯ และผู้เกี่ยวข้องในการตกแต่งถนนหนทาง เช่น เทศบาลเมืองฯ ให้เห็นว่าของแท้ๆ ที่ถูกต้องนั้นเป็นเช่นไร คนมาเที่ยวมาเยื่อนก็จะได้รับรู้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง

2. มีการประชาสัมพันธ์และให้ความรู้ ถึงวิธีการใช้ตุงที่ถูกกาลเทศะฮีตฮอย ทาง...

2.1 สื่อมวลชน- เป็นระยะๆ โดยเฉพาะช่วงใกล้เทศกาลปีใหม่เมือง ทั้งทางหนังสือพิมพ์ วิทยุ และอื่นๆ

2.2 ผู้ผลิตตุงขาย และผู้ที่รับตุงมาขาย เพื่อให้สามารถให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ลูกค้า และช่วยประชาสัมพันธ์อีกทางหนึ่ง

2.3 บวร =

บ้าน - ผ่านทางสภาวัฒนธรรมในระดับชุมชน

วัด - พระ เณร และคณะกรรมการวัด พึงทราบข้อมูลที่ถูกต้อง หลายวัดอาจทราบ แต่บางวัด อาจไม่ทราบข้อมูลที่แท้จริง

โรงเรียน - สอดแทรกในชันเรียนในทุกโรงเรียน เพื่อที่เยาวชนจะได้รู้และเข้าใจอย่างถูกต้อง ป้องกันการขาดช่วงในการสืบสานข้อมูลทางวัฒนธรรม

ขอเสนอความคิดเห็นมาเพียงเท่านี้นะเจ้า หากมีข้อความใดที่ไม่เหมาะสม ก็ขอสูมาอภัยโตยเนอเจ้า

อันตุงไจนี้ เปิ้นมีกฏฐา ไว้ใจ๊ปู๋จา พระสัมมาเจ้า
นับตั้งแต่แป๋ง ต้องแยงแบบเบ้า บ่ใจ้จักเอา ใจ๋กึ๊ด

ความสั้นความยาว ลายขาวต้องยึด ต๋ามฮีตฮอยหั้น โบราณ
เมื่อเป๋นผืนแล้ว บ่แคล้วต้องสาน ใจ๊หื้อถูกงาน ต๋ำนานแบบเบ้า
หากเป๋นงานไหน เนื่องในพระเจ้า เปิ้นก็จักเอา มาใจ๊

ผะดับผะดา วัดวาเนอไซร้ บ่ใจ้นับได้ นับดา
บ่าเดี่ยวนี้ใจ๊ ปักไว้ลายต๋า ผะดับผะดา เคหาเฮือนห้อง
บ่ฮู้ก็หัน มันงามต๋าจ้อง แล่งมองแล่งงาม ต๋ามกึ๊ด

แขกไปใผมา งามต๋าเล่าทึด แต่ขึดตกข้อน คนเฮือน
แฮกก็สง้า หล้าฮ้างเป๋นเผือน หลายปี๋วันเดือน เลือนลับดับจ้อย.

ขอยินดีแก่เจ้าของรายก๋ารคนต่างเมือง พี่หนานทนันและคุณภัทรพรครับ....

ขอบคุณที่ได้เข้ามาแว่แอ่วแสดงความคิดเห็นต่อไปคงมีคนเข้าฮีตฮอยได้ถูกต้องต๋ามโบราณล้านนาครับ..ขอช่วยกั๋นครับ....

ด้วยความปรารถนาดีจาก...ลุงหนาน..พรหมมา

ผมเองเป็นเด็กรุ่นใหม่ที่ไม่ค่อยจะมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องจารีตประเพณีโบราณเท่าไหร่นักนะครับ ทุกสิ่งที่ได้ถามก็เพราะอยากรู้ ทั้งนี้ก็อยากจะมีความรู้ประดับติดกายในฐานคนเหนือคนหนึ่ง เกี่ยวกับเรื่องตุงนี้ เวลาที่วัดหนึ่ง ๆ ได้จัดงานปอยหลวงของวัดแล้ว เมื่อมีการตานตุง (( ตุงที่ตานในวันตานก่อนวันมีงานปอยหลวงจัดเป็นตุงจัยหรือเปล่าครับ ))ถ้าใช่นะครับ ตุงนั้นเมื่องานปอยหลวงเสร็จมีการเอาไปไหนบ้างหรือเปล่าครับ หรือว่าปล่อยให้ตากแดดตากลมตากฝนให้ย่อยสลายเอาเอง หรือว่าทางวัดจะเก็บรักษาเอาไว้ หลังจากงานปอยหลวงเสร็จ คือว่าทางวัดในหมู่บ้านผมไม่มีการตานตุงแบบนี้นะครับ (( ถ้าทางวัดเก็บรักษาเอาไว้ จะเป็นขึดหรือเปล่าครับ ))

และอยากจะให้ลุงหนานพรหมาหาเรื่องเกี่ยวกับจารีตประเพณีทางล้านนามาให้อ่านอีกนะครับ เพราะเชื่อว่ายังมีอีกหลายคนที่ได้เข้ามาอ่านและได้ความรู้จากโลกอินเตอร์เน็ตนี้อีกหลายคนเลยครับ อย่างเช่นผมคนหนึ่งแหละครับ ถึงแม้จะอยู่เมืองกรุงแต่ก็ยังสนใจเกี่ยวกับจารีตประเพณีคนล้านนาครับ

สวัสดีค่ะ

ครูต้อยมารับความรู้ค่ะ ทำให้ได้ความรู้เรื่องของขึดตุงไจ

""ปกกะโดงค้างตุง แขวนโคมไฟในบ้าน     หอเฮือน(หอเรือน)มักฉิบหาย .."

เป็นความเชื่อ และความเชื่อเกิดจากประสบการณ์ ยิ่งฝังแน่นมากเพียงใด ย่อมหมายถึงประสบการณ์ที่กระทบกับจิตใจโดยตรง รวมทั้งสัมผัสทั้ง5ของผู้รับ  การรับรู้วัฒฯธรรม ถือปฏิบัติและถ่ายทอดวัฒนธรรม สืบต่อกันมา จึงเป็นการรักษาไว้ซึ่งความเป็นชาติ หากสังคมใดขาดเอกลักษณ์ ความเป็นมา และคนไม่เรียนรูประวัติศาสตร์ใดๆ อีกไม่นาน สังคมนั้นจะขาดเอกภาพ ขาดความเป็นชาต

บทความนี้จึงมีค่าสูงนัก ยิ่งท่านทนันได้ร่วมเสวนา และลงรายสือล้านนาด้วยแล้ว เชื่อว่า ย่อมนำไปสู๋ความเข้มแข็งของสังคมค่ะ

ขอบคุณค่ะ

ขอบคุ

สวัสดีครับคุณนาโนและครูต้อยครับ...

หลังจากงานปอยหลวงเสร็จเป็นประเพณีบางวัดจะเก็บตุงไจไว้แขวนในพระวิหาร หรือในบริเวณวัดจะจัดที่เก็บไว้แล้วแต่พระหรือคณะกรรมการวัดจะจัดที่ไว้ให้  การเก็บตุงไจไว้ไม่ขึดครับเพราะใช้แล้วเก็บไว้เป็นที่เป็นทางเรียบร้อยดีครับ..

แต่บางวัดจะปล่อยตุงไจแขวนไว้อย่างนั้นตลอดไปเพื่อให้ตุงไจบอกทิศทางลมและความแรงของลมดังนี้..." เมื่อลมมาหื้อผ่อหังก๊างหางตุง" หมายความว่า  เมื่อลมพัดให้ดูหัวค้างตุงและหางตุง  สมมุติว่าหัวค้างหันไปทางทิศเหนือ  หางตุงปลิวไปทางทิศใต้ คนจะทราบทันทีว่าลมมาทางทิศเหนือ  ผ่านไปทางทิศใต้  นี่คือตุงบอกทิศทางลม

ขณะเดียวกันตุงจะบอกแรงลมได้ดังนี้ "  หากตุงไกวหาง  ลมพัดอ่อน  ลมแกว่งแก๋นมะกอก(สลักหมุน) หมุนไปมาซ้ายขวาแสดงว่าลมพัดแรงปานกลาง  หาก-ลมไกวค้างแสดงว่าลมพัดแรงมาก หรือเกิดพายุ..

เมื่อคนเห็นตุงไกวแกว่งแบบไหนก็จะรู้และรีบหนีเอาตัวรอด  นี่คือความวิเศษของตุงไจ  ที่ปักไว้ตามถนนหนทาง หลังจากเสร็จงานปอยหลวงแล้วทางวัดบางแห่งจะปล่อยไว้อย่างนั้นโดยเฉพาะสมัยก่อนการทำนา ทำไร่ต้องอาศัยตุงไจบอกเหตุการณ์เกี่ยวกับลมล่วงหน้า

โดยที่ตุงไจสามารถบอกทิศทางลมและความแรงลมนี้เอง ผู้คนที่มีผะหญาทางพิธีกรรมล้านนาจึงคิดดัดแปลงตุงไจตัดแต่งรูปแบบคล้ายตัวคนเป็นตุงค่าคิงแทนธาตุลมในเครื่องสืบชะตาคนให้อายุยืนนาน (เครื่องสืบชะตามีกระบอกน้ำแทนธาตุน้ำ  เทียนค่าคิงแทนธาตุไฟ  กระบอกทรายแทนธาตุดิน   ตุงค่าคิงแทนธาตุลม  ก็จะครบ 4 ธาตุในเครื่องสืบชะตาอย่างสมบูรณ์ครับ)

ยังมีเรื่องเกี่ยวกับตุงอีกมากหากมีเวลาจะมาเล่าเป็นตอนไปครับ

ยินดีนักๆที่หมู่เฮารักษาฮีเก่ากองเดิม  สืบสานรักษาได้อย่างถูกต้องด้วยความปรารถนาดีจากลุงหนาน....พรหมมา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท