ปฏิวัติจริยธรรมทางสังคมจากภายใน


จิตตปัญญาศึกษา หรือการภาวนาเรียนรู้ด้านใน จะเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการรับฟังและเรียนรู้จากผู้อื่น หยุดความคิดที่ว่าตัวเองรู้ดีในทุกเรื่อง ละเลิกความคิดของความเป็นอัศวินขี่ม้าขาวที่มีความสำคัญเหนือคนธรรมดา คุณค่าของคนไม่ใช่อยู่ที่ความสำเร็จฟู่ฟ่า แต่อยู่ที่การเรียนรู้ รู้ที่จะสัมผัสชีวิตของตนเองและผู้อื่นอย่างจริงใจ จนความเมตตากรุณาที่แท้จริงบังเกิดขึ้นจากภายในบนพื้นฐานของปัญญาตระหนักรู้ การภาวนาเป็นกระบวนการที่ทำให้เรารู้จักตั้งคำถามอย่างถึงราก ถึงกระบวนทัศน์ วิธีคิด วิถีการดำรงชีวิต ที่จะต้องตั้งอยู่บนความพอเพียง แต่ความพอเพียงจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อเราจะตระหนักถึงความเต็มทางจิตวิญญาณที่มีอยู่แล้วในตน นำศักยภาพนั้นไปเรียนรู้จากคนรอบข้างอย่างอ่อนน้อม เผชิญความเป็นจริงอย่างง่ายงาม สอดคล้องสมดุลตามเหตุปัจจัยรายรอบ

ปฏิวัติจริยธรรมทางสังคมจากภายใน

บทความจาก http://www.semsikkha.org/ 

         การศึกษาธรรมะ คือ การทำความเข้าใจหลักการและวิถีปฏิบัติ เพื่อจะทำให้เราได้เข้าใจสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในชีวิต ชีวิตอันรายรอบไปด้วยความไม่แน่นอน ความเปลี่ยนแปลง ความขัดแย้ง ความเห็นที่หลากหลาย เกิดเป็นความบีบคั้นอันแสนโกลาหล ความโกลาหลที่ว่านี้มักจะถูกมองเป็นเรื่องเลวร้าย เพียงเพราะแรงต่อต้านของอัตตา อันเป็นความพยายามที่จะรักษาแบบแผนที่เคยชินของความคิด ความเชื่อ และวิถีชีวิตเดิมๆ ที่เราใช้ในการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น อะไรที่อยู่นอกกรอบการควบคุม ไม่สอดคล้องกับความคาดหวังของตัวตนอันคับแคบ มักถูกตัดสินว่าเป็นปัญหา กลายเป็นปมความทุกข์ที่เราไม่สามารถเข้าไปเผชิญกับมัน การศึกษาธรรมะจะนำมาซึ่งความเข้าใจที่ถูกต้องว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ความไม่แน่นอนของชีวิต แต่อยู่ที่จิตใจอันคับแคบที่เต็มไปด้วยความกลัวต่อการเรียนรู้ต่างหาก
            ความเข้าใจทางหลักการเพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ หนทางที่จะพาเราให้สามารถเข้าไปเผชิญต่อประสบการณ์ใหม่ๆ ของชีวิตทั้งภายในและภายนอกได้อย่างไม่มีเงื่อนไข ก็คือ การได้ฝึกฝนจิตใจ ปฏิบัติภาวนา ฝึกใจให้ผ่อนพักอยู่ในพื้นที่ว่างแห่งการเรียนรู้ภายใน อย่างปราศจากอคติและความยึดมั่นถือมั่น จิตใจที่ว่างแสดงถึงความพร้อมต่อการเรียนรู้ชีวิตในทุกขณะ จะนำมาซึ่งการมองความคิดเห็นอันหลากหลายที่ดูแสนโกลาหล เป็นโอกาสแห่งการพัฒนาตัวเอง เรียนรู้ที่จะรับฟัง สื่อสาร ปฏิสัมพันธ์ บนพื้นฐานของปัญญา จนกลายเป็นการเปลี่ยนแปลงภายในในตนเองโดยสมบูรณ์ (inner transformation)
            หากเราไม่ให้ความสนใจกับการปฏิบัติภาวนา การศึกษาธรรมะหรือแม้แต่การที่ได้ชื่อว่าเป็นชาวพุทธ ก็ไม่ได้มีความหมายอะไรเลยแม้แต่น้อย เพราะเราไม่ได้ให้ความสนใจที่จะฝึกฝนเพื่อการพัฒนาตนเอง แต่กลับใช้ธรรมะ หรือพุทธศาสนา เป็นเพียงเกราะกำบัง สร้างภาพของความเป็นคนดีมีศีลธรรมอย่างผิวเผิน  
            วิถีพุทธที่แท้ คือกระบวนการฝึกฝนตนเองอย่างต่อเนื่อง หากเรามองข้ามการภาวนา เอาแต่ศึกษาธรรมะจากตำรับตำรา แม้จะท่องจำพระไตรปิฏกจนขึ้นใจได้ก็ตามที ผลก็คือ เราจะกลายเป็นเพียงคนที่คิดว่าตัวเองรู้ดีกว่าคนอื่น สามารถตัดสินคนอื่นว่าดีเลวจากหลักความเชื่อ หรือปรัชญาทางศาสนาที่เราศึกษา “ฉันถูกคนเดียว คนอื่นผิดหมด” จนมองความหลากหลายทางความคิด หรือความขัดแย้งทางหลักการเป็นเรื่องไม่พึงปรารถนา และนั่นคือสัญญาณของมิจฉาทิฐิ แทนที่เราจะได้เดินบนเส้นทางของการพัฒนาตนเอง เรากำลังเลือกเดินบนทางเบี่ยงทางจิตวิญญาณ (spiritual bypassing) ใช้พุทธธรรมเป็นข้ออ้างเพื่อหลีกเลี่ยงกับการเผชิญความคับแคบด้านใน เอาแต่ไปมองคนอื่น ตัดสินคนอื่นอย่างเสียๆหายๆ การที่พร่ำบอกคนอื่นว่า “ฉันเป็นชาวพุทธ ฉันเป็นคนดีมีธรรมะ ฉันศรัทธาในพุทธศาสนา” หาได้มีความหมายอะไรนอกเสียจาก การแสดงถึงมิจฉาทิฐิของตัวตนทางจิตวิญญาณ อันเป็นความคับแคบแบบใหม่ที่ใช้ครอบตัวตนอันเดิมไว้
            สถานการณ์ของบ้านเมืองที่แสดงถึงวิกฤตทางจริยธรรม ได้ส่งสัญญาณร้ายให้เราได้เห็นว่า ความเป็นพุทธที่เราคิดว่าสุดเลอเลิศนั้น หาได้มีคุณค่าและความหมายใดๆทั้งสิ้น มันกลับกลายเป็นอดีตแสนหวานที่ขัดแย้ง ต่อความเป็นจริงของสภาพสังคมไทยในปัจจุบัน  เริ่มจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ทางภาคใต้ การเลือกปฏิบัติอย่างไร้ความเคารพในความหลากหลายทางเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์ การดูถูกศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชนจากภาครัฐ การคุกคามสื่อ ริดรอนอิสรภาพทางความคิดเห็นอันหลากหลายของประชาชน แม้แต่เรื่องเล็กๆ อย่างดาราดังตั้งครรภ์ก่อนสมรส ที่สังคมต่างไปประณามตัดสินราวกับเธอเป็นอาชญากร ไล่มาจนถึงประเด็นใหญ่ที่สุด ในเรื่องความไร้จริยธรรมอย่างเลวร้ายของผู้นำที่ประวัติศาสตร์ชาติไทยต้องจารึกไว้  ทุกเหตุการณ์สะท้อนให้เห็นถึงเหตุปัจจัยในสังคม ที่นับวันยิ่งมีแต่แนวโน้มการเมินเฉยในเรื่องของศีลธรรม อันเป็นสัญญาณถึงความเสื่อมถอยของรากฐานทางจิตใจอย่างถึงที่สุด การบูชา “เงิน” “ความสำเร็จ” “การพัฒนาทางวัตถุ” “เทคโนโลยี” “ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ” “การก้าวทันโลก” ได้พาสังคมไทยมาสู่จุดที่มันควรจะเป็น อย่างที่ไม่สามารถปัดความรับผิดชอบไปที่ตัวผู้นำเพียงคนเดียวได้ การไม่รู้จักตัวเอง ไม่รู้จักพอ ขาดความละอาย ไร้หิริโอตตัปปะ เป็นสิ่งที่เราทุกคนจะต้องรับผิดชอบร่วมกัน
            อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้เขียนบทความเรื่อง “วัฒนธรรมคนอย่างทักษิณ” แสดงทัศนะทางการเมืองที่ว่า สิ่งที่สังคมไทยต้องเรียนรู้จากวิกฤตการณ์ครั้งนี้ ไม่ใช่ “ทักษิณ” แต่เป็น “คนอย่างทักษิณ” ต่างหาก อีกนัยหนึ่งอาจกล่าวได้ว่า ความเป็นผู้นำอย่างทักษิณนั้น เป็นเพียงความสุกงอมของเหตุปัจจัยที่มีอยู่ในสังคมไทย ซึ่งการขจัดผู้นำออกไปนั้นไม่ได้หมายถึงการแก้ปัญหาจริยธรรมทางสังคมที่ยั่งยืนแท้จริงแต่อย่างใด เราทุกคนจะต้องทำความเข้าใจถึงเหตุปัจจัยของความโลภ ไม่รู้จักพอ ความโกรธเกลียด ฉลาดแกมโกง ที่เราต่างก็มีอยู่ภายใน และใช้โอกาสนี้เพื่อการเรียนรู้เปลี่ยนแปลงตน ไม่ให้ตกเป็นทาสของกิเลสตัณหาที่ผู้นำประเทศได้สอนสะท้อนให้เราได้รู้สึกละอายกันโดยถ้วนหน้า
            การเปลี่ยนแปลงหรือการปฏิรูปสังคม( social transformation) คงเป็นเพียงเรื่องนามธรรมหลอกๆ หากเรายังมองมันเป็นเพียงหลักการวิธีคิดภายนอก อย่างที่ไม่มีวิถีทางของการปฏิบัติภายในเอาเสียเลย ความวุ่นวายของบ้านเมืองที่เกิดขึ้น ณ ขณะนี้ได้สะท้อนถึงวิกฤตการณ์ทางจริยธรรมที่ต้องการการเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงภายใน ( inner transformation) ในระดับปัจเจกบุคคลอย่างเร่งด่วนที่สุด ไม่ว่าใครจะมองพื้นฐานของการภาวนา บ่มเพาะปัญญา ด้วยหนทางแห่งจิตสิกขา เป็นเรื่องอุดมคติล้าสมัย ไร้ความเป็นไปได้จริง แต่ด้วยสถานการณ์ที่รัฐนาวาใกล้จะอับปางลง จากมรสุมที่รุมเร้า ความเน่าเฟะรอบด้านที่รอการปฏิรูป ทั้งภาคการศึกษา ศาสนา การเมือง สังคม และวัฒนธรรม ก็น่าจะถึงเวลาที่เราทุกคนควรจะหันกลับมามองตนเอง ร่วมสร้างปรากฏการณ์ของการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงภายใน ใส่ใจกับรากฐานทางปัญญา ให้คุณค่าทางศีลธรรมและจริยธรรม จนเกิดเป็นการปฏิวัติทางจิตวิญญาณของสังคมไทยอย่างยั่งยืน
            จิตตปัญญาศึกษา หรือการภาวนาเรียนรู้ด้านใน จะเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการรับฟังและเรียนรู้จากผู้อื่น หยุดความคิดที่ว่าตัวเองรู้ดีในทุกเรื่อง ละเลิกความคิดของความเป็นอัศวินขี่ม้าขาวที่มีความสำคัญเหนือคนธรรมดา คุณค่าของคนไม่ใช่อยู่ที่ความสำเร็จฟู่ฟ่า แต่อยู่ที่การเรียนรู้ รู้ที่จะสัมผัสชีวิตของตนเองและผู้อื่นอย่างจริงใจ จนความเมตตากรุณาที่แท้จริงบังเกิดขึ้นจากภายในบนพื้นฐานของปัญญาตระหนักรู้ การภาวนาเป็นกระบวนการที่ทำให้เรารู้จักตั้งคำถามอย่างถึงราก ถึงกระบวนทัศน์ วิธีคิด วิถีการดำรงชีวิต ที่จะต้องตั้งอยู่บนความพอเพียง แต่ความพอเพียงจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อเราจะตระหนักถึงความเต็มทางจิตวิญญาณที่มีอยู่แล้วในตน นำศักยภาพนั้นไปเรียนรู้จากคนรอบข้างอย่างอ่อนน้อม เผชิญความเป็นจริงอย่างง่ายงาม สอดคล้องสมดุลตามเหตุปัจจัยรายรอบ
            คุณค่าของสังคมพุทธคือความตื่น และความตื่นจะเกิดขึ้นได้ ก็ด้วยจิตใจที่เปิดกว้างต่อการเรียนรู้ ข้ามพ้นกำแพงความคับแคบของความยึดมั่นทางความคิด ระบบใดที่หลับใหลจะค่อยๆ กลายเป็นโครงสร้างอันเลวร้ายของอำนาจและความรุนแรง เช่น การมีผู้นำอย่างเผด็จการ มีพรรคการเมืองพรรคเดียว กลุ่มคัดค้านถูกประณามเป็นพวกมือไม่พายเอาเท้าราน้ำ ประชาชนเดินขบวนเรียกร้องการตรวจสอบก็ถูกมองเป็นกุ๊ยข้างถนน ฯลฯ แต่ระบบใดที่รู้จักการเรียนรู้ รับฟัง เพื่อเปลี่ยนแปลง ปรับเปลี่ยน ก็จะเป็นระบบที่ตื่น ที่ทุกคนได้มีส่วนร่วมให้คุณค่าและความหมาย แต่ละปัจเจกบุคคลต่างทำหน้าที่ของตนด้วยใจที่เปิดกว้าง แลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างตรงไปตรงมา ไม่จำเป็นต้องใช้เล่ห์เหลี่ยม กลยุทธ์ในการปิดหู ปิดตา ปิดปากผู้คนอย่างที่เป็นอยู่
            เมื่อความหลากหลายทางความคิดไม่ถูกมองเป็นเนื้อร้ายที่ต้องถูกกำจัด ผู้คนรู้จักใช้ใจที่เปิดกว้างรับฟัง แลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นเพื่อการตรวจสอบ เพื่อประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง สังคมก็จะเป็นสังคมที่ตื่นอยู่เสมอ แต่ก่อนที่สังคมจะตื่นได้ ภาวะแห่งความตื่นจะต้องเริ่มขึ้นที่ปัจเจก ผู้คนต้องรู้จักฝึกฝนพัฒนาตนจนค้นพบศักดิ์ศรีและคุณค่าภายในอย่างเต็มภาคภูมิ จากนั้นจึงเกิดการถักทอจากหน่วยเล็กๆ อย่างเป็นธรรมชาติ เกิดเป็นเป็นเครือข่ายของการเรียนรู้ เติบโตงอกงามขึ้นเป็นประชาธิปไตยในธัมมิกสังคม บนพื้นฐานของความเคารพซึ่งกันและกันของผู้คนในสังคมอย่างแท้จริง

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 26406เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2006 10:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 มีนาคม 2012 21:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท